การพัฒนาผู้ประสานงานพัฒนาคลัสเตอร์ (CDA) ครั้งที่ 1


อยู่คนเดียวช่างน่าสงสารนัก ไม่มีเพื่อนก็ยิ่งน่าสงสาร เลยไปหาเพื่อนรวมกันเป็นเครือข่ายดีกว่า....

     เมื่อวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2550  ดิฉันได้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการพัฒนาผู้ประสานงานพัฒนาคลัสเตอร์ (CDA) ครั้งที่ 1 จัดที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ  โดยสภาอุตสาหกรรม และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ที่มีกำหนดฝึกอบรม จำนวน 5 วัน (เฉพาะวันเสาร์ 5 เสาร์)

     ในครั้งแรกของการเรียนรู้นั้นจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ

       1)  แนวคิด  ความสำคัญ และประโยชน์ของคลัสเตอร์

       2)  วิธีการและขั้นตอนการพัฒนาคลัสเตอร์

       3)  เครื่องมือในการวิเคราะห์และประเมินคลัสเตอร์  ได้แก่  ศักยภาพ  และอื่น ๆ

     การฝึกอบรมมี คุณสุวิชา  มิ่งขวัญ  เป็นวิทยากรหลัก  และมีทีมวิทยากรผู้ช่วย ประมาณ 3-5 คน  โดยใช้วิธีการบรรยาย  การใช้กรณีตัวอย่าง  และการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ

     กระบวนการที่ผู้จัดฝึกอบรมใช้ก็คือ ให้ทุกคนแนะนำตนเอง  แต่ละคนบอกความคาดหวังของการเข้าอบรมในครั้งนี้  แล้วแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับความเข้าใจของคำว่า "คลัสเตอร์"  แล้วให้ผู้แทนกลุ่มมานำเสนอ  แล้ววิทยากรจึงสรุปรวม  หลังจากนั้นวิทยากรก็จะบรรยายและเสริมความรู้ให้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามเป็นระยะ ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน  สุดท้ายจึงมีการแบ่งกลุ่มเพื่อทดลอง วิเคราะห์คลัสเตอร์ "เครื่องหนัง" โดยใช้ เครื่องมือ Cluster Map และเมื่อแต่ละกลุ่มทำเสร็จก็ส่งผู้แทนออกมานำเสนอ  แล้วจึงสรุปบทเรียนในครั้งนี้

     ส่วนการเรียนรู้ในครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นการไปดูงานนอกสถานที่ที่กำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม เพื่อให้เห็นของจริง  เช่น  Logistic  การบริหารจัดการ  ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไข  และขั้นตอนการปฏิบัติของคลัสเตอร์โดยใช้เหตุการณ์และสถานการณ์จริงในการเรียนรู้

     ฉะนั้น ความรู้เรื่องคลัสเตอร์ เป็นองค์ความรู้ที่ดิฉันค้นหาและอยากจะพัฒนาตนเองมาได้ซักประมาณ 1 ปี ที่คิดเช่นนี้ก็เพราะว่า  "ตอนนี้เราเจอภาวะด้านการลดอัตรากำลังคน งบประมาณลดลง  ทรัพยากรลดลง  และการสนับสนุนลดลง  ฉะนั้น เราจะช่วยองค์กรได้อย่างไรดี?  โดยเฉพาะการพัฒนาเจ้าหน้าที่"  ดังนั้น  วิธีการพัฒนาเจ้าหน้าที่และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นก็คงมีแต่ "เครือข่าย" เท่านั้นที่จะช่วยเราได้  ส่วนหลักคิดของดิฉันก็คือ  ถ้าเราจะเอาอะไรไปใช้หรือไปทดลองเราก็ต้องทำความเข้าใจกับมันก่อน และคลัสเตอร์ยังเป็น เทคโนโลยีการพัฒนาคน  จึงนับว่า เป็นโอกาสดีที่ได้เข้ารับการอบรม โดยอยู่ในโควต้าของ คุณภาณี  บุญญเกื้อกูล ค่ะ.

     ฉะนั้น  งานที่ดิฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1) เรื่องการจัดการความรู้  2)  เรื่องการทำวิจัยชุมชน  3)  เรื่องการถอดบทเรียน  และ 4) เรื่องเครือข่าย  ถ้ามองให้ดี ๆ แล้วทำการวิเคราะห์ให้แม่น ๆ โดยใช้ภูมิรู้หรือภูมิปัญญาที่ดิฉันมีอยู่นั้น จะเห็นได้ว่า  ดิฉันกำลังทำงานตามภารกิจของตนเองคือ  การศึกษาค้นคว้าและเลือกสรรเทคโนโลยีที่เป็นไปได้เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่และพัฒนางานให้กับองค์กรได้ตรงเป้าหมาย  โดยหน่วยงานมีงบประมาณให้ดิฉันทำงาน ประมาณ 10,000 บาทต่อปี  แต่ภารกิจงานที่กำลังจะเกิดขึ้นดิฉันใช้วิธีการไปเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับเครือข่ายคือ  เขาได้งานเราได้งาน  แถมยังได้เพื่อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย และยังได้พัฒนาตนเองอีกด้วยค่ะ

     ฉะนั้น โลกกว้างของการเรียนรู้ให้กับตนเองยังมีอีกยาวไกล  เพียงแต่เราเปิดประตูออกไปชมเราก็จะได้เห็นสิ่งสวย ๆ งาม ๆ อีกเยอะแยะมากมาย  แต่ถ้าเราปิดประตูให้กับตนเองก็คงยากต่อการทำความดีให้กับส่วนรวมได้ค่ะ.

     [อ่านผลการฝึกอบรมคลัสเตอร์ครั้งที่ 2  และ ครั้งที่ 3]

คำสำคัญ (Tags): #คลัสเตอร์
หมายเลขบันทึก: 93273เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2007 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
   ขอบพระคุณมากครับที่นำมา ลปรร.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท