สำรวจพื้นที่ตรัง นครฯ พัทลุง (2)...ความเป็นมาของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง


ครอบครัวตัวอย่างที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงของตำบลลำสินธุ์จะปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง มีบัญชีรับจ่าย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีแผนปลดหนี้

การเดินทางลงพื้นที่ตรัง นครฯ พัทลุง เมื่อวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการนำสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติลงเยี่ยมกลุ่มหรือพื้นที่ที่มีการปฏิบัติการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงเดือนเมษายน หลังสงกรานต์   (ซึ่งก่อนหน้านี้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ได้ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว  และจะยังมีกำหนดการไปเยี่ยมพื้นที่ในภาคอื่นๆ ด้วย  รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร)

ตัวเราเองรับผิดชอบประสานงานเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เพราะคุ้นเคยพื้นที่กว่าทีมงานคนอื่นๆ

ที่จังหวัดตรัง อ.อภิชัย พันธเสน หัวหน้าทีม ได้เลือกเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเขตลุ่มน้ำปะเหลียนซึ่งมีสมาคมหยาดฝนทำงานอยู่  ส่วนพื้นที่นครฯและพัทลุง ได้ขอความอนุเคราะห์มหาวิทยาล้ยวลัยลักษณ์โดยอาจารย์ภีม และคุณพัชณีของ พอช. ช่วยแนะนำพื้นที่

ร่วมสังเกตุการณ์ประชุมที่พัทลุง

เราลงพื้นที่จังหวัดพัทลุงเมื่อวันที่ 23  โชคดีที่มีการประชุมเครือข่ายชุมชนที่ศูนย์ประสานงานภาคีองค์กรเครือข่ายชุมชน ในตัวอำเภอเมือง  เราจึงไปร่วมสังเกตุการณ์ที่นั่น และได้พบกับน้าแก้ว และพี่เล็ก (คุณอุทัย บุญดำ) ของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง  ต.ลำสินธุ์  อ.ศรีนครินทร์ ซึ่งคุณพัชณีแนะนำมา

น้าแก้วเล่าให้ฟังในที่ประชุมว่า  จังหวัดพัทลุงมีเป้าหมายให้มีหมู่บ้านต้นแบบของการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง  124  หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 30)    หมู่บ้านต้นแบบแต่ละหมู่บ้านจะมีครอบครัวพอเพียงอย่างน้อย 15% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด   ตำบลลำสินธุ์เป็นตำบลที่มีหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

"ที่ผ่านมา ระบบจัดการเราเพราะเราไม่มีความรู้ในการจัดการระบบ"  เป็นคำคมๆจากน้าแก้ว

เครือข่ายสินธุ์แพรทอง

พี่เล็กบอกว่า ครอบครัวตัวอย่างที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงของตำบลลำสินธุ์จะปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง  มีบัญชีรับจ่าย  แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีแผนปลดหนี้ 

คงเป็นการยากที่จะสร้างชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น ถ้าครอบครัวยังเป็นหนี้

ข้อมูลรายรับรายจ่าย จะช่วยชี้ให้เห็นทุกข์(ในปัจจุบัน)   เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ส่งกลับไปที่ครัวเรือน  การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ครัวเรือน

แต่ตามที่เขียนแล้วในบันทึกฉบับก่อนว่า  เครือข่ายลำสินธุ์ทำงานโดยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่  เพราะประวัติศาสตร์สามารถสร้างความภูมิใจ และสร้างจิตสำนึกได้ดี

ในบอร์ดของกลุ่ม เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

พื้นที่นี้ผ่านการทำงานมา 3 ระยะ

ระยะแรก     ยุคประวัติศาสตร์ความร้อนแรงทางการเมือง 2508-2520

ระยะที่สอง  ยุคก่อเกิดกลุ่มองค์กร 2527-2543

ระยะที่สาม  ระยะแปลงแผนสู่การปฏิบัติ

พื้นที่ลำสินธุ์เคยเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ "ถังแดง"   หลังนโยบาย 66/23   มีหน่วยสันตินิมิต  หลังจากนั้นพัฒนาชุมชนก็เข้ามา   เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540  ชาวบ้านในหมู่ต่างๆได้มาประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาปัญหา  ถือว่าเป็นการเกิดเป็นเครือข่ายตามธรรมชาติ  

เครือข่ายสินธุ์แพรทองก่อตั้งเป็นทางการในปี 2544  (สินธุ์ = ลำสินธุ์, แพรทอง = น้ำตกแพรทอง)

จังหวะและโอกาสสำคัญมาก  บางครั้งยังไม่เกิดผลถ้าเงื่อนไขไม่สุกงอมพอ

แรกเริ่ม  มีกลุ่มออมทรัพย์ที่หมู่ 8  เมื่อปี พ.ศ. 2531  ปัจจุบันชาวบ้านประมาณร้อยละ 90  เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์  เนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่จะค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร  

จากกลุ่มออมทรัพย์ ขยายสู่กลุ่มการผลิตหลายกลุ่ม รร.เกษตรกร และอื่นๆ

 

(บันทึกนี้ยังมีต่อ  ที่ต้องบันทึกละเอียดเพราะพื้นที่น่าสนใจมาก และต้องบันทึกเผื่อเพื่อนร่วมเดินทาง)

หมายเลขบันทึก: 80697เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • น่าสนใจมากเลยค่ะอาจารย์  แล้วจะแวะมาติดตามตอนต่อไปค่ะ
  • มาตามอ่านด้วยคนครับ
  • ความไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐครับ

ขอบคุณอาจารย์ลูกหว้ากับ Aj Kae ค่ะ 

ยังต้องเขียนอีกหลายตอนเพราะลงสามพื้นที่  คงไม่เบื่ออ่านเสียก่อนนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท