ความฝันอันสูงสุด


ที่มาของเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’

…วันที่ 25 มกราคม 2515 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ได้เสด็จฯ ไปในงานพระราชพิธีสักการะดวงวิญญาณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ ต.แม่อาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คืนนั้นพระองค์ท่านได้ประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

ก่อนรุ่งสว่าง สมเด็จพระราชินี ได้ทรงสุบินนิมิตว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จฯ มาปรากฏพระองค์ขึ้น ที่หน้าพระแท่นบรรทม ในฉลองพระองค์ทรงเครื่องออกศึกได้มีกระแสพระดำรัส แก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า พระองค์ท่านปัจจุบันนี้ ดวงพระวิญญาณยังอยู่ในประเทศไทย เพราะทรงเป็นห่วงบ้านเมืองยังไม่ได้ไปประสูติใหม่ ณ ที่ใดเลย

และที่มาปรากฏในสุบินนิมิตนี้ ก็เพื่อจะทรงเตือนว่า ในอนาคตต่อจากนี้ไป บ้านเมืองไทยจะประสบกับความวุ่นวายยุ่งยาก ขอให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นกำลังพระทัยถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ทรงนำประชาชน และชาติไทยฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง ให้ผ่านพ้นไปได้

ในพระสุบินนิมิตนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า พระองค์ทรงสะดุ้งพระองค์ตื่นจากที่บรรทม ก็ยังทรงทอดพระเนตรเห็น องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชปรากฏอยู่ จึงทรงปลุกพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปรากฏให้ทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นชั่วครู่ ก็เสด็จฯ ไป เมื่อทั้งสองพระองค์ได้ทรงถวายบังคมแล้ว

จากพระสุบินนี้เอง ทั้งสองพระองค์จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงความฝันอันสูงสุดนี้ขึ้น และได้พิมพ์เพลงพระราชนิพนธ์นี้ พระราชทานแก่ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันอธิปไตยของชาติโดยทั่วหน้า และได้โปรดเกล้าฯ ให้คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และคุณจินตนา สุขสถิตย์ ร้องเพลงนี้ สอนให้แก่ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นครั้งแรกที่ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วประเทศ

เพลงนี้สะท้อนและให้กำลังใจแก่คนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติในลักษณะของการปิดทองหลังพระ ซึ่งคนเหล่านี้เองที่มีความจงรักภักดีและพร้อมจะพลีกายถวายชีวิตเพื่อชาติของเราโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด

แหล่งที่มา

 
ความฝันอันสูงสุด
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง
หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด
ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญก็เพราะปองเทอดผองไทย

 
a_dream_most_noble

อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
เป่าเพลงนี้ด้วยขลุยพญางิ้วดำ
ไพเราะมาก

a_dream_most_noble


ความฝันอันสูงสุด 2
เพลงนี้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียง เป็นเพลงที่ม.ล.อัศนี เรียกว่า Functional Music คือ เนื้อเพลงมาก่อน และเจาะจงเพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะที่กำหนดให้ แตกต่างจากยุคเดิมซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยตรง

a_dream_most_noble



เพลงสำคัญของแผ่นดิน
    งานวิจัยเชิงเอกสาร เรื่อง เราสู้:เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมือง ปี 2518 - 2519

หมายเลขบันทึก: 91106เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2007 05:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท