Discharge Planning : ตอน แรงใจของตา


วันนี้พี่จุดขอเล่า Discharge  Planning  ซึ่งบรรยายโดยคุณสุห้วงต่อนะคะ เธอให้ชื่อว่า Discharge  Planning  :  ตอน  แรงใจของตา  ค่ะ 

คนไข้รายนี้    ได้รับอุบัติเหตุมา     เมื่อหมอมาตรวจ พบว่า กระดูกของคนไข้หักหมดเลย   ทั้งคอหัก  ซี่โครงหัก  แขนหัก  ขาหัก  อ้อ.......!     เหลืออย่างเดียวที่ยังไม่หักคือ  ขาข้างขวา   นอกนั้นหักหมดทุกอย่าง  สภาพของคนไข้จึงถูกเข้าเผือก  และดามคอ                

 หมอได้สั่งให้ เอ็กซเรย์   C – spine ไป  2 ครั้ง   แต่ผลฟิล์มออกมาไม่ชัด โดยเฉพาะ  C6 กับ C7  จะเป็นตำแหน่งที่อันตรายที่สุดที่มักจะถูกลืมไป  เจ้าหน้าที่จะเอ็กซเรย์จะต้องเก่ง      และมีประสบการณ์   จึงจะถ่ายเอ็กซเรย์ให้เห็น  C6, C7 ได้ชัดเจน  โดยการดึงแขนลงเต็มที่   และพยาบาลจะต้องนับทุกครั้งว่าครบหรือไม่               

  มีอยู่วันหนึ่ง   หมอก็ส่งแผนการรักษา   จะทำผ่าตัดที่คอ    แต่คนไข้เริ่ม ซึมเศร้า แล้ว  ไม่พูดไม่จา  ไม่กินอะไรทั้งนั้น    พอเจาะเลือดตรวจอิเล็คโตรไลท์    ผลโซเดียมในร่างกายต่ำ    เหลือ 121  ต้องงดผ่าตัดชั่วคราวและรักษาคนไข้ให้ผลเลือดดีขึ้นก่อน                 เมื่อคนไข้เริ่มไม่กิน  ไม่ดูด Triflow  (เพื่อดูสมรรถภาพของปอด)  พี่สุห้วงก็รู้ว่าคนไข้ต้องมีปัญหาแล้ว  แล้วจะทำยังไงต่อ.........???           

ขณะที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำอย่างไรดี       คุณสุห้วงก็แอบ สังเกต เห็นว่าบนเตียงคนไข้จะมีอัลบั้มรูปขนาดเล็ก ๆ  อยู่เล่มหนึ่ง    คุณสุห้วงก็เริ่มเปิดดูปรากฎว่า  ในอัลบั้มเล่มนั้นจะมีภาพเด็กอยู่ 2  คน  เป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งและเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่ง    คุณสุห้วงเริ่มคาดเดาว่า  ภาพของเด็กต้องมีความหมายกับคนไข้แน่เลย         เพราะเคยสังเกตเห็นว่า       ตอนที่คนไข้หลับจะเผลอพูดออกมาว่า  หลานมากินนม......ชงนมให้หลานรึยัง  พอคุณสุห้วงเดินไปซักพักหนึ่ง  ก็มีเสียงพูดว่า  เปลี่ยนผ้าเยี่ยวรึยัง     ทำเอาคุณสุห้วง งง    หันซ้ายมองขวา   เอ๊ะ.........!    เปลี่ยนผ้าเยี่ยวของใครเรอะ.......เมื่อคิดได้เช่นนั้น     คุณสุห้วงจึงเข้าไปถามภรรยาคนไข้เกี่ยวกับรูปเด็กในอัลบั้ม   ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นรูปของ หลานที่ตา  (คนไข้)  รักมาก  โดยเฉพาะหลานผู้หญิงที่มีอายุ  6  เดือนเท่านั้นเอง                

 ตามกฎระเบียบของ  รพ.  ทั่วไปทุกแห่ง      มักจะมีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่เป็นหลักการเดียวกันคือ   ไม่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า  12  ปี     เข้ามาเยี่ยมคนไข้ใน   รพ.  ด้วยเพราะกลัวการติดเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศทั่วไป   แต่รายนี้    คุณสุห้วงอนุญาตให้นำเด็กมาเยี่ยมคุณตาได้  จึงบอกกับภรรยาคนไข้ว่า       เอาล่ะ......พี่หยวนให้เด็กอายุ   6  เดือน       ขอให้คนไข้เค้าฮึดสู้ขึ้นมาก็แล้วกัน  พี่เอาทั้งนั้นแหละไม่ว่าทางไหน                

ในที่สุดภรรยาคนไข้ก็นำหลานตามาเยี่ยมคนไข้ซึ่งนอนอยู่บนเตียงพร้อมดึง  skull  traction       ระหว่างรอการผ่าตัดคอ   เราได้นำเด็กไปอยู่ตรงหน้าคนไข้   เด็กก็ช่างน่ารักเหลือเกิน   ภาพไร้เดียงสาของเด็กที่ยิ้มจนเห็นลักยิ้มของเด็ก      พร้อมหัวเราะเสียงใส      เต้นไปเต้นมาบนเตียงคนไข้    ทำให้คนไข้ที่ใบหน้าเฉยเมยไม่พูดไม่จาเริ่มยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว  สักพักหนึ่งก็เริ่มคุยโน้นคุยนี่กับทุกคน   หายซึมเศร้าไปชั่วระยะหนึ่ง  เหมือนต้นข้าวได้ฝน     

 คุณสุห้วงเมื่อเห็นคนไข้เริ่มอารมณ์ดี   เริ่มพูดจากับคนรอบข้างแล้ว   จึงถามคนไข้ว่า   อยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลานหรือไม่......หากอยากกลับ  คนไข้ต้องให้ความร่วมมือกับพยาบาลนะ  ต้องกินอาหาร  ต้องดูด  Triflow   ต้องบริหาร.......ฯลฯ  

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา  คนไข้ให้ความร่วมมือดีมาก  คุณสุห้วงจำได้ว่าหลังจากหลานมาเยี่ยมแล้ว   แกกินส้มไป  2 ลูก  ให้ดูด  Triflow  ก็ดูด    หลังจากนั้นไม่นาน     หมอก็ได้ผ่าตัดคนไข้เรียบร้อยดี  และกลับไปพักฟื้นทำกายภาพบำบัดที่บ้านต่อ                

พี่จุดอยากจะสรุปว่า   บทเรียนที่คุณสุห้วงเล่าให้ฟังนี้   คือตัวอย่างของการ    empowerment  ผู้ป่วย  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ  Discharge  Planning  คือคำว่า     E = empowerment  ในคำว่า  HELP  ขออนุญาตทบทวน  คำนี้ใหม่อีกครั้งนะคะ  HELP  ก็คือ                               

 H            =             Holistic                               

E         =          Empowerment                               

L             =             Life  Style                               

P             =             Prevention  /  promotion

ดยพยาบาลจะต้องค้นหาให้ได้ว่า      ใครหรืออะไร     เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อคนไข้     ในการปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง               

คำสำคัญ (Tags): #discharge-planning
หมายเลขบันทึก: 94459เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 06:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ดีใจค่ะที่เห็นพยาบาลที่ช่างสังเกตุ
  • สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้ตรงจุดค่ะ

ได้ใจอีกแล้วค่ะ พี่จุด เป็นเรื่องเล่าที่น่าประทับใจอีกแล้ว จุดเล็กๆอันน้อยนิดที่มีพลังมหาศาลเหลือเกิน ดีใจแทนคุณตาด้วยที่ได้คุณสุห้วงเป็นคนดูแล

ขอบคุณคุณสุห้วงที่นำมาเล่าต่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนทำงานหนัก ดูแลผู้อื่นพบคนมากมายแบบพยาบาลคงจะเผลอมองข้ามไปได้อย่างแน่นอนเลยค่ะ แต่เมื่อรับรู้ว่าผลจากการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้มีผลมากขนาดนี้ ใครๆก็คงอยากจะมองหาแน่นอนเลยค่ะ

ขอบคุณพี่จุดที่นำมาถ่ายทอดได้อย่างเห็นภาพ แถมด้วยความรู้ช่วยให้จำติดใจไปด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท