เรื่องเล่าจากดงหลวง 83 ตลาดชุมชน (1) เค้าลางของระบบเศรษฐกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน


“นี่คือองค์ประกอบหนึ่งของการพึ่งตนเองในระดับชุมชน” เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจในชุมชน แม้ว่าจะเล็กๆ แม้ว่าจะต้องพัฒนาก้าวต่อไปอีก แต่ก็เริ่มเค้าลางของความมั่นคงของชุมชนขึ้นแล้ว

ดงหลวงมีสภาพพื้นที่ร้อยละ 90 เป็นป่าเขา พื้นที่ทำกินจะอยู่ระหว่างภูเขาประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นชนเผ่าไทโซ่ รองลงมาเป็นผู้ไทยและไทยอีสานตามลำดับ  เผ่าพันธุ์ไทโซ่ชอบตั้งถิ่นฐานบนภูเขาเหมือนชาวเขาภาคเหนือ วิถีชีวิตจึงอาศัยป่าเป็นหลัก การเข้าป่าเพื่อหาทุกอย่างในการดำรงชีวิตเป็นสิ่งปกติ การไม่เข้าป่าเป็นสิ่งผิดปกติ 

ลักษณะตลาดชุมชนที่มีอาคารแบบง่ายๆ 

นับตั้งแต่ออกมาจากป่าเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้แหละที่มีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น เช่น ปอ มันสำปะหลัง อ้อย และยางพาราเมื่อไม่กี่ปีมานี่ เกษตรกรผลิตข้าวไม่พอกิน จึงต้องนำของป่าไปแลกข้าวทุกปี จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการแลกเปลี่ยนข้าวเกิดขึ้นอยู่ แต่ลดขนาด จำนวนลงมามาก เพราะส่งลูกหลานไปทำงานกรุงเทพฯเมืองสวรรค์ แล้วส่งเงินกลับบ้านซื้อข้าวกิน ยกเว้นครอบครัวที่ไม่มีแรงงานดังกล่าวก็จำเป็นใช้วิธีการแลกข้าว  

ผักที่ชาวบ้านปลูกก็มีที่วางขาย มีอาหารสำเร็จรูปด้วย 

แม้ว่าจะยังพึ่งพิงป่า แต่ในชีวิตแต่ละวันก็ต้องมีการซื้อหาของกินของใช้ โดยเฉพาะของกิน ชาวไทโซ่ติดนิสัยพี่งพิงป่า จึงไม่ค่อยเพาะปลูกพืชผักสวนครัวเท่าไหร่เมื่อเทียบกับพี่น้องผู้ไท กะเลิง ย้อ และไทยอีสาน  ดังนั้นผู้ขายจึงเป็นชนเผ่าอื่นที่ไม่ใช่ไทโซ่  

สินค้าตามธรรมชาติที่ไปจับ เก็บมาขาย 

ได้มีการสำรวจแบบคร่าวๆ ที่บ้านแก่งนาง ตำบลกกตูม ดงหลวงว่าเดือนๆหนึ่งมีการซื้อขายเท่าไหร่ การสำรวจนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นเอง มิใช่ทั้งหมด  พบว่า มีการใช้จ่ายมากกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน เป็นอย่างน้อย  ตั้งคำถามกันว่า  จะทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เงินจำนวนนี้ไหลออกไปนอกหมู่บ้าน หรือให้ไหลออกน้อยที่สุด ผนวกกับการส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำของโครงการที่ไปสร้างให้แก่ครอบครัวและชุมชนที่ผู้เขียนรับผิดชอบอยู่  จึงเกิดความคิดการสนับสนุนให้มี ตลาดชุมชน ขึ้น  

กรรมการตลาดชุมชนเสนอแผนงานในงานสัมมนาประจำปี 

หลักการคือ สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ผลิตพืชผักผลไม้ต่างๆในชุมชน และแม่ค้าในชุมชนนั้นจัดทำตลาดขึ้น เพื่อนำผลผลิตการเกษตรพื้นบ้านต่างๆมาซื้อมาขายกันในชุมชน จัดรูปองค์กรขึ้น ตั้งกฎกติกาขึ้น ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงทราบ ห้ามเอาสินค้ามาจากในเมือง และห้ามพ่อค้าเร่มาตั้งแผงขายของ  ให้เป็นตลาดของชาวบ้านจริงๆ  กิจกรรมนี้โครงการได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการใน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนครและมุกดาหาร

ทำการส่งเสริมการผลิตพืชผักมาขาย ควบคุมพืชผักมิให้เจือปนสารพิษ ร่วมมือกับอนามัยตำบลช่วยเรื่องความสะอาดและสุขาภิบาลพื้นฐานต่างๆ ร่วมกับ อบต.ในการขอใช้สถานที่เหมาะสมทำตลาดชุมชน ร่วมมือกับโรงเรียนสนับสนุนให้เด็กนักเรียนนำสินค้าจากโรงเรียนมาวางขาย ฯลฯ  

ตั้งคณะกรรมการขึ้นกันเอง ทำหน้าที่ต่างๆ นำคณะกรรมการตลาดไปศึกษาดูงานตลาดชุมชนในพื้นที่อื่นๆ จนขึ้นมาดู "ตลาดอิ่มบุญ" ที่เชียงใหม่โน้น นำประสบการณ์ความรู้ไปประยุกติในพื้นที่ต่อไป  

ปัจจุบันในมุกดาหารมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นแล้ว 3 ชุมชน และภายใต้โครงการนี้ยังเกิดตลาดชุมชนขึ้นอีก 3 จังหวัดดังกล่าวจังหวัดละ 2-3 ชุมชน ผลที่เกิดขึ้นคือ 

  • เกิดการซื้อขายขึ้นโดยชาวบ้านกันเอง ทั้งแม่ค้าโดยอาชีพ และแม่ค้าจำเป็น  
  • เกิดการผลิตและเอามาวางขาย
  • เกิดการดัดแปลงสินค้าเพื่อผู้บริโภค
  • เกิดความสัมพันธ์กันมากขึ้นในชุมชน เพราะตลาดคือที่รวมคน เมื่อคนมาพบกันก็ทักทายกัน ถามไถ่ซึ่งกันและกัน และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน เช่นขายสินค้าราคาถูก ต่อรองกันง่ายเพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน  
  • เกิดมีพืชพันธุ์พื้นบ้านที่บางอย่างเกือบสูญหายไปแล้วกลับคืนมาอีก เพราะซื้อขายได้ เช่นมันป่าบางชนิดที่หลายคนบอกไม่เห็นมาเป็นสิบปีแล้วเมื่อมีตลาดก็กลับมาและรู้ว่าใครมี ใครปลูก
  • เกิดการพัฒนาการผลิตเชิงอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะปลอดสารพิษ 
  • ที่สำคัญเงินในแต่ละเดือนไม่ไหลออกไปนอกชุมชนหลายแสนบาท และตรงข้ามไหลอยู่ภายในชุมชนนั่นเอง
  • เกิดการเงินสะพัด เฉลี่ยแม่ค้าจะมีรายได้วันละ 100-300 บาท

 และที่สำคัญสุด นี่คือองค์ประกอบหนึ่งของการพึ่งตนเองในระดับชุมชน เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจในชุมชน  แม้ว่าจะเล็กๆ แม้ว่าจะต้องพัฒนาก้าวต่อไปอีก แต่ก็เริ่มเค้าลางของความมั่นคงของชุมชนขึ้นแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #community market#ตลาดชุมชน
หมายเลขบันทึก: 93120เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2007 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ

P

และนี่คือสิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จของคุณบางทรายด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

รู้สึกดีใจแทนชุมชน ที่อย่างน้อยก็มีคนที่ตั้งใจไปช่วยให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง น่าภูมิใจจริงๆ ค่ะ ขอสนับสนุนความเห็นของคุณ sasinanda ข้างต้นด้วยค่ะ

สวัสดีครับ sasinanda

ขอบคุณครับที่กล่าวถึงความสำเร็จ แต่เราคิดว่าชาวบ้านเขาได้เรียนรู้ระบบตลาดด้วยตัวเขาเอง การผลิตเพื่อจำหน่ายในชุมชนของเขา ก็มีแรงใจที่จะผลิตมาขาย แม้ว่าจะได้เงินเล็กน้อยแต่สภาพชนบทก็ถือว่ามากพอสมควร และเกิดการหมุนเวียน มีเงินให้ลูกหลานไปโรงเรียนแต่ละวัน เพิ่มจะเริ่มครับ ได้ 3 ปี ต้องพัฒนาไปอีก ยกระดับขึ้นอีกครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

เรียนตรงไปตรงมาว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (RDI) เป็นตัวหลักในการผลักดันตลาดชุมชนแห่งนี้ โดยโครงการที่ผมรับผิดชอบทำ Contract กัน  

เป็นที่พึงพอใจมากทั้งชาวบ้านและโครงการ เพราะเกิดเงินหมุนเวียนหากรวมกันแล้วหลายล้านแล้วครับ

หากเราไม่มีตลาดชุมชนเงินส่วนนี้จะหมุนออกไปข้างนอกชุมชน เพราะชาวบ้านจะไปซื้อของจำเป็นเหล่านี้จากภายนอก เช่นตลาดที่อำเภอ ในเมือง เงินไหลออกเดือนละหลายล้านบาทหากรวมทุกหมู่บ้าน

ผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นในระดับชุมชนที่สร้างระบบพึ่งตนเอง  แนวความคิดนี้เริ่มขยายมากขึ้น  ทางโรงพนาบายที่จังหวัดมหาสารคาม ที่อำเภอบรบือ ที่หน้าอำเภอพลจังหวัดขอนแก่น มีตลาดชุมชนเกิดขึ้นและคึกคักตามฤดูกาลครับ  หากผ่านไปแถวนั้นก็ลองแวะดูนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะท่านบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • ชุมชนเข้มแข็ง...ประเทศชาติเจริญ
  • สักวันหนึ่ง.....ครูอ้อยคงจะมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมนะคะ

ขอบคุณเรื่องดีดีในเช้านี้ค่ะ

lสวัสดีครับ

  • ผม(ผู้รู้น้อย)คิดว่าการปลูกพืชอุตสาหกรรม (ปอ  มัมสำปะหลัง  อ้อย) เปนภาพกว้างที่ข้างบนมองมาครับ  เขาคิว่าปลูกแล้วดี เค้าก็ว่าครับ
  • แต่ช่วงนี้เขานิยมมิติการมองจากชุมชนขึ้ไปสูระบบที่สูงกว่า
  • มิติในชุมชนที่น่าสนใจ  คือ มิติขององผู้นำที่แปรผัตามระบบทุนครับ
  • ดีใจครับที่มีระบบแบบนี้(อยากเหนครับ  ถ้ามีโอกาส )

ชอบคุณครับ

สวัสดีครับครูอ้อยสิริพร กุ่ยกระโทก

  • การเริ่มไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจะเกิดการปรับตัวพอสมควร
  • เป็นหน่ออ่อนของชุมชนเข้มแข็งครับ
  • ขอบคุณครับ เดี๋ยวตอนสองจะเอาแห่งตลาดชุมชนมาเผนแพร่ เผื่อใครผ่านไปผ่านมาก็แวะเยี่ยม หรือจับจ่ายได้ ในราคาที่ถูก สินค้าปลอดสาร และเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านครับ

ขอบคุณครับครูอ้อยของพวกเรา

สวัสดีครับคุณ my_space

  • ผมเรียนรู้หลายเรื่องจากการเฝ้ามองการเคลื่อนตัวของตลาดชุมชน เป็นประเด็นที่ผมเฝ้ามองมานานแล้ว คือเรื่องการปรับตัวขององค์กร ของชุมชน
  • จะเป็นประเด็นที่ผมจะบันทึกต่อไปครับ
  • ส่วนมุมมองที่คุณ my space กล่าวถึงนั้นก็เป็นความจริง และต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าการใช้หลักการนั้นใช้แบบ "อะไรที่ชาวบ้านพูด เสนอ เอาหมด" เพราะเป็นเสียงชาวบ้าน หรือ "ใช้แบบมีเงื่อนไข" คือจำแนกข้อเสนอชาวบ้านออกมา แล้วช่วยจัดลำดับความสำคัญเป็นต้น  หรือ ผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเป็นใครในชุมชน กระจายตัวหรือไม่ หรือเกาะกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ หรือ...... มิเช่นนั้นแล้วการใช้ หลักการ Bottom up จะเป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่แยบยล ครับ
  • ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณ My space กล่าวมาครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

เบิร์ดชอบคำว่า..นี่คือองค์ประกอบหนึ่งในการพึ่งตนเองในระดับชุมชน..มีการลดการใช้ถุงพลาสติกร่วมกับการจัดการขยะด้วยหรือเปล่าคะ ?

สวัสดีครับน้อง เบิร์ด

แน่นอนครับ ถุงพลาสติดอาจจะยังค่อยๆลดไปเอาใบไม้มาใช้แทน

ส่วนขยะนั้นมีคณะกรรมการคอยตรวจและออกระเบียบว่าแม่ค้าคนได้สร้างขยะก็ต้องเอาขยะไปจัดการให้เรียบร้อยด้วย "ใคร่ก่อคนนั้นเก็บ"

อย่างไรก็ตามหลักการเหล่านี้คงต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพราะชุมชนโดยธรรมชาติก็สภาพต่างจากเมือง แต่การค่อยๆรณรงค์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ค่อยๆดีขึ่นครับ

อยากไปเที่ยวชมด้วยคนครับ 

ชุมชนที่น่าอยู่มากครับ

เชิญครับ ยินดีต้อนรับครับ

ผมกำลังจะไปเยี่ยมชมกล้วยไม้อยู่พอดีครับ

ปลื้มจังที่เห็นความสำเร็จของชุมชนอย่างนี้ ความสำเร็จจุดนี้ยังสามารถเป็นบทเรียน เป็นแรงบันดาลใจให้ที่อื่นๆด้วย

ฝากกราบสวัสดีคุณพี่ข้างกายของพี่บางทรายที่นิยมผ้าคราม น้องคุณนายฯดีใจที่ได้ยินและได้รู้จักคนที่ชอบเหมือนๆกันค่ะ คนข้างกายเขาก็อยากให้น้องคุณนายฯใส่monotone เช่นผ้าย้อมคราม ตัวเขาใส่แต่สีดำทั้งชุด แต่เรายังทำไม่ได้ เสียดายผ้าหลากหลายที่มีอยู่และใช้มาหลายปี

จะให้ส่งหนังสือไปที่ไหนกรุณาไปเขียนทิ้งไว้ที่บล็อกของน้องคุณนายฯนะคะ

 

สวัสดีค่ะพี่บางทราย ถ้าคนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็งได้ เราต้องช่วยกันค่ะ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ

น้องคุณนายดอกเตอร์  คนข้างกายพี่เธอเคยเป็นหัวหน้าทีมฝึกอบรม OTOP ให้ทั่วประเทศ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ เมื่อพบสินค้าประเภทนี้เธอก็จะซื้อมาตัดเสื้อเต็มตู้

สำหรับตลาดชุมชน ก็เป็นอะไรที่ลงตัวพอสมควรเพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีในแผนงาน แต่เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็นไปได้ก็เหมือนคนพร้อมจะวิ่ง  แค่ยิงปื่นส่งสัญาณเท่านั้นก็ออกจากจุดเส้น start เลย อย่างไรก็ตาม อุปสรรค ปัญหาก็มีเป็นเรื่องปกติ ก็แก้ไขกันไป ปรับกันไปครับ

เดี๋ยวพี่จะไปทิ้งที่อยู่ไว้ให้ครับ 

สวัสดีครับ น้องRanee ใช่แล้วครับ คนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศเข้มแข็ง กิจกรรมนี้แม้ว่าทำมา 2-3 ปีแล้วแต่ก็ต้องพัฒนาไปอีกพอสมควร

เราดีใจที่มันเริ่มขึ้นแล้ว ต่างชุมชนก็พยายามปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพชุมชนของตนเอง  แต่ก็มีคู่แข่งที่แข่งกับเราอย่างเต็มที่ในระดับชุมชนเหมือนกัน เดี๋ยวจะเขียนต่อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท