Discharge Planning ตอน ขอกลับไปตายที่บ้าน


Discharge  planning  ตอนที่ 4  ที่จะเล่าต่อไปนี้  คุณสุห้วง  พันธ์ถาวรวงศ์  เธอให้ชื่อเรื่องว่า   ขอกลับไปตายที่บ้าน         

 ตัวอย่างคนไข้ที่คุณสุห้วงนำมาเล่าให้ฟังคือ   คนไข้ผู้ชาย  อายุ  40  กว่าปี  มา รพ. ด้วยเรื่อง  GI  bleed   (เลือดออกทางระบบทางเดินอาหาร)   มีอาการถ่ายและอาเจียนเป็นเลือด    แพทย์ต้องให้เลือดทดแทนกว่า 30 ยูนิต   พูดได้เลยว่า  รพ. ชุมพร ซึ่งมีเลือดจำกัด   ให้คนไข้รายนี้รายเดียว  เลือดกรุ๊ป  B  ก็แทบจะหมดทั้ง รพ.               

แม้จะให้เลือดคนไข้ไปแล้วกว่า 30 ยูนิต  แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสูญเสียเลือดที่คนไข้ถ่ายและอาเจียนออกมา  จึงต้องเป็นบทบาทของพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยโดยเฉพาะ  เพื่อต่อรองในการขอเลือดให้คนไข้เพิ่ม  และด้วยสถานที่ของหอผู้ป่วยมีจำกัด  จึงทำให้คนไข้ได้ยินการประสานงานระหว่างพยาบาลกับหน่วยคลังเลือดทางโทรศัพท์ตลอด               

ตอนหนึ่งของการประสานงาน        ทำให้คนไข้ทราบว่าเลือดมีไม่เพียงพอ      แต่คุณสุห้วงต่อรองที่จะขอเพิ่มอีก    หน่วยคลังเลือดปฏิเสธเพราะเค้ามีเลือดสำรองน้อยมาก  จำเป็นต้องมีไว้บ้างเล็กน้อยเพื่อสำรองให้คนไข้รายอื่นๆ อีก               

 คนไข้จึงบอกคุณสุห้วงว่า ปล่อยเค้าไปเถอะ  ขอให้เค้ากลับไปตายที่บ้านดีกว่า  รู้สึกเป็นภาระต่อพยาบาลเหลือเกิน  ทำเอาคุณสุห้วงเครียดไปเลย  เพราะเธอเริ่มเห็นคนไข้รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจที่จะรับการรักษาแล้ว  แม่ของคนไข้ซึ่งอายุ 70 ปี  จะทำอย่างไร  เพราะคนไข้อยู่กับแม่ 2 คน  ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  วันหนึ่งมีรายได้ประมาณ 60 บาท  ถ้าลูกเป็นอะไรไป  แม่เค้าจะทำอย่างไร   

 จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง  คุณสุห้วงสังเกตเห็นว่าเลือดเริ่มจะสีสดขึ้นเรื่อย ๆ ดูท่าไม่ค่อยดี  แพทย์ก็ไม่ได้ทำ   Cut down  ไว้ด้วย      เราก็เลยวัดไม่ได้ว่าคนไข้มีน้ำเพียงพอหรือไม่        คุณสุห้วง  ได้ตัดสินใจรายงานแพทย์ว่าคนไข้ดูอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่  แต่แพทย์ก็ติดราชการอยู่ข้างนอกในภาวะวิกฤตอย่างนี้  พยาบาลจะทำอย่างไรดี...............???            

เมื่อไม่มีทางเลือก   คุณสุห้วงตัดสินใจบอกน้องพยาบาลให้เปิด  hep  lock  (เปิดเส้นเลือด)  ด้วยเข็มเบอร์  18  ไว้ก่อนเลย  4  จุด  เธอคิดว่าเธอไม่ได้ทำเกินหน้าที่  (ขณะที่เธอตัดสินใจจะเปิด  hep  lock  นั้น     คนไข้ยังมีความดันโลหิตที่  120/80  มิลลิเมตรปรอท)   เธอเล่าให้เราฟังว่า   พี่พูดไม่ทันขาดคำเชื่อมั้ยว่า  แป็บเดียวเองหลังจากพี่เปิด  hep  lock  ได้ไม่ถึง  10 นาที  คนไข้ถ่ายออกมาเป็นเลือดพรวดเดียวกว่า 2000 ซีซี  ช็อคไม่รู้เรื่องไปเลย  แต่นับว่าโชคดีที่เธอเปิด hep lock ไว้ก่อน  จึงช่วยกันให้น้ำเกลือใส่เข้าไปเป็นลิตรๆ  รายงานแพทย์  ติดต่อหน่วยคลังเลือด  ประคับประคองอาการคนไข้จากเวลาเกือบเที่ยงมาถึงเวรบ่าย  หมอก็มาพอดีจึงได้รับการผ่าตัดทันที              

ผลการผ่าตัดคือ  คนไข้มีแผลที่ลำไส้เล็กและแผลนั้นอยู่ตรงตำแหน่งเส้นเลือดแดงเส้นหนึ่ง  หลังผ่าตัดได้ 7 วัน  คนไข้ก็หาย กลับบ้านได้           

คุณสุห้วงได้สรุปว่า  เราต้องพยายาม  safe life คนไข้ให้ถึงที่สุด  การดูแลคนไข้ในภาวะวิกฤติ  ทักษะที่สำคัญคือ  เราต้องพยากรณ์เหตุการณ์อันตรายที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่เราไม่มีตัวช่วยให้ได้

คำสำคัญ (Tags): #discharge-planning
หมายเลขบันทึก: 91821เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2007 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาทักทายพี่สาว
  • อ่านแล้วเชื่อว่าพยาบาลเป็นอาชีพที่เสียสละจริงๆๆครับผม
  • ขอบคุณครับ

. "  เธอคิดว่าเธอไม่ได้ทำเกินหน้าที่   "

ไม่เกินหน้าที่แน่นอนครับ   อะไรที่เราทำเพื่อ คนไข้  ด้วยความตั้งใจดี  ไม่เกินหน้าที่แน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท