เมื่อสังคมล่มสลาย: กรณีศึกษา Zimbabwe


"ถ้าเราไม่เรียนประวัติศาสตร์จากคนอื่น เราก็จะเป็นประวัติศาสตร์ให้คนอื่นเรียน"

มีคำกล่าวหนึ่ง ที่ผมคุ้นหูมานาน ไม่แน่ใจว่าของใคร

"วิกฤติทางเศรษฐกิจ จะเกิดเมื่อการเมืองล้มเหลว

วิกฤติการเมือง จะเกิดเมื่อเศรษฐกิจล้มเหลว"

ในอดีต เราอ่านประวัติศาสตร์ชาติต่าง ๆ พบเรื่องราวสังคมกลียุค เรามักมองว่า เป็นเรื่องปัญหาการเมืองล้วน ๆ

แต่สืบสาวให้ดี มักมีคู่แฝดคือปัญหาเศรษฐกิจซ่อนอยู่เบื้องหลัง เป็นฉากหลังที่ช่วยเร่งให้เรื่องราวสุกงอม เร็วขึ้น แรงขึ้น

มองเห็นแต่การเมือง มองไม่เห็นฉากหลังปัญหาเศรษฐกิจ จะทำให้เราอ่านประวัติศาสตร์ด้วยความงงงัน และจะเกิดแต่คำถาม "เอ๊ะ ทำไม ?" มากมาย ตามมา

แต่หากอ่านประวัติศาสตร์การเมือง ควบประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ก็จะทำให้เรารู้สึกอีกแบบ ว่า "อ๋อ! มิน่าล่ะ !"

การเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่ของโลก มักมีประเด็นเศรษฐกิจเป็นตัวโหมโรงมาก่อน และมักถึงขั้นรุนแรง จึงเป็นแหล่งเพาะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองตามมา ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ มีมากมาย ไม่ว่าการขึ้นผงาดของนาซี การเปลี่ยนเป็นจีนคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

ถ้าำไม่ใช่เป็นเพราะเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อยู่ในสภาพแร้นแค้นแสนสาหัส ไม่แน่ว่า จะมีที่ยืนให้ฮิตเลอร์ได้ฉกฉวย

หรือแม้แต่กรณีของไทยเอง ผลกระทบจากปี 2540 ยังไม่จบเลย จนถึงแม้วันนี้ เป็นการสืบสายของเหตุการณ์และตัวบุคคลที่ไหลเนื่องกันเป็นสายธารเดียว เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าไปบ้างเท่านั้น

การเมือง และ เศรษฐกิจ เป็นคู่แฝดที่ป้อนกลับ (feedback) กันและกัน เป็นปรากฎการณ์ bootstrap ของกลียุค โดยมีเงินเป็นตัวกลาง

แต่ปรากฎการณ์ bootstrap ไม่ได้มีแต่ 'ขาเข้า'

'ขาเข้า' ก็คือการผุดบังเกิด (emergence )

'ขาออก' ก็คือการล่มสลายไปจากการดำรงอยู่ (collapse หรือ implosion)

ถ้าเกิดกับภาคสังคม ก็จะเรียก 'social collapse' (สังคมล่มสลาย)

ใครที่สนใจว่า สังคมล่มสลายยังไง คงจำได้ว่าท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช เคยแนะนำหนังสือชื่อ Collapse ของ Jared Diamond ไว้ ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีมากเล่มหนึ่งในเมืองไทย เพราะผมเคยตระเวนหาหนังสือบางรายการ ในกรุงเทพ เจอเล่มนี้บ่อยมาก วางในแผงหนังสือขายดี ก็เลยซื้อมาอ่าน แต่ยังไม่จบ แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากที่เขาเกริ่นต้นเล่ม ว่าการล่มสลายของสังคม ตัวที่จะกำหนดจริง ๆ อาจอยู่ที่คำว่า "เจตจำนง" ของคนในสังคมนั้น ๆ เองก็ได้ ว่า จะพลิกไปด้านที่ล่มสลาย หรือพลิกไปด้านที่ผงาดขึ้นมาโดดเด่นกว่าเดิม

กรณีศึกษาของปรากฎการณ์ที่ว่านี้คือ Zimbabwe

ซิมบับเวปกครองโดยโรเบิร์ท มูกาเบ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมาเมื่อ 20 ปีก่อน แล้วก็อยู่ยื้อไปจนแปลงร่างเป็นเผด็จการได้อย่าง 'เนียน' คือไม่มีใครจำได้ว่าเปลี่ยนตอนไหน

สิ่งที่ตามมาคือความสับสนทางการเมือง

เมื่อภาคการเมืองส่อเค้าวุ่นวายยืดเยื้อไม่จบ ค่าเงินก็ตกต่ำ เงินเฟ้อจนเริ่มไร้ค่า เฟ้อแบบทะยานโลด แบบอภิมหาเฟ้อ (hyper-inflation) ถึงขั้นผู้คนไม่มีปัญหาหาซื้ออาหารมากิน ทั้ง ๆ ที่ของซื้อของขายพอมี เฟ้อจนเงินเกือบไร้ค่า ต้องใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้าบริการกันโดยตรงแบบไม่ต้องใช้เงิน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตรอด

BBC ไปสัมภาษณ์ผู้คนว่ามีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร คำสัมภาษณ์ (คลิกที่นี่) ฉายให้เห็นว่า เมื่อสังคมกำลังสลายตัว จะเกิดอะไขึ้น

พอชาติตะวันตกเริ่มอ้าปากว่า เอ๊ะ จะแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมดีมั้ย มููกาเบก็ประกาศจะไสหัวนักการทูตตะวันตกที่มาจุ้นจ้านทันที

(ฟังดูคุ้น ๆ แฮะ..)

ซิมบับเวกำลังอยู่ในช่วงการเกิดสังคมล่มสลาย เพราะความล้มเหลวจากภาคการเมือง (อ่านข่าวของฝรั่ง) ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยการล้มเหลวทางเศรษฐกิจ

นักดาราศาสตร์มักตื่นเต้นเมื่อเกิดคราสฉันใด นักสังคมวิทยาก็มักตื่นเต้นเมื่อเกิด social collapse ให้เห็นฉันนั้น

เพราะแม้เกิดไม่บ่อย แต่ถ้าดูไม่ทัน ก็อดดูการถ่ายทอดสด หากดูเป็นข่าวเก่า ก็ไม่เร้าใจแล้ว

ข่าวเกี่ยวกับซิมบับเวมีมาก แต่เป็นข่าวภาษาอังกฤษเป็นหลัก สื่อมวลชนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ อาจคิดว่าข่าวขายไม่ออก เลยไม่ขายซะงั้น  (ไม่เชื่อก็ลองอ่านข่าวนี้ ดูสิครับ)

จะเรียกว่า กรณีนี้ สื่อมวลชนตกข่าว ก็คงไม่ผิด

ข่าวเก่าอย่างเช่นปัญหายูโกสลาเวีย  (ต้นตอของประเทศใหม่เช่น บอสเนีย เฮอเซโกวินา ฯลฯ ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่การเมืองวิบัติ ทำให้เศรษฐกิจล้มเหลว ซึ่งก่อนแตกสลาย เงินเฟ้อไป 3 ล้านเท่า) ซาจากความทรงจำผู้คนแล้ว ตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิก ตัวต้นเรื่องของการเกิดสังคมแตกสลาย เกิดประเทศเล็กประเทศน้อยเต็มไปหมด และตายปริศนาในคุกศาลโลกก่อนถูกตัดสินเมื่อปีก่อน 

ตอนประมาณมีนาคม 2550 เงินเฟ้อไปแล้วราว 60 เท่า ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า สังคมกำลังเริ่มกระบวนการล่มสลาย

ข่าว VOA เมื่อต้นปี 2551 นี้เอง เล่าว่า ธนาคารกลางซิมบับเวเลิกรายงานตัวเลขเงินเฟ้อไปแล้ว

แต่ก็มีผู้ประมาณอย่างไม่เป็นทางการว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา เฟ้อไป หนึ่งแสนเปอร์เซนต์ หรือหนึ่งพันเท่า

ขนมปังปอนด์ ก้อนละหนึ่งล้านซิมบับเวดอลลาร์

 

ไทยเราเคยเห็นปรากฎการณ์นี้มาแล้วอย่างเบาะ ๆ

ตอนลอยแพค่าเงินปี 2540 ไทยเราเจอเงินเฟ้อ 2 เท่าเศษ ก็กระอักเลือดไปถ้วนหน้าแล้ว

เงินเฟ้อหนึ่งพันเท่าต่อปีที่คนซิมบับเวเจอ เป็นอย่างไร คนนอกคงยากจะซาบซึ้ง

ความตื่นตระหนกที่ผู้คนจะเผชิญ คนนอกคงยากที่จะเข้าใจ

เพราะเมื่อสังคมใกล้ถึงจุดล่มสลายสิ้นเชิง ก็กลายเป็นระบบปิดที่แทบจะไม่มีข้อมูลเล็ดลอดออกมา เสมือนหนึ่ง ไม่มีสังคมนั้นอยู่ในโลก

เป็น สังคม ที่อยู่ใน หลุมดำ ไปเรียบร้อย

สูตรน้ำเน่า คงมีสงครามกลางเมืองตามมา และอาจมีประเทศเพื่อนบ้าน หรือไกลบ้าน มาร่วมผสมโรง ด้วยเหตุผล "เพื่อมนุษยธรรม" หากซิมบับเวมีทรัพยากรธรรมชาติมากพอ หรืออยู่ในทำเลภูมิศาสตร์การเมืองที่ "สวย ๆ"

....

หนังเลิกแล้วครับ กลับบ้านได้

อาจเก็บมาคิดต่ออีกนิดหน่อย ถ้าหนังถ่ายทำดี

.... 

เรามักมองว่าเรื่องพวกนี้ไกลตัวเมื่อเกิดแบบสด ๆ

เรามักมองว่าเรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกับเราเมื่อเกิดข้ามทวีป

... 

และเราจะไม่รู้ตัวเท่าไหร่ เวลาเดินตามรอยเท้าเขาไปหลุมดำเดียวกัน 

เหตุผลเดียวที่เรามองแบบนั้นก็คือ เราอ่อนประวัติศาสตร์

เราชอบลงทะเบียนเรียนประวัติศาสตร์ด้วยค่าเรียนที่แสนแพง..
 

ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต สอนเราได้อย่างลึกซึ้งสมจริง โดยไม่ต้องเจอกับตัวเองก็ได้ ค่าเรียนจะถูกกว่าเยอะ ถูกมาก ๆๆๆๆ

แต่เรายอมจ่ายค่าลงทะเบียนที่แพงเท่ากับชีวิตเราเอง

อือม์ ... ก็คนมันรวย...

 

หมายเลขบันทึก: 84349เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2007 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมเพิ่งเข้ามอ่านครับ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ซึ่ง ... หลายๆครั้ง อ่านแล้ว ก็รู้สึกหดหู่ จากเนื้อหาของข่าวเอง หรือจากวิธีการนำเสนอข่าว เลยพาลไม่ค่อยอยากจะอ่านในส่วนของข่าวเท่าไร  ที่พอจะรู้สึกอยากจะอ่านอยูบ้าง ก็คงเป็นส่วนของการ วิเคราะห์ข่าว (เพราะวิเคราะห์เองไม่เป็น) ซึ่งที่รู้สึก ชอบ อ่านอยู่ก็ไม่กี่คน

ใน gotoknow เองก็เหมือนกัน ที่ชอบมากๆ ก็มีของ คุณหมอ phoenix และ คุณวิบูลย์  นี่แหละครับ

สำหรับ กรณีของ บทความนี้ ถ้าเข้าถึงคน ... หรือ ควรจะบอกว่า ให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้ ... ก็คง จะดีกว่านี้มากเลยครับ

อ่านข้อสรุปตอนท้ายของคุณวิบูลย์แล้ว รู้สึกสะทกสะท้อนใจเหลือเกินครับ

เพราะรู้สึกว่ามันจริง ... ทั้งในระดับสังคมไทย  และระดับของส่วนบุคคล ของตัวผมเองด้วยครับ

มันอาจจะไม่แพงมากถึงระดับชีวิต

และไม่ได้รู้สึกว่า ...รวย ... ยังไงก็จ่ายไหว อะไรประมาณนั้น

แต่รู้สึกว่าเป็น บทเรียนราคาแพง ที่ต้องจ่ายซ้ำ ...อีกแล้ว... เรื่องเดิมๆ ... เมื่อไหร่การเรียนนี้ถึงจะผ่าน ไปถึงขั้น ...รู้... ซักทีน้า 

 

ขอขอบคุณ คุณฉัตรชัย

  •  ปรกติผมก็ไม่ชอบอ่านข่าวแบบละเอียดมาก หรือสดมาก เพราะรู้สึกมันทำให้ความดันขึ้นชนเพดาน
  • ข่าวซิมบับเวเจอโดยบังเอิญ เพราะผมอ่าน google news เห็นโดยบังเอิญ ก็เลยลองคุ้ยต่ออีกหน่อย ไม่ได้คุ้ยลึก เพราะรุ้สึกหดหู่เวลาอ่าน แล้วรุ้สึกเหมือนอ่านนิยายน้ำเน่า อ่านมากไม่ได้ ปวดหัว

ตอบเรื่อง.."ควรให้ให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้"
  • ผมตีความถูกรึเปล่าไม่รู้ว่าหมายถึง...
  1. ผมใช้ภาษาอังกฤษหนักมือ
  2. ..เอ..หรือผมใช้ภาษาไทยหนักมือ ? (ข้อนี้มีคนเคยชมผมออกนอกหน้า ว่าภาษาซับซ้อน ฟังไม่รู้เรื่อง)
  3. รึว่า...ผมตั้งชื่อเรื่องไม่เร้าใจ ? หรือไม่ค่อยสื่อ ?
  4. หรือ ...?
  • หัวข้อนี้ผมแอบเชื่อว่ามีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ที่ถ้าเขามาอ่าน ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ (..มั้ง ? ...เดาครับ..แหะ..แหะ)
  • ถ้าใช่เรื่องผมเขียนหนักใช้ภาษาอังกฤษไปหน่อย ก็พอจะรู้ตัวครับ ต่อไปจะพยายามระวังให้มากขึ้น
  • ถ้าเป็นเรื่องอื่น คงต้องขยายความกระมังครับ...

เรื่องของ "เข้าถึงคนได้มากกว่านี้" ตอนที่ผมเขียน ผมนึกถึง บทความในหนังสือพิมพ์ ครับ

เพราะถึงแม้   gotoknow  จะอยู่บนอินเตอร์เน็ต ให้คนเข้ามาอ่านได้ โดยเสรี (พอสมควร .. มั้ง) และมีจำนวนสมาชิก ค่อนข้างมาก แต่จำนวนคนที่อ่าน บทความนี้ จนถึงตอนที่ผมเขียนนี้ ก็มีตัวเลขแค่  16  เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ตัวเลขนี้อาจจะซ้ำซ้อน เพราะผมเข้ามาอ่าน 2 ครั้ง จากต่างเครือข่ายกัน ซึ่ง g2k น่าจะนับเป็น 2 ครั้งถึงแม้จะเป็นคนเดียวกัน และ ถึงแม้ตัวเลข `อาจจะ' ต่ำไป เพราะเป็นไปได้ว่า คนที่เข้ามาอ่านหลายคน ใช้ proxy server ตัวเดียวกัน จำนวนคนที่เข้ามาอ่าน ก็อาจจะไม่เกิน 2 หรือ 3 เท่าของตัวเลขที่แสดงไว้

ผมคิดว่า ถ้าเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ จะ online หรือไม่ ก็แล้วแต่ น่าจะมีคนได้อ่านมากกว่านี้

วิธีการ และ เรื่องราวที่คุณวิบูลย์เขียน ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของ อาจารย์ ประสาท มีแต้ม ครับ แต่เสียดายที่ ดูเหมือนท่าน จะไม่ได้เป็นสมาชิก G2K และ นอกจากที่ วิทยาลัยวันศุกร์แล้ว อาจารย์ไปเขียนที่ใหนอีกบ้าง

มีหลายบทความ ที่อาจารย์ประสาท เขียน โดยเฉพาะ เรื่องเกี่ยวกับพลังงานและท่อก๊าซ ได้ตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์ ได้เปิดหูเปิดตา กับคนอ่าน แทนที่จะเป็นการแหกหูแหกตา โดย โฆษณาในรูปแบบของบทความเชิงวิชาการของ หน่วยงานของรัฐ ...

เรื่องที่คุณวิบูลย์อันนี้ ก็น่าจะไปเปิดหูตา ให้กับคนอ่านในวงกว้างกว่านี้ครับ :) 

ขอขอบคุณ คุณฉัตรชัย..

  • ขอบคุณที่ให้เกียรติครับ
  • เรื่องการเผยแพร่ให้มาก ๆ คงไม่เป็นไรมั้งครับ
  • หนึ่ง ผมขี้เกียจ
  • สอง ผมได้เรียนรู้ตอนเขียน คือใช้การเขียนเร่งให้ความคิดตกผลึก และผมได้ตรงนั้นไปแล้ว คนอื่น ถ้าเขาจะได้ ก็เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับผมแล้ว
  • สาม ถ้าสิ่งที่เขียนดีจริง ช้าเร็ว ก็จะมีคนอ่าน ช้าหรือเร็ว กลับไม่แตกต่าง หรือถ้าไม่ดีจริง อ่านไปก็เท่านั้น อ่านมากหรืออ่านน้อย ก็ไม่แตกต่าง ไม่ว่ากับตัวเขาเอง หรือกับตัวผม
  • ขอบคุณเป็นอย่างสูงครับที่ให้กำลังใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท