แนวคิดสวัสดิการเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสมดุล


สวัสดิการคือ "การกระทำเพื่อนำไปสู่ความสวัสดี ทั้งทางวัตถุ และจิตใจ"

การเสวนาวันที่ 11 เมษายน 2550ที่หน่วยประสานงาน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาโครงการวิจัยที่นำไปสู่การสร้างความรู้เรื่ององค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผมมีแนวคิดเรื่ององค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชน ดังนี้

แนวคิด “สวัสดิการ

สวัสดิการคือ "การกระทำเพื่อนำไปสู่ความสวัสดี ทั้งทางวัตถุ และจิตใจ"

สวัสดิการทางวัตถุ คือ พื้นฐานความต้องการเพื่อความอยู่ดีมีสุขด้วยปัจจัย ๔ ประกอบด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

สวัสดิการทางจิตใจ คือ พื้นฐานความต้องการเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย กิจกรรมเพื่อการเติบโตทางอารมณ์และจิตวิญญาณ รวมทั้งการทำทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนา

ระบบสวัสดิการ”

"ระบบสวัสดิการ" สามารถจัดการได้หลายรูปแบบโดยเป้าหมายที่แตกต่างกันประกอบด้วย การจัดการโดยตนเอง ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน รัฐ และเอกชน

วิถีและพลังของ “องค์กรการเงินชุมชน”

องค์กรการเงินชุมชนเป็นการจัดสวัสดิการโดยตนเอง ครอบครัว การรวมตัวเป็นกลุ่ม ภายในชุมชนที่มีมิติทางศาสนาและการเมือง มีวิถีและพลังของการเป็น ๑)หน่วยจัดการงบประมาณมูลฐานเพื่อสร้างสวัสดิการชุมชน ๒)หน่วยจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนและสร้างทุนทางสังคม โดยการบริหารจัดการ เงินของสมาชิก เงินบริจาค และเงินงบประมาณของรัฐ โดยกิจกรรมหลักจากฐานคิด ๒ เรื่อง คือ

๑)
สัจจะสะสม/ออมเพื่อกู้” เพื่อนำมาสร้างสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ให้กับสมาชิกและเป็น สวัสดิการในชุมชน๒) สัจจะลดรายจ่ายวันละ ๑ บาท” “ออมเพื่อให้วันละ ๑ บาท” และ“ทำบุญวันละ ๑ บาท” เพื่อจัดสวัสดิการ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” “วิสาหกิจชุมชน”และ“การทำบุญ” ให้กับสมาชิกผู้ยากลำบากในชุมชน และบำรุงศาสนา

ฐานคิดทางการเมืองถือเป็นกระบวนการใช้และสร้างทุนทางสังคมเพื่อให้เกิดความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน พึ่งพาช่วยเหลือกันของสมาชิก ซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการโดยการพึ่งตนเอง รวมตัวกันเป็นกลุ่มภายในชุมชนเพื่อเป้าหมายสวัสดิการทางวัตถุเป็นหลัก โดยที่กระบวนการกลุ่มได้สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองและเอื้อให้เกิดสวัสดิการทางจิตใจขึ้นด้วย

ฐานคิดทางศาสนาได้ใช้กระบวนการกลุ่มเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนสมาชิกในเรื่องศีล (สัจจะ วินัย) และทาน(การให้) โดยใช้สวัสดิการทางวัตถุเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาจิตสำนึกของสมาชิก จึงเป็นระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมเป้าหมายทั้งทางวัตถุและจิตใจ

ซึ่งควรต่อยอดด้วยกระบวนการฝึกฝนตนเองด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อความมั่นคงทางจิตใจของสมาชิก ซึ่งจะเป็นสวัสดิการในระดับจิตวิญญาณที่จะทำให้ระบบสวัสดิการชุมชนมีความยั่งยืนมั่นคงยิ่งขึ้น

การจัดสวัสดิการโดยรัฐโดยแนวคิดรัฐสวัสดิการได้กระจายให้กับเอกชนและชุมชนร่วมจัดการ โดยที่การจัดการโดยชุมชนที่ค่อนข้างมีวิถีและพลังสอดคล้องกับแนวคิดสวัสดิการเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสมดุล คือ การจัดการโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆทั้งวิสาหกิจ สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติด้วย

วัตถุประสงค์ของชุดประสานงานวิจัย และพัฒนา องค์กรการเงินชุมชนและระบบสวัสดิการชุมชน
๑.ประสานให้เกิดโครงการวิจัยในประเด็นสำคัญ
๒.ประสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในและระหว่างเครือข่ายนักวิจัย  เครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน ตลอดจนเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินชุมชน
๓.ประสานให้เกิดการใช้ประโยชน์จากคลังความรู้ เครือข่ายนักวิจัย และหน่วยงานสนับสนุนเพื่อนำสู่นโยบายและปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชน

เป้าหมาย

เพื่อสร้างฐานความรู้และเครือข่ายคนทำงานที่ร่วมกันขับเคลื่อนความรู้สู่ภาคปฏิบัติอย่างครอบคลุม โดยเน้นการจัดสวัสดิการโดยชุมชนซึ่งเชื่อมโยงกับภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งไปสู่สวัสดิการทั้งทางวัตถุและจิตใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

การเสวนาจึงได้ชวนเชิญหน่วยงาน/ภาคีที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนมาร่วมเสวนาสถานะการณ์ที่เป็นอยู่เพื่อให้นักวิจัยรับทราบ และให้นักวิจัย นำเสนอร่างโครงการวิจัยเพื่อให้ภาคีพัฒนาร่วมอภิปรายให้ข้อเสนอแนะ
เป็นการทำงานเสริมพลังกันของ 2 ภาคส่วนคือ ส่วนวิจัยและพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 86569เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับอาจารย์ภีม

คืนนี้ช่อง 9  สี่ทุ่ม มีการถ่ายทอดรายการสัมภาษณ์  โมฮัมหมัด ยูนุฟ  แห่ง Grameen Bank  เจ้าของรางวัลโนเบลคนล่าสุด  

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์กับงานอาจารย์และทีมบ้างหรือเปล่า   เห็นว่าอาจารย์ทำเรื่องนี้มานาน  เลยบอกต่อครับ

 

ขอบคุณหนูน้อยThawatมาก ผมจะตามดูครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อาจารย์ภีมคะ

แนวคิดสวัสดิการที่มีทั้งด้านวัตถุและจิตใจเป็นแนวทางที่ดีมากค่ะ   ติงอยู่นิด (ด้วยความไม่แน่ใจ) ว่า  ด้านจิตใจอาจต้องเขียนเป็นกลางๆไว้สำหรับทุกศาสนา  เรื่อง  "สัจจะ"  "วินัย" และ "การให้" นั้นเห็นด้วยเลยค่ะ  

แต่เรื่อง เจริญสมาธิ ภาวนา นี่ไม่ค่อยแน่ใจนะคะว่าจะมีลักษณะเฉพาะเกินไปสำหรับพุทธศาสนารึเปล่า

มีเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ สำหรับให้แต่ละชุมชนไปต่อยอดเองจะมีความยืดหยุ่นที่สุดค่ะ

คิดว่าจะส่งข่าวเรื่องสัมภาษณ์ยูนูสเหมือนกัน   พอดีได้อ่านอีกบทความหนึ่งโดย Walden Bello เป็นการติติงเล็กๆเกี่ยวกับมุมมองต่องานของยูนุส  แล้วจะเขียนเล่าในบล็อก econ4life นะคะ

เมื่อคืนผมรอดูรายการสารคดีของคุณสุทธิชัย หยุ่น น่าสนใจมาก มีข้อเปรียบเทียบกับขบวนองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนบ้านเรา เท่าที่ดูผมเห็นว่าปัจจัยสำคัญอยู่ที่1)ความเล็กทั้งเงินและชุมชนของคนละแวกเดียวกัน 2)ผู้หญิง 3)การจัดการโดยกลุ่ม5คนและสาขา(ธนาคาร)ที่เดินทางเข้าหาชุมชนโดยใช้เครดิตของข้อ1และ2 โดยมีหัวใจสำคัญคือ เป็นธนาคารที่เป็นเพื่อนคู่คิดมากกว่าเป็นแหล่งทุน

สำหรับเรื่องแนวคิดสวัสดิการทางจิตใจ ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ให้ความเห็นมา ที่จริงผมหมายให้ครอบคลุมทุกศาสนาตามที่อาจารย์แนะนำ และเท่าที่ทราบเรื่องสมาธิภาวนามีในทุกศาสนาครับ ศัพท์อาจจะค่อนไปทางพุทธ แต่โดยเนื้อหาแล้วคือการดิ่งรู้อย่างมีสติในการคิด การพูดและการกระทำนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ภีม

น้าเทพและพี่อ้อม ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการไปประชุมเรื่องงานวิจัยกับอาจารย์ให้ฟังค่ะ น่าสนใจมาก แต่ตอนนี้เบียร์กำลังสับสนกับชีวิตตัวเองเป็นอย่างมาก เพราะเวลาเรียนเป็นอะไรที่ต้องให้เวลามากๆ

ตอนนี้หัวหน้าเบียร์ก็เริ่มคิดถึงอยากให้กลับไปที่ทำวานแล้วเหมือนกัน อีกทั้งที่ชุมชนก็อยากให้กลับไปช่วยแต่ก็กลัวว่าจะไม่เต็มที่กับทุกเรื่อง เลยยังสับสน

เล่าให้ฟังค่ะ

ลืมสวัสดีปีใหม่ไทย คงไม่ช้าเกินไปนะคะ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงจะได้ต่อสู้ต่อไปนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท