รายงานความก้าวหน้าต่อEdKM


ทุกขั้นตอนในการวิจัยและพัฒนาซึ่งเราใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน เรามี "เครือข่าย" เป็นพระเอก และ "KM" เป็นนางเอก


          บันทึกนี้สืบเนื่องจากได้รับทราบจากโครงการ EdKM โดยท่านอาจารย์ทัศนีย์กรุณาส่งข่าวถึงสมาชิกว่าได้เปิดแพลนเน็ตใหม่ erkm เพื่อให้พวกเราเล่าความคืบหน้าในการดำเนินงานตามกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องโครงการวิจัย

          ซึ่งระยะนี้สำนักงานเขตฯ ของเรากำลังเดินเครื่องพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดฯ ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด ด้วยเครื่องมือทรงพลัง 3 ส่วน คือ การวิจัยและพัฒนา เครือข่าย และการจัดการความรู้

          เริ่มต้นจากที่พวกเรา ประกอบด้วย ผอ.สพท. รองผอ.สพท.
10 ท่าน หัวหน้ากลุ่มงานทุกงาน และ ศึกษานิเทศก์อีก 16
ท่าน ต่างไปทำการบ้านวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ เพื่อจะกำหนดหัวข้อเรื่องที่เราต้องการขับเคลื่อนพัฒนา อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพของการจัดการศึกษาภายในเขตพื้นที่ของเรานั่นเอง จากนั้นเราก็มาตั้งวงแลกเปลี่ยนกัน เพื่อกำหนดหัวข้อเรื่องที่แน่นอน และให้แต่ละคนเลือกรับผิดชอบเรื่องที่ตนสนใจและมีความถนัด

          ตอนนั้นเรากำหนดไว้ถึง
60 กว่าเรื่อง ซึ่งเมื่อเราได้แยกย้ายกันไปค้นคว้าแล้วกลับมาแลกเปลี่ยนกันอีก ก็พบว่ามีบางเรื่องที่เรารวมกันได้ ในขณะที่มีบางเรื่องต้องแยกออกไป หลังที่ได้เขย่ากันใหม่แล้วจึงได้ข้อสรุปว่าอยู่ที่ 45
เรื่อง

          ผอ.สพท.และคณะของพวกเราเดินทางไปขายความคิดให้กับผู้บริหารโรงเรียนทั้ง
159 ร.ร. เป็นเวลา 3 วัน (3
อำเภอ ๆ ละวัน) จากนั้นทิ้งระยะเวลาให้ท่านผู้บริหารโรงเรียนต่างได้ไปหาข้อตกลงร่วมกันกับครูว่า โรงเรียนของตนต้องการพัฒนาในเรื่องใดจุดใด ทั้งนี้จะเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าต้องการขับเคลื่อนเรื่องนั้นทั้งโรงเรียน

          คิดเห็นตรงกันแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะสมัครเข้าร่วมการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนั้น โดยมีคุณครูในโรงเรียนเป็นลูกร่มทำการวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ในห้องเรียนของตน ซึ่งคุณครูแต่ละคนยังมีโอกาสที่จะเข้าร่วมการวิจัยและพัฒนาในร่มอื่น นอกเหนือจากร่มของโรงเรียนได้ด้วย หากครูเห็นความจำเป็นต้องพัฒนาหรือยกคุณภาพในเรื่องนั้น ๆ ในห้องเรียนของตัวเอง

          ร่มใดที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นลูกร่ม เจ้าของร่มจะนัดแนะทำกิจกรรมในวันหยุดหรือวันธรรมดาได้ แต่สำหรับร่มที่มีคุณครูเป็นลูกร่มแล้ว จะพบกันได้ในวันหยุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน

          ขณะนี้หลายร่มได้นัดพบลูกร่มกันไปบ้างแล้วเพื่อประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทบทวน
Model
ในการพัฒนาเรื่องนั้น ๆ หากเห็นว่าจะต้องมีการค้นคว้าอีก เพราะยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะพัฒนาเรื่องนั้นได้อย่างไร เจ้าของร่มก็จะนัดแนะลูกร่มที่เป็นตัวแทนเครือข่ายไปค้นคว้ายังห้องสมุดต่าง ๆ อีกรอบ

          เมื่อแต่ละคนค้นคว้ากลับมาแล้ว ทุกคนก็จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกหนเพื่อยืนยันหรือปรับปรุง
Model นั้น จากนั้นเจ้าของร่มที่รับผิดชอบจะมานำเสนอแลกเปลี่ยนกันอีก เฉพาะในวงของสำนักงานเขตฯ เพื่อจะได้เติมเต็มซึ่งกันและกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราใช้เวลาในการพูดคุยกันผ่านมาแล้ว 2
วันครึ่ง ในวันนี้เราจะร่วมพูดคุยกันต่อ

           ช่วงนี้หลายร่มเดินหน้าร่วมกันจัดทำโครงร่างการวิจัย แนวทางการพัฒนา และเครื่องมือการวิจัย กันแล้วก่อนที่จะนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณา

          ข้อดีสำหรับการทำงานครั้งนี้ คือ เราได้มีโอกาสพัฒนาการจัดการศึกษาไปพร้อมกับการพัฒนางานที่ตัวเองรับผิดชอบไปด้วยพร้อมกัน เปรียบเทียบได้เหมือนกับครูได้ทำวิจัยในชั้นเรียนแต่เป็นวิจัยพัฒนาที่ทำไปปีหนึ่งไม่จบ จะมีการวิจัยซ้ำในปีถัดไป เพื่อยืนยันรูปแบบที่พวกเขาร่วมกันเสนอไว้ และเขาจะไม่เคว้งคว้าง อ้างว้าง เพราะดำเนินการเป็นเครือข่าย ที่สำคัญเขตฯ ยังใช้กิจกรรมการจัดการความรู้สอดผสานไปในการดำเนินงานครั้งนี้ด้วย


         ท้ายนี้ ขอส่งข่าวไปยัง ร.ร.บางลี่วิทยา ร.ร.อู่ทอง ร.ร.บรรหารฯ 1 ร.ร.วัดท่าไชย ร.ร.วัดยางสว่างอารมณ์ และร.ร.บ้านสระกระโจม ได้ทยอยเล่าเรื่องราวในการทำ KM ของโรงเรียนเราขึ้นมาแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในโครงการกันนะคะ...




ความเห็น (4)

ยกนิ้วโป้งให้สองนิ้วเลยค่ะ

    ทำทุกโรงโดยมีเป้าหมายไปทางเดียวกัน ทางเขตคงเหนื่อยน่าดูเลย

    สัปดาห์นี้คณะวิจัยอยู่แม่ฮ่องสอนค่ะ

 

 

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทัศนีย์ค่ะ
  • พูดไม่ออก...บอกไม่ถูกว่าเหนื่อยหนักเพียงใด ตามกรอบและสัดส่วนแล้วศึกษานิเทศก์ควรมีประมาณ 30 คน ในขณะที่ตอนนี้เขตฯ เรามีเพียง 16 คน
  • ทุกคนมีงานประจำในกลุ่มงาน(ย่อย) ของตัวเอง  บางครั้งมีงานพิเศษตามนโยบายเบื้องบน บางครั้งมีงานที่กลุ่มงานอื่นในเขตฯ ขอความร่วมมือ บางครั้งมีงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ(น่าจะเรียกว่าหลายครั้งมากกว่า) บางครั้งต้องไปทำหน้าที่เป็นคณะทำงานคณะโน้น คณะนี้ และอีกหลาย ๆ อย่าง
  • น้อยใจเหมือนกันค่ะ ที่บางคนเข้าใจว่าเราสบาย...ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนคุณครูในโรงเรียน
  • บางทีก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร...จุกอยู่ที่คอหอยนี่เอง
  • ที่แม่ฮ่องสอนตอนนี้บรรยากาศดีไหมคะ...เป็นจังหวัดที่หนูยังไม่เคยไปเลยค่ะ...
  • อาจารย์เดินทางบ่อยอย่างนี้คงเหนื่อยเหมือนกันใช่มั๊ยคะ...พวกเราจะรอฟังเรื่องของเพื่อน ๆ ชาวแม่ฮ่องสอนจากอาจารย์นะคะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ
  • ตามมาอ่านครับพี่กุ้ง
  • สนับสนุนให้คุณครูทำ Action Research ครับผม
  • สมัยอยู่มัธยมศึกษา ได้ช่วยให้โรงเรียนหนึ่งทำงานวิจัยทั้งโรงเรียนเป็นที่ฮือฮามาก เป็นโรงเรียนที่มีงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีงานวิจัยมากที่สุดของจังหวัด
  • ได้ สกศ ทีมอาจารย์ ผศ. ดร. เลขาเป็นที่ปรึกษาครับ
  • สวัสดีคุณน้อง อ.ขจิต ค่ะ
  • เรื่องงานวิจัย เป็นยาขมของครูหลายคนค่ะ ยิ่งครูที่ไม่ได้จบ ป.โท ป.เอก มา ก็ดูเหมือนจะขยาด ๆ
  • การทำงานของครูซึ่งจริง ๆ เก็บเป็นวิจัยได้ตลอดจึงไม่เกิด เพราะส่วนใหญ่จะคิดว่าวิจัยเป็นเรื่องยาก ต้องแยกไปทำอย่างจริงจัง ซึ่งแท้ที่จริงเราทำให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ สอนไป เก็บข้อมูลไป ทดลองไป ปรับปรุงไป จนได้ข้อสรุป
  • พี่เองคงต้องขอคำปรึกษาจากอาจารย์บ้างนะคะ เพราะยังอ่อนประสบการณ์
  • อ้อ! โครงการนี้ (EdKM) ก็มีท่าน ดร.เลขา เป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วยเช่นกันค่ะ
  • ท้ายนี้ขอชื่นชมในบทบาทของคุณครูภาษาอังกฤษที่ค่ายเม็กดำค่ะ...
  • ขอบคุณที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท