การเปลี่ยนแปลงการบริหาร (2)


การบริหารจึงต้องวิเคราะห์ เจาะลึก ทำความเข้าใจ สังเคราะห์ และปฏิบัติเพื่อให้การนำทฤษฎีไปใช้ในการบริหารเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

จะเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change)  ต้องเข้าใจการบริหาร (ก่อน)

ตำราบริหารหลายเล่มเริ่มต้นเรื่องวิวัฒนาการบริหารต่างกัน

ตำราเล่มที่ 1  แบ่งยุคการบริหารเป็น 4 ยุค  ดังนี้  (หลักบริหารการศึกษา ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์)
      ยุคที่ 1  ยุควิทยาศาสตร์ (Scientific Management) (ค.ศ. 1910 – 1935)
      ยุคที่ 2  ยุคมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations) (ค.ศ. 1930 – 1950)
      ยุคที่ 3  ยุคพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) (ค.ศ. 1950 – 1970)
      ยุคที่ 4  ยุคการบริหารเชิงระบบ  (Systems Approach)  (ค.ศ. 1970 – ปัจจุบัน)

ตำราเล่มที่ 2  แบ่งแนวคิดการบริหารงานเป็น 3 มิติ (การจัดการมุมมองนักบริหาร  ดร.จุฑา  เทียนไทย)
      มิติที่ 1  การบริหารแบบดั้งเดิม หรือแบบเก่า (Traditional Model)
      มิติที่ 2  การบริหารแบบมนุษยสัมพันธ์  (Human Relations Model)
      มิติที่ 3  การบริหารแบบทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Model)

ตำราเล่มที่ 3  แบ่งการบริหารออกเป็น 5 ยุค  เรียกยุคก่อน ค.ศ. 1900  ว่ายุคโบราณ  โดยเพิ่มให้เป็นยุคแรกของตำราเล่มที่ 1  และแยกมิติของการบริหารแบบดั้งเดิมของตำราเล่มที่ 2  จากมิติที่ 1

ที่ผมสนใจคือ  คำอธิบายที่ว่า “การบริหารในยุคโบราณไม่มีหลักเกณฑ์  ขึ้นอยู่กับการใช้กำลังและอำนาจของผู้บริหาร  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเผด็จการ  ยกตัวอย่างเช่น  การสร้างปิระมิดของอียิปต์  การสร้างกำแพงเมืองของจีน”

ผมสงสัยว่า หากการบริหารยุคโบราณไม่มีหลักเกณฑ์  เหตุไฉนคนปัจจุบันจึงต้องศึกษาว่า  การก่อสร้างปิระมิดของอียิปต์ทำอย่างไร?  เรียงหินอย่างไร?  จึงทำให้มีห้องขนาดใหญ่ภายในปิระมิดได้  การสร้างกำแพงเมืองจีนบนเทือกเขาที่ทอดยาวทำอย่างไร?  ใช้เทคนิคการก่อสร้างอะไร?  จึงคงทนและยืนยาวนับพันปี

ผมมีโอกาสได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง  สาธารณรัฐประชาชนจีน  ไกด์ชาวไทยเล่าให้ฟังขณะพาไปชม “พระราชวังต้องห้าม” ซึ่งรัฐบาลตั้งชื่อใหม่ว่า “พิพิธภัณฑ์พระราชวัง” ไกด์ชี้ให้ดูหินก้อนใหญ่แกะสลักเป็นรูปมังกร  และลวดลายประกอบสวยงาม  และอธิบายว่าหินก้อนนี้หนักหลายสิบตัน (หลายพันกิโลกรัม) เป็นหินจากภูเขาที่อยู่ไกลโพ้นนับพันลี้

ผมถามว่า  แล้วขนมาอย่างไร?

ไกด์บอกว่า มีหนังสือเขียนอธิบายไว้ว่า  มีการขุดสระที่มีความยาวติดต่อกันจากภูเขาจนถึงพระราชวัง  เมื่อถึงหน้าหนาวน้ำในสระกลายเป็นน้ำแข็ง  จึงมีการเคลื่อนย้ายแผ่นหิน  โดยใช้ขอนไม้ขนาดใหญ่รองแผ่นหิน  และกลิ้งขอนไม้ไปตามความยาวของสระที่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง  พื้นผิวของน้ำแข็งมีความลื่นทำให้ขอนไม้กลิ้งได้ง่าย  ไม่หนักแรง  ด้วยวิธีดังกล่าวแม้จะใช้เวลาหลายปีก็สามารถเคลื่อนย้ายหินมาจนถึงพระราชวังได้

ผมสนใจมาก  ขอซื้อหนังสือเล่มดังกล่าว  ไกด์ตอบว่าไม่ขายแต่จะให้ฟรี  ผมดีใจที่จะได้ค้นพบวิธีการบริหารที่จะยืนยันได้ว่า  การบริหารยุคโบราณมีการวางแผน  มีการจัดการที่ดี

ผมคงจะมีโอกาสขยายความวิวัฒนาการการบริหารตั้งแต่ยุคโบราณ 
แต่จนบัดนี้  ผมยังไม่ได้รับหนังสือเล่มดังกล่าวจากไกด์  และไม่พบหน้าไกด์อีกเลย  สิบกว่าปีแล้วครับ

แม้ไม่มีหนังสือมายืนยัน  แต่คำอธิบายดังกล่าวก็มีเหตุผลน่ารับฟังทีเดียว  ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือพยายามลากเข้าความ  เพื่ออธิบายเรื่องการเคลื่อนย้ายแผ่นหินก็ตาม

ตำราหลายเล่มอธิบายโดยการแบ่งยุคหรือมิติวิวัฒนาการการบริหารแตกต่างกัน  แต่หากนำมาพิจารณาแล้วจะพบว่า  การแบ่งยุคต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากการนำทฤษฎีที่เกิดขึ้น  มาวิเคราะห์หาแนวโน้มของหลักการ  ทฤษฎี  แล้วนำมาอธิบาย  อาทิ

ยุควิทยาศาสตร์ (Scientific Management) (ค.ศ. 1910-1935)  เป็นยุคของ Frederic W Talor (1910) วิศวกรชาวอเมริกัน  ผู้ที่ถือว่าเป็น “บิดาแห่งการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์” ประกาศแนวคิดสำคัญ 4 ประการ  ในการบริหารงานเชิงวิทยาศาสตร์  ได้แก่
      1.  One best way (หาวิธีที่ดีที่สุด)
      2.  Put the right man to the right job (จัดคนให้เหมาะกับงาน)
      3.  Equal work, Equal pay (งานเท่ากัน  เงินเท่ากัน)
      4.  Specification and Division of work  (เน้นความชำนาญ  และการแบ่งงานกันทำ)

      แนวคิดข้างต้นเป็นแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์

ยุคมนุษยสัมพันธ์  (Human Relation) (ค.ศ. 1930-1950)  เป็นยุคแห่งการวิจัยที่มีชื่อเสียงที่เรียกว่า Hawthorne Experiment (การทดลองฮอร์ธอร์น) โดย Elton Mayo (เอลตัน เมโย) และคณะ  ทำการทดลองระหว่าง ค.ศ. 1927-1932  โดยได้วิจัยความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะจิตใจและร่างกายของคนทำงานตลอดจนสภาพแวดล้อม  สถานที่ทำงาน  ที่มีผลต่อผลผลิตและคุณภาพการผลิต  โดยออกแบบการวิจัยให้มีทั้งการสังเกต  สัมภาษณ์  ทดลอง  และการกำหนดตัวแปร  ทั้งนี้เป็นแนวคิดการศึกษาเชิงมนุษยสัมพันธ์

ส่วนในยุคอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

ทีนี้คงไม่ต้องนั่งเถียงกันแล้วนะครับว่า  วิวัฒนาการของการบริหารมีกี่ยุค  หรือกี่มิติ  ท่านเองก็แบ่งยุคหรือมิติได้  โดยยึดหลักการข้างต้น  หรือกำหนดหลักการขึ้นใหม่

การบริหารจึงต้องวิเคราะห์  เจาะลึก  ทำความเข้าใจ  สังเคราะห์  และปฏิบัติเพื่อให้การนำทฤษฎีไปใช้ในการบริหารเกิดประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล

การบริหารเป็นทั้งศาสตร์  และศิลปะครับ

หมายเลขบันทึก: 95658เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • การบริหารงานกิจกรรมนิสิตที่บริหารโดยนิสิตในแต่ละหน่วยกิจกรรมนั้น คาดว่าน่าจะเป็นแบบโบราณ อยู่ที่กึ๋นของผู้นำ ระบบไม่ค่อยมี (ไม่รวมระเบียบ)
  • ถึงแม้จะมีระบบการจัดการความรู้เข้ามาบ้างแต่ก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ทำอย่างไรดีครับอาจารย์ (อย่าลืมปัจจัยว่าผมเหลือเวลาในมหาลัยอีกเทอมเดียวก็จะไปฝึกงานและจบแล้วครับ)

บีเวอร์

ครูคิดว่าการบริหารของนิสิตมีระบบพอสมควร แต่เพราะส่วนใหญ่ใช้ประสบการณ์ในการบริหาร และแก้ปัญหา จึงดูเหมือนว่าการจัดกิจกรรมบางครั้งไม่ราบรื่น มีสะดุดบ่อยๆ

นิสิตที่ทำกิจกรรมควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ่อยๆ ที่สำคัญที่ครูพบคือ มักจัดกิจกรรมตามๆ กัน ไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นสมควรทำหรือไม่? รวมกิจกรรมหลายๆ อย่างทำพร้อมๆ กันหรือทำครั้งเดียวกันได้ไหม? ควรมีการปรับเปลี่ยนการทำกิจกรรมเป็นรูปแบบอื่นบ้างได้ไหม

ง่ายที่สุด คือ ถามตัวเองว่า ถ้าเราเป็นผู้ร่วมกิจกรรมเรารู้สึกสนุกไหม? เห็นคุณค่าไหม? ฯลฯ ถ้าตอบว่า "ไม่" ควรทบทวน หรือแม้แต่ตัวผู้จัดกิจกรรมเอง ถ้าเบื่อหน่าย ไม่รู้สึกสนุกหรือเห็นคุณค่า ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะทบทวน

เหลือเวลาอีกเทอมเดียวก้เรียนรู้ได้ การเรียนรู้ไม่มีเวลาสิ้นสุด

ขอให้บีเวอร์โชคดี

การบริหารแบบดั้งเดิมเปลี่ยนมาเป็นการบริหารรัฐแบบใหม่เพราะอะไร

ในมุงมอง นักHR คำว่า งานเท่ากันจ่ายเท่ากัน Equal work Equal pay มีบทบาทความสำคัญอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท