วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก : เบาหวาน


เป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๓๐ ถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.กว่าเล็กน้อย มีการสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องเบาหวาน ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการสอบนอกจากจะมีทีมที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์แล้ว ก็มี ผศ.ดร.สุจิตรา เทียนสวัสดิ์ ทำหน้าที่ประธาน รศ.ดร.สุกัญญา ปริสัญญกุล และดิฉันร่วมเป็นกรรมการสอบด้วย

หัวข้อ : Effect of Hospital-Based Clinic Intervention on Diabetes Knowledge, Glycemic Control Self-Efficacy, and Glycemic Control in Chinese Patients with Diabetes Mellitus.
นักศึกษา : Mrs. Qifang Shi (ฉีฟัง ชี)
ปริญญา : Doctor of Philosophy in Nursing
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : รศ.ดร.ลินจง โปธิบาล ประธาน ส่วนกรรมการได้แก่ ผศ.ดร.ทิพาพร วงศ์หงส์กุล ผศ.ดร.พวงพยอม ปัญญา และ Prof.Dr.Sharon K. Ostwald

ดิฉันเดินทางจากกรุงเทพแบบสบายๆ เพราะเครื่องบินออกประมาณ ๘ น. สนามบินดอนเมืองช่วงเวลานี้มีคนน้อยมาก จึงมีเวลาเงียบๆ อ่านวิทยานิพนธ์ได้ต่อ เครื่องบินไปถึงเชียงใหม่เร็วกว่าเวลา ๑๐ นาที รศ.ดร.สุกัญญา ปริสัญญกุล รองคณบดีฝ่ายแผนและพัฒนาและกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนปริญญาเอกรุ่นเดียวกันไปรับและพาไปนั่งทำงานต่อที่บ้าน มื้อกลางวันได้รับประทานอาหารพื้นเมืองหลายอย่างที่ร้านเพ็ญ  ใกล้เวลา ๑๓ น.จึงพากันเดินจากบ้านพักมาที่คณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์สุกัญญาบอกว่าไปเร็วหน่อย นักศึกษาจะได้ใจชื้นว่าอาจารย์มาแล้ว ไม่ต้องกังวลใจ นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญ

ต้องขอชื่นชมคุณฉีฟังที่สามารถเรียนจบได้ภายในเวลา ๓ ปี เป็นตัวอย่างที่ดี อีกไม่กี่วันก็จะมีนักศึกษานานาชาติสอบอีกคนหนึ่ง ทำได้อย่างไรคงต้องไปขอเรียนรู้จากคณาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์แห่งนี้ ดิฉันอ่านเนื้อหาในเล่มวิทยานิพนธ์ที่จะสอบแล้วเห็นได้ว่าได้ผ่านการดูแลมาอย่างดี ไม่ใช่ทำแบบส่งๆ เพื่อสอบไปก่อน แล้วค่อยมาทำให้ดีภายหลัง (ทำได้หรือเปล่าไม่รู้) คำถามของกรรมการสอบแต่ละท่านสะท้อนว่าได้อ่านเนื้อหามาแล้วอย่างถี่ถ้วน

คุณฉีฟังใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนและการพูดได้ดีมาก ตอบคำถามคณะกรรมการด้วยความตั้งใจ ดูจากท่าทางแล้วเธอคงเครียดพอสมควร แต่ก็ควบคุมการแสดงออกได้ คุณฉีฟังบอกว่าที่คลินิกแต่ละสัปดาห์มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อย ดิฉันดูแล้วน่าจะวินิจฉัยโรคช้าไปด้วย เพราะแม้แต่คนที่วินิจฉัยใหม่ๆ HbA1C ก็เกิน ๑๐% แล้ว ตามปกติการตรวจ HbA1C ทำได้เฉพาะในผู้ป่วยบางราย ในโรงพยาบาลที่คุณฉีฟังทำวิจัย เป็น teaching hospital แต่ยังไม่มีการดูแลผู้เป็นเบาหวานอย่างเป็นระบบ

คุณฉีฟังให้ intervention โดยใช้ Health education strategies ทั้งการสอน ฝึก ให้คำปรึกษา แนะนำ และวิธีการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่ม self-efficacy ของผู้ป่วย มีเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ติดตามเป็นระยะเวลา ๔ เดือน ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีความรู้มากขึ้น รับรู้ self-efficacy สูงขึ้น มีพฤติกรรมดีขึ้น และ HbA1C ลดลงโดยเฉลี่ยถึง ๑.๐๒% แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

คุณฉีฟังเล่าด้วยว่าระหว่างให้ intervention ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มาก เมื่ออยู่ที่บ้านมีปัญหาก็โทรศัพท์มาปรึกษา บางรายโทรมาดึกๆ ก็มี บุคลากรอื่นมาเห็นก็ชมว่าทำดี ทำให้มีกำลังใจในการทำวิจัยมากขึ้น งานนี้มีคุณแม่ช่วยสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ด้วย

บรรยากาศการสอบเป็นอย่างไร ดูได้จากภาพที่ถ่ายหลังสอบเสร็จแล้ว

 คุณฉีฟัง สูงๆ เสื้อแดงลายดำ กรรมการสอบและประธานหลักสูตร

ช่วงเวลาที่สอบกันอยู่นั้นมีฝนตกลงมาหนักมาก หลังสอบเสร็จ เราจึงต้องเดินลุยน้ำกลับบ้านพักของอาจารย์สุกัญญา จัดข้าวของที่หลายคนเอามาฝาก อาจารย์สุกัญญาเตรียมหมูทอด ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่มไว้ให้ รศ.ดร.วารุณี ฟองแก้ว ประธานหลักสูตรปริญญาเอก ยอมเปียกฝนไปซื้อข้าวเหนียว ไส้อั่ว แกงฮังเล และน้ำพริกหนุ่มมาอีก อาจารย์ทิพาพรฝากลำไยอบแห้งและกีวีอบแห้งรวม ๒ กล่อง

ดิฉันออกเดินทางจากเชียงใหม่เวลา ๑๘.๐๕ น. ถึงกรุงเทพตรงเวลา ได้ของฝากชุดนี้เป็นอาหารเย็นที่บ้านพอดี

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 95917เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นักศึกษาที่มาจากจีน ส่วนใหญ่ขยันมากถึงมากที่สุดครับ เป็นประสบการณ์ของผมเองที่เจอเมื่อมาสอนที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และไม่แปลกเลยที่ทุกปีจะมีนักศึกษาจากจีนได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

เสียดายเด็กไทยขยันสู้เด็กจีนไม่ได้ แถบยังไม่ยอมเอาเป็นแบบอย่างด้วย

ท่านอธิการบดี บอกนโยบายของท่านในตอนที่เปิดตลาดรับนักศึกษาจีนว่า ท่านต้องการให้เด็กไทยเห็นแบบอย่างความขยันมุ่งมันของเด็กจีน

นักศึกษาไทยเห็นครับ แต่ไม่ค่อยเอาเป็นแบบอย่าง

อันนี้พูดถึงส่วนใหญ่นะครับ นักศึกษาไทยหลายคนก็ขยัน โดยเฉพาะเวลาใกล้สอบ

อ่านสนุก 

ชอบการเรียนการสอน การสอบ ที่อาจารย์เล่า

ชื่นชมผู้สอบ และแนวคิดการทำวิจัยนะคะ

อาจารย์สอบก็เต็มที่

และท้ายสุด

ชอบอาหารร้านเพ็ญ และของฝาก เวลาไปเชียงใหม่ค่ะ

Dear Ajarn,
I am extremely grateful to you. Thank you give me many scholarly comments and great help. You are so nice.
Sincerely,
Qifang
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท