ตอบเรื่อง “เมืองโออิตะ” ... บทเรียนการท่องเที่ยว?


โออิตะมีเป้าหมายในภาพรวมคือ การพัฒนาให้เป็นเมืองทันสมัยที่อยู่ร่วมกับภาคเกษตร

มีคำถามเข้ามาในบล็อคเรื่องเมืองโออิตะ  ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากเขียนถึงอยู่นานแล้วเหมือนกัน

...เมืองโออิตะ...เขามีวิธีการอย่างไรในการพัฒนาสินค้า ควบคู่กับการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  ถ้าจะไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อเชื่อมโยงเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว อาจารย์แนะนำให้ไปที่ไหน เมืองใดบ้าง อะไรเป็นความโดดเด่นของหมู่บ้านนั้น ที่ควรศึกษา ถ้าจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ค้นคว้าได้ที่ไหนคะ

 

เราเขียนสิ่งเหล่านี้จากความทรงจำที่ได้ไปโออิตะสองครั้ง ล่าสุดคือเมื่อปีที่แล้ว (ตัวรายงานมีคนยืมไป รายละเอียดบางส่วนอาจคลาดเคลื่อนบ้าง แต่หลักคิดยังคงเดิม)

คงต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า

 

ประการแรก  

 

การท่องเที่ยวเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการพัฒนาเมืองโออิตะ (อย่างน้อยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว)    นั่นหมายความว่า   ถ้าเรามุ่งมองแต่การพัฒนาการท่องเที่ยวของโออิตะ เราก็จะไม่เข้าใจความเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวกับส่วนอื่นๆ  และการที่ส่วนอื่นๆมีผลต่อการท่องเที่ยว

 

โออิตะมีเป้าหมายในภาพรวมคือ การพัฒนาให้เป็นเมืองทันสมัยที่อยู่ร่วมกับภาคเกษตร

 

ด้วยเหตุนี้   วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร จึงเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้และอยู่ในแผนพัฒนาเมือง     สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นจากเมืองโออิตะ ก็คือ เห็นความทันสมัยที่อยู่อย่างผสมผสานกับภาคเกษตร (และธรรมชาติ)

 

ประการที่สอง

 

โออิตะมีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง  การพัฒนาเมืองโออิตะจึงเป็นอิสระขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและงบประมาณของการปกครองส่วนท้องถิ่น  การเป็นอิสระไม่ได้อิงนโยบายจากส่วนกลางทำให้สามารถหารูปแบบของตนเองได้อย่างคล่องตัวและยืดหยุ่น

 

ประการที่สองนี่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาจังหวัด และการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย

 

 ประการที่สาม

 โออิตะมีหมู่บ้านท่องเที่ยวอยู่ก่อนแล้ว  เช่น Ufu (ยูฟุ) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อน  และหมู่บ้านอื่นๆข้างเคียง (ไม่แนใจว่าอยู่ในโออิตะหรือไม่) ที่ทำเครื่องปั้นดินเผา (รู้สึกว่าชื่อ Arita --อะริตะ)  เครื่องจักสาน  เป็นต้น 

สิ่งที่โออิตะทำ (เฉพาะตัวอย่างเด่นๆ)

 

1.       อดีตผู้ว่าฯ ริเริ่ม โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์   บนหลักการสามประการคือ  (1) จากท้องถิ่นสู่สากล (2) พึ่งตนเอง (3) พัฒนาคน  เริ่มโดยการที่ผู้ว่าลงไปเดินทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วยตนเอง    (เขาเน้นการพึ่งตนเอง การพัฒนาคน และการทำความเข้าใจหลักคิดของโครงการนะคะ)

 

ตัวชี้วัดของความสำเร็จของชาวบ้านที่ร่วมโครงการ คือ รายได้ที่มากขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง  แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของจังหวัด  คือ จำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเป็นผลิตภัณฑ์ทีสร้างเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นได้  

     

 ดังนั้น  ทองม้วนของหมู่บ้าน ก. จะต่างจาก หมู่บ้าน ข. ด้วยสูตรพิเศษบางอย่าง   และไม่มีการให้คุณด้วยการให้ดาวอย่างบ้านเรา (เพราะตรงกันข้ามคือให้โทษแก่ผู้แพ้ที่ไม่ได้สี่ห้าดาว)     ทองม้วนของหมู่บ้าน ก. ก็จะเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ก.  ไม่ต้องไปแข่งกับหมู่บ้าน ข.  คนก็ไปเที่ยวได้ทั้งหมู่บ้าน ก.และข. เพื่อไปชิมทองม้วนคนละสูตร

 

เมื่อพบสินค้าพื้นฐานของจังหวัด เช่น  มะนาว   จังหวัดก็สนับสนุนให้หน่วยงานวิจัยของรัฐหรือของท้องถิ่น คิดค้นพัฒนา แปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะนาวให้หลากหลาย ตั้งแต่ บิสกิต น้ำมะนาว  ไวน์ และอื่นๆ (ทราบมาว่าเป็น 100 ชนิด)  ชาวบ้านไปเลือกเรียนสูตรกันเองว่า อยากได้อะไรไปต่อยอดการแปรรูปมะนาวของตนเอง      เป็นการใช้เทคโนโลยีผสานกับเกษตรได้ดี

 

2.  สร้างพิพิทธภัณฑ์  ศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต   เช่น  พิพิทธภัณฑ์ไผ่  ก็จะมีตั้งแต่ตัวอย่างต้นไผ่ทั่วญี่ปุ่นเป็น 10 ชนิด บอกลักษณะ ประโยชน์ใช้สอย  แหล่งที่มี มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากไผ่ที่เป็นภูมิปัญญา และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ไผ่ใหม่ๆทันสมัย   ที่สำคัญคือ  ในนั้น จะมีภาพและประวัติของปราชญ์ชาวบ้านที่รู้เรื่องไผ่  หรือ  ช่างจักสานที่มีฝีมือของท้องถิ่นและของประเทศ พร้อมตัวอย่างงานฝีมือ  สุดท้ายก็จะมีห้องเรียนสำหรับคนอยากฝึกหัดจักสานไผ่ด้วย

 

3. สร้างศูนย์เกษตรในพื้นที่กว้าง ที่มีตั้งแต่การทำเกษตรแบบพื้นบ้านไปจนถึง hydroponic (แบบไม่ใช้ดิน)  มีพื้นที่ให้เด็กๆมาฝึกทำการเกษตรเพื่อให้เด็กสนุกและเกิดใจรัก (ตรงนี้ ภาคเอกชนของไทยอย่างฟาร์มโชคชัยก็ทำได้ดี)

 

4. สร้างความทันสมัยด้วยการสร้างสนามฟุตบอลไว้แข่งฟุตบอลโลก (สมัยนั้นที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลี)  ดึงให้คนในประเทศและต่างประเทศได้รู้จักโออิตะ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความสะอาดจะต้องรักษาไว้  ... ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีวิสัยทัศน์และการวางแผนที่ดี   คิดว่าต้องใช้งบมากอยู่

 

ต่อคำถามว่า ...หาอ่านได้ที่ไหน.... อืมม...ไม่ค่อยเห็นเป็นภาษาอังกฤษนะ  ที่เป็นภาษาไทยก็คือที่ตัวเองเขียนรายงานส่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและที่บันทึกไว้เอง  

 

สำหรับไทย จังหวัด หรือท้องถิ่นอาจไม่มีงบฯ  ส่วนกลางอาจสนับสนุนงบประมาณ  แต่ต้องให้ความยืดหยุ่นในการพัฒนาพื้นที่แก่จังหวัดหรือแก่หมู่บ้าน 

 

การพัฒนาการท่องเที่ยว ต่างหมู่บ้านต่างพัฒนาจะแข่งกันเปล่าๆโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กัน  ต้องพัฒนาให้เป็นเครือข่ายมากกว่า จะได้เกื้อหนุนกันและคนเที่ยวจะได้ไปเที่ยวได้หลายจุด

 อย่างเราชอบเมืองนครศรีธรรมราชและคิดมาตั้งแต่ก่อน กระแสจตุคามรามเทพ ว่าเมืองนครฯมีของดี มีคุณค่าน่าเที่ยว น่าเรียนรู้อยู่มากทีเดียว

 
หมายเลขบันทึก: 95020เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สนใจเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นครับ  อ่านบทความของอาจารย์แล้วเห็นภาพบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นชัดเจนขึ้นมากครับ

ขอบคุณครับอาจารย์

ได้ความรู้ และแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำไห้ทราบจุดด้อยของไทย ที่นำยุทธ์ศาสตร์เดียวกันมาใช้แต่ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร...

เข้ามาทักทายครับ

    อาจารย์  ปัทมาวดี   เรื่องโออิตะ  นั้นสามารถหาอ่านในเชิงรายละเอียดได้จากหนังสืออะไรครับ      เท่าที่อ่านในเชิงยุทธศาสตร์นั้นน่าทึ่งมากครับ    คิดว่าถ้าเมืองไทยนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของบ้านเรา  และ  วัฒนธรรมของไทย  ...  น่าจะได้เห็นอะไรดี  ๆ  เกิดขึ้น  นะครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอบคุณคุณหมอ, คุณ join to know, และคุณทวีวัตร ค่ะ

ดิฉันไม่แน่ใจว่า ตอนนี้มีเอกสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษอะไรบ้าง  แต่ที่เขียนคือมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ที่ไปเยี่ยมเมือง ไปคุยกับอดีตผู้ว่าฯ 2 ครั้ง และไปคุยกับชาวบ้านอีกหลายกลุ่มค่ะ

ที่จริงข้าราชการไทยไปดูงานที่โออิตะเยอะมากจนผู้ว่าฯ บอกว่า ไม่ต้องมาแล้ว  ให้ชาวบ้านมาดีกว่า

ดิฉันคิดว่า จังหวัดก็ให้ข้อมูลเหมือนๆกัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราที่ไปดูงานจะหยิบฉวยความคิดอะไรมาได้บ้าง  เห็นประเด็นอะไรกันบ้าง  และสามารถนำมาดำเนินการต่อในทางปฏิบัติได้แค่ไหนค่ะ 

 

 

เคยเห็นออกทีวีด้วยค่ะเรื่องนี้ บริษัท Panorama Documentary เป็นคนผลิต
ออกอากาศเมื่อปีที่แล้ว ในวันหยุดพิเศษวันไหนสักวันหนึ่งค่ะ จำไม่ได้
ประมาณ 13.00 น. ทางช่อง 9 ดีมากๆ ดูแล้วยังประทับใจเลย
ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว อยากเห็นภาครัฐและประชาชน
ร่วมมือกันอย่างนี้บ้าง ตอนนี้การท่องเที่ยวเมืองไทย ททท. เน้นแต่สร้างภาพ
จะเป็นผลดีกับท้องถิ่นหรือไม่ไม่รู้ ขอเน้นว่ามียอดนักท่องเที่ยวสูงๆ เป็นใช้ได้
ยอมถึงขนาดสร้างประวัติศาสตร์ปลอม แต่งเอง หรือเอามาจากนิทานพื้นบ้านก็ทำ
ขอให้มีจุดขายที่ดึงดูดใจเท่านั้นเป็นพอ ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่นยังไงก็ได้

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คุณภาพของประชากร วิธีคิด ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และ spirit
ของคนไทยยังไม่สามารถทำแบบคนญี่ปุ่นได้ นี่ล่ะอุปสรรคตัวจริง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท