เรื่องเล่าจากดงหลวง 27 เมื่อไหร่จะเกิดมวลวิกฤติที่ดงหลวง


......จนเข้าปีที่ 4 จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังกันแทบทุกหลังคาเรือน....จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลักการที่เรียกว่า มวลวิกฤต หรือ Critical Mass ทันที และแอบปลอบใจตัวเองว่านี่ไงตัวอย่างของมวลวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นแล้วที่ดงหลวง

1.        เป้าหมายการใช้ประโยชน์พื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า:  โครงการ คฟป. ลงทุนมากกว่า 40 ล้านบาทก่อสร้างงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขึ้นมาที่หมู่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวง โดยมีเจตนาดีว่าจะช่วยให้มีแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรใช้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว เพื่อความกินดีอยู่ดีต่อไป เมื่อเราคลุกคลีกับชาวบ้านมากขึ้นก็เห็นวิถีชีวิตของเขาที่ใช้เวลาไปกับการพึ่งพิงป่าเขาลำเนาไพรมากกว่าการใช้เวลาไปกับการเพาะปลูกพืชสมัยใหม่   แล้ววันหนึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า 

 

อาจารย์..เมื่อสมัยที่ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยใหม่ๆนั้น ทุกครอบครัวนับหนึ่งใหม่เลยนะครับไม่มีอะไรเหลือบนบ้านเลย ต้องอาศัยข้าวที่ทางราชการเอามาแจก หรือเข้าป่าเอาของป่าไปแลกข้าว  แต่แล้วก็มีคนเริ่มเอามันสำปะหลังเข้ามาปลูก ปีแรกๆก็มีเพียง 2-3 คน คนอื่นๆก็เพียงเหลือบตามองเท่านั้น ปีที่สองคนส่วนใหญ่ก็ยังเฉยๆ มีเพิ่มเพียงไม่กี่คน จนเข้าปีที่ 4 จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังกันแทบทุกหลังคาเรือน....จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลักการที่เรียกว่า มวลวิกฤต หรือ Critical Mass ทันที และแอบปลอบใจตัวเองว่านี่ไงตัวอย่างของมวลวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นแล้วที่ดงหลวง อยากให้มันเกิดขึ้นที่ดงหลวงอีกครั้งหนึ่งในเรื่องการปลูกพืชในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

 

2.        มวลวิกฤตคืออะไร:  บางท่านอาจจะรู้จักคำนี้แล้ว(มวลวิกฤติ หรือ Critical mass)แต่บางท่านอาจจะยังไม่รู้จัก ขออนุญาตแนะนำ ผู้เขียนได้รับรู้คำนี้มานานแต่ไม่ได้หยิบมาพิจารณาให้เข้ากับงานที่รับผิดชอบอยู่ คำอธิบายต่อไปนี้ขออ้างอิงเอกสารของท่านประภาส ชลศรานนท์เขียนไว้ในมติชนฉบับเดือนมีนาคม 49 ขอคัดลอกโดยย่อมาดังนี้

 

3.        ทฤษฎีลิงกับข้าวโพดหวาน: เป็นเรื่องการทดลองทางพฤติกรรมมวลชนของสัตว์สังคมว่า อะไรทำให้เกิดและเมื่อไรจะเกิดกระแสการตัดสินใจไปในทางเดียวกันทั้งสังคม คือ  นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ไปที่เกาะโคชิมา ประเทศญี่ปุ่น ที่มีลิงอาศัยอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์นำเม็ดข้าวโพดหวานไปหว่านไว้บนพื้นทราย ฝูงลิงก็พากันมาเก็บเม็ดข้าวโพดกินกันอย่างเอร็ดอร่อย  เนื่องจากเม็ดข้าวโพดเปื้อนทราย เวลาจะกินก็ต้องเอามือปัดออก หรือไม่ก็บ้วนทรายออก มีลิงอยู่ตัวหนึ่งอายุประมาณหนึ่งขวบที่ไม่ทำอย่างตัวอื่นเขา ทุกครั้งที่มันจะนำไปล้างน้ำที่ลำธารใกล้ๆ ก่อนแล้วจึงนำมากิน

 นักวิทยาศาสตร์ดูพฤติกรรมลิงว่าจะมีตัวไหนเอาอย่างบ้าง ก็เริ่มเห็นพี่น้องและเพื่อนลิงบางตัวเริ่มทำตาม ที่ลิงทั้งฝูงไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเจ้าลิงน้อยนั้นนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์กันว่า อาจเป็นเพราะวิธีนี้มันก็ไม่ถึงกับเห็นได้ชัดว่าดีกว่าวิธีเก่า คือแม้จะไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัดทรายแต่ก็เสียเวลาเดินไปยังลำธารอยู่ดี  เวลาผ่านไปหลายเดือน มีลิงเพิ่มเพียงวันละตัวสองตัวเท่านั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างข้าวโพด ลิงทั้งฝูงเห็นครับแต่ไม่ทำตาม    การทดลองดำเนินอยู่เป็นปี นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเอาเม็ดข้าวโพดไปหว่านไว้บริเวณที่มีทรายทุกวันไม่มีขาด ฝูงลิงก็มาเก็บกินอย่างสม่ำเสมอ และถ้ามองด้วยสายตาก็สามารถแบ่งลิงออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ล้างกับกลุ่มที่ไม่ล้าง ปริมาณลิงที่ล้างจะเพิ่มขึ้นจนเริ่มใกล้เคียงกับพวกที่ไม่ล้าง แต่ลิงที่เหลือก็ยังสมัครใจที่จะกินข้าวโพดด้วยวิธีเดิมๆ

แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจก็เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นภายในวันเดียว โดยไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี เช้าวันนั้นลิงวัยรุ่นตัวหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมไปล้างเม็ดข้าวโพดเข้า แล้วบ่ายวันนั้นลิงทั้งฝูงก็มาล้างเม็ดข้าวโพดกันหมด   นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าลิงตัวที่เปลี่ยนพฤติกรรมในเช้านั้น มีความสำคัญขนาดไหน หลังจากดูบันทึกและตรวจสอบแล้วพบว่ามันก็เป็นแค่ลิงธรรมดาตัวหนึ่ง แล้วทำไมฝูงลิงจึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปหมด เจ้าของทฤษฎีนี้มีคำอธิบายว่า เมื่อในสังคมเกิดภาวะมวลวิกฤต (Critical Mass) และเกิดจำนวนวิกฤต (Critical Number) ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไรของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสังคม สังคมก็จะเริ่มยอมรับในพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และก็จะเกิดการตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในกลุ่มที่เหลือทั้งหมด   

 4.        Critical Mass กับพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า: ผู้เขียนเฝ้ามองว่าจะมีเกษตรกรบ้านพังแดงคนสุดท้ายคนไหนหนอกระโดดเข้ามาทำการปลูกพืชในพื้นที่โครงการแล้วจะทำให้เกิด Critical Number จนเกษตรกรส่วนที่เหลือก้าวเข้ามาร่วมการปลูกพืชทั้งหมด หรือส่วนใหญ่มากที่สุด น่าจะมีวันนั้นครับ แต่ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆแล้วฝันว่าจะเกิดสิ่งนั้นในอนาคต แต่จะต้องทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างเพื่อเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความจริงขึ้นในสังคมบ้านพังแดงว่าการลงทุนปลูกพืชในพื้นที่โครงการจะทำให้มีรายได้ครอบครัวเพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพิงป่าที่ทรัพยากรธรรมชาติลดจำนวนลงมากแล้ว และแม้ว่าการจับสัตว์ป่าได้ 1 ตัวขายได้ราคาดีกว่าปลูกผักตั้ง 3 เดือนแต่นานเท่าใดที่จะได้สัตว์นั้นมา 1 ตัว และนั่นเป็นวิธีการเหมือน แทงหวยเพราะอาจจะได้หรือไม่ได้และโอกาสได้ก็น้อยลงมาก... ทีมงานจะต้องทุ่มเทสร้างแรงกระตุ้นให้เกิด Critical Number ขึ้น  ผู้เขียนเสนอหลายครั้งแล้วว่าต้องใช้เวลาและการทำงานอย่างต่อเนื่องอีก 3 ปี พร้อมกับมีทีมงานวิชาการเกษตรที่เข้มแข็งสัก 2-3 คนทำงานเต็มเวลาที่นี่เชื่อแน่ว่าโอกาสที่จะเกิด Critical Number มีมากครับ และเมื่อนั้นจะเกิด Critical Mass ซึ่งก็เห็นแนวโน้มบ้างแล้ว...

สำคัญว่าเราจะหยุดให้เมล็ดข้าวโพดแก่ลิงไปเสียก่อน ลิงก็ชะงักกระบวนการเรียนรู้ไปก็จะไม่มี Critical Number ก็จะไม่มี Critical Mass น่าเสียดายจริงๆครับ..ที่เราลงทุนมากกว่า 40 ล้านบาททางด้าน Hard ware แต่ไม่ลงทุนด้าน Soft ware ต่ออีกหน่อย เกรงว่า 40 ล้านก็จะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของบ้านพังแดงไป...   

คำสำคัญ (Tags): #mass#critical
หมายเลขบันทึก: 79579เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
แวะเข้ามาทักทายค่ะ แล้วก็ขอเป็นกำลังใจให้เกิด มวลวิกฤติ ที่บ้านพังแดงเร็วนะคะ ที่ลงทุนไปจะได้คุ้มค่าหน่อยค่ะ การเกษตรบ้านเราจะได้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยค่ะ
แวะมาทักทายยามดึกเช่นกันค่ะ แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้เข้ามาใหม่ค่ะ
  • แวะมาอ่าน
  • เป็นทฤษฎีที่ชอบมาก
  • ชอบอ่านมากครับ เขียนอีกนะครับ
ขอบคุณครับ คุณสุธรา เราพยายามต่อยอดความรู้ท่านอื่นๆที่ศึกษามาแล้ว หรือนำหลักการของท่านอื่นๆที่ศึกษาไว้มาใช้ ตรงนี้แหละครับที่พวกผมพอใจที่เป็นนักปฏิบัติ เอาทฤษฎีมาทำ แล้วเราจะพบข้อมูลอีกมากมายครับ  ขอบคุณมากครับ
น้องลูกหว้าครับ เมื่อคืนพี่ Post เข้าไปแล้วก็คลุมโปงเลย นอน  เป็นหวัด ไอ เลยพักผ่อนก่อน พวกเราน่ะชื่นชมน้องลูกหว้า "คนเมียง" นะครับ

อาจารย์ขจิตครับ

  • G2K blogger ตัวจริงคือท่านอาจารย์คู่กับท่านครูบา
  • เห็นบทบาทท่านอาจารย์มากเหลือเกิน ดีมากครับ G2K แม้ว่าผมเพิ่งจะเข้ามาแต่ก็รู้สึกอบอุ่นเพราะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนี่แหละครับ
  • ดีมากๆที่นั่งอยู่กับตัวเองก็สามารถเรียนรู้โลกกว้าง จากเพื่อนๆอีกมุมประเทศได้ทันที เหมาะสำหรับคนทำงานชนบทที่ไม่ค่อยมีโอกาสไปเข้าร่วมประชุม สัมมนาเรื่องดีๆที่อยากไปได้ แต่ได้ฟังประเด็นจากผู้ที่ไปมาได้เล่าให้ฟัง นี่คือโลก Cyber ที่เราเอามาใช้ประโยชน์พัฒนาคน พัฒนาสังคมได้
  • ขอบคุณครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท