จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

หนทางที่ยาวไกลสำหรับการบูรณาการอิสลาม


เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ ผ่านมาผมได้รับโอกาส (กึ่งๆ คำสั่ง) จากท่านคณบดี ให้ร่วมเดินทางไปกับท่านเพื่อบรรยายในโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการของคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านี้ (หลังเสร็จจากการไปเป็นวิทยากรอบรม e-book ที่วอศ.แล้ว) ผมตั้งใจว่าจะไม่รับงานบรรยายไปจนถึง 30 เม.ย เพราะรู้สึกว่า เหนื่อยมากและอยากพักผ่อนในช่วงภาคฤดูร้อนกับเขาบ้าง แต่ท่านคณบดีไม่ยอมครับ ท่านบอกว่า ยังงัยงานนี้ ท่านรองต้องไป เพื่อบรรยายร่วมกับท่าน ผมจึงต้องไป (ทั้งที่อีก 2 วันถัดไป คือ วันที่ 24-25 ต้องไปทำเวิร์คชอปกับท่านและทีมงานของคณะอีกรายการหนึ่ง)

แต่เมื่อไปแล้วก็ไม่รู้สึกขาดทุนนะครับ กลับเป็นความรู้สึกดีที่ได้ไป เหตุผลหลักๆ คือ ได้ไปฟังวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งอาจจะถือว่าเป็น สถานศึกษาที่แปลกจากสถานศึกษาอื่นๆ คือ สถานศึกษานี้ประกาศตัวว่า สถาบันนี้จะไม่ใช่ปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นของมุสลิมก็ตาม แต่สถาบันแห่งนี้จะเป็นสถาบันการศึกษาสามัญที่มีการบูรณาการอิสลามไว้อย่างสมดุล

แน่นอนครับ แนวคิดนี้ตรงใจผมที่สุด เนื่องจากผมพยายามหลายครั้งหลายคราแล้วที่จะนำเสนอแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติจริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่บุคคลที่เกี่ยวข้องมักจะมองว่า มันเป็นไปได้ยาก ถึงขนาดบางคนบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ และภาพของการดำเนินงานของสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงมักจะเป็นการเดินอ้อม ซึ่งยากครับที่จะถึงปลายทาง และที่ใช้กันในสามจังหวัดคือ 1 โรงเรียน 2 ระบบ ซึ่งผมบอกเขาไปหลายครั้งว่า มันตลกมากกกกกก. แต่เขาก็บอกว่า ดีกว่าไม่ได้ทำ ก้อ โอเคครับ

เมื่อได้ไปคุยกับคนที่ใจตรงกัน การคุยกันก็ย่อมจะถูกคอครับ ผมยอมรับว่า วิสัยทัศน์ของทีมงานโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคารชัดเจนมาก จนผมอยากลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วไปเป็นครูที่นั่นเลย (แหะ แหะ พูดเล่น)

ในทัศนะของผม แนวคิดการจัดโรงเรียนแบบ 1 โรงเรียน 2 ระบบ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน เป็นการผลิตคนให้มีสองคุณลักษณะที่มีความแตกต่างกัน และส่วนใหญ่ผู้เรียนจะไม่มีทักษะที่จะเชื่อมโยงความรู้สองฝั่งนั่นมาผสานรวมกันได้ ดังนั้นนักเรียนที่จบจากโรงเรียนกลุ่มนี้ ถ้าไม่เคร่งศาสนาจัด ก็ประเภทเสรีตกขอบไป ทั้งๆ ที่ความรู้ทั้งสองด้านที่สอนไปนั่นมันสามารถเอามาผสมรวมกันได้

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร มองไปที่ว่า จะใช้ฐานความรู้ทางศาสนาเพื่อการเรียนรู้ทำความเข้าใจเนื้อหาความรู้สากล ในขณะเดียวกันจะใช้พหุภาษาเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ (โอ้โห่ ถูกใจผมมากครับ)

แต่นั่นแหละครับ ความสำเร็จของงานไม่ได้อยู่ที่วิสัยทัศน์อย่างเดียว บุคลากรในโรงเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจและเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่บูรณาการทั้งสองด้านขององค์ความรู้ไว้อย่างลงตัว อันนี้ยากครับ เพราะสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตในประเทศไทยยังไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ เพราะประเทศไทยมีองค์ความรู้ทางด้านอิสลามน้อยมาก ดังนั้นหัวใจสำคัญของโรงเรียนคือต้องพัฒนาครูให้มีทักษะด้านการสอนบูรณาการและองค์ความรู้ทางศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาสามัญที่สอน

จากการบรรยายของผม ทำให้เกิดการอภิปรายในกลุ่มที่เข้าฟัง ได้มติมาข้อหนึ่งครับ คือ ในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ครู(ที่มีพื้นฐานวิชาสามัญ) จะต้องนำแผนดังกล่าวไปปรึกษาหารือกับผู้รู้ทางศาสนา เพื่อให้เห็นแก่นของเนื้อหาเดียวกัน

แต่ผมขอกล่าวไว้ ณ ตรงนี้ก่อนนะครับว่า อันนี้ยังไม่ใช่ปลายทางของการสอนครับ อันนี้เป็นแค่กระบวนการเบื้องต้น เพื่อให้การสอนในปัจจุบันของโรงเรียนเดินไปได้ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้

แต่ถ้าจะสร้างความยั่งยืนให้กับการเรียนการสอนของโรงเรียน เรา(ครูและผู้บริหารทั้งโรงเรียน ตลอดจนนักวิชาการทางการศึกษา) จะต้องร่วมกันพัฒนาหลักสูตร อันหมายถึงพิมพ์เขียวของโรงเรียน ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ก่อน แล้วตามมาด้วยการพัฒนาทักษะการสอนของครู องค์ความรู้ของครู จิตวิญญาณของครูและผู้บริหารก็เป็นส่วนสำคัญครับ

เส้นทางของโรงเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แต่นี้คือความท้าทายสำหรับสังคมมุสลิมทั้งประเทศ

หมายเลขบันทึก: 92646เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ครับ เป็นแนวคิดที่ดี และไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แนวคิดที่จะทำเช่นนี้มีมานาน แต่ขาดการสานต่ออย่างต่อเนื่อง

เดิมทีกลุ่มเราเคยคิดเปิดเฉพาะ มัธยมปลาย (กะว่าจะแข่งกับสาธิต) แต่อย่างที่ท่านว่า ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่

แต่ถึงอย่างไรก็ตามแนวคิดเช่นนี้(หรือคล้ายนี้) ก็ได้กำเนิดโรงเรียนเอกชนของมุสลิมหลายแห่ง ที่ยะลา ก็ศานติธรรม ปัตตานีก็อามาณะศักดิ์ และเข้าใจว่าสวนสวรรค์ นราฯ ก็น่าจะเริ่มต้นจากแนวคิดเช่นนี้

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องทุน เรื่องความต้องการของชุมชนที่อยากได้เด็กจบออกมามีสองประกาศนียบัตร (จะได้บรรจุเป็นวิทยากรง่ายขึ้น) เลยทำให้มองดูว่า โรงเรียนอย่างที่กล่าวมานั้น ไม่ตรงตามที่เราคาดหวังเท่าไร

เมื่อรู้ว่าที่หาดใหญ่ได้เปิดโรงเรียนลักษณะนี้ จึงขอเอาใจช่วยเต็มที่ และอยากเตือนเล็กๆน้อยๆ ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงนี้มานาน ผู้บริหารต้องใช้ความอดทนมากๆหน่อย โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านปริมาณอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย

โรงเรียนลักษณะนี้ที่ไม่ใช่มุสลิมทำพอที่จะไปดูเป็นแบบอย่างได้ เช่น โรงเรียนของ ดร.อาจอง ที่จังหวัดลำปาง เพราะท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังมาก แต่ท่านบอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ทำให้คนเรารู้จักตัวเองท่านก็เลยมาเปิดโรงเรียนที่เน้นสมาธิ โดยท่านสรุปง่ายๆว่า "สร้างคนเป็นเก่งอาจจะไม่ดีทุกคน แต่สร้างคนเป็นคนดีจะเก่งทุกคน"

 

 

ปัจจัยสำคัญมากๆ ที่จะนำสู่การบริการให้บรรลุผล คือ บุคลากร ซึ่งบ้านเรามีน้อยมากๆ เงินทองพอหาได้ แต่จะหาคนที่รู้สองด้านนี้ยากมาก

เห็นด้วยกับคุณมุอัลลิมในเรื่องของ บุคคลากร ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท