"ทำไมต้องช่วยผมไว้ ทำไมไม่ปล่อยให้ผมตายไปเสียแต่ตอนนั้น"


ที่มาของบันทึกฉบับนี้ ก็เหมือนกับเรื่อง " วิธีการสื่อสารในฝัน (จินตนาการ) " อีกแล้ว  ช่วงนี้เหมือนรู้สึกเหมือนมักง่ายยังไงไม่รู้ ที่เอาความเห็นซึ่งตนเองไปโพสต์คุยกับคนอื่น  มาเก็บใส่ไว้ในบันทึกอีกบันทึกของตนเอง  เหตุผลหนึ่งนั้นก็อยากเก็บไว้เผื่ออ่านวันหลัง กับมีความเห็นว่าในคอมเม้นต์ดังกล่าว อาจจะมีบางประเด็น ที่เป็นประเด็นแตกต่าง กับของเจ้าของบันทึกนั้นๆ จึงน่าจะเอามาคุยกันในประเด็นใหม่และบันทึกใหม่ดีกว่า แล้วก็เป็นที่มาของบันทึกฉบับนี้..เพราะมีแรงบันดาลใจ กำเนิดมาจากบันทึกเรื่อง "Discharge Planning : ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ"  ของพี่จุด  จุฑารัตน์ เกียรติศิริโรจน์ แท้ๆค่ะ ^___^

 จึงขออนุญาตเอาคอมเม้นต์ดังกล่าว มาปรับแก้ไขเล็กน้อยนะคะ

 秋天的颜色 - 秋天意境 1 - 206492606xWzRGf_fs.jpg


 

วันนี้ได้อ่านบันทึกเรื่อง "Discharge Planning : ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ "  ของพี่จุด   ซึ่งพออ่านถึงตอนที่เอ่ยถึงพี่สุห้วงแล้ว  แรกๆก็ให้รู้สึกคุ้นๆ ครั้นพออ่านถึงเรื่องเล่า ก็ต้องร้องอ๋อ.. นึกออกแล้ว ว่าวันนั้นตนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าฟังบรรยายเรื่องนี้เหมือนกัน (การอบรมเกี่ยวกับเรื่อง Discharge planning)  ดังนั้นบันทึกนี้ของพี่จุด จึงเหมือนเหนี่ยวนำให้ย้อนเวลาไป..นึกภาพเหตุการณ์การเข้าฟังการบรรยายในวันนั้น (วันที่ฟังบรรยาย)   เหมือนหนังที่ถูกฉายรีเพลย์ในห้วงสมอง ความทรงจำ...ไหลย้อนกลับมาอีกครั้ง.. จนเห็นทั้งภาพ ทั้งเสียง และความรู้สึกขึ้นมาอย่างชัดเจนมากๆ

แม้กระทั่งที่บอกว่า ..

" คนไข้รายนี้คือ  ผู้ชายที่ยิ้ม  แต่จริงๆ แล้ว  เค้าตาบอดทั้ง  2  ข้าง "

ก็จำได้ว่า พี่สุห้วงพูดว่า เขาคือผู้ชายที่ยิ้ม หมายถึงวันนั้นพี่เค้าฉายภาพขึ้นในสไลด์ แล้วในภาพมีผู้ชายคนหนึ่งกำลังยิ้มอยู่  พี่เขาแนะนำว่า คนไข้รายนี้ก็คือ ผู้ชายคนที่กำลังยิ้มในภาพ

俄罗斯插画设计(第三辑) 31 - w031215_joker_fenikslastwar.jpg

... เขา...ถูกคนร้ายทุบศีรษะ มีภาวะ Severe Head injury ตอนเข้ารับการรักษาตัวใน รพ. นั้น มีสภาพไม่รู้สึกตัว หายใจเองไม่ได้ (3-4T) แพทย์ได้คุยกับญาติให้เตรียมใจไว้แล้ว  แต่ภายใต้การดูแลจากที่วอร์ดแห่งนั้น รวมไปถึงการเฝ้าเอาใจใส่จากภรรยา.. ทำให้เขาสามารถฟื้นมารู้สึกตัว ลุกเดินทำอะไรได้..หากมีเพียงสิ่งหนึ่ง ที่เขาต้องสูญเสียไป เพื่อแลกกับการมีชีวิตและลมหายใจกลับมาอีกครั้ง  นั่นคือ ดวงตาสองข้าง ที่ต้องบอดสนิทตลอดกาล

ดังนั้นเมื่อเขาออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้าน จากชายฉกรรจ์ซึ่งเคยเป็นผู้นำ หารายได้เลี้ยงครอบครัว ก็ต้องกลายเป็นชายตาบอด ที่ให้ภรรยาคอยดูแลหาเลี้ยงชีวิต  .. นั่จึงเป็นที่มาของปากชาวบ้าน ที่อาจจะแอบนินทา หรือพูดถึงเขาในแง่ "ผู้ชายที่ให้ภรรยาเลี้ยง เกาะภรรยากิน"  มันเป็นคำพูดและวามคิด..ที่ทำร้ายทำลายคุณค่า ความรู้สึก และศักดิ์ศรีของเขาอย่างรุนแรง  ทำให้เขาเคยหาทางที่จะฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง ทั้งแทงตัวเอง และผูกคอตาย แต่ทุกครั้งก็ได้ภรรยาช่วยเหลือไว้....

ฟังพี่สุห้วงเล่าในวันนั้นก็สะท้อนใจเหมือนกันค่ะ ตรงเรื่องที่บอกว่า คนไข้บางคนเราดูแลจนพลิกฟื้นจากความตาย ดูแลประคับประคองอย่างดี จนคนไข้หายป่วยกลับบ้าน.. เป็นความภาคภูมิใจของเหล่าพยาบาลและหมอ  แต่มิคาด...เมื่อกลับไปดูชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาล คุณภาพชีวิตของเขากลับตกต่ำ จนเจ้าตัวมีความรู้สึกว่า

"ถ้าตอนนั้นตายไปคงจะดีกว่า" 

ดังตัวอย่างเคสผู้ชายตาบอดคนนั้น ที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน

PS风景壁纸(一) 1600 +1280 16 - [wallcoo.com]_design_wallpaper_0roadside.jpg

 

 "ทำไมต้องช่วยผมไว้ ทำไมไม่ปล่อยให้ผมตายไปเสียแต่ตอนนั้น"

คำรำพึงนี้อาจจะไม่ใช่มาจากเคสนี้เคสเดียว แต่ก็คงมีอีกหลายเคสที่พูดออกมา (แต่เราไม่ได้ยิน)  มันสะท้อนอะไรให้คิดถึงหลายๆอย่าง  ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา  และ ในฐานะผู้ดูแลรักษา ควรมีบทบาท หรือความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ หรือไม่..แค่ไหน..และ..อย่างไร ?

ความเจ็บป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตของเขา ร่วงดิ่ง "ตก" ลง   แต่ทั้งนั้นและทั้งนี้ ตนเองคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ เกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัว พื้นฐานทางความรู้สึกและจิตใจ  รวมไปถึงค่านิยม ความคิดของบุคคลแวดล้อมด้วย  ซึ่งทั้งหมดคงเหนือความสามารถของเรา(พยาบาล) ที่จะเข้าไปปรับ หรือ ดูแลตรงนั้นจนสมบูรณ์ได้

约翰·辛格·萨金特(John Singer Sargent) 绘画作品(一) 1 - [wallcoo.com]_Sargent_Carnation_Lily_Lily_Rose.jpg

บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า ชีวิตคนเราจะว่าไป บางครั้งก็มีค่า บางครั้งก็ไร้ค่า... โลกปัจจุบัน เกิดเรื่องเกิดปัญหาขึ้นมากมาย อาชญากรรม การก่อการร้าย.. ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีแต่ทำร้ายและทำลายชีวิตกัน  ในขณะที่พวกเรา (บุคลากรทางการแพทย์) เฝ้าดูแล ห่วงใยทุกชีวิตอย่างมีคุณค่า ดูแลอย่างครอบคลุม ทั้งกาย จิต สังคม และวิญญาณ ตั้งแต่เขาเกิด เขาเจ็บป่วย ไปจนถึงเวลาของลมหายใจสุดท้าย แต่ทำไมคนอื่น พวกเขาถึงไม่ถนอม ไม่รักดูแลในคุณค่าของชีวิตคนอื่น เหมือนอย่างที่พวกเราพยายามทำ พยายามช่วยกันบ้างเลยหนอ

เห็นข่าวการฆ่ากัน  ทำร้ายกันในทีวี ในหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วทั้งเศร้าและสะท้อนใจเหลือเกิน

ยิ่งพอมาได้อยู่วอร์ดทางด้านสูติฯ ได้ดูแลเด็กทารกแรกคลอด .. เด็กแต่ละคน ล้วนน่ารัก ใสบริสุทธิ์.. เกิดมาท่ามกลางความรัก ความปลาบปลื้มยินดีของพ่อแม่และคนในครอบครัว 

...บางครั้งตนเองก็เคยยืนมองดูหน้าเด็กเหล่านั้นอย่างเงียบๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่า โตขึ้นต่อไปภายภาคหน้า พวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้างนะ  จะเป็นคนดี มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชม หรือจะกลายเป็นคนที่สร้างปัญหาให้กับสังคม ....?

约翰·辛格·萨金特(John Singer Sargent) 绘画作品(一) 25 - [wallcoo.com]_Sargent_John_Singer_Street_in_Venice.jpg

ทำให้นึกเห็นภาพหลายคนที่ถูกทำร้ายในหน้าหนังสือพิมพ์  ยังมีภาพคนร้ายที่ถูกประกาศจับ หรือถูกจับกุมเพราะกระทำผิด  คนเหล่านั้น..ณ วันแรกของชีวิต ก็คงเคยอยู่ตรงนี้ ... นอนในคลิปอย่างไร้เดียงสา อยู่ท่ามกลางรอยยิ้มยินดีปรีดา ของคนในครอบครัว

หากย้อนเวลากลับไปได้  เราจะทำหรือไม่.. ที่จะไม่ดูแล ไม่ยินดี รวมไปถึง..ไม่ช่วยเหลือให้เด็กที่โตขึ้นมา "เพื่อไปทำร้ายคนอื่น" เหล่านั้น ลืมตาเกิดขึ้นมาดูโลก

คำตอบก็คงคือ... ไม่ !

เราคงไม่สามารถละเลยในหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือของเราได้.. ต่อให้พวกเขาจะเป็นใคร ดี เลว รวย จน สูงศักดิ์หรือ ต่ำต้อย เพียงไหนก็ตาม

เพราะทุกชีวิตสำหรับพวกเรา มีค่าเท่าเทียมกันเสมอ และตลอดไป

约翰·辛格·萨金特(John Singer Sargent) 绘画作品(一) 31 - [wallcoo.com]_Sargent_John_Singer_Two_Women_Asleep_in_a_Punt_under_the_Willows.jpg

 

อย่างไรก็ตาม...ถึงแม้หน้าที่ของพวกเรา (แพทย์พยาบาล)  คือเป็นผู้ดูแลและให้ความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพ และงานของเรา อาจมีผลหรือมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคม  แต่เราก็คงไม่สามารถไปรับผิดชอบต่อชีวิตในสังคมทั้งหมดได้  เราดูแลเขาได้เพียงแค่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่มีปัญหาด้านการเจ็บป่วยเท่านั้น คงไม่สามารถดูแลเขาทั้งชีวิตได้  ทว่าตรงนั้น..คงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของครอบครัวของเขา ที่จะดูแลเขาต่อ ส่วนเรา..จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น "ที่ปรึกษา"  เมื่อพวกเขาต้องการแทน

จะว่าไปแล้ว.. คนเจ็บป่วยพอเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล ก็มีฐานะและบทบาทเป็นคนไข้ แต่พอเขาหายป่วย ออกจากโรงพยาบาล เขาก็จะกลับไปฐานะเป็น "สมาชิกคนหนึ่งในสังคม"   เช่นเดียวกับเรา (เหล่าบุคลากรทางการแพทย์) แต่ก็มีหลายครั้ง ที่พวกเรายังคงติดภาพและความรู้สึกที่ว่า "เขาคือคนไข้ของเรา" อยู่ตลอด

คงเหมือนคนเป็นพ่อเป็นแม่มั้งนะคะ  ที่แม้ว่าลูกจะเติบใหญ่ โตจนมีครอบครัว ก็จะยังคงมีความรู้สึกว่า ลูกยังคือ ลูกเล็กๆ ที่ต้องให้พ่อแม่คอยห่วงใยอยู่ (อันนี้พ่อกับแม่ มักพูด มักรำพึงให้ตนเองฟังอยู่บ่อยๆ)

秋天的颜色 - 秋天意境 25 - 509504903aiysNl_fs.jpg

 

แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ดีค่ะ  ทั้งนี้เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ดี และความปรารถนาที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ที่เราจะยังควรมี และให้ความช่วยเหลือต่อ "สมาชิกในสังคม" บางคนที่ยัง "คงมีปัญหา" ต่อการดำรงชีวิต  ซึ่งถึงแม้เราอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือ หรือแก้ไขสภาพชีวิตอันเลวร้าย หรือตกต่ำที่เกิดขึ้นกับเขา แต่อย่างน้อย.. ในขั้นตอนของการเตรียมการ เพื่อจะส่งพวกเขาเหล่านั้น กลับคืนสู่สังคม (ออกจากโรงพยาบาล)  หากสามารถคาดคะเนได้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดกับพวกเขา และเราได้มีการวางแผนป้องกันไว้  บางที..อย่างน้อยก็อาจจะพอลด "ระดับความรุนแรง" ของปัญหาที่จะเกิดขึ้นมานั้นได้

และ Discharge Planning ก็เข้ามามีส่วนความสำคัญอยู่ส่วนหนึ่งในจุดนี้นั่นเอง

เพียงแต่..เรา (แพทย์-พยาบาล ผู้รักษา) ควรมีบทบาท หรือความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ แค่ไหน..และ..อย่างไร ?

นั่นคงต้องถามความคิดเห็น และความรู้สึกของท่านทั้งหลายแล้ว...

 

秋天的颜色 - 秋天意境 19 - 507888863zqMcLw_fs.jpg

 


 

หมายเลขบันทึก: 90470เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2007 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมไปเพิ่มเติมที่ blog พี่จุดแล้วนะครับ ไม่อยาก copy มาที่นี่อีกรอบ

ขอบคุณที่ทำให้ไปรู้จัด blog พี่จุดด้วยครับ มีเรื่องราวดีๆเยอะเลย

ขอบคุณมากค่ะ  ^________^

ตามไปอ่านมาเรียบร้อยแล้วค่ะ อาจารย์

แล้วก็ขอทำลิ้งค์ไว้อีกที

"Discharge Planning : ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ "

ติดตามด้วยความสนใจ และขอบคุณยิ่งครับ
     สันติสุขส่วนบุคคล และสันติภาพของสังคมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการจัด การศึกษาที่ถูกต้อง ให้แก่ผู้คนเท่านั้นครับ แต่ไม่ใช่อยู่แค่ในระบบการศึกษาตามรูปแบบ  แต่หมายรวมถึงการเรียนรู้ในทุกๆที่  ในครอบครัว จากสื่อมวลชน ฯลฯ ล้วนต้องมาทบทวนกันใหม่ อย่างจริงจัง .. เรียนให้รู้จักชีวิตให้มากขึ้น  เรียนให้เห็นความจริง เห็นเหตุ-ผล ว่า อะไร เป็น อะไร เพื่อให้คนเรา จัดการกับทุกปัญหาได้ด้วยปัญญา มีธรรมเป็นเครื่องนำทางกันได้มากยิ่งขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท