ไปจัดกระบวนการ KM ที่จังหวัดสมุทรสาคร


ทำไปเรียนรู้ไป ทำไปได้เพื่อนไปเรื่อยๆ

   วันนี้ ดิฉัน  และคุณสำราญ สาราบรรณพ์  ได้รับเชิญจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครให้ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่อง  การจัดการความรู้ ให้กับเจ้าหน้าที่ ประมาณ  40  คน ได้แก่  เจ้าหน้าที่จังหวัด  เกษตรอำเภอ  และเกษตรตำบล     ฉะนั้น  ความที่เราต่างมีภารกิจกันเยอะในช่วงนี้ เราก็เลยคุยกระบวนการกันในรถว่า  "เราจะจัดกระบวนการอะไรกันบ้างเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้"       ข้อสรุปที่เกิดขึ้นก็คือ  KV  1) เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจองค์ประกอบของ KM  และ 2) การจัดการความรู้เข้ามาช่วยงานของเราได้อย่างไร  ดังนั้น  การจัดเวที หรือ KS ก็คือ 1) เอาเป้าหมายงานขององค์กรเป็นตัวตั้งได้แก่  ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง  2)  วิสาหกิจชุมชน  3)  Food Safety  และ 4) เกษตรกรมืออาชีพ (จังหวัดเพิ่มเติม)  ส่วน  คลังความรู้ หรือ KA ก็คือ เราจะให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครเข้ากลุ่มเอง โดยเราร่วมกันหาหัวหน้าทีมที่พอเป็นหรือพอเข้าใจในแต่ละเรื่องดังกล่าวมาเป็นคนรับมอบป้ายชื่อ  แล้วให้ลองค้นดูว่า 1) มีเกษตรกรอยู่ที่ไหนบ้างที่ทำงานเหล่านี้สำเร็จหรือได้ผล  และ 2) แล้วเกษตรกรดังกล่าวเขาทำได้ผลในเรื่องอะไรบ้าง ที่เป็นงานด้านการเกษตร (ประมง  ปศุสัตว์  พืช)    

               

     ดังนั้น เมื่อเราไปถึงก็ เริ่มต้นด้วยการฉาย VCD เรื่อง เครือข่ายการขับเคลื่อน KM ของประเทศไทย”  พอเจ้าหน้าที่ดูเสร็จก็ใช้วิธีการถามตอบ "ตกลงแล้วมีเนื้อหาหรือความรู้อะไรบ้างใน VCD ที่ท่านดู , เขาใช้อะไรในการเดินเรื่องนี้  ,  เป้าหมายของแต่ละหน่วยงานทั้ง 3 นั้นคืออะไรบ้าง  , สรุปแล้วเจ้าหน้าที่เราทำบทบาทอะไรบ้าง  แล้วสรุปเรื่องนี้ได้ว่าอย่างไร"  ซึ่งในขณะที่มีการโยนประเด็นคำถามและมีการสุ่มตอบนั้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดท่านหนึ่ง คอยจับประเด็นตามไปด้วย และเขียนโชว์ให้เพื่อน ๆ เห็นกันทุกคน    

                

     หลังจากนั้น ก็เข้าสู่ ขั้นที่ 2 คือ การค้นหาว่า "ในห้องประชุมนี้มีใครบ้างที่พอเข้าใจเรื่องศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง  2)  วิสาหกิจชุมชน  3)  Food Safety  และ 4) เกษตรกรมืออาชีพ"  ก็เป็นที่สนุกสนานครื้นเครงในการเสนอชื่อคนอื่นแทนชื่อตนเอง  ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อก็ยินดีรับ  หลังจากนั้นก็ให้ไปหาลูกทีมกันเองตามความถนัด เพื่อหาคำตอบออกมาว่า "ลองค้นดูซิว่า...ในจังหวัดสมุทรสาครนี้    มีเกษตรกรอยู่ที่ไหนบ้างที่ทำเรื่องเหล่านี้แล้วได้ผล เราเอาไปคุยหรือเล่ากับที่อื่นได้ โดยเฉพาะ...มีเรื่องอะไรบ้าง"  แล้วก็แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มไปหา สมาชิกและหามุมทำงานกันเองในเวลา 20 นาที ในขณะที่ทั้ง 4  กลุ่มทำงาน เราก็จะเดินดูและถ้ากลุ่มในเรียกถามหรือมีข้อสงสัยเราก็อธิบายให้กับกลุ่มนั้น ๆ เมื่ออธิบายเสร็จเราก็จะออกจากกลุ่มเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันเองต่อ    

                  

     แล้วในภาคบ่าย ทั้ง 4 กลุ่มก็มานำเสนอผลการสรุปให้ที่ประชุมฟัง  ซึ่งในตอนนั้นดิฉันก็ให้เจ้าหน้าที่จังหวัดเป็นคนชวนให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ  แล้วดิฉันก็ทำหน้าที่เก็บข้อมูลลงกล่อง จำนวน 3 กล่อง คือ  กล่องของ KV  กล่องของ  KS  และกล่องของ KA  โดยให้เวลากลุ่มละ 3 นาที  ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ทำได้  โดยมีข้อมูลที่ออกมาหลากหลายและช่วยเติมเต็มกันเอง เช่น  บางกลุ่มมีเฉพาะชื่อเรื่องและชื่อเกษตรกร/กลุ่ม  และบางกลุ่มก็มีการถอดความรู้ออกมาให้เห็น  เช่น  การปลูกฝรั่งโดยใช้ไส้เดือนฝอย  การเลี้ยงปลาดุกอุย  และอื่น ๆ  การถอดความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น มี 3 แบบ คือ  แบบ Flow Chart  แบบบรรยายความ  และแบบการใช้คำหลัก  ฉะนั้นการสะท้อนข้อมูลกลับ ดิฉันก็ตบท้ายลงที่ว่า ก็มุ่งเน้นที่องค์ความรู้ที่หน่วยงานแห่งนี้มีอยู่แต่เป็นองค์ความรู้ของเกษตรกรที่สามารถนำมาใช้ในการทำภารกิจทั้ง 4 เรื่องให้สำเร็จได้  แต่ในส่วนของความรู้ของเจ้าหน้าที่นั้นเราคงจะต้องค้นหากันต่อไป  เช่น  เวลาทำแผนชุมชนสำเร็จนั้นท่านมีวิธีการทำอย่างไร  , เวลาทำโรงเรียนเกษตรกรเสร็จแล้วท่านสรุปบทเรียนนี้ได้ว่าอย่างไร  , ท่านมีวิธีการทำอย่างไรเกษตรกรถึงปลูกฝรั่งโดยใช้ไส้เดือนฝอย  และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวท่านเองทั้งนั้นที่สั่งสมมาเป็นเวลา 10 20 ปี กับการทำงานส่งเสริมฯกับเกษตรกร               

 

     หลังจากนั้นก็เข้าสู่ ขั้นตอนที่ 3  การบรรยายเรื่อง การจัดการความรู้  โดยคุณสำราญ  สาราบรรณพ์  ได้ใช้ Power Point ประกอบการอธิบาย  การยกตัวอย่างประกอบ  และการเชื่อมสู่ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติ  เพียงแต่เริ่มต้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มซักถามกันเป็นระยะ ๆ ฉะนั้น ดิฉันจึงออกไปช่วยโดยการจับประเด็นที่คุณสำราญพูด  ที่เป็นกรอบของ 1)  เป้าหมายองค์กร/งาน/เจ้าหน้าที่  2)  แหล่งความรู้ที่มีอยู่  และ 3)  การนำไปใช้ประโยชน์  หลังจากนั้นการซักถามก็ไม่ค่อยมีและไม่มีเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่ฟังจนจบเรื่องแล้วค่อยถาม

  

    

     แล้วก็เข้าสู่ ขั้นตอนที่ 4  เราก็เปิดเวทีให้ซักถาม  เป็นที่ครื้นเครงมาก เพราะเจ้าหน้าที่มีการป้อนคำถามให้กับเราหลายประเด็น  โดยเฉพาะ เรื่องคุณเอื้อ  เรื่องเครื่องมือต่าง ๆ และอื่น ๆ 

  

     การทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการเรื่อง การจัดการความรู้ ในครั้งนี้ ทำให้เห็นบรรยากาศของกำลังใจเกิดขึ้น  จากเวทีที่มีเสียงคุยกันก็เริ่มลดลง ๆ จนเงียบฟังกันทั้งห้อง  เวทีของการซักถามสิ่งที่สงสัยหรือค้างคาใจในงานที่จะทำ  เวทีของการฟังคนอื่นพูดบ้าง  และชั้นเรียนที่มีเสียงหัวเราะในขณะทำงานกลุ่มหรือการระดมความคิด  ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่วิทยากรกระบวนการ ควรจัดเวทีโดยผลักภาระให้กับคนเข้าได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด 

     การจัดชั้นเรียนในครั้งนี้เราใช้เวลา ประมาณ 2.30 ชั่วโมง  ส่วนการปฏิบัติอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ประมาณ 70-80 %  จึงเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ การจัดการความรู้ ที่ฉันท์มิตรระหว่างกัน  นอกจากนี้ ท่านเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร (นายสุเทพ  ทิพย์รัตน์) ก็อยู่กับเราตลอดเวลา และท่านยังพูดในเวทีที่ประชุมว่า...ท่านจะเป็นคุณเอื้อ แทนคุณอำนาจ...ฉะนั้น จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีของสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครกับการเริ่มต้น KM ค่ะ. 

   [อ่านผลสรุปการจัด KM ครั้งที่ 2]

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 87126เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาเล่าต่อ
  • ยังสนใจเรื่องโครงการ/กิจกรรมที่จะสร้างให้เกษตรกรเป็นมืออาชีพ (ผมว่าเกษตรกรเขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้วนะ...555)
  • น่าจะมีการทำKMเพื่อสร้างนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพควบคู่ไปด้วยน่าจะดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท