กิจกรรม บริกรรม จริยธรรม แพทย์ใช้กรรม (ทุน)


เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศ walk-rally สำหรับแพทย์ใช้ทุน 1 รุ่นที่ 23 (อื้อหือ... ผมรุ่น 4.... รู้สึกแก่จังเลยเรา) ของ ม.อ. หาดใหญ่นี่เอง ไปจัดที่ รร.หาดแก้ว ขาประจำของ ม.อ. ซึ่งเจริญเติบโตงอกงามจนผิดหูผิดตา ทั้งๆที่มาทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง

นัยว่าเป็นน้องใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ก็ต้องมีการรับน้อง แนะนำขนบธรรมเนียมประเพณีของสถานที่ วัฒนธรรมองค์กร คุณค่าของคนที่นี่ อะไรที่เราคาดหวัง (ไม่ค่อยอยากใช้คำนี้ แต่ก็เป็นความจริง) อะไรที่เขาสามารถหวังจากเราได้บ้าง (เรียกว่าเป็น matual benefit) ที่อยู่ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ความปลอดภัย (แถวนี้มีรถ model ใหม่ด้วยนะครับ คือมีใบพัดกวาดหน้ารถ ทำความสะอาดถนน เอ่อ... และสามารถกวาดอะไรต่อมิอะไร อาทิ ตะปูเรือใบ ออกจากทางที่เรากำลังจะไปได้ด้วย ฮ่า ฮ่า ที่ไหนก็ไม่มีเหมือนเรา) สถานที่อาบน้ำ ประแป้ง กินข้าว ฯลฯ

นับตั้งแต่มีกิจกรรมรับน้อง (มหา) โหดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อแสดงความเหี้ยมเกรียมสันดานดิบของคน (รุ่นพี่) เราก็ต้องการแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมรับน้องนั้นมี concept ที่ถูกต้องเช่นไร

กิจกรรมปฐมนิเทศ มีไว้เพื่อ

  • แนะนำน้องใหม่ ให้รู้จัก สถานที่ บุคคล และวัฒนธรรมใหม่ที่เขากำลังจะมาใช้ชีวิตอยู่ (สั้น หรืออาจจะยาวมาก)
  • แสดงความอบอุ่น น้ำใจ และความยินดีต้อนรับ
  • ปลูกฝังความเป็น "ครอบครัวเดียวกัน"
  • แสดงกรอบคร่าวๆของการทำงาน
  • แนะนำแนวทางวิชาชีพ (อันนี้จำเพาะกิจกรรมนี้)

ถ้าเราใช้เหตุผลเหล่านี้ ผมก็ไม่ใคร่เข้าใจเหมือนกันสำหรับพวกรับน้องมหาโหดว่าจงใจจะแสดงว่ารุ่นพี่เป็นคนกเฬวรากไปทำไมให้มันเสื่อมเสียชื่อเสีย(ง)วงศ์ตระกูล มันน่าจะมีกิจกรรมมากมายที่สามารถสร้างสรรค์ได้จากวัตถุประสงค์เหล่านี้ ดังที่ผมกำลังจะเล่าและบันทึกไว้ ณ ที่นี้

วันเสาร์อาทิตย์นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโปรแกรมต่อเนื่อง 4 วัน จะเป็นกิจกรรมจริยธรรม และ walk rally และการอบรม palliative care มีอะไรที่น่าสนใจน่าบันทึกไว้พอสมควร ยังไม่แน่ใจว่าจะเอาสักกี่ตอนจบดี

ตอนเช้าวันเสาร์ แพทย์ใหม่เอี่ยมถอดด้ามของเรารวมตัวกันที่โรงพยาบาล แล้วรถคณะฯก็พาออกจาก รพ.ไปยังโรงแรมหาดแก้ว 40 กม.จากจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็ถูก "ละลายพฤติกรรม" กันก่อน โดยการทำตัวเป็นเด็กๆกันใหม่ สลัดสถานะ สลัดหมวก ไปก่อน เปิดจิตอยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้นที่จะเห็นจะเรียนจะรับทราบของใหม่ๆและข้อมูลที่เพิ่มเติม ทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียด เป็นการเปิด alpha wave ของคลื่นสมอง เห็นประตู Theta สู่คลื่นมหาสมุทรความรู้อันมหาศาลไร้กำหนดขอบเขตของแต่ละคน

ปีนี้ ม.อ. เริ่มรายการด้วยกิจกรรมจริยธรรม โดยมีน้องอาจารย์หนุ่มไฟแรงของเรา (คุณหมอนิพัทธ์) เป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง ผู้เขียนบท สร้างหนังสดแสดงประสบการณ์ชีวิตของคนไข้รายหนึ่งที่เข้ามารักษาตัวใน รพ.โรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ ประเด็น learning objectives ของจริยธรรมด้านต่างๆได้ถูกวาง plot และสอดแทรกลงไปทุกฉาก ทุกบท ทุกตอน ฉายเสร็จก็ให้น้องๆแพทย์ใช้ทุนลองผลัดกันวิจารณ์

ประเด็นได้แก่

  • การสัมภาษณ์ ตรวจซ้ำซาก ของหมอหลายหมอ ตั้งแต่ นศพ. extern intern แพทย์ใช้ทุนปี 1,2,3, 4, chief และสุดท้ายก็อาจารย์
  • การสัมภาษณ์ check-list style ที่ไม่ได้ให้คนไข้เป็นผู้เล่า แต่เป็นผู้ถูก "ซักฟอก" จนขาวสะอาด
  • มารยาทในการ expose ผู้ป่วยต่างเพศ
  • การแนะนำตัว
  • การบันทึกเวชระเบียน (ใช้ประเด็นแพ้ยามอร์ฟีน) และผลของการที่หมอไม่ได้บันทึก ไม่ได้อ่าน record สั่ง order ทางโทรศัพท์แล้วเกิด complications ซ้ำจากการแพ้ยา)
  • steps ต่างๆของการ break relationship
  • จนสุดท้ายเมื่อเกิด complications ผปงปฏิเสธการรักษา ขอย้ายโรงพยาบาล และต้องให้เซ้น "ใบไม่สมัครใจรับการรักษา" (refusal of treatment form)

ปรากฏว่าคนสะเทือนใจมากเป็นพิเศษ เป็นอาจารย์แพทย์อาวุโสของเราที่ได้เชิญมาร่วมให้คำแนะนำ เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น และ "หลุดจากการสังเกต รู้เห็น" เพราะเกิดในระดับล่างๆ และไม่ได้เกิด impact ทันที เพียงแค่ "คุกกรุ่น" ทีละน้อยๆ simmering อย่างดี รอคนหยดน้ำลงไปจะได้แตกเดือด ค่อยๆแสดงออกมาจาก video ที narrate เรื่องราวสาระ

น้องๆหมอใหม่ก็ร่วมอภิปรายกันอย่างมีรสชาติ (เผ็ด หวาน มัน เค็ม) มีบางอย่างที่ผู้กำกับจงใจใส่ของดีลงไปก็มี ก็ได้ครบทั้งของดีและไม่พึงปราถนา

การ discuss video หรือการใช้สื่อ เช่น ภาพยนต์ ช่วยให้ทุกคน participate ในฐานะบุคคลที่สาม และลงความเห็นได้เต็มที่ ตรงนี้จะได้ผลแตกต่างจากการทำ role play พอสมควร ซึ่งเราจะทำกันวันรุ่งขึ้น แต่การที่เรามอง video นั้น จริงๆแล้ว เราก็สามารถจะทำอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ตนเองทำในแต่ละวันได้เหมือนกัน น้นก็คือหลักการ when the observer becomes the observed นั่นเอง

กิจกรรมต่อไป ขอต่อตอนหน้าก็แล้วกัน

หมายเลขบันทึก: 87982เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรียนท่านอาจารย์หมอสกลที่นับถือ

 JJ ใช้คำว่า

 "แพทย์ผู้ให้สัญญาครับ ให้สัญญาใจไฟปรารถนา จะมาทำงานร่วมกัน"

 ไม่ได้มามีเวร กรรม

 แต่มาทำ บุญให้ ชาวไทยร่วมกัน ครับ

 JJ เคยจัดกิจกรรมทำนองนี้ให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มาประมาณ ๑๐ รุ่นครับ

 หลังๆจางหายไป มีกิจกรรม WalkRally และกิจกรรมร่วมกันทั้ง แพทย์ พยาบาล และ ข้าราชการใหม่

 แถมมีโอกาสไปจัดให้กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บ้านเกิด JJ สมัย รศ.นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ ท่านเป็นคณบดี ครับ

เรียนอาจารย์ JJ ที่เคารพครับ

เป็นเกียรติที่อาจารย์ได้มาเยี่ยมเยียนครับ ได้ยินชื่ออาจารย์จากหลากหลายบทความที่มีคนเอ่ยถึง ขอบพระคุณที่มาแลกเปลี่ยนครับ

ผมชอบ "กรรม" เพราะรู้สึกมันหนักแน่นดีครับ และ break ยากกว่าสัญญา หรือเงื่อนไข หรืออะไรๆ ยังไงๆไม่ว่าจะทำอย่างไร เราต้อง ใช้กรรม แน่นอน และในขณะเดียวกัน เราขณะที่เราใช้กรรม เราก็ได้ ประกอบกรรม ไปด้วยในเวลาเดียวกัน จะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วนั้น เป็นสิ่งที่เรา เลือกได้ และ ควรจะเลือกให้ดี ด้วย

และจริงอย่างที่อาจารย์ว่า คือ ทำอะไรกับเด็กๆ (จริงๆก็ไม่ใช่เด็ก) นั้น ขอ้ดีประการหนึ่งคือ ถึงแม้เราไม่ต้องคาดหวังก็ตาม แต่เราจะ มีโอกาส ได้สังเกตเห็น ผลแห่งการกระทำ ผลแห่งการเพาะปลูก การเจริญเติบโตของเมล็ดที่ได้หว่าน ตรงนี้เป็น privilegeของอาชีพอะไรก้ได้ที่ต้องมีการสอน การหยอดตัวกวนลงไป

ขอบพระคุณอีกทีครับ

อาจารย์สกล กับ ท่านอาจารย์ JJ ครับ

  •  ผมเรียก แพทย์ใช้ทน ครับ ว่าเข้าไปโน่น พิมพ์ไม่ผิดนะครับ
  • ปีนี้ผมไม่ได้ตามไปหาดแก้วด้วย เพราะมีคนมาดูตัว เอ้ยไม่ใช่ ดูใจ จึงต้องต้อนรับครับ
  • เห็นประเด็นในรายการแล้ว รู้สึกว่า เอ.. เราก็ทำเหมือนกันนี่หว่า จริงด้วยครับ เวลาอาจารย์ (ไม่ต้องอาวุโสก็ได็) ก็ได้เรียนไปด้วย ได้ทบทวนตัวเอง 

ถ้าจะนับ emotional แล้ว ผมว่าอาจารย์จะมีมากกว่าเยอะด้วยซ้ไปครับพี่เต็ม

พี่เต้ (อ.กันยิกา) ยกประเด็นว่า อะไรๆที่เราแสดงเกิดจาก ระบบบ้างไหม? นั่นคือจริงๆแล้ว ผู้ผลิต เป็นตัว monster รึเปล่าเนี่ย?

ภาษิตโบราณ "ขว้างงูไม่พ้นคอ"

ประเด็นต่างๆที่คุณ Phoenix ยกมานี่ เราน่าจะนำมา apply ใช้กับคนทำงานประจำๆบ้างก็น่าจะดีนะคะ การทำงานกับคนจนเป็นงานประจำนี่ บางครั้งก็เปลี่ยนคนหลายๆคนให้เป็นหุ่นยนต์ลืมคิดไปได้เหมือนกัน น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว

คำว่า "routine" นี่เกือบจะถือถือเป็น "คำหยาบคาย" ในทัศนะของกฤาณะมูรติทีเดียวเจียวครับ คุณโอ๋

เอ... อ่านของใครก็ไม่รู้ ที่ว่า "ความเบื่อ" นี่แหละเป็นมารตัวจริงตัวหนึ่งทีเดียว มันจับใครปุ๊บ จะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไม่มีพลัง หมดจินตนาการ หมดความหมาย เป็นมากๆก็จะพาล "เบื่อชีวิต" เอาได้เลยครับ

คุณ Phoenix เขียนถึงประเด็นงาน routine กับจิตวิญญาณของมนุษย์สักบันทึกสิคะ จะได้ตามไปต่อยอด ขอบคุณล่วงหน้านะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท