ความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องสังสารวัฏ กับหลักคำสอนเรื่องมรรค ผล นิพพาน


ความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องสังสารวัฏ กับหลักคำสอนเรื่องมรรค ผล นิพพาน

พุทธศาสนาถือว่า  การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเพราะเป็นการวนเวียนอยู่ในกระแสหมุนวนแห่งความทุกข์  ความทุกข์ทุกประเภทแฝงตัวอยู่ในธรรมชาติ  ในกระแสของชีวิต  ในกระแสของการเวียนเกิดเวียนตาย  ที่เรียกว่า สังสารวัฏ  พุทธศาสนายอมรับว่าในกระแสแห่งชีวิตนั้นมีความสุขอยู่ด้วย  ไม่ใช่มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว  แต่ความสุขที่มีอยู่นั้นเป็นสิ่งน้อยนิด  เมื่อเทียบกับทุกข์ในลักษณะต่างๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลา 
พุทธศาสนากล่าวถึงความทุกข์ในชีวิตไว้อย่างไร  จะเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏอยู่ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร  ซึ่งเป็นปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า  ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ  คือ  ความเกิดเป็นทุกข์  
ความแก่เป็นทุกข์  ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์  
การประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์  การพลัดพรากจากบุคคล
หรือสิ่งอันเป็นที่รักเป็นทุกข์  การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์  
โดยย่อ  ขันธ์ห้าที่เข้าไปยึดถือด้วยอุปาทานเป็นทุกข์”

พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นความทุกข์ประเภทต่างๆ ในชีวิตที่มนุษย์ต้องประสบอยู่ตลอดเวลา  ความเกิดเป็นทุกข์  ก็เพราะนอกจากจะเป็นทุกข์โดยธรรมชาติของมันเองแล้ว  มันยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกข์อื่นๆ เกิดตามขึ้นมา  ความแก่  ความเจ็บป่วย  ความตาย  ซึ่งแต่ละอย่างก่อให้เกิดความทุกข์  ก็เป็นสิ่งที่มีขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เพราะมีความเกิดเป็นสาเหตุ  การประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์  เพราะทำให้เกิดความรำคาญบ้างความขัดเคืองบ้าง  ความโกรธแค้นบ้าง  ความทุกข์เช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป  การพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์  แม้ทุกข์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นทุกวัน  แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้แน่นอน   ส่วนการปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นทุกข์  ความทุกข์อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นประจำ  เพราะความต้องการของมนุษย์เป็นสิ่งที่พร่องอยู่เสมอไม่มีมนุษย์คนไหน  ไม่ว่าจะรวยหรือจนที่จะมีหรือได้ตามความปรารถนาไปหมดทุกอย่าง

ครั้งหนึ่ง  ปริพาชกชื่อว่าสามัณฑกานิ  ได้ถามพระสารีบุตรว่า  “ดูกรท่านสารีบุตร  ในศาสนา(ธรรมวินัย)ของท่าน  อะไรเป็นเหตุให้เกิดสุข  อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์”
พระสารีบุตรตอบว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ  ในศาสนานี้(ถือว่า) ความไม่ยินดีแล  เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  
ความยินดีเป็นเหตุให้เกิดสุข  ดูกรผู้มีอายุ  เมื่อมีความไม่ยินดี  ทุกข์อย่างนี้เป็นอันหวังได้  
คือ  บุคคลผู้ไม่ยินดีแม้เดินอยู่  ก็ไม่ประสบความสุขสำราญ  บุคคลผู้มีความไม่ยินดี  
แม้ยืนอยู่…  แม้นั่งอยู่…  แม้นอนอยู่…  แม้อยู่ในบ้าน…  แม้อยู่ในป่า…  
แม้อยู่ที่โคนไม้…  แม้อยู่ในเรือนว่างเปล่า…  แม้อยู่ในที่แจ้ง…  
แม้อยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์  ก็ย่อมไม่ประสบความสุขสำราญ  
ดูกรผู้มีอายุ  เมื่อมีความไม่ยินดี  ความทุกข์อย่างนี้ก็เป็นอันหวังได้

ดูกรผู้มีอายุ  เมื่อมีความยินดีความสุขอย่างนี้ก็เป็นอันหวังได้  
คือ  บุคคลผู้มีความยินดี  แม้เดินอยู่  ก็ย่อมประสบความสุขสำราญ  
บุคคลผู้มีความยินดี  แม้ยืนอยู่…  แม้นั่งอยู่…  แม้นอนอยู่…  
แม้อยู่ในบ้าน…  แม้อยู่ในป่า…  แม้อยู่ที่โคนไม้…  
แม้อยู่ในเรือนว่างเปล่า…  แม้อยู่ในที่แจ้ง…  
แม้อยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์  เมื่อมีความยินดี  ความสุขอย่างนี้ก็เป็นอันหวังได้
(อง. ทสก.  ๒๔/๖๖)

ข้อความดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า  ความทุกข์ความสุขในชีวิตของสามัญชนเกิดสืบเนื่องมาจากความรู้สึกไม่ยินดีและความรู้สึกยินดี  หรือความไม่รู้สึกพอใจและความรู้สึกพอใจ  แต่เนื่องจากสามัญชนยังมีจิตใจตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหาหรือความทะยานอยากในรูปแบบต่างๆ ความรู้สึกยินดีหรือพอใจอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขนั้นมีน้อย  แต่ความรู้สึกไม่ยินดีหรือไม่พอใจนั้นมีมากกว่าจึงมีการต่อสู้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจกันไม่หยุดหย่อนทั้งคนจนและคนรวย  มนุษย์จึงเป็นผู้วิ่งไล่ตามความทะยานอยากของตนเองเอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ด้วยเหตุที่ความทุกข์ประเภทต่างๆ เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอยู่โดยธรรมชาติในกระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ  และเป็นสิ่งที่ไม่อาจขจัดให้หมดสิ้นไปได้ตราบเท่าที่การเวียนตายเวียนเกิดยังคงมีอยู่  พุทธศาสนาจึงสอนให้มุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงภาวะที่ไม่ต้องมีการเกิดอีกต่อไป  ภาวะนั้น  คือ  นิพพาน  ภาวะที่เรียกว่า นิพพาน นี้เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งตัณหา ๓ อย่าง  คือ  กามตัณหา  ภวตัณหา  และวิภวตัณหา  ซึ่งเป็นเหตุเกิดขึ้นของทุกข์  เมื่อตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ถูกขจัดให้หมดสิ้นไป  ทุกข์ซึ่งเป็นผลก็พลอยถูกขจัดให้หมดสิ้นไปด้วย  เมื่อเข้าใจถึงนิพพานกระแสหมุนวนแห่งสังสารวัฏก็เป็นอันทำลายลงซึ่งการเวียนตายเวียนเกิดให้ไม่มีอีกต่อไป

 *************************************************************************

 --->>>   หลักคำสอนเรื่องสังสารวัฏในพุทธศาสนามีความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้กับหลักคำสอนเรื่อง  มรรค ๔  ผล ๔  และนิพพาน  คือ  โสดาปัตติมรรค – โสดาปัตติผล ,  สกทาคมมิมรรค – สกทาคามิผล ,  อนาคามิมรรค – อนาคามิผล ,  และอรหัตตมรรค – อรหัตตผล   พุทธศาสนากำหนดอริยมรรคมีองค์แปดเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผล  และผู้บรรลุมรรคผลตั้งแต่โสดาปัตติมรรค – โสดาปัตติผล  ขึ้นไปเรียกว่า พระอริยบุคคล 

ส่วนบุคคลธรรมดาที่ยังดับกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาดไม่ได้เรียกว่าปุถุชน แปลว่า   ผู้ยังหนาแน่นด้วยกิเลส  ตามทรรศนะของพุทธศาสนาผู้ที่ยังอยู่ในระดับปุถุชนยังต้องเวียนตายเวียนเกิดท่องเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารวัฏอย่างไม่มีวันสิ้นสุด  ส่วนผู้ที่ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏกำหนดแน่นอนและลดหลั่นลงไปตามระดับมรรคผลที่ได้บรรลุ  ดังนี้

--->>  พระโสดาบัน  ได้แก่  ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค – โสดาปัตติผล  แบ่งย่อยออกเป็น  ๓  ประเภท  คือ

๑. เอกพีชี  มีพระพุทธพจน์อธิบายว่า

บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล  กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา  บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี  เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป  มาบังเกิดยังภพมนุษย์นี้อีกครั้งเดียว  แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้…(อง.  นวก.  ๒๓/๒๑๖)

๒. โกลังโกละ  มีพระพุทธพจน์อธิบายไว้ว่า

…บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล  กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา  บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ  เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป  ยังท่องเที่ยวไปสู่ ๒ หรือ ๓ ตระกูล(เกิดอีก ๒-๓ ครั้ง) แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้…(อง.  นวก. ๒๓/๒๑๖)  

๓. สัตตักขัตตุปรมะ  มีพระพุทธพจน์อธิบายไว้ว่า

…บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล  กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา  บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมะ เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป  ยังท่องเที่ยว (เวียนตายเวียนเกิด)ไปในเทวดาและมนุษย์อีกอย่างมาก ๗ ครั้ง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้…(อง.  นวก. ๒๓/๒๑๖)

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับพระโสดาบันทั้ง ๓ ประเภท คือ  ไม่ว่าจะเป็น เอกพีชีโสดาบัน  โกลังโกละโสดาบัน  หรือสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน  ล้วนแต่เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ทั้งสิ้น  เกี่ยวกับสมาธิและปัญญาพระพุทธพจน์อธิบายไว้เหมือนกันคือมีสมาธิและปัญญาพอประมาณ  แต่เนื่องจากทั้ง ๓ ประเภทมีจำนวนชาติที่จะต้องเกิดอีกต่างกัน  เมื่อศีลไม่แตกต่างกันสิ่งที่แตกต่างกันก็จะต้องเป็นสมาธิและปัญญา  จึงทำให้ผลคือจำนวนชาติที่จะต้องเกิดต่างกัน  ในคำอธิบายจึงได้อธิบายไว้พอให้สังเกตเห็นได้ต่างกัน

พระโสดาบันประเภทเอกพีชีตายแล้วเกิดอีกครั้งเดียวก็สามารถบรรลุมรรคผลสูงขึ้นไปจนถึงอรหัตตมรรค – อรหัตตผล  แล้วเข้าสู่ปรินิพพานในชาติที่เกิดใหม่นั้น  พระโสดาบันประเภทโกลังโกละตายแล้วเกิดอีก ๒ หรือ ๓ ชาติ จึงสามารถเข้าสู่ปรินิพพานได้ในชาติที่ ๒ หรือที่ ๓ นั้น

ส่วนพระโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะท่านกล่าวว่า  ตายแล้วจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ  จึงสามารถเข้าสู่ปรินิพพานได้  กล่าวให้ชัดขึ้นพระโสดาบันประเภทนี้น่าจะต้องเกิดอีกไม่น้อยกว่า ๔ ชาติ เพราะถ้าเกิดอีกเพียง ๒ - ๓ ชาติ ก็จะอยู่ในประเภทโกลังโกละ  ไม่อยู่ในเหตุผลของประเภทสัตตักขัตตุปรมะ

--->>>   พระสกทาคามี  ได้แก่  ผู้ได้บรรลุสกทาคามิมรรค – สกทาคามิผล  พระอริยบุคคลประเภทที่สองนี้ละสังโยชน์ ๓ อย่าง  เช่นเดียวกับพระโสดาบัน  และทำราคะ  โทสะ  โมหะให้เบาบางลง  ตายแล้วเกิดอีกครั้งเดียว  แล้วบรรลุมรรคผลสูงขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์  แล้วเข้าปรินิพพานในชาติที่เกิดใหม่นั้น  มีพระพุทธพจน์อธิบายไว้ว่า

…บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล  กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา  บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี  เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป  แลเพราะราคะ  โทสะ  และโมหะเบาบาง  มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว  แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้…(อง. นวก. ๒๓/๒๑๖)

--->>>   พระอนาคามี  ได้แก่  ผู้บรรลุอนาคามิมรรค – อนาคามิผล  พระอริยบุคคลประเภทที่สามนี้เป็นผู้มีกำลังแห่งศีลและสมาธิบริบูรณ์  มีกำลังแห่งปัญญาพอประมาณ  ผู้เป็นพระอนาคามีตายแล้วจะไม่เกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาในกามาวจรสวรรค์หรือรูปปาวจรสวรรค์ชั้นอื่นๆ ทั้งหมด  แต่จะเกิดในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสเพียงแห่งเดียว  แล้วปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่ปรินิพพานในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสนั้น  มีพระพุทธพจน์กล่าวถึงพระอนาคามีว่า

…ดูกรสารีบุตร  บุคคลบางคนในโลกนี้  เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ  
กระทำพอประมาณในปัญญา  บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี  
เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕  สิ้นไป…เป็นอุปหัจจปรินิพพายี  
เป็นอสังขารปรินิพพายี  เป็นสสังขารปรินิพพายี  เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี  
ดูกรสารีบุตร  นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑…  ที่ ๒…  ที่ ๓…  ที่ ๔…  ที่ ๕  
ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ  ทำกาละย่อมพ้นจากนรก  พ้นจากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน  
พ้นจากเปตวิสัย  พ้นจากอบาย  ทุคติ  และวินิบาต (อง. นวก.  ๒๓/๒๑๖)

ดูกรอานนท์  พวกอุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๐ คน  กระทำกาละแล้ว  
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป  เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น  
มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา…(ที. มหา. ๑๐/๘๙)

ในข้อความที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้  คำว่า  อันตราปรินิพพายี  , อุปหัจจปรินิพพายี  , อสังขารปรินิพพายี  , สสังขารปรินิพพายี  , อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี  เป็นชื่อของพระอนาคามี  ๕  ประเภท  เกี่ยวกับพระอนาคามี ๕ ประเภท  และรายละเอียดเกี่ยวกับสังโยชน์ที่พระอริยบุคคลระดับต่างๆ ละได้ไม่เท่ากันนี้  จะขออธิบายสั้นๆ เพียงว่า  สังโยชน์เป็นชื่อเรียกกิเลสที่ผูกล่ามสัตว์ไว้กับภพ  ทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด  มีทั้งหมด ๑๐ อย่าง  ๕  อย่างแรกเรียกว่า  โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ)  ๕ อย่างหลังเรียกว่า  อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง)  พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ อย่างแรกได้เด็ดขาด

ข้อความหลังเป็นการกล่าวถึงพระอนาคามีเช่นกัน  คำว่า  “โอปปาติกะ”  หมายถึง  สัตว์ที่เกิดเติบโตขึ้นในทันทีทันใด  ได้แก่พวกสัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  และเทวดาในสวรรค์กามาวจรและสวรรค์รูปาวจรทั้งหมด  ซึ่งสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ ดังกล่าวนั้นไม่ต้องผ่านกระบวนการเกิดอย่างมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน  พระอนาคามีเมื่อตายแล้วก็เกิดเป็นโอปปาติกะ  คือ  เป็นพรหมในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสซึ่งเป็นภูมิของผู้ได้รูปฌาณที่ ๔ เป็นสวรรค์ชั้นรูปาวจร  เมื่อเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสแล้ว  ก็ปฏิบัติธรรมต่อจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น  สิ้นภพสิ้นชาติไม่มีการไปเกิดในที่ใดอีก


--->>>   พระอรหันต์  ได้แก่  ผู้บรรลุอรหัตตมรรค – อรหัตตผล  ซึ่งเป็นมรรคผลขั้นสูงสุดตามคำสอนของพระพุทธศาสนา  เป็นผู้ดับอุทธัมภาคิยสังโยชน์หรือสังโยชน์เบื้องสูงที่ยังเหลืออยู่ได้ทั้งหมด  พระอรหันต์จึงเป็นผู้ดับกิเลสทั้งหมดได้เด็ดขาดสิ้นเชิง  เป็นผู้ที่ตัดกระแสแห่งวัฏฏะขาดแล้ว  ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป  เมื่อพระอรหันต์ตายแล้วก็เรียกว่าเข้าสู่ปรินิพพาน

*************************************************************************

--->>>   เกี่ยวกับพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ประเภทตามที่ได้อธิบายมาพร้อมกับยกข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาประกอบคำอธิบาย  ก็เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างคำสอนเรื่องสังสารวัฏ  กับคำสอนเรื่องมรรค ผล นิพพานของพระพุทธศาสนา

พระพุทธพจน์จากพระสุตตันตปิฎกที่ได้ยกมาอ้างไว้นั้น  แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดตามที่ปรากฏในพุทธศาสนาไม่ใช่การเวียนว่ายเวียนเกิดแบบชั่วขณะจิตแน่นอน  แม้การเวียนตายเวียนเกิดจะสามารถอธิบายในช่วงสั้นแบบชั่วขณะจิตได้  แต่การปฏิเสธการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักคำสอนเรื่อง มรรค ผล นิพพานไปด้วย  นักวิชาการทางพุทธศาสนาและนักเทศน์สอนประชาชนที่ไม่กล้าสอนเรื่องการเวียนเกิดเวียนตายแบบข้ามภพข้ามชาติ  ควรจะได้ใส่ใจเรื่องนี้และพิจารณาพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมาแสดงไว้  และพระพุทธพจน์อื่นๆ ทำนองนี้ในพระไตรปิฎกให้ถ่องแท้  ก่อนที่จะตีความง่ายๆ ว่า  คงเป็นข้อความที่มีผู้เพิ่มเติมเข้าไว้ในภายหลัง

-->  ตามทรรศนะของพุทธศาสนา  มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก  การตายของพระอรหันต์เรียกว่าปรินิพพาน  ส่วนพระอริยบุคคลตั้งแต่พระอนาคามีลงมาจนถึงพระโสดาบัน  ตายแล้วยังจะต้องเกิดอีก  แต่ต่างกับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนตรงที่  ปุถุชนมีการเวียนตายเวียนเกิดท่องเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด  ส่วนพระอริยบุคคลที่ยังต้องเกิดอีกมีจำนวนชาติที่จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ  

-->  ถ้าเป็นพระอนาคามีตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสเพียงแห่งเดียว  และจะบรรลุอรหัตตมรรค – อรหัตตผลเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสนั้น  ไม่มีการจุติไปเกิดในภพภูมิอื่นอีกต่อไป  

-->  ถ้าเป็นพระสกทาคามีตายแล้วจะเกิดอีกเพียงครั้งเดียว  แล้วบรรลุมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไปจนถึงขั้นพระอรหันต์  และเข้าสู่นิพพานในชาติที่เกิดใหม่นั้น

-->  ถ้าเป็นพระโสดาบันประเภทเอกพีชีก็จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเช่นกัน  แล้วเข้าสู่นิพพานในชาติที่เกิดใหม่นั้น  พระโสดาบันประเภทโกลังโกละจะเกิดอีก ๒  หรือ  ๓ ชาติ  แล้วเข้าสู่นิพพาน  พระโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะตายแล้วจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ  แล้วเข้าสู่นิพพานในชาติที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ หรือที่ ๗ แล้วแต่กรณี

--->>>   การตายการเกิดของพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้  ไม่ใช่การตายการเกิดแบบชั่วขณะจิตในชาตินี้แน่นอน  ถ้าเป็นการตายการเกิดแบบชั่วขณะจิต  ไม่ใช่การตายการเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  ก็ต้องหมายความว่าพระอริยบุคคลทุกประเภทจะต้องเข้าถึงปรินิพพานในชาตินี้กันหมดทุกคน  ซึ่งความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพระไตรปิฎกไม่ได้เป็นอย่างนี้  มีอยู่มากมายในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงบุคคลผู้เป็นพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบัน  ตายแล้วไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามภาวะทางจิตของตน  เช่น  

-->  พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธผู้ทรงบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงโปรด  เมื่อเสด็จไปทรงประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธเป็นครั้งแรก  ภายหลังถูกพระเจ้าอชาติศัตรูพระราชโอรสจับไปขังไว้ในคุก  และทำปิตุฆาตกรรม(ฆ่าพ่อ) สิ้นพระชนม์ในคุก  สิ้นพระชนม์แล้วได้เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา  โดยเป็นบริวารของท้าวเวสสวรรณซึ่งเป็นมหาราชองค์หนึ่งในสี่องค์ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้  เมื่อเกิดเป็นเทพได้นามว่า  ชนวสภะ  ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระตำหนักตึกในหมู่บ้านนาทิกะในแคว้นมคธ  ได้กราบทูลเรื่องราวต่างๆ ให้พระพุทธเจ้าทราบ  และกล่าวว่าตนตั้งความหวังไว้ว่าจะได้เป็นพระสกทาคามีในอนาคต (ชนวสภสุตตํ  ที.  มหา. ๑๐/๑๘๗–๒๐๘)

-->  
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี  เป็นสาวกฆราวาสคนหนึ่งของพระพุทธเจ้าได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี  หลังจากถึงแก่กรรมได้ไปเกิดเป็นเทพในพรหมโลกชั้นอวิหา  ซึ่งเป็นชั้นหนึ่งของสวรรค์ชั้นสุทธาวาส  วันหนึ่งขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหารใกล้นครสาวัตถี  หัตถกเทพบุตรได้ลงมาเฝ้าสนทนากับพระองค์  กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบเรื่องราวบางอย่างของตนในพรหมโลกชั้นนั้น (อง.  ติก.  ๒๐/๕๖๗)

--->>>   ในมหาปรินิพพานสูตร  มีข้อความกล่าวว่าขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านนาทิกะ  พระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามถึงคติและภพเบื้องหน้าของสาวกที่เป็นภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  และอุบาสิกา  เป็นจำนวนมากที่ตายที่หมู่บ้านนาทิกะว่า  ท่านเหล่านั้นตายแล้วไปเกิดในที่ไหน  หรือมีคติเบื้องหน้าเป็นอย่างไร  พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

ดูกรอานนท์  ภิกษุนามว่าสาฬหะ  กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ  ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้  เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบัน  เข้าสู่นิพพานแล้ว  
ภิกษุณีนามว่านันทา  เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป  เป็นโอปปาติกะปรินิพพานในภพนั้นมีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา  
อุบาสกนามว่าสุทัตตะ  เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป  และเพราะ ราคะ โทสะ โมหะเบาบางเป็นพระสกทาคามี  กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น  แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้  
อุบาสิกานามว่าสุชาดา  เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปเป็นพระโสดาบัน  มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  เป็นผู้จะได้ตรัสรู้ในภายหน้าแน่นอน  
อุบาสกนามว่ากกุธะ  เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป  เป็นโอปปาติกะปรินิพพานในภพนั้น  มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา  
อุบาสกนามว่าการฬิมพะ…  อุบาสกนามว่านิกฏะ…  อุบาสกนามว่ากฏิสสหะ…  อุบาสกนามว่าตุฏฐะ…  อุบาสกนามว่าสันตุฏฐะ  อุบาสกนามว่าภฎะ…  อุบาสกนามว่าสุภฎะ  เพราะสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำสิ้นไป  เป็นโอปปาติกะ  ปรินิพพานในภพนั้น  มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา (มหาปรินิพพานสุตตํ  ที.  มหา. ๑๐/๘๙)

-->  บรรดาบุคคลที่ปรากฏชื่อในข้อความดังกล่าวนี้  ล้วนแต่เป็นพระอริยบุคคล  หรือผู้ที่ได้บรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนาแล้วทั้งสิ้น  บางท่านเป็นพระโสดาบัน  บางท่านเป็นพระสกทาคามี  หลายท่านเป็นพระอนาคามี  และมีอยู่ท่านหนึ่งเป็นพระอรหันต์  คือภิกษุชื่อสาฬหะ  ผู้ที่ได้บรรลุมรรคผลยังไม่ถึงขั้นเป็นพระอรหันต์  ตายแล้วล้วนต้องเกิดอีกทั้งสิ้น

--->>>   จะเห็นได้ว่าคำสอนเรื่องการเวียนตายเวียนเกิดที่เรียกว่าสัวสารวัฏของพระพุทธศาสนา  มีความสัมพันธ์กับคำสอนที่เป็นแก่นของศาสนา  คือคำสอนเรื่องมรรคผลนิพพาน  ถ้ามนุษย์เกิดหนเดียวตายหนเดียว  หรือมีชีวิตอยู่จริงเพียงในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น  หลักคำสอนเรื่องมรรคผลนิพพานก็จะเป็นคำสอนที่ไร้สาระ  เพราะจะตอบคำถามบางอย่างไม่ได้  เช่นว่า  พระอริยบุคคลที่บรรลุมรรคผลเป็นเพียงพระโสดาบัน  หรือพระสกทาคามี  หรือพระอนาคามีตายแล้วไปไหน  จะให้ท่านเข้าสู่ปรินิพพานท่านก็ยังเข้าไม่ได้  เพราะยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  ถ้าตายแล้วขาดสูญไม่มีการเกิดอีกการบรรลุมรรคผลนิพพานก็เป็นสิ่งไร้ความหมาย  เพราะคนธรรมดากับพระอริยบุคคลก็จะมีสภาพเท่าเทียมกันหลังตายแล้ว

-->  อนึ่ง  การปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลตามคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก  เพราะเป็นการปฏิบัติทวนกระแสของการดำเนินชีวิตแบบธรรมดาทั่วไป  บางคนต้องสละโลกียวิสัยออกบวชเป็นพระภิกษุ  หากผู้ที่สละความสุขสำราญทางโลกมุ่งปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน  หลังจากตายแล้วมีสภาพเท่ากับผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างชาวโลกธรรมดาทั่วไป  ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างพระภิกษุสามเณรก็จะกลายเป็นผู้ที่โง่ที่สุด  เพราะใช้ชีวิตอย่างโง่ๆ ไม่รู้จักตักตวงเอาความสุขสำราญจากชีวิตที่ตนมีอยู่เพียงครั้งเดียว  ถ้าจะอ้างว่าการปฏิบัติธรรมโดยมีความมุ่งหวังเช่นนั้นไม่ได้เป็นสิ่งไร้สาระ  เพราะจะทำให้มีชีวิตอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  ก็เป็นเหตุผลที่อ่อนเพราะการปฏิบัติเช่นนั้นไม่ได้ทำให้มีความสุขอยู่ในปัจจุบันเสมอไปและทุกคนไป  พระธุดงค์บางองค์ปฏิบัติไปยังไม่ทันจะได้พบความสุขอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ถูกเสือหรืองูกัดตายเสียแล้ว

-->  อนึ่ง  การมีชีวิตอยู่เป็นสุขในปัจจุบันนั้น  ผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพย์สินและเกียรติยศชื่อเสียงก็มีอยู่ถมไปที่สามารถมีความสุขเช่นนั้นได้  ไม่จำเป็นต้องทนทรมานอดหลับอดนอนกินข้าววันละมื้อสองมื้อจึงจะมีความสุขได้  เพราะฉะนั้น  ถ้าตายแล้วไม่มีการเกิดใหม่หรือไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดคำสอนเรื่องมรรคผลนิพพานของพระพุทธสาสนาก็จะเป็นคำสอนที่ไร้สาระใช้เป็นประโยชน์ที่แท้จริงอะไรมิได้  แต่เพราะการเวียนตายเวียนเกิดหรือสังสารวัฏเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นจริง  พระพุทธเจ้าทรงประทานคำสอนดังกล่าวไว้เพื่อให้เวไนยบุคคลยึดเป็นแนวทางดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่สามารถดับทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิงและตลอดไป...

----------------------------------------------------------

e 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท