รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ฉบับร่าง) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน


ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะมี “จุดขาย” ที่ดี แต่ก็เชื่อว่ายังมี “จุดอ่อน” ที่ยังไม่ลงตัวในการนำไปสู่การปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ หรือจะมาร่วมในเวที “สานเสวนา” รอบใหม่ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 – 20 พฤษภาคม 2550 นี้

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่ากันว่าเป็นวันแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ได้พิจารณาและแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

ในฐานะที่ผมทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการและเลขานุการเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ประจำจังหวัดชุมพร มีภารกิจที่ต้องเป็นวิทยากรกระบวนการในเวที สานเสวนา 9 ครั้ง จากทั้งหมด 11 ครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา จึงต้องศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะหลักการและเหตุผลที่นำมาใช้ ตลอดจนที่มาที่ไปของมาตราต่าง ๆ ให้รู้และเข้าใจมากที่สุดเพื่อนำไปใช้พูดคุยในเวทีฯ

ในช่วงที่รอการปรากฏของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ฉบับร่าง ผมได้ติดตามข่าวจากสื่อมวลชนมาโดยตลอด ลึก ๆ แล้วก็เป็นห่วงไปตามประเด็นต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนหยิบยกขึ้นมาเป็นวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะของการสะท้อนปัญหาเชิงลบ

แต่แล้วเมื่อได้อ่านร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บอกตามตรงครับว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะภาพรวมและสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มี จุดขาย ที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ในหลายประเด็น ได้แก่

1. มีการคุ้มครอง ส่งเสริม และขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่

สิทธิของชุมชนได้รับการเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรมในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย และที่สำคัญคือ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีสิทธิในการติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

2. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

มีมาตรการใหม่ ๆ เสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเป็น ผู้เล่น มิใช่ ผู้ดู ทางการเมืองเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

3. ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม

ความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง คือสิ่งที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทำให้นักการเมืองไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ อาศัยการกระทำที่เรียกว่า ศรีธนญชัยทางการเมือง หลบเลี่ยงกฎหมาย สร้างผลประโยชน์ทับซ้อน ร่ำรวยบนความทุกข์ยากของชาติบ้านเมืองและประชาชน แต่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้นำบทบัญญัติหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

4. ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรตรวจสอบและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เคยเป็นความหวังของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ แต่กลับถูกแทรกแซงจนปรากฏเป็นความล้มเหลวในการทำงาน ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบทั้งระบบอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน

ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะมี จุดขาย ที่ดี แต่ก็เชื่อว่ายังมี จุดอ่อน ที่ยังไม่ลงตัวในการนำไปสู่การปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ หรือจะมาร่วมในเวที สานเสวนา รอบใหม่ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 20 พฤษภาคม 2550 นี้ อีกประมาณ 4 - 5 ครั้ง ที่ไหน ? เมื่อไร ? ขอได้โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด ก่อนจะถึงวาระที่สังคมไทยจะได้ลงประชามติว่าจะ รับ หรือ ไม่รับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในวันที่ 2 กันยายน 2550 พร้อมกันทั่วประเทศ.

ขอเชิญ Download File รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (ฉบับร่าง) ได้โดยพลัน...


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (ฉบับร่าง)
สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและการเปรียบเทียบกับฉบับปี 2540

คำสำคัญ (Tags): #รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 92327เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)
ดีใจที่คุณไอศูรย์บอกว่ามีความหวังกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะอย่างน้อยก็ยังมีจุดขายถึงแม้จะมีจุดอ่อน  เพราะหลายครั้งที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกับหลายๆคนไม่ทันพิจารณาร่างก็พยายามที่จะบอกว่าไม่รับร่างเสียแล้ว  ยินดีมากที่คนที่เห็นและเสนอให้มีการพิจารณาถ้าไม่ตรงใจก็เสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้ตรงไม่ใช่ยืนยันที่จะไม่รับเสียอย่างเดียว  เป็นแรงใจให้กับพี่ซึ่งภาคภูมิใจกับการเป็นสสร        จ.ชุมพรคะ
                                                         สาว
คุณไอศูรย์คะ ตอนนี้บางคนยังไม่ทันได้อ่านเลย แค่ตามกระแสก็บอกแล้วว่าจะไม่รับ ที่จังหวัดพิษณุโลกกำลังเตรียมงานรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มในวันที่ 1 พ.ค.เป็นวันแรกค่ะ หน้าที่ของพวกเราก็คือ ต้องรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จริงอยู่ว่าก็มีข้อบกพร่อง แต่เราก็สามารถแก้ไขได้นะคะ แวะมาให้กำลังใจเช่นกัน เราคงเหนื่อยกันอีกค่ะ แต่ก็รู้สึกภูมิใจนะคะที่ได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้

ความเห็นที่แตกต่างในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องธรรมดา คะ แต่ไม่อยากให้แต่ละคนต่อสู้เพื่อชัยชนะ การสร้างเสียงข้างมากให้มีพลังก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่สิ่งไหนที่ไม่เคยมีและมีความเหมาะสมจึงสมควรเพิ่มเติมไป เช่นหมวดสิทธิและหน้าที่ของคนไทย หรือให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในฐานนะที่เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและในขั้นยึดถือศิล 5 ปฏิบัติอยู่เป็นนิจ และศิล 8 ทุกปี ก็อยากให้ชาวพุทธทุกคนตระหนักความเป็นกลางหากไม่เคยระบุเรื่องศาสนาก็ไม่ควรระบุไว้ พลังของชาวพุทธมีอยู่อย่างเหลือล้น และตระหนักถึงทางสายกลางจะทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น

ทำไมไมให้มีการเลือก สว กลัวอะไรหรือ แต่งตั้งดีตรงไหนเดี๋ยวก็ได้แต่พวกตนเข้ามา
เข้ารับราชการต้องถอดเสื้อตรวจร่างกายด้วยเหรอครับ
เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯที่ไม่ใส่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะ
ศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะศาสนาควบคุมความประพฤติของมนุษย์ทั้งภายนอกและภายใน แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายทีควบคุมได้เฉพาะความประพฤติภายนอกของมนุษย์เท่านั้น ทำไมจึงจะเอาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าไปใส่ไว้ในสิ่งที่เล็กกว่า ให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองศาสนา ทั้งที่ความเป็นจริงศาสนานั่นแหละคุ้มครองรัฐธรรมนูญ
บางประเทศไม่จำต้องมีกฎหมายบัญญัติในเรื่องนั้น ๆ เพราะคนในประเทศนั้นมีศีลธรรมคำสั่งสอนของศาสนาอยู่ในจิตใจ ก็ไม่จำต้องบัญญัติกฎหมาย ทำไมพวกท่านจึงดูหมิ่นศาสนาของตนเองโดยต้องให้รัฐธรรมนูญมาคุ้มครองศาสนา
มีแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะขนาดยังไม่ใส่ลงไป ชาวพุทธยังมองคนศาสนาอื่นว่าไม่ใช่คนไทย เรื่องนี้ ฉันพบด้วยตนเอง ชาวพุทธพูดกับฉันว่า "ดูซิ พวกเขาทำเหมือนคนไทยเลยนะ" คุยกันต่อไปอีกหน่อยจึงเข้าใจความหมายของคำว่า "คนไทย" ของเขาก็คือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ฉันจึงถามเขาว่า "อ้าว ฉันไม่ใช่คนไทยหรือ" (เขาไม่ทราบมาก่อนว่าฉันไม่ใช่พุทธ)
นี่ขนาดยังไม่ใส่ลงไป ถ้าใส่ลงไป คนศาสนาอื่นก็อาจรู้สึกว่า อ้อ พวกเราไม่ใช่คนไทย ดังนั้นไม่จำต้องรักชาติไทย แล้วจะเกิดผลดีตรงไหน นอกจากผลเสีย ที่เขาว่าจะทำให้แตกแยกนั้นก็คงจะแตกแยกจริง แล้วจะใส่ไปทำไม ผลดีที่ท่านอ้างกัน ไม่ใช่ผลดีต่อคนทั้งหมดในชาติที่ไม่ใช่ชาวพุทธด้วย แต่ผลเสียมันกระทบถึงคนทั้งชาติทั้งที่เป็นชาวพุทธและไม่ใช่
คำของศาสนาพุทธเองสอนว่า "หยุด เป็นตัวสำเร็จ" จึงอยากจะบอกท่านทั้งหลายว่า "หยุด เสียเถอะ" ชาติอื่น ๆ เขาไม่เห็นต้องเอาศาสนาไปใส่ไว้ ศาสนาของเขาก็ไม่ล่มสลาย แต่ถ้าท่านไม่เชื่ออยากจะใส่ให้ได้ ฉันไม่เดือดร้อนหรอกถ้ามันจะแตกแยก แต่ที่สำคัญอย่าเอาศาสนาของฉันหรือศาสนาอื่นไปใส่ด้วย เพราะฉันถือว่าศาสนาของฉันสูงส่งศักดิ์สิทธิ์มากเกินกว่าจะนำไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ และศาสนาของฉันไม่มีวันล่มสลายแม้ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่จำต้องให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาคุ้มครองศาสนาของฉัน

ผมว่าส.ว.น่าจะให้ประชาชนสมัครเเละให้เลือกตั้งจากบุคคลตามสาขาอาชีพต่างๆอันก.ก.ต.ตรวจสอบและรับประกันว่าเป็นผู้มีอาชีพนั้นจริง  ไม่อยากให้มีระบบทนายเลยคนจนจะได้รับความไม่ยุติธรรมเหมือนคนรวยอย่างที่ผ่านมาเพราะคนจนไม่มีเงินจ้างทนายเหมือนคนรวยหรอกครับ   อยากให้ส.ว.ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาเหมือนฝ่ายบริหารอย่างส.ส.อย่างชาวนา  คนพิการ แม้ แต่ตัวแทนทางศาสนาก็ควรมี และส.ว.ควรมีอำนาจหน้าที่เหมือนสากลคือมีหน้าที่คัดค้านกฏหมายที่จะออกมาแล้วเดือดร้อนประชาชน  ส.ส.ควรมีแค่อำนาจหน้าที่ออกกฏหมายลูกพอแล้ว 

 

 อ.ลูกหว้า  ในมุมกลับกัน ถ้ากระแสบอกว่ารับ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อ่านและศึกษา ร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมครับ ?

เราใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 มาเกือบ 10 ถ้า มาตราไหนบกพรอง ก็แก้ไขเป็นรายมาตราไปสิครับ
ลองโหวตสักมาตราก็ได้ ให้ประชาชนตัดสินใน เอาเองว่าอยากได้ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ?

คุณไอศูรย์  คุณช่วยอธิบายให้ละเอียด โดยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นรายมาตรา ได้ไหมครับ ระหว่าง ของเก่าและของใหม่ที่ทำให้คุณภาคภูมิใจนักหนาน่ะ  เอาแค่ประเด็น ข้อ 1-4 ที่คุณพูดถึงน่ะ

ผมสงสัยว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นการหาเสียงให้กับ ร่างรัฐธรรมนูญไปซะแล้ว.

ยืนอยู่ข้างประชาชนดีกว่าครับ อย่าไปเลือกข้างฝากการเมืองเลยครับ อยู่ฝ่ายไหนก็ไม่ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจที่แท้จริงได้หรอกครับ

วันหนึ่งอาจได้เป็น ฮีโร่ เมือน สสร. เมื่อปี 2540 วันหนึ่งอาจกลายเป็น คนร่าง รัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดวิกฤติการเมืองไปซะแล้ว.


ลองทบทวนบทบาทตัวเองดูดีดีนะครับ.

ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องตั้งธงก่อนว่าทำไมรัฐธรรมนูญไทยมักมีอายุไม่ยืนยาวเพราะเหตุใด ทหาร

เป็นผู้ทำลายรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ รัฐธรรมนูญปี40

สส.และ สว.ที่ได้รับเลือกเข้าในสภาเพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยมาด้วยความศรัทธา เชื่อมั่นของผู้เลือกจริงหรือไม่ หรือมาจากระบบหัวคะแนนที่มีการวางเครือข่ายคล้ายกับ DOWN-LINE ของAM-WAY

เพราะมีข่าวที่สร้างจุดดำแก่รัฐธรรมนูญปี40คิอ

สว.บางท่านรับเงินเดือนของพรรคการเมืองเป็นประจำ

พรรคการเมืองจ่ายเงินเดือนให้สว. หากผู้ร่างไม่ทำลายระบบหัวคะแนนให้สิ้นซากโดยออกกฎหมาย

ให้ถือว่าหัวคะแนนเป็นผู้ทำลายระบบประชาธิปไตย

เพราะการเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงต้องใช้จิตวิญณานด้วยตัวเอง ไม่ใช่ขึ้นกับเงินที่ได้รับ และจะทำให้ได้มีนักการเมืองใหม่ คุณภาพดีเกิดขึ้น

 

ขอ บ คุณ มากๆ นะคะ คุณ ไอศู ร ย์ ถ้าไม่ ได้ คุ น มดตะนอย ไม่มี เรียง ความส่ง อาจาร ย์ แน่ๆ เ ลย เเห ละ ยัง ไง มด ตะน อ ย ตะเรี ยน ค ณะ รั ฐ ศา ส ตร์ * จุฬา ฯ ยัง ไงก็ ค ง ต้อ ง ติด ตามเรื่ อ ง นี้ นะคะ ขอ บ คุ ณ จริ งๆ จา ก ใจ ,, มด ตะ นอ ย

เรื่องรัฐธรรมนูญนี่มันร้อนจริง ๆ นะครับผมว่า

             ผมเห็นด้วยกับร่างนะครับแม้จะมีหลายจุดที่เหมือนหาทางออกไม่ได้ หรือเอาเหตุการณ์บางอย่างมาตีกรอบล้อมปัญหา แต่ก็ถือว่าได้ตั้งใจทำเพื่อบ้านเมืองให้มันเรียบร้อยขึ้น

             ก็ที่จริงมันเป็นวิวัฒนาการอยู่แล้ว เมื่อมันเป็นวิกฤติไม่รู้ว่าจะเกิดได้อีกเมื่อไร มันก็ต้องเลิกแล้วก็ร่างกันใหม่

             สำคัญที่ระบบการจัดการวิกฤติ ที่รธน.พยายามเขียนไว้ แต่คงยังหาข้อสรุปไม่ได้  สิ่งนี้ก็บอกได้ครับว่าประชาชนส่วนใหญ่กับผู้คนส่วนน้อยที่ร่าง กฎหมายประเทศนั้นความเข้าใจยังห่างกันมาก ๆ

             ตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเรายังมีความรู้ไม่มาก เราก็คงต้องแก้กันด้วยกำลังบ้างอยู่แบบนี้แหล่ะครับแต่ผมยืนยันว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ประเทศเราจะต้องผสมผสานกันได้ลงตัวขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาจะถูกแก้ไปทีละจุด  ควบคู่ไปกับความรู้ของผู้คนที่มากขึ้น และการให้คุณค่าของการเป็นอยู่ที่ไม่หวังเพียงระบบเศรษฐกิจแบบการหมุนเงิน

เรื่องการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ส.ว. จริง ๆแล้วไม่ใช่สาระสำคัญว่าจะเป็นแบบไหนแต่ที่ทำกันอยู่นี้คือกำลังอุดช่องว่างของส.ว.ที่เป็นคนของพรรคการเมืองมากกว่า

ในอดีตการตั้งส.ว.เพื่อเป็นพี่เลี้ยงของส.ส. หากในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.  หากจะต้องมีก็อยากให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากหลาย ๆ สาขาอาชีพ จำนวนประมาณ 30 คน ก็น่าจะกำลังดี ประหยัดงบประมาณได้ด้วย โดยในแต่ละสาขาอาชีพหยิบมาสัก 3 คน และให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เลือก และขอร้องผู้ที่ไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี ก็อย่าเลือกส่ง ๆ ไปคิดว่า หนึ่งคะแนนไม่สำคัญ เพราะในคะแนนของคุณอาจได้คนไม่ดีเข้าไป ก็ได้ ให้พิจารณานิดหนึ่งว่ามีช่องไม่ประสงค์จะเลือกใครด้วย แต่ช่องนี้มีไว้สำหรับคิดว่าแต่ละคนแย่จริง ๆ ไม่ใช่ขี้เกียจเลือก กากบาทช่องเดียวดีกว่า

นี่เป็นความเห็นเล็กน้อยอยากให้ลองนำมาคิดดู

ราษฎร ต.วังไผ่ หมู่ 8

ขอให้รัฐออกสิทธิ์ให้กับประชาชน

เมื่อก่อนมี ม.ท.5 แต่ทางการให้เจ้าหน้าที่มารังวัด แล้วจะออกโฉนดให้เลย ประชาชนรวมกันประมาณ 100 กว่าคนเข้าร่วม แต่แล้วไม่ได้รับอะไรเลย ทุกคนเสียค่ารังวัดไปคนละ 2,000 บาท หรือ 5,000 บาท ก็มี ที่ดินดังกล่าวทางการให้สงเคราะห์สวนยางหมดแล้ว

ไพรัช บริรักษ์ ชุมชนท่าตะเภาเหนือ จ.ชุมพร
  1. พรบ.ค้าปลีก-ค้าส่ง ควรรวมถึงค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย เพราะทุกวันนี้มีบริษัทน้ำมันเพียง 5-6 บริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดราคา โดยเฉพาะ ปตท.หลังจากซื้อปั๊มเจ็ทแล้ว มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 40%
  2. กฎหมายควบคุมการค้าสุราไม่ควรกำหนดเวลาขาย แต่ควรกำหนดความรับผิดชอบหลังจากเมาสุราแล้วขับโดย พรบ.ไม่คุ้มครอง, บัตรประกันสุขภาพไม่คุ้มครอง ถ้าคนเมาแล้วขับ ต้องรับผิดชอบตัวเองจ่ายค่าต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยรัฐมีกองทุนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ แล้วรัฐฟ้องไล่เบี้ยจากผู้กระทำผิด

 

  • กระเช้าลอยฟ้า, บ่อน้ำมัน, เขื่อนรับร่อ ฯลฯ
    เขาให้ทำแล้ว ทำภาควิชาการในห้่องแอร์

  • ป่าไม้, ที่ดิน, สรรพากร นี่น่าเรียน เงินเยอะ กินง่าย ใช้เป็นนโยบายในการส่งลูกเรียน

  • มีการทุจริตนักการเมืองไม่กลัวประชาชน แต่กลังผู้ตรวจการเลือกตั้ง

  • คนสำคัญที่เกี่ยวกับศาสนานั่นแหละ ตัวทำลาย กฎบัญญัติที่มีอยู่

  • ถ้ากฎหมายเข้มแข็งแล้วทำไมคนที่ต้องเคารพกฎหมายอยู่แล้วไม่เคารพจริงจัง อย่างเช่นเวลาหาเสียงมีนักการเมืองท้องถิ่นช่วยหาเสียงให้นักการเมืองระดับชาติ มีความผิดมากน้อยแค่ไหน ทำไมเขาไม่กลัวความผิดเลย แม้แต่ข้าราชการก็ไม่กลัวผิดวินัยที่ตัวเองสังกัดอยู่

  • คนที่ร่างสร้างกฎขึ้นมาจะรู้ว่าตรงไหนอ่อน ตรงไหนแข็ง ตรงไหนโหว่ จึงบิดเบือนได้ตรงประเด็น เราประชาชนไม่สามารถยกประเด็นให้ถูกต้องได้ อยู่ที่ความสำนึกและรับผิดชอบเท่านั้น
ผู้เข้าร่วมเวทีรับฟัง

ขออนุญาตฝากที่คาใจผมมาเป็นเวลานานหลายปี ที่เฝ้าเป็นห่วงเยาวชนในโลกปัจจุบัน

ขอให้รัฐธรรมนูญบรรจุหนังสือหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม นำมาบรรจุใหม่ หรือให้มีขึ้นเหมือนเดิม ก็จะทำให้เยาวชนรุ่นหลังจะได้ลดความเห็นแก่ตัว

ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมของเยาวชน ถ้าได้อ่าน ได้ใคร่ครวญ ก็จะได้มีเมตตาธรรมค้ำจุนโลก เว้นเบียดเบียน

ผมขอขอบพระคุณ 

ประเด็นเรื่องจริยธรรมจะให้ผมมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อบัญญัติเป็นกฎหมายแล้วจะทำให้มีคุณธรรม จริยธรรมได้ตามกฎหมาย เพราะเท่าที่เคยเห็นมาจะมีสักกี่คนที่นักการเมืองที่กระทำผิดแล้วติดคุก น้อยยิ่งกว่าน้อยเสียอีก เพราะพวกนี้จะยิ่งกว่าปลาไหลเสียอีก จะทำอย่างไรให้ใช้กฎหมายได้ ให้ศักดิ์สิทธิ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ ขออย่าให้เป็น ปลาไหล (นักการเมือง) รถไฟ (คนรถไฟ) ทนาย (หมายถึงพวกที่ใช้กฎหมาย) โดยไม่มีช่องโหว่ได้ครับ
จินตนา ตันรัตนาวงศ์

เขียนในระหว่างการสัมมนาทางวิชาการ วันศุกร์ที่ 18 พ.ค.2550

กราบเรียน ท่านวิทยากร (อ.ไอศูรย์) ที่เคารพอย่างสูง

     ดิฉัน จินตนา ตันรัตนาวงศ์ ในนามของประชาชนตาดำ ๆ คนหนึ่ง ดิฉันขออนุญาติพูดเรื่องคดียุบพรรค แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะฉะนั้นขอเป็นเอกสารคงได้นะคะ

     สถาบันพรรคการเมืองเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะแข็งแรง ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลยุติธรรม เพราะฉะนั้นหลักการวินิจฉัยต้องใช้หลักจิตวิทยาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่คดีแพ่งหรือคดีอาญา ถ้าตัดสินผิดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับประเทศชาติของเราอย่างมาก นัการเมืองที่เป็นคนดีก็มีบ้าง นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้นซิท่าน ตัดทั้งมือก็ง่อยกันพอดี นักการเมืองอาชีพมีหรือที่เขาจะยอมเลิกรา เดี๋ยวก็คอยเป็นนายหนังตลุงชักอยู่เบื้องหลัง ยุ่งกับ กกต.ต้องมีงานเพิ่มขึ้นมาอีก เราให้อำนาจฝ่ายตรวจสอบเยอะ ๆ ไม่ว่า ปปช. กกต. หรือ คตส. ซึ่งไปไหนไปกันกับรัฐบาลชุดนี้ พูดถึง ปปช.ดิฉันขอเอ่ยนามถึงท่าน อ.วิชา มหาคุณ ท่านเป็นกระบี่มือ 1 ในหลาย ๆ จอมยุทธของบ้านเรา ดิฉันชอบฟังท่านพูด สรุปว่ายักษ์ต้องมีกระบองนะคะ

     ดิฉันให้โอกาสนักการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ออกมา ออกมาแสดงตัวตนที่แท้จริงของท่าน สโลแกนรักชาติ รักแผ่นดินของพวกท่าน น่ะมันรักกันอย่างไร มีความละอายต่อบาปทั้งที่ลับและที่แจ้งแค่ไหน ระวังตัวกันไว้ให้ดีเราจะติดตามการทำงานของท่านอย่างเข้มข้น

      ฝากถึง ประธาน คมช.บ้าง คปค.ฉบับที่ 15, 27 ลดหย่อยผ่อนปรนได้บ้างแล้วค่ะ แต่ไม่ควรทั้งหมดเพราะยังมีคลื่นรบกวนอยู่ ดิฉันไม่ชอบเลยคนพาล หรือศรีธนญชัย มันทำให้เสียงานใหญ่

     เรื่อง สว. และ สส. ดิฉันได้ออกความคิดเห็นไปแล้วเวทีศูนย์กิจกรรมร่วมรัฐสภา-ประชาสังคม วิทยากรโดยท่าน อ.ไอศูรย์ และ อ.สมพงษ์ ครั้งที่ผ่านมา

     ขอกล่าวไปถึงมาตราที่กล่าวถึง ผู้ี่จะคัดเลือกองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องเลือกผู้ที่มีจิตวิทยาเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องเก่ง ก.ม. ทั้งหมด เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ

      เกิดมาเอาอะไรมา    ตายแล้วเอาอะไรไป
     จะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวทำ  จะสูงจะต่ำอยู่ที่ทำตัว

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
     จินตนา ตันรัตนวงศ์
ผู้สมัครว่าที่ กกต. จ.ชุมพร

สวัสดีครับ

ผมยังติดใจ ข้อ 5 เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ขอเสนอแนะในเรื่องสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ควรมีบทบัญญัติในประเด็นที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน เส้นทางเดินเข้าออกที่ชัดเจน ก่อให้เกิดแก่ประชาชนรากหญ้า

          นายยอด ชูติ
ประธานชุมชนราษฎร์ดำรง
    เทศบาลเมืองชุมพร

ให้เพิ่มเติม

- บทบัญญัติเรื่องจริยธรรม คุณธรรมนักการเมืองไว้อย่างชัดเจน 

- ควรระบุ คุณสมบัตินักการเมือง ไม่ใช่เป็นผู้ติดสิ่งเสพติดให้โทษ และควรบัญญัติให้นักการเมืองที่ปฏิบัติตามนโยบายไม่ได้ออกจากตำแหน่ง 

คุณอรทัย หมู่ 9 ต.ทุ่งตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร

ข้อ 15 ขอให้มีการดำเนินคดีกับพระสงฆ์ที่ผิดธรรมวินัยในทางคดีอาญาด้วย ไม่ใช่แต่จับสึกเท่านั้น

ข้อ 2 ขอให้ สส. สว. ที่ทำผิดรับโทษเป็น 2 เท่าของประชาชนทั่วไป 

คนชุมพรอีกคนหนึ่ง

ประเด็นสำคัญในการแสดงความคิดเห็นในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  1. กกต. ไม่ควรมีอำนาจให้ใบแดง (ทำหน้าที่ตุลาการ)
  2. ถ้า กกต. ไม่มีความเป็นกลางโดยพฤตินัยสามารถถอดถอนได้ในทันที
  3. เพิ่มจำนวน กกต.เป็น 9 คน
  4. เห็นด้วยกับที่มาของ สว.
  5. เห็นด้วยกับมาตราที่ 60 (สิทธิผู้บริโภค) และควรออกกฎหมายลูกให้ชัดเจน ใช้จริงเพราะถือเป็นคุณภาพชีวิตของประชาชน
  6. มาตรา 85 ควรเปิดโอกาสให้ อปท.สนับสนุนการวิจัย ในส่วนของรัฐควรส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรานี้ให้ชัดเจน
  7. ข้อ 15 ไม่เห็นด้วยที่จะให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะ ม.78 ได้ระบุไว้ดีอยู่แล้ว โดยพื้นฐานประชาชนคนไทยยังนับถือหลากหลาย ทั้งพราหมณ์ ทั้งเทพ ฯลฯ แต่ควรพัฒนาพุทธศาสนาที่แก่นมากกว่ากระพี้ และให้รัฐส่งเสริมอย่างจริงจังทุกศาสนา โดยเพิ่มหน่วยงานควบคุม
นายสมบูรณ์ สระพินัด 219/5 ถ.กรมหลวง ซอย 20 อ.เมืองชุมพร
ขอให้ทางรัฐบาลกำหนดเรื่อง บ้านนก เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ จึงขอให้กำหนดกฎหมายด้วย จะได้นำมาปฏิบัติ เพราะมีหลายจังหวัดที่เริ่มมีปัญหาแล้วและทางเจ้าหน้าที่อนุญาตแบบแปลนจะได้ปฏิบัติถูกต้อง
นายเชวง เทือกสุบรรณ ข้าราชการบำนาญจาก ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

เรื่องที่จะขอถามวันนี้มี 2 ข้อ

  1. รัฐบาลมีนโยบายให้เรียนฟรี 12 ปี จริงหรือเปล่า ? เพราะปัจจุบันบรรดา ผอ.รร.ทั้งหลาย (รวมหัวกัน) เก็บค่าบำรุงการศึกษาแต่ละภาคเรียนเยอะมาก มันคือะไร...
  2. การเช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องผลไม้ล้นตลาดที่ผ่านมาเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมิใช่ต้นเหตุ ทำไมไม่เอาอย่างต่างประเทศ เช่น อิสราเอล ยามเกิดวิกฤติเขาช่วยทั้งควมรู้และเงินทุน ของเราช่วยเหลืออย่างดีก็แค่กิโลละ 2 บาท ไปปรึกษาเรื่องโรคเน่าของทุเรียน ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

 

t:จะหาคำศัพท์เกี่ยวกับ ดินถล่ม เข้าไป เว็บใด บอกทีช่วย add มา ที่ maill [email protected]

ในเมื่อทุกคน มีสิทธิ์เท่ากัน มันก็เลยปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ น่าเบื่อ กับพวกมีสิทธิ์ทั้งหลาย เอาเหอะ ฉบับไดก็นำมาใช้เถอะ เพราะโลกมันยังต้องหมุนต่อไป ทุกวันผมต้องกินข้าว และอีกอย่าง เวลา ฝ่ายการเมือง จะทำอะไร หรือใครจะประท้วง  โปรดอย่าอ้างว่าทำเพือประชาชน แค่นี้ละนะ เพราะผมต้องไปทำงาน เพือไปซื้อข้าว ตอนเย็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท