เรื่องเล่า Book Start ที่ญี่ปุ่น


       บ่ายวันนี้ไปพบ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ โดยบังเอิญ ที่สำนักบริหารงาน กศน. ไม่รั้งรอรีบเข้าไปสนทนา อันนำมาซึ่งความรู้ที่มีคุณค่าจากการสนทนาตามประสาคนแห่งการเรียนรู้ ได้เปิดประตูสู่ประสบการณ์อันพรั่งพรูที่อยู่ในตัวตนของ ดร.สุชิน ที่เป็นบุคคลหนึ่งที่ผมให้ความเคารพรักเป็นทั้งพี่ และเป็นทั้งครูที่ใฝ่รู้อยู่เสมอ คุยกันทีไรเป็นได้องค์ความรู้ไปสู่การนำไปไตร่ตรองในสมองทุกที วันนี้ก็ได้เรื่องเล่าดี ๆ มีมามากมายอันจะไว้ขยายเผยแพร่ต่อไปได้เป็นระยะ ๆ และในจังหวะช่วงนี้ขอหยิบยกสาระที่ ดร. สุชินไปได้มาจากประเทศญี่ปุ่น ในเรื่อง Book Start ที่มีสาระดังนี้

           โครงการหนังสือเล่มแรก (book start) ซึ่งตั้งอยู่ในสถานีอนามัย Hikarigaoka ได้รับข้อมูลว่าตามกฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดให้พ่อแม่ต้องนำลูกอายุ ๔ เดือน ๑ ขวบ และ ๓ ขวบเข้ามาตรวจสุขภาพ ดังนั้นการอบรมแม่ให้เข้าใจการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับลูกจึงอยู่ที่สถานีอนามัย ส่วนถุงหนังสือนั้นให้บริการที่ห้องสมุดประชาชน

            โครงการหนังสือเล่มแรกของอังกฤษเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๙๒ ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๑ โดยรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษ

            จากการได้เยี่ยมชมกิจกรรมการอบรมแม่ที่สถานีอนามัยแห่งนี้ ได้รับทราบว่าทุกคนที่เข้ามาร่วมทำงานเป็นอาสาสมัครทั้งหมด โดยใช้เวลาของแต่ละคนเข้ามาช่วยเหลือ มีกิจกรรมทุกวันพุธแรกของเดือน และมีหนังสือสำหรับเด็กให้แม่ยืมไปใช้ที่บ้านด้วย เจ้าหน้าที่จะสาธิตการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้แม่ดู แล้วแนะนำให้กลับไปทำที่บ้านกับลูก การดำเนินงานโครงการหนังสือเล่มแรกของศูนย์แห่งนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๓ การติดตามผลในระยะแรกปรากฏว่าได้ผลพอสมควร คือเห็นแนวโน้มว่าเด็กชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ต้องเฝ้าดูผลในระยะยาวต่อไป            การจัดการโครงการ book start ในระดับชาตินั้นมีศูนย์ประสานงานโครงการอยู่ในกรุงโตเกียว อยู่ใกล้ ๆ กับสำนักงาน ACCU ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชม แต่ได้รับทราบว่ากำลังเก็บข้อมูลการติดตามผลระยะแรกอยู่ อีกไม่ช้าก็จะสามารถเผยแพร่รายงานได้             ปัญหาในการจัดการโครงการ book start ยังมีอยู่บ้าง เช่น เมื่อมีกรรมการหลายคน กรรมการจากฝ่ายสำนักพิมพ์ก็พยายามยัดเยียดหนังสือที่ขายไม่ค่อยออกของตนให้กับโครงการ ทำให้กรรมการทั้งหมดไม่มีอิสระในการเลือกหนังสือที่ดีสำหรับเด็กได้ อีกทั้งรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้พรรคการเมืองบางพรรครับเรื่องนี้ไปดำเนินการ จึงหันไปร่วมมือกับสำนักพิมพ์บางแห่งเสียอีก ทำให้ทางเลือกในการคัดหนังสือหดแคบลงไปอีก การตัดสินใจจึงเอนเอียงไปข้างฝ่ายการเมืองมากขึ้น            ปัจจุบันมีการดำเนินงานทั่วประเทศได้ราว ๗๐๐ แห่งแล้ว ในระยะแรกมอบหมายให้สถานีอนามัย ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดขนาดเล็ก ร่วมมือกัน ต่อมาสถานีอนามัยก็ไม่ได้สนใจ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ได้แต่แนะนำให้แม่เข้าใจกระบวนการเมื่อนำเด็กเข้ามาตรวจสุขภาพตามข้อกำหนดของกฎหมาย แล้วให้ไปรับหนังสือเอาเองจากห้องสมุดทั้งสองประเภทนั้น            ความสำเร็จของโครงการ book start ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และมีวิธีการคิดที่ถูกต้อง ส่วนมากยังไม่ค่อยมีใครสนใจชี้แจงให้พ่อแม่รับรู้ และให้การฝึกอบรมกับพ่อแม่อย่างจริงจัง ในประเทศอังกฤษสามารถขยายผลจนครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง ๙๐% ของชุมชนทั้งหมดแล้ว แต่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มต้นและยังทำไปได้ไม่มากนัก ที่จริงญี่ปุ่นมีการส่งเสริมการอ่านหนังสือหลากหลายวิธีมาก่อนโครงการ book start เสียอีก

หมายเลขบันทึก: 96460เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

การอ่านหนังสือทำให้ได้ความรู้มากมาย ..แต่ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ ควรฝึกให้อ่านตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาจะได้มีนิสัยรักการอ่าน แต่จริงๆแล้วการอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านแต่ในตำรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ โปสเตอร์ แม้แต่ถุงใส่กล้วยแขก อ่านแล้วสามารถได้ความรู้เหมือนกัน

      นักเขียนหลายท่านมีความมุ่งหวังด้วยใจอิสระ  เพียงแต่ผู้ที่ศึกษาจะเปิดใจออกกว้างเพียงใด  สิ่งที่น่าแปลกคือว่าหลายคนบอกว่า"หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับเยาวชน" ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่เป็นผู้เขียน  ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่อ่านไม่เป็นเหรอ  คือคำถามที่ดูเหมือนจะเห็นคำตอบอยู่ทุกวัน  

มีหนังสือตั้งหลาหหลายรูปแบบแต่ละคนสนใจที่อ่านหนังสือบ้างไม่อ่านขึ้นอยู่กับความชอบแต่จริงๆแล้วการอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านแต่ในตำรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ โปสเตอร์ แม้แต่ถุงใส่กล้วยทอด อ่านแล้วสามารถได้ความรู้เหมือนกันทุกคนควรฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็กๆ 

การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นสำคัญ ชอบแนวคิดการจัดทำหนังสือเล่มแรกนี้ จะพยายามนำแนวคิดนี้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ และความสัมพันธ์อันดีสำหรับบุคคลในครอบครัวต่อไป
นลินทิพย์ สังข์เจริญ ศบอ.แปลงยาว

รับทราบค่ะ

กิจกรรมดีๆแบบนี้ เราน่าเรียนรู้และจัดทำ

นิสัยคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ อ่านทีไรหลับทุกที ต้องมีการปลูกฝังให้มีการรักการอ่านมากขึ้น
ห้องสมุดประชาชนจ.ฉะเชิงเทรา
กิจกรรม book start เป็นกิจกรรมที่จะต้องส่งเสริมและทำจริงๆจังๆ ถึงจะได้ผล  ห้องสมุดจังหวัด เคยจัดโครงการนี้อยู่ระยะหนึ่ง ปัญหาก็คือ ผู้ปกครองไม่มีเวลามาร่วมกิจกรรม ขณะนี้กำลังหาวิธีว่าจะดำเนินการอย่างไรถึงจะได้ผล ใครมีแนวคิดดีๆ ก็แชร์กันบ้างนะคะ
นางสาววราภรณ์ ทรัพย์ศฤงศิริ

        เด็กไทยไม่รักการอ่านหนังสือ  จึงเป็นสาเหตุให้ด้อยพัฒนากว่าชาติอื่น ๆ  ดังนั้นผู้ให้ควรสร้างนิสัยในการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก  โดยหาวิธีการรูปแบบโฉมใหม่ ๆ  ที่น่าสนใจ  เช่นหาหนังสือที่แปลกแต่ดูดี  มีสาระ   ให้ศึกษา 

        โดยได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ที่สำคัญผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการอ่านของเขา   ถ้าเด็กถาม  ผู้ใหญ่ควรตอบทุกเรื่องที่เขาอยากรู้  โดยหลักการที่เป็นจริง  ไม่ใช่หรอกเด็กเพื่อให้เด็กกลัว

          ถ้าผู้ปกครองให้ความสำคัญกับทุกเรื่องของเด็ก  ต่อไปเด็กไทยก็จะมีพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคต  

ขอบคุณทุกท่านที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท