Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สอนกฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ธรรมศาสตร์ลำปาง : สอนอะไรดี ?


การสอนของ อ.แหวว นั้น จะลงลึกได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนที่มาข้างหน้า และมาข้างหลัง ถ้าคนที่มาก่อน นำทางมาดี เราก็วิเคราะห์ตาม เราก็ไม่ต้องรุกเองทั้งหมด หรือคนมาที่หลัง จะมาลุยต่อ เราก็แตะผิวๆ ไว้ การสอนแบบทีม คงต้องรู้กัน มิฉะนั้น นักศึกษาก็จะงงที่อาจารย์สอนแบบซ้ำซ้อนหรือไม่ต่อเนื่องกัน เพื่อมิให้เกิดภาวะที่เป็นทุกข์ระหว่างทีมผู้สอน หรือระหว่างผู้สอนและนักศึกษา อ.แหววจึงขอเริ่มต้นการทำ “สัญญาประชาคม” ในเบื้องต้นกับทีมผู้สอนด้วยกัน กล่าวคือ อ.โด่งและอาจารย์ท่านอื่นจากสหวิทยาการ และเมื่อเราชัดเจนในการ “วิ่งผลัด” ระหว่างเรา เค้าโครงการสอนท่ออกมา ก็จะเป็นเอกภาพและนวลเนียนมาก

หลังจากที่ได้เล่าถึง ที่มาของเรื่อง ที่จะไปสอนวิชาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่วิทยาลัยสหวิทยาการ   ธรรมศาสตร์ลำปาง 

          เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า จะไปสอนวิชากฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ธรรมศาสตร์ลำปาง คำถามต่อไป ก็คือ แล้วเราจะสอนอะไรดี ? ซึ่งข้อคำนึงประการแรก ก็คือ แนวสังเขปลักษณะวิชาในหลักสูตรของเขาว่าอย่างไรกัน ? อันนี้ ต้องขอแรง อ.โด่งส่งมาให้ดู  อย่าลืมนะคะ

         เราคงลืมไม่ได้ว่า หลักสูตรนี้เป็นของ สหวิทยาการ ดังนั้น เราก็คงเดาได้ต่อไปว่า ศาสตร์ต่างๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้อง ก็คงต้องเริ่มต้นจาก (๑)  เศรษฐศาสตร์ เพราะการค้าและการลงทุนนั้นเป็นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน (๒) รัฐศาสตร์ เพราะรัฐย่อมจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการดูแลตลาดการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้นบนดินแดนของตนและเกี่ยวข้องกับประชากรของตน และ (๓) นิติศาสตร์ เพราะกฎหมายย่อมจะต้องถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นกติกาสังคมในเรื่องนี้ กฎหมายที่จะต้องใช้นั้นคงจะต้องมีทั้งกฎหมายภายในของรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศ และนอกจากนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน

         เอ..แล้วการสอนในวิชานี้ จะใช้เวลาเท่าไหร่คะ ? เป็นวิชากี่หน่วยกิจคะ ?

      ในส่วนที่ อ.โด่งทาบทามให้สอนนั้น เป็นเรื่องหลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปที่ใช้กับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่เห็นด้วยอย่างแน่นอน แต่ก็อยากทราบว่า คนที่สอนก่อนเรา เขาจะพูดถึงอะไรบ้าง ? และคนหลังจากเรา เขาจะพูดถึงอะไรบ้าง ? ลองหาข้อมูลหน่อยซิคะ

       ถ้า อ.แหวว เลือกได้ การสอน ๒ วันที่มอบหมายมาให้นั้น (เอ..ต้องสอน ๓ หรือ ๖ ชั่วโมงต่อวันคะ ?)

         อ.แหววขอมีความเห็นดังนี้

       ในวันแรกที่จะต้องไปสอน กล่าวคือ วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ อ.แหววน่าจะกล่าวถึง บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (Sources of Laws on International Trade and Investment)” ดีไหม ? และในการพิจารณาบ่อเกิดนี้ ก็จะพิจารณาในแง่บ่อเกิดในทางรูปแบบ อันเปิดโอกาสให้เราจะได้พูดถึงกฎหมายจารีตประเพณี สนธิสัญญา และหลักกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนั้น จะต้องกล่าวถึงบ่อเกิดในทางเนื้อหาสาระ อันเปิดโอกาสให้เราได้กล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คดีบุคคล และคดีอาญา โดยไม่ลืมที่จะกล่าวถึงกฎหมายภายในที่ออกมารองรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยจะไล่ดูกฎหมายภายในที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งถ้าเป็นการสอน ๖ ชั่วโมงต่อวัน ก็จะดูกฎหมายภายที่รองรับตลาดเสรีทั้งวงจรตั้งแต่ (๑) กฎหมายที่รับรองสิทธิในการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศไทย อาทิ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นต้น (๒) กฎหมายที่รับรองนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ อาทิ มาตรา ๑๓ ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ หรือ พ.ร.บ.การรับขนทางทะเล พ.ศ.๒๕๓๔ (๓) กฎหมายที่รับรองสิทธิในการถือครองทรัพย์สินของคนต่างด้าวในประเทศไทย อาทิ ประมวลกฎหมายที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาอันเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรายละเอียดคงขึ้นอยู่กับเวลาที่มี ตลอดจนความเป็นไปได้ของนักศึกษาที่จะรับเอา

        ในวันที่สองที่จะต้องไปสอน กล่าวคือ วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐  อ.แหววน่าจะกล่าวถึง  ผู้ทรงสิทธิในกฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (Subjects of Laws on International Trade and Investment)” ดีไหม ? ในส่วนนี้ ก็คงต้องศึกษาทั้งในกรณีที่ผู้ลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในรายละเอียด คงต้องกล่าวคือ (๑) การจัดสรรผู้ประกอบการค้าและผู้ลงทุนโดยรัฐไทยทั้งโดยสัญชาติและภูมิลำเนา ซึ่งการจำแนกนี้จำเป็นในการกำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวตามกฎหมายไทยหรือสนธิสัญญาที่ผูกพันประเทศไทย ในตรงนี้ คงต้องมีการ ชันสูตร สัญชาติไทยของบรรษัทข้ามชาติดังๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ Toyota หรือ IBM หรือ Temasek ฮิฮิ....อันนี้ ถ้าไม่กล่าวถึง คงไม่ทันสมัย  (๒) ความเป็นไปได้และข้อจำกัดที่จะการก่อตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายของทุนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย หรือแม้ทุนไทยที่ข้ามชาติออกไปในรัฐต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ ก็คงจะได้มีโอกาสสอนการปรับใช้กฎหมายขัดกันที่สอนมาในครั้งแรกในทางปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มาเจอกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และกฎหมายจะเป็นเช่นไร (๓) ความเป็นไปได้และข้อจำกัดของการก่อหนี้ของทุนดังกล่าว และ (๔) ความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของทุนข้ามชาติต่างๆ ซึ่งจะพยายามนำให้นักศึกษารู้จักทั้งกระบวนการทางศาลและอนุญาโตตุลาการ คงจะนำทางไปรู้จักกระบวนการยุติธรรมที่จัดขึ้นในความตกลงระหว่างรัฐ อาทิ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO  หรือในภาคีระดับภูมิภาค อาทิ ASEAN หรือระดับทวิภาคี อาทิ FTA ต่างๆ  แต่คงจะลงรายละเอียดมิได้ อันนี้ น่าจะรับลูกต่อไปโดย อ.โด่งหรืออาจารย์ท่านอื่นล่ะ ที่มาร่วมวงให้การศึกษาแบบสหวิทยาการ

          การสอนของ อ.แหวว นั้น จะลงลึกได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนที่มาข้างหน้า และมาข้างหลัง ถ้าคนที่มาก่อน นำทางมาดี เราก็วิเคราะห์ตาม เราก็ไม่ต้องลุกเองทั้งหมด หรือคนมาที่หลัง จะมาลุยต่อ เราก็แตะผิวๆ ไว้ การสอนแบบทีม คงต้องรู้กัน มิฉะนั้น นักศึกษาก็จะงงที่อาจารย์สอนแบบซ้ำซ้อนหรือไม่ต่อเนื่องกัน เพื่อมิให้เกิดภาวะที่เป็นทุกข์ระหว่างทีมผู้สอน หรือระหว่างผู้สอนและนักศึกษา อ.แหววจึงขอเริ่มต้นการทำ สัญญาประชาคม ในเบื้องต้นกับทีมผู้สอนด้วยกัน กล่าวคือ อ.โด่งและอาจารย์ท่านอื่นจากสหวิทยาการ และเมื่อเราชัดเจนในการ วิ่งผลัด ระหว่างเรา เค้าโครงการสอนที่ออกมา ก็จะเป็นเอกภาพและนวลเนียนมาก

         เมื่อเราตั้งเริ่มต้นสอน ด้วยหัวข้อสอนที่ชัดเจน เราก็จะได้ หารือ กับนักศึกษาที่จะมาลงเรียนถึง วิธีการเรียนรู้  ซึ่งอันนี้ สำหรับ อ.แหวว ให้ความสำคัญมาก การยอมรับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการเรียนการสอน เป็นการฝึกให้พวกเขาคิดเป็นและกระตุ้นความตั้งใจเรียนดีมาก ว่าแต่ว่า นักศึกษาคาดว่า จะมีสักกี่คนคะ ? ...โอย...ถ้าเป็นร้อยขึ้นไป โอกาสที่จะทำมากกว่าบรรยาย ก็คงยากกกกกกก  

            เอาแค่นี้ก่อน....ก็น่าจะพอตอบสิ่งที่ อ.โด่งถาม และบันทึกนี้ ก็น่าจะอำนวยความสะดวกให้ อ.โด่งส่งต่อให้อาจารย์ที่จะมาสอนด้วยกัน รอคำตอบจาก อ.โด่งจ๊ะ ว่า เห็นอย่างไร ?

          ถ้าเห็นด้วย ก็จะได้เริ่มเตรียมแนวคิดและเอกสารประกอบการสอน  ว่ามาแล้วกันค่ะหรือท่านที่ผ่านมาอ่าน จะช่วย อ.แหววและ อ.โด่งเตรียมสอน ก็ขอบคุณค่ะ อย่าเกรงใจ ที่ลุกขึ้นมานั่งคุยกันในโกทูโน ก็เพราะอยากให้มีคนมาแจมค่ะ   ฮิฮิ...

----------------------------------------------------- 

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันพุธที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 88613เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 05:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ
    
ตามมาอ่าน  ได้ความรู้  แง่คิดดีครับ 
เป็นวิชากี่หน่วย กิจ คะ ? ตัวดำคงเผลอมังครับ "กิต"

ไม่เผลอค่ะ รับสารภาพว่า เขียนผิดทุกหน มีคนเตือนทุกหน ก็ยังผิดอีกค่ะ ขอบคุณที่เตือนค่ะ

สวัสดีครับ

ส่งข่าวมาบอกว่าทีมเราเป็นทีมตัดริบบิ้น พี่เป็นผู้เบิกฤกษ์เอาชัย ผมตามไปสมทบสนับสนุบ โครงที่พี่ส่งมาผมเห็นด้วยครับ (งานนี้นักศึกษาจะได้เจอของจริงเสียที) แล้วผมจะนำนักศึกษาเข้าสู่ Area ของนักศึกษา คือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่นำโขง ส่วนของผมจะแบ่งเป็นสองภาค การค้าและการลงทุน โดยในแต่ละภาคแบ่งเป็นสองส่วน คือ กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน แล้วปิดท้ายด้วยการระงับข้อพิพาท ผมว่าคงให้ความรู้แก่นักศึกษาได้อย่างพอเพียงไปจนถึงขั้นมากครับ

หนุกหนานวันสงกรานต์

โด่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท