วันแห่งการตามหาที่ซุกหัวนอน


ตามล่าหาที่พัก

วันที่ 8 พฤษภาคม 2550

อันเป็นเช้าวันที่ 2 ของที่นี่ ผมตื่นขึ้นมาราว 7 โมงกว่า แล้วก็เกิดลืมไปว่าได้นัดกับ Jessica และ Fernaldi ไว้กี่โมงกันแน่ (ที่จำไม่ได้ก็เพราะว่า เรานัดกันเป็นภาษาอังกฤษกระมัง มันเลยลืมไปง่ายเสียจริง) เดาให้เช้าไว้ก่อนว่าน่าจะเป็น 8.30 น. แต่เนื่องจากเข้าห้องน้ำนานมาก เลยเหลือเวลานิดเดียว ไม่สามารถกินขนมปังมื้อเช้าได้ทัน ผมรีบไปที่สถานี Little India เวลา 8.35 น.ก็รู้ตัวว่าน่าจะเร็วกว่าเวลานัดประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเลยเดินเล่นอยู่แถวนั้น

จากถนน Buffalo ผมก็เดินไปดูรอบๆย่าน Little India แถบนี้มีวัฒนธรรมสมชื่อ ผมเห็นแต่คนอินเดีย ร้านขายเครื่องเทศอินเดีย เพลงอินเดียและกลิ่นคนอินเดีย เดินมาจนเห็น Tekka market อันเลื่องชื่อก็เข้าไปดู พบศูนย์อาหารขายอยู่หลายร้าน ใจหนึ่งก็อยากกินมื้อเช้า แต่ดูไปดูมาแล้วก็ตัดสินใจเดินผ่านไปทุกที ไม่รู้จะสั่งอะไร มะตะบะก็อยากกิน อันนี้ต้องโทษความไม่กล้า ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่กล้า เงินก็มีพอ เป็นว่าอดมื้อนี้ จนถึงเวลานัด พบกับ Fernaldi แล้วก็นั่งคุยกันที่สนามเด็กเล่น อยากจะบอกว่า สนามเด็กเล่นที่นี่เขาปูพื้นด้วยยางนุ่มๆทั้งพื้นที่เลย แบบว่าล้มยังไงก็ไม่มีทางหัวร้างค่างแตกได้

ไม่นาน Jessica ก็มาถึง เราจึงเดินทางไปยังบ้านที่คิดว่าจะอยู่ได้ เราเข้ามาในเขาที่เป็นคอนโดมีเนียมสูงๆหลายตึก แต่บ้านที่เราจะเช่านั้นเหมือนห้องแถวคนจีนเก่าๆ เมื่อได้พบเจ้าของบ้าน เขาก็พาเข้าไปดู พบว่ามันเก่าจริงๆ ภายในบ้านเข้าแบ่งเป็น 4 ห้อง มี 1 ห้อง common room มี 2 ห้องน้ำ มีที่ว่างสำหรับกินข้าว รีดผ้า เขาวางแผนจะทำ common room ที่เหลือเนื้อที่เพียงน้อยนิดให้เป็นห้องอีก 1 ห้อง ซึ่งจะมีเนื้อที่ประมาณ 1 เตียงนอนเท่านั้น ตอนนี้ทุกห้องมีคนอยู่เต็ม แต่เจ้าของบ้านเธอจะเชิญให้คนหนึ่งออกไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน นั่งหมายความว่าว่างเพียง 1 ห้อง แต่เนื่องจากเขาจะต่อเพิ่ม จึงว่าง 2 ห้อง และจะเสร็จภายใน 3 วัน Jessica คงมองเห็นแววตาน่ากังวลของผมออก จึงได้ถามว่าแล้วเรื่องอากาศถ่ายเทเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่าจะติดแอร์ให้ ผมก็คิดในใจว่า ผมกังวลเรื่องอากาศที่จะใช้หายใจต่างหาก Fernaldi ดูเหมือนจะพอใจบ้าง เพราะที่นี่เคยเป็นที่อยู่ของ fellow ชาวอินโดนีเซียเพื่ของเขามาก่อน และเขาก็แนะนำให้มาอยู่ที่นี่ สนนราคาก็ประมาณ 350 เหรียญต่อเดือน แต่ Fernaldi บอกผมว่า เขามีเพื่อนอีกคนหนึ่งเรียนอยู่ที่ KKH เหมือนกัน และเช่าหออยู่ที่ Singapore International Campus (SIC) ตอนแรกผมไม่เข้าใจ นึกว่าเป็นวิทยาลัยอะไรสักแห่ง เลยงงว่าแล้วมาที่ KKH อีกทำไม เลยนัดแนะกันว่าจะไปดูกันในช่วงตอนเย็น เพราะเพื่อนเขาจะเสร็จการผ่าตัดประมาณ 6 โมงเย็น               

จากนั้น Jessica ได้พาเราทั้ง 2 คนไป SMC ต่อ                

SMC ตั้งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) เป็นอาคารทรงโบราณ เราได้เดินเข้ามาข้างในเพื่อหาสำนักงานของ SMC ก็พบว่าเป็น office ขนาดเล็ก และเป็นที่รวมของ 3 สำนักงานคือ SMC, ทันตแพทยสภา และสภาพยาบาล เวลาเราเข้าไปติดต่อ ต้องรออยู่เฉพาะที่ห้องต้องรับขนาดเล็กๆเท่านั้น แล้วกดปุ่มที่ระบุว่าเรามาติดต่อ SMC สักพักก็มีเจ้าหน้าที่หญิงวัยประมาณ 40 ปลายๆออกมาหา เมื่อเรายืนเอกสารไปให้ก็ปรากฏว่าเธอบอกว่าไม่เห็นรู้เรื่องเลยว่าเราจะมากัน ไม่มีจดหมายแจ้งจาก KKH มาก่อน เขาจะดำเนินการไม่ได้ เราถือจดหมายมานั่นแหละ แต่เขาไม่ได้ระบุวันเริ่มทำงาน นี่คือปัญหา เราเลยให้เบอร์โทรหา Elaine และ Sabrina ปรากฏว่าไม่อยู่ เดือดร้อนถึง Judy ต้องรีบจัดการให้และส่ง Fax เอกสารมาให้เรื่องจึงทำได้ต่อ สำหรับผมไม่มีปัญหา เพราะบอกเขาว่าจะเริ่มงานในวันจันทร์ที่ 14 (วันจันทร์อีกแล้ว ฤกษ์ดีไง) ส่วน Fernaldi วางแผนว่าจะเริ่มวันศุกร์ เพราะเขาจะกลับไปประชุมวิชาการที่บ้านก่อน ถึงตอนนี้คุณป้าจะไม่ยอมออก license ให้ เพราะเขากลัวว่าการที่มีการกลับบ้าน อาจจะไปทำ malpractice และจะทำให้ Certificate of Good Standing หมดสภาพทันที Fernaldi จึงโทรไปหา Judy ใหม่ แล้วแจ้งว่ายกเลิกการกลับบ้านแล้ว และจะเริ่มงานพร้อมผม นั่นแหละเธอจึงยอมออกให้ (งานนี้เรารู้กัน 2 คนว่า Fernaldi โกหก เพราะว่าดูมันน่าจะยุ่งมากเหลือกำลังเลยเชียว) ขั้นตอนที่สำคัญก็คือ คุณป้าเธอจะต้องตรวจสอบเอกสารที่ผมเคยส่งมาทั้งหมดกับของจริง ที่ผมต้องหอบหิ้วปริญญาบัตรและประกาศของสมาชิกแพทยสภาที่เข้ากรอบวิทย์เสียอย่างดีก็เพื่อขั้นตอนนี้นี่เอง (ตอนที่เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่ๆ คิดว่าจะเอาปริญญาบัตรติดผนังคลินิกไงล่ะ) เธอใช้นิ้วลูบเอกสารด้วยเสมอว่ามีรอยนูนของการลงนามหรือไม่ และผมต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 200 เหรียญ ใบ temporary license เป็นกระดาษสีฟ้าขนาด A4 ที่ระบุระยะเวลาทำงานของผมอย่างชัดเจน และประทับตราของ SMC ด้วยครั่ง ดูขลังทีเดียว จะว่าไปแล้วคุณป้าก็น่ารักดี เพราะเธอคุยเก่ง แนะนำเราได้หลายอย่าง เมื่อเสร็จงานทั้ง 2 คน ก็เดินไปหา SMA ต่อ                

SMA อยู่ไม่ไกลกันนัก เดินประมาณ 5 นาทีก็ถึงแล้ว ที่นี่เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่ยังคงไว้ซึ่งรูปทรงโบราณแบบฝรั่ง เราขึ้นไปชั้น 2 เวลาขณะนั้นก็ล่วงไปเที่ยงครึ่งแล้ว แต่มีคนอยู่ตลอด ผมเสียเงินไปอีก 245 เหรียญเพื่อประกันความเสียหายทางการแพทย์                

เที่ยงมื้อนี้เราฝากท้องไว้ที่ Chinatown food center ที่อยู่ตรงข้ามกับ Singapore General Hospital ผมกินก๋วยจั๊บ 1 ชาม ก๋วยจั๊บที่นี่เขาจะแยกเส้นและกับออกจากกัน อารามรีบนัก (อย่าลืมว่าอดมื้อเช้ามา) ลิ้นจึงพองอย่างไม่ต้องสงสัยเลย อิ่มพุงแล้วก็นัดกับ Fernaldi ต่อว่าจะไปหาอพาร์ตเม้นกันต่อ ผมขอกลับไปอาบน้ำที่โรงแรมก่อน เพราะทั้งเหนื่อยและร้อน ประมาณ 1 ชั่วโมงผมจะไปหาที่ Inn Crown Hotel ที่เขาพักอยู่

กลับถึงห้องอาบน้ำเสร็จก็ลงไปเดินเล่น และเข้าร้าน internet ที่ราคาแสนแพง คือประมาณ 4 เหรียญต่อชั่วโมง ผมแทบจะเซ็งเป็นที่สุดที่ไม่สามารถเปิด mail ได้ในช่วง 1 วันที่ผ่านมา นี่คงจะเป็นอาการของคนติด net อย่างที่เขาว่าไปแล้วกระมัง แค่ได้เปิด อ่านก็หายเซ็งเป็นปลิดทิ้ง จากนั้นก็เดินทางไป Little India อีกครั้ง ผมเดินตามถนน Buffalo แล้วผ่านเข้าไปที่ถนน Dunlop เพื่อจะหา Inn Crown Hotel และโทรหา Fernaldi และได้เจอกัน ตอนนี้นี่เองที่ได้มีโอกาสเข้าไปดูห้องพักของเขา ดูไปก็เหมือนหอพักที่มีคนอยู่ร่วมกัน 2-3 คนแล้วแต่ลักษณะห้อง ห้องน้ำแยกต่างหาก สารภาพว่าผมคงอยู่ไม่ได้แน่ๆ ออกจากที่พักเราก็เดินไปในย่าน Little India เรามุ่งหน้าไปหาตึกสูงๆเก่าแห่งหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นสำนักงานขายเลย Fernaldi เลยเดินเข้าไปถามคนที่ขายของอยู่ในตึกนั้น เลยทราบว่า ตึกนี่และส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล การที่เราจะหาห้องเช่านั้นคงต้องติดต่อผ่านนายหน้าอีกที ไม่นานหลังจากนั้น เพื่อนของ Fernaldi ก็ติดต่อมาว่า เขาเลิกงานเร็วกว่ากำหนด ตอนนั้นก็ราวๆ 3 โมงกว่าๆ และจะพาเราไปดูหอพักที่เขาพักอยู่ ผมเลยตกลงไปด้วย จุดนัดพบของเราอยู่ที่ 7-11 ชั้น 1 ของ KKH ใช้เวลาเดินประมาณ 5 นาทีก็ถึงแล้ว

ชั้น 1 ของ KKH นั้นมีลักษณะเป็นศูนย์การค้า มีร้านขายของเล่น ขายเสื้อผ้า และศูนย์อาหาร ผมได้ทำความรู้จักกับ Indra ซึ่งเป็นหมอสูติที่กำลังเรียนต่อด้าน laparoscopy Fernaldi เล่าว่า เขาทั้งคู่เป็นลูกของสูติแพทย์ พ่อของ Indra เป็นหมอที่มีชื่อเสียงด้านการส่องกล้องมาก ส่วนพ่อของเขาชำนาญเรื่อง preinvasive เช่น colposcopy จากนั้นเราก็เดินไปขึ้นรถบัสด้วยกัน

รถบัสของที่นี่ก็สามารถใช้บัตร EZ Link ได้และสะดวกมากเสียด้วย เรานั่งรถบัสไปตามถนน Bukit Timah ผ่านออกไปนอกเมืองราว 13-15 ป้ายผมก็ไม่แน่ใจ สนนราคาประมาณ 80 เซนต์เท่านั้นเอง เราเดินต่อมาอีกประมาณ 100 เมตรก็ถึง SIC ตรงนี้ก็ถึงบางอ้อ ว่า SIC นั้นไม่ใช่วิทยาลัยอะไรทั้งนั้น มันเป็นชื่อของหอพักนั่นเอง ที่นี่มีนักเรียนต่างชาติหลายคนมาพักอาศัย Indra เป็นคนที่มีอัทธยาศัยดีมาก เขาแทบจะทักและรู้จักกับทุกคนที่หอพักแห่งนี้เลย เราตรงเข้าไปในสำนักงาน พนักงานสาวออกมาต้อนรับ เธอรู้มาก่อนแล้วว่าเราจะมาเพราะ Indra แจ้งไว้ เธอพาไปดูห้องต่างๆ ที่แรกคือ deluxe room ที่นอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว มี internet ฟรี ราคาเดือนละ 750 เหรียญ จากนั้นพาไปดูห้องเดี่ยวแบบเดียวกัน ราคา 850 เหรียญ ส่วนห้องแบบ standard room อยู่ชั้นบน ห้องเล็กกว่า ใช้ห้องน้ำรวม ไม่มี internet ต้องมาเล่นในที่รวมที่จัดไว้ ราคาก็ถูกลงมาอีก ซึ่งผมก็ได้เข้าไปดูในห้องน้ำ ห้องส้วม รู้สึกว่าสกปรก สภาพก็คล้ายๆกับที่เคยอยู่หอพักชายสมัยเรียนแพทย์นั่นแหละ ที่นี่เขาจะเปลี่ยนผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนและทำความสะอาดห้องให้สัปดาห์ละครั้ง รับซักและรีดผ้าให้ทุกวันศุกร์ ฟังดูแล้วน่าสนใจไม่น้อยเลย เสียแต่ว่าต้องนั่งรถบัสไกลไปหน่อย แต่ก็ยังราคาถูกมากคือ ไปกลับวันละไม่ถึง 2 เหรียญ นึกซะว่าอยู่กรุงเทพที่ต้องเดินทางไกลเหมือนกัน เราขอเวลาตัดสินใจ 1 วัน เพราะว่า Fernaldi วางแผนว่าจะไปดูอีกที่หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ KKH มาก เรานั่งรถกลับทางถนนอีกด้านหนึ่ง คือถนน Dunearn (ผมเรียกว่าถนนทุเรียน) ซึ่งว่าไปแล้วก็คือถนนที่คู่กับ Bukit Timah นั่นแหละ ไม่นานนักก็ถึง KKH ผมแยกกับ Fernaldi ที่นี่เพราะว่าล้าเต็มที                

ถึงโรงแรมก็ประมาณ 5 โมงเย็น อ.เต็มศักดิ์ยังไม่กลับ เลยนั่งเขียนบันทึกไปพลางๆ อาจารย์กลับมาก็เกือบ 1 ทุ่มแล้ว บอกว่าไม่กินข้าวเย็น ผมเลยตะลุยคนเดียวเลย ได้มีโอกาสเดินผ่านร้านข้าวต้ม Tiong Shian อันแสนเลื่องลือ อยากจะเข้าไปกิน แต่มีคนมากเหลือเกิน อารามกลัวตามแบบฉบับผม ก็เลยดูและเดินผ่านไปกินข้าวมันไก่แทน ในราคา 2 เหรียญทำให้ผมอิ่มแต่ไม่แน่นเหมือนตอนอยู่ที่บ้าน

กลับถึงโรงแรมก็ได้สนทนาธรรมเรื่องความตายกับอ.เต็มศักดิ์ต่อ วันนี้ได้คุยเรื่องประสบการณ์ที่อาจารย์ได้เดินทางไปเรียนต่อที่เมืองนอกด้วย อาจารย์ได้เล่าว่า เมื่อประมาณปี 2538 ได้มีโอกาสไปเรียนที่อังกฤษ เริ่มจากที่ต้องเรียนที่ลอนดอนก่อน เงินที่คณะให้ไปไม่พอใช้ เพราะค่าครองชีพสูงมาก แต่เมื่อย้ายไปเรียนต่อที่ลีคส์เงินกลับเหลือ เพราะว่าได้อยู่หอพัก กินข้าวในโรงพยาบาลซึ่งแสนจะถูก ค่าครองชีพก็ต่ำ สรุปว่ามีเงินเหลือให้เที่ยวหลังเรียนจบ 1 สัปดาห์ ลักษณะการเที่ยวของอาจารย์เป็นแบบ backpacker ไปนอนตามบ้านฝรั่งกินมื้อเช้ากับครอบครัวเขา แบบที่เรียกว่า original bed and breakfast ของจริงเลย บางหลังที่คุยกันถูกคอก็อยู่ต่ออีกคืน คนที่เปิดบ้านแบบนี้ส่วนมากเป็นฝรั่งแก่ๆที่อยู่บ้านเฉยๆ เลยเหงา เวลามีคนมาพักก็จะดีใจ ลักษณะอย่างนี้ก็น่าจะคล้ายๆกับ home stay ของบ้านเรา จากเรื่องนี้ก็สนทนาธรรมกันอีกเล็กน้อย จึงได้เวลานอน ไม่นานก็ได้รับ SMS จาก Fernandi บอกว่าเมื่อตอนเย็นเขาไปดูที่ Vita hostel ซึ่งมีลักษณะจะคล้ายๆกับที่ SIC แต่ไม่มีห้องน้ำในตัว ราคาพอๆกัน เขาต้องการใบแสดง student pass ของเราด้วย ไม่ทราบต้องการไปทำไม เพื่อลดราคาหรือไม่ก็ไม่รู้ เลยคิดว่าพรุ่งนี้ค่อยโทรไปหา

หมายเลขบันทึก: 95681เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาบอกว่า ยังอ่านสนุกเหมือนเดิมค่ะ แม้จะยาว แต่ชอบการเขียนที่เป็นการเขียนสิ่งที่คิดด้วย ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องน่ะค่ะ อาจารย์ทำได้ดีมาก

ต่อไปถ้าลองเปลี่ยนสีฟ้อนท์เป็น paragraph ก็จะยิ่งดีต่อสายตามากขึ้นนะคะ

จะทำให้คนอ่านได้พักสายตาเป็นช่วงๆไงคะ

สนทนาธรรม เรื่องความตาย ผมคลั่งเรื่องนี้ขนาดนี้เลยหรือเนี่ย เพิ่มรู้ตัวนะครับ

เห็นด้วยกับคุณโอ๋ครับว่า อาจรย์แป๊ะ ช่วยจัดย่อหน้า แบ่งบันทึกหน่อยก็จะดีมากเลย สงสาร สว. อย่างพวกผมหน่อย 

 

สิ่งที่อาจารย์ทำไม่ได้เรียกว่าคลั่งครับ แต่พยายามศึกษาเพื่อที่จะทำความเข้าใจต่างหาก

ยังจำได้ที่ผมคุยกับอาจารย์ว่า สิ่งที่ผมกลัวที่สุดในการเป็นแพทย์คือ การชาชินกับความตายครับ

เรื่องการจัดแต่งหน้า ต้องขออภัยครับ เพราะยังไม่ถนัด ขนาดจะเอารูปเข้ายังทำไม่เป็นเลย กำลังพยายามครับ ช่วงนี้ต้องอ่านหนังสือมาก เลยรีบเขียน รีบลงบันทึก เดี๋ยวลืม จะพยายามแก้ไขไปเรื่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท