การดูแลช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่ต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อน


วิธีการที่เขาดูแลช่วยเหลือนักเรียนคือ “การใกล้ชิดผูกพัน” เข้าไปโอบกอด ถามไถ่ทุกข์สุข ไปคุยกับพ่อแม่ ให้กำลังใจ ชี้ทางออกที่ดี มีของเล็กๆน้อยๆก็เอาไปฝาก ที่สำคัญคือ “จริงใจ” และ “ทำอย่างสม่ำเสมอ”

      เย็นวันที่ 2 มีนาคม ผมไปบรรยาย(สอน)ให้นักศึกษาปริญญาโทบริหารการศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ศูนย์โรงเรียนอิสลามวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด
     เรื่องที่ผมนำคุยกันคือแนวทางการนำกระบวนการ KM ไปใช้ในโรงเรียน ซึ่งผมได้ให้นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูเล่า
เรื่องเล่าเร้าพลัง” ถึงประสบการณ์การดูแลช่วยเหลือผู้เรียนที่ตนเองภาคภูมิใจ และถือว่าเป็น Best Practice ของตน คนละ 1 ประสบการณ์
         เรื่องที่เล่า ส่วนใหญ่จะยังติดอยู่กับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กระทรวงฯส่งเสริม ซึ่งมีการเยี่ยมบ้าน การคัดกรองเด็กตามอาการของโรค(ปัญหา) การหาทางดูแลช่วยเหลือตามอาการ ซึ่งมีทั้งการศึกษาเป็นรายบุคคล มีอยู่คนหนึ่ง ทำคูปองอาหารกลางวัน(จ่ายเงินเอง) ให้นักเรียนแต่ละวัน โดยให้นักเรียนมาช่วยงานห้องวิชาการ แล้วถือโอกาสสอนเขาทางอ้อม ที่ไม่ใช้วิธีการแบบสังคมสงเคราะห์
      มีคนหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ เขาไม่ได้มีเทคนิคพิเศษอะไรเลยในการดูแลช่วยเหลือเด็ก ทั้งๆที่เด็กที่เขาดูแลคนนี้มีปัญหาสารพัด ทั้งยากจน พ่อติดยาเสพติด เด็กมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เรียนอ่อน วิธีการที่เขาดูแลช่วยเหลือนักเรียนคือ การใกล้ชิดผูกพัน” เข้าไปโอบกอด ถามไถ่ทุกข์สุข ไปคุยกับพ่อแม่ ให้กำลังใจ ชี้ทางออกที่ดี มีของเล็กๆน้อยๆก็เอาไปฝาก ที่สำคัญคือ “จริงใจ” และ “ทำอย่างสม่ำเสมอ ปรากฎว่าได้ผลดี แก้ปัญหาให้ดีขึ้นอย่างมาก
         เลยทำให้ผมคิดไปว่า ทุกวันนี้เราพยายามสรรหาเทคนิคต่างๆ ส่วนใหญ่จะมาจากตำราฝรั่งนำมาใช้ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้กันมากมาย แต่ก็ไม่เห็นจะช่วยทำให้ดีขึ้นเท่าไร เรากลับลืม
วิธีการแบบปู่ย่าตายายของคนไทยเรา ที่ใช้เรื่อง “จิตใจ จริงใจ ใกล้ชิด ผูกพัน เอื้ออาทร เป็นพื้นฐานในวิถีชีวิต ซึ่งสอนคุณธรรมน้ำใจซึมซับไปในตัว 
             นักศึกษาคนนี้ให้เทคนิคที่ล้ำค่า … เหนือเทคนิคใดใดเสียอีก

หมายเลขบันทึก: 81727เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนคุณครูธเนศ

       เห็นด้วยค่ะที่ต้องใช้ความจริงใจ และทำอย่างสม่ำเสมอ  วิธีการแบบปู่ย่าตายายของคนไทยเรา ที่ใช้เรื่อง “จิตใจ จริงใจ ใกล้ชิด ผูกพัน เอื้ออาทร เป็นพื้นฐานในวิถีชีวิต ซึ่งสอนคุณธรรมน้ำใจซึมซับไปในตัว ราณก็ทำอยู่ค่ะครั้งแรกนักศึกษาไม่ค่อยเห็นด้วย  แต่หลัง ๆ สอนเด็กเสาร์อาทิตย์ เด็กก็เห็นด้วย แต่เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ  วันนี้เขาไม่เห็น พรุ่งนี้เขาก็ไม่เห็น แตถ้าว้นใดที่เขาจบไปทำงานก็ต้องเห็น

สวัสดีค่ะอาจารย์
     ดิฉ้นดูแลเรื่องระบบดูแลของโรงเรียนอยู่ อ่านแล้วได้แนวคิดที่ทำให้งานนี้ไม่ยากอย่างที่ครูหลายๆคนคิด  เพียงออกแรงนำความรักไปให้เด็กที่รอครูอยู่
     อ่านแล้วประทับใจค่ะ

     นักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ราณี ถือว่าโชคดีอย่างมากเลย  เพราะในระดับอุดมศึกษาเขาไม่ค่อยจะให้ความสำคัญเรื่องนี้นัก  เขาถือว่าเด็กโตแล้ว  ...แต่นักศึกษาเขาก็มีชีวิตจิตใจนะ ยิ่งโตขึ้นปัญหาที่เกิดกับเขาก็ยิ่งจะซับซ้อนมากขึ้น 
       ครูก็เหมือนพ่อแม่นั่นแหละที่จะต้องดูแลลูกไปจนตลอดชีวิต ไม่ตายเสียก่อนก็ดูแลหลาน เหลน โหลน ต่อไปอีก
      ขอบคุณอีกครั้งที่มาเยี่ยมเยียนกันตลอด เมื่อวานกลับดึก ไม่ได้บันทึก  พอมีเวลาบันทึกปุ๊บ คุณราณีก็บันทึกกลับมาทันที
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท