เพื่อนร่วมรุ่น (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 11)


ชีวิตการทำงานของตนตั้งแต่เป็นครูเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผมไม่ค่อยได้ใช้วิชาหนังสือที่ครูอาจารย์พร่ำสอนมาเท่าไรหรอก แต่ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ต่างหากที่ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ผมมีภูมิคุ้มกันและมีความชำนาญในการแก้ปัญหาและพัฒนางานของผมได้อย่างสร้างสรรค์และกลมกลืนสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างก้าวหน้า

       โรงเรียนมัธยมในสมัยนั้นยังไม่เห็นมีครูแนะแนวสักคน และชื่อนี้ผมก็เพิ่งได้ยินเมื่อตอนเรียนครูนี่แหละ ตอนเรียนมัธยมก็มีแต่ครูประจำชั้นเท่านั้นที่ทำหน้าที่เหมือนครูแนะแนว แต่ท่านก็จะสนใจแต่เรื่องอบรมความประพฤติหรือดูแลความสะอาดของห้องเรียนมากกว่าการให้คำปรึกษาเหมือนครูแนะแนวในปัจจุบันทำกัน
     
ผมจึงเรียนไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าตนเองถนัดและสนใจอยากเรียนต่อด้านใด แค่สอบให้ผ่านทุกรายวิชา ไม่ให้ถูกครูดุครูตี ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว การแนะแนวศึกษาต่อก็เห็นจะมีแต่โปสเตอร์ที่ทางสถาบันต่าง ๆ ส่งให้โรงเรียนติดประกาศไว้ที่หน้าห้องผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่เท่านั้น
     
จบมัธยมก็ไม่รู้จะไปเรียนต่อที่ไหน พอดีเพื่อน ๆ ห้องเดียวกันชวนไปสอบเรียนต่อวิทยาลัยครู พี่บุญวังก็สนับสนุน คงอยากให้ผมเป็นครูเช่นเดียวกันกับแก ส่วนพ่อกับแม่ก็ได้แต่พูดว่า
     
สอบเรียนต่อที่ไหนไม่ได้ก็มาช่วยกันทำไร่ทำสวน” ผมอยากจะหนีงานในไร่ในสวนอยู่แล้ว ก็เลยมุมานะดูหนังสือและสอบเรียนต่อวิทยาลัยครูจนได้
      
การเรียนที่วิทยาลัยครูก็มีบรรยากาศที่ตื่นเต้นไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งกันลงทะเบียนเรียน การตัดเกรดที่หฤโหด ตลอดจนคำขู่จากอาจารย์และรุ่นพี่เรื่องการถูกรีไทร์หรือถูกเชิญให้ออกกลางคัน ถ้าคะแนนไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งก็ทำให้ผมได้ตื่นตัวอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ดีสิ่งหนึ่งในการเรียนที่นี่ก็คือ การทำให้ผมได้มีโอกาสค้นพบและเรียนในวิชาที่ผมถนัดและสนใจมากขึ้น เลยทำให้ผมมีความสุขกับการเรียน และผลการเรียนก็เริ่มดีขึ้น
       การเป็นนักศึกษา
อยู่ประจำหอพัก การกินอยู่และเรียนร่วมกับเพื่อนใหม่ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งชายและหญิงซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาวด้วยกัน ตลอดจนการมีโอกาสได้กระทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปทำงานเป็นผู้นำในสภานักศึกษานับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มรสชาติของชีวิต ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้ผมเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและสนุกกับการใช้ชีวิตที่นี่ ...เวลา 4 ปี ผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน
       ผมเรียน
จบจากวิทยาลัยครูมาร่วม 30 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ลืมความประทับใจในครั้งนั้นผมคิดว่าเพื่อน ๆ ของผมก็คงคิดเช่นเดียวกัน เรายังนัดพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำทุกปี เวลาเราพบกันก็อดจะนำเรื่องเก่า ๆ มาพูดหยอกล้อกันไม่ได้ เราต่างกลับมาเป็นเด็กกันอีกครั้งอย่างลืมตัว ใครที่มีอะไรแปลก ๆ ดี ๆ ในสมัยนั้นก็ถูกเพื่อน ๆ คะยั้นคะยอให้นำออกมาแสดงเพื่อรื้อฟื้นความหลังกันอย่างสนุกสนาน
        สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นจาก
การพบปะเพื่อนร่วมรุ่น ก็คือความไม่สัมพันธ์กันระหว่างผลการเรียนกับวิถีชีวิตการทำงาน กล่าวคือ เพื่อนผมหลายคนที่เอาแต่เรียนหนังสือโดยไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือกิจกรรมของวิทยาลัย และมีผลการเรียนติดอันดับต้น ๆ ของรุ่นปรากฏว่าเพื่อน ๆ กลุ่มนี้เมื่อจบออกมาส่วนใหญ่ก็ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียนมัธยม หรือวิทยาลัยครู มีอยู่สมสี่คนเท่านั้นที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พวกเขาจะมีชีวิตที่เรียบ ๆ ไม่ปรากฏชื่อเสียงในวงสังคม และมีบางคนเท่านั้นที่มาร่วมสังสรรค์กับเพื่อนร่วมรุ่น แต่ก็ดูห่างเหินเหลือเกิน
       
ขณะที่เพื่อน ๆ บางคนที่เรียนอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของวิทยาลัยมาโดยตลอด จนบางครั้งทำให้ผลการเรียนตกต่ำลงไปบ้าง แต่ก็เรียนจนจบเอาตัวรอดมาได้ เพื่อน ๆ พวกนี้หลายคนฉีกแนวทางชีวิตไปเป็นนักธุรกิจและร่ำรวยมีชื่อเสียงในวงสังคม บางคนก็เป็นผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้นำในระดับท้องถิ่น และเพื่อน ๆ กลุ่มนี้จะมาร่วมงานพบปะเพื่อนร่วมรุ่นไม่เคยเว้นสักปี แถมเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมให้สร้างสรรค์และมีชีวิตชีวาอีกด้วย
     
ก็เลยเป็นเรื่องน่าคิดว่า สถาบันการศึกษาสอนอะไรให้กับพวกเราบ้าง เราเคยบอกว่าเราจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมตามปรัชญาของฝรั่งมาตั้งหลายสิบปีแล้ว แต่อะไรล่ะคือชีวิต ก็เห็นมีแต่การเรียนการสอนตามหนังสือเรียนหรือความรู้ที่ครูอาจารย์เรียนมาแล้วนำมาบอกพวกเรารุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้พวกเรามีความรู้สำหรับเตรียมตัวเพื่ออนาคตข้างหน้า และก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกสิบปีข้างหน้าความรู้เหล่านั้นจะยังคงใช้ได้หรือไม่
          พวกเราต่างหากที่ดิ้นรนกันเองในการจัดกิจกรรมที่เป็นชีวิตจริงในขณะที่เรียน ไม่ว่าจะเป็น
สภานักศึกษา กิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ กิจกรรมดนตรี กีฬา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม แต่ก็ต้องผ่านการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากสถาบันการศึกษา ด้วยเกรงว่าพวกเราจะทำกิจกรรมที่ขัดต่อนโยบายของสถานศึกษา และพวกเรามักถูกมองจากอาจารย์บางคนว่าเป็นพวกเกเรที่ไม่สนใจเรียน หรือ “ยุ่งไม่เข้าเรื่อง” ยังดีที่วิทยาลัยครูที่ผมเรียนค่อนข้างจะเปิดกว้างให้เราทำกิจกรรมอย่างอิสระได้บ้าง ผมจึงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น
       ผมสังเกตตัวเองว่า
ชีวิตการทำงานของตนตั้งแต่เป็นครูเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผมไม่ค่อยได้ใช้วิชาหนังสือที่ครูอาจารย์พร่ำสอนมาเท่าไรหรอก แต่ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ต่างหากที่ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ผมมีภูมิคุ้มกันและมีความชำนาญในการแก้ปัญหาและพัฒนางานของผมได้อย่างสร้างสรรค์และกลมกลืนสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างก้าวหน้าและไม่มีปัญหา
         เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านข่าวพบว่า อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หลายรุ่นมาชุมนุมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติกันอย่างคับคับ ผมไม่ได้สนใจในเนื้อหาสาระของการชุมนุมเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ผมสนใจก็คือ อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษา ซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เรียนจบออกไปทำงานเพียงไม่กี่ปี แต่ละคนล้วนมีตำแหน่งใหญ่โต เป็นผู้บริหาร หรือผู้นำขององค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกันทั้งนั้น เลยทำให้ผมคิดไปว่า ถ้าสถานศึกษาต่าง ๆ สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้จัดกิจกรรมของตนเองได้อย่างอิสระและยึดหยุ่น โดยมีครูอาจารย์เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาแนะนำควบคู่ไปกับการเรียนการสอนปกติ สิ่งเหล่านี้น่าจะเรียกว่า
การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” ได้กระมัง
       
คิดถึงตอนเรียนมัธยม ผมแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยอิสระนอกห้องเรียนเลย จะมีก็แต่กิจกรรมในหลักสูตร เช่น ลูกเสือ วิชาพลานามัย กิจกรรมที่ต้องกระทำทุกเดือนที่พวกเราแสนจะเบื่อหน่ายก็คือการถางหญ้าที่สนามหน้าโรงเรียน โดยครูจะเป็นผู้สั่งให้พวกเราเอามีดพร้ามาแล้วควบคุมให้ถางหญ้าในชั่วโมงสุดท้ายของวันศุกร์
      
เรื่องดนตรีและกีฬา คนที่มีพรสวรรค์ในด้านนี้เพียงไม่กี่คนเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้เล่นหรือฝึกซ้อม เพื่อเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแสดงในที่ต่าง ๆ เพื่อนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน เครื่องดนตรีและอุปกรณ์กีฬาจะถูกเก็บใส่กุญแจอย่างหวงแหน แน่นอน...เด็กบ้านนอกอย่างผมคงไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไปเล่นเป็นแน่ ทั้ง ๆ ที่ส่วนลึกแล้วผมสนใจด้านดนตรีอยู่ไม่น้อยทีเดียว ผลก็คือจนบัดนี้ผมเล่นดนตรีไม่เป็นสักอย่าง ชอบร้องเพลงแต่ก็ร้องคร่อมจังหวะเป็นประจำ เต้นรำก็ไม่เป็นสักจังหวะ พอควักกะปิได้ก็แต่จังหวะรำวงเท่านั้น ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปเที่ยวที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งหนึ่งแล้วถูกผู้แสดงโค้งรำวงร่วมกับชาวต่างชาติ พอผมรำวงเสร็จเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันชมผมว่า รำสวยพอ ๆ กับฝรั่งเลย”
        
ด้านกีฬา ผมพอเล่นได้บ้างก็แต่ตะกร้ออย่างเดียว จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมเคยถูกเพื่อนเตะฟุตบอลอัดจนจุก ตั้งแต่นั้นมาเวลาผมเดินผ่านสนามผมต้องคอยระวังตัวเสมอ
       ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า
ดนตรี กีฬา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม จะช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลา นิสัยใจคอและบุคลิกภาคของคนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” เพราะเรื่องนี้ เกิดขึ้นกับตัวผมเอง
      ..การมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้กระทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นมีน้อยตามไปด้วย..
     ด้วยเหตุนี้กระมังการชุมนุมเพื่อนร่วมรุ่นตอนเรียนมัธยมของผม จึงไม่มีใครริเริ่มขึ้น และเพื่อนร่วมรุ่นที่ผมยังจำได้ ขณะนี้ก็มีเพียง
สมชัย” คนเดียว …แต่เราก็ยังไม่เคยได้พบกันอีกเลย...

หมายเลขบันทึก: 80620เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณครู

  • ราณีตามมาอีกแล้วค่ะ อ่านแล้วนึกถึง ตอนเด็ก  เลยค่ะ
  • ตอนเด็ก ราณีเป็นเด็กเรียนเก่งมาก พอพี่ชายสอบตกชั้น ป.5 ราณีก็ต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง  ไปพร้อมกันพี่น้องทั้งบ้านค่ะ เพราะคุณพ่อจะได้ไปส่งพร้อมกัน
  • เข้าใจสถานการณ์นี้ดีค่ะ เพราะเจอกับตนเอง พอย้ายโรงเรียนใหม่ขึ้นชั้นป.6 ด้วยความที่เขาดูว่าเราเรียนดี จึงจัดไปอยู่ห้องคิง  แต่อาจารย์ประจำชั้นแกชอบดุเด็ก ตวาดเด็กเป็นประจำและขู่ด้วย เข้ามาแรก ๆ ก็กลัวทั้ง ๆ ที่เราเคยเข้าได้กับคุณครูทุกท่าน ยกเว้นท่านนี้ ท่านสอนวิชาเรขาคณิต  และใครทำการบ้านผิดหรือตอบไม่ถูกเมื่อถาม โดนด่าแลตีเป็นประจำ
  • ต่อนะค่ะเดี๋ยวลืม! คนอื่นกลัว ราณีก็กลัว แต่ราณีต่อต้าน และไม่ชอบมาก...
  • พอขึ้นม. 1 ได้ครูประชั้นเป็นผู้ชายดุมาก ชอบถือไม้เรียว และครูคนนั้นไม่ชอบเด็กอ้วน ราณีจึงเป็นที่หมั่นไส้ของครูคนนั้นมาก ๆ  โดนหาเรื่องตีประจำ  แต่ครูอีกท่านนึงเป็นภรรยาของคุณครูประจำชั้นราณี  ชอบราณีมาก ชอบเรียกมาคุยเป็นประจำ 
  • ราณีกลายเป็นคนดื้อเงียบ โดนตีเป็นประจำและไม่เคยทำการบ้านวิชาครูท่านนั้นเลย ส่วนวิชาครูคนอื่นทำค่ะ
  • พอราณีใกล้จะออกคุณครูคนนั้นได้ลูกสาว อ้วนกลมมาก  จนถึงปัจจุบันผ่านมา20 กว่าปีแล้วเจอครูท่านนั้นประจำ ก็ยกมือไหว้ รู้สึกท่านก็ยิ้ม  ๆ  เพราะลูกสาวแกก็อ้วนเหมือนกัน  ฮิ ฮิ

 

   กฎแห่งกรรมหรือเปล่า...ดูจากรูปคุณราณีไม่ได้อ้วนเหมือนตอนเป็นเด็กนะ  หรือว่าเอาไปฝากให้ลูกคุณครูท่านนั้นแล้ว 
    คนเราก็มีโลกในใจของตนเองทั้งนั้น  ถ้ามาเล่าสู่กันฟัง  ก็คงเป็นบทเรียนให้กันและกันได้นะ  อ่านตอนหน้า "กำลังใจ" (ความรักของบุญถึง)นะ  ถ้ามีอะไรที่เป็นข้อคิดก็แลกเปลี่ยนกัน 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท