แผนงานเบาหวานจังหวัดร้อยเอ็ด


ให้คำแนะนำโดยเล่าให้ฟังว่ามีใครที่ไหนเขาทำอะไรดีๆ บ้าง

เช้าวันนี้ นพ.วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล นำทีมทำงานเบาหวานของจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งจาก สสจ. รพ.จังหวัด รพ.ชุมชน PCU รวม ๑๐ คนมาพบ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำและดิฉัน บอกให้รู้ความก้าวหน้าของงานและขอคำปรึกษา

เรานัดกันเวลา ๐๙.๐๐ น. แต่คุณหมอวัชระและทีมมาถึงตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. ได้ความว่านั่งรถตู้กันมาและพักที่อพาร์ตเมนท์ใกล้ๆ กับ รพ.เทพธารินทร์นี่เอง ดิฉันติดภารกิจไม่สามารถไปพบพูดคุยได้แต่เช้า จึงให้เลขานุการของอาจารย์เทพต้อนรับขับสู้ไปพลางก่อน ทีแรกนึกว่าคุณหมอวัชระมาคนเดียวเท่านั้น พอเห็นว่ามากันคณะใหญ่ก็รู้สึกได้ถึงความตั้งใจและความเอาจริงเอาจังของทีมจังหวัดร้อยเอ็ด

คุณหมอวัชระเล่าความเป็นมา เรื่องของโครงการความมั่นคงด้านสุขภาพของร้อยเอ็ด แนวคิดจาก Chronic Care Model องค์ประกอบในการดำเนินการ

กิจกรรมหลักๆ คือ
- การพัฒนาบริการคุณภาพ : มาตรฐานบริการเบาหวาน การจัดการความรู้
- การป้องกันโรค : การลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน
- การพัฒนาระบบคุณภาพ : การประกันคุณภาพงานเบาหวาน
- การพัฒนาระบบสารสนเทศ : ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลเบาหวาน ซึ่งทางจังหวัดจะใช้โปรแกรม HOSxP

จังหวัดกำลังจะคัดกรองความผิดปกติทางสายตา เพราะคิดว่า burden สูงมาก ทำให้คนดูแลตนเองไม่ได้ จะรวบรวมเก็บเป็นฐานข้อมูล อาจารย์เทพเสริมว่าลำดับถัดไปน่าจะทำเรื่องเท้าเพราะเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้

คุณหมอวัชระยังเล่าถึงแนวทางการพัฒนาสถานบริการเพื่อการดูแลเบาหวาน เช่นคลินิกเบาหวานของ รพ.ร้อยเอ็ด อนาคตต้องการยกระดับเป็นศูนย์เบาหวาน นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาระบบส่งต่อ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์รับและส่งต่อผู้ป่วย พัฒนาศักยภาพ รพช. พัฒนาศักยภาพ สอ.และ ศสช.

งานที่ดำเนินการแล้วคือการทำ CPG DM HT โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค การพัฒนาเครือข่ายโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโรคเรื้อรัง การพัฒนาระบบสารสนเทศสาธารณสุข HMIS ซึ่งเรียนรู้จากปัญหาที่เคยประสบและข้อผิดพลาดในอดีต

สำหรับพื้นที่ดำเนินการ ในเชิงลึกจะเป็นวิจัยปฏิบัติการ เลือกทำที่อำเภอเมืองและอำเภอพนมไพร ในเชิงระบบจะเป็นการดำเนินการที่คลินิกเบาหวานของทุก รพ.(รพท./รพช.) สอ.ทุกแห่ง ในเชิงบริหารจัดการ เป็นเรื่องของการปรับบทบาท การประสานงาน

น่าสนใจที่วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดหลักสูตร MPH ที่ work place ให้ร้อยเอ็ด โดยจะจัดสอนแบบ bilingual บางครั้งอาจเรียนผ่าน VDO Conference งานวิจัยก็น่าจะให้ทำงานของโครงการด้วย แนวคิดในการพัฒนาบุคลากรจะใช้รูปแบบตัว “T” คือทั้งกว้างและลึก

ปฏิทินการดำเนินงานในปี ๒๕๕๐ จะมีการพัฒนามาตรฐานการดูแลเบาหวาน การเตรียมความพร้อม การสร้างวิทยากร ปี ๒๕๕๑ จะมีการนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติ การประกันคุณภาพ การสร้างชุมชนต้นแบบ ปี ๒๕๕๒ จะมีการประเมินผล

ดิฉันให้คำแนะนำโดยเล่าให้ฟังว่ามีใครที่ไหนเขาทำอะไรดีๆ บ้าง ยกตัวอย่างการทำงานของทีมเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช การทำคู่มือผู้ป่วยของจังหวัดปัตตานี คู่มืออาสาสมัครสาธารณสุขของ สอ.บ้านกุดจาน อ.คำตากล้า จังหวัดสกลนคร โครงการของจังหวัดชุมพรที่พระเทศน์เรื่องโรคเรื้อรัง ฯลฯ น้องที่มาด้วยกันก็เล่าว่าที่ร้อยเอ็ดก็มีพระที่เทศน์สอนเรื่องโรคเรื้อรัง

ในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ดิฉันเสนอว่าทางจังหวัดควรวิเคราะห์ก่อนว่าของตนเองมีอะไรที่ดีอยู่แล้ว อะไรที่ต้องเพิ่มเติม และดิฉันสามารถช่วยในเรื่องการจัด KM Workshop เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายได้ อาจารย์เทพแนะนำในเรื่องการทำงานคัดกรองในชุมชน การฝึกอบรมแพทย์ การหาผู้เชี่ยวชาญดูมาตรฐาน รวมทั้งการตรวจสอบผลการตรวจ HbA1C

การทำงานเบาหวานและความดันโลหิตสูงของจังหวัดร้อยเอ็ด มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ นับว่าน่าจับตามองและติดตามผลงานอีกจังหวัดหนึ่ง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 83589เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดูดีมากครับ

น่าจะทำงานอย่างมีความสุขนะครับ ที่ร้อยเอ็ด

เห็นภาพแบบ ใหญ่ๆดีครับ

  • บ้านใกล้เรือนเคียงกันเลย  ห่างกันแค่ 40 กม.เองค่ะ
  • ยินดีที่รพ.ร้อยเอ็ดมีโครงการดีดีแบบนี้

อิจฉาจังเลยตอนนี้กำลังงงๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท