ธัญกร11


ได้รู้เทคทิคการถ่ายภาพเพิ่มเติม

  วันนี้มาถึงที่ฝึกงาน 8 โมงเช้านิดๆ พอมาถึงเซ็นต์ชื่อลงเวลาเสร็จเรียบร้อยก็นั่งคุยกับพี่จักรซักพัก คุยกันเรื่องกล้องถ่ายภาพ เพราะเห็นพี่จักรเค้านั่งดูหนังสือกล้องอยู่ ก็เลยเข้าไปขอดูซักนิดนึง ก็พอดีว่าพี่จักรเค้าเป็นช่างถ่ายภาพนิ่งอยู่ที่สำนักการศึกษา กทม.ที่นี่แหละ เก่งด้วย เรียกว่ามีประสบการณ์มามากพอสมควร เป็นบุคคลที่เชื่อถือได้(ก็เค้าเป็นช่างภาพนี่นะ)แต่ติดที่พี่เค้าบ้าๆบอๆ ขี้เล่น บางทีพูดเล่นพูดจริงใครก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน คงเก่งมากไปล่ะมั้งก็เลยพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง(แต่น้อยกว่าพี่โตหน่อย) เราก็ถามๆพี่จักรเกี่ยวกับเรื่องการถ่ายภาพเนี่ยแหละ พี่จักรก็ถามมาว่าแล้วปกติเราใช้กล้องยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ถนัดกับการใช้มากน้อยขนาดไหน ก็ตอบพี่จักรไปว่า ตอนนี้จริงๆแล้วตั้งแต่เรียนมาไม่ได้มีกล้องเป็นของตัวเองหรอก ยืมเพื่อนที่อยู่บ้านเดียวกันใช้ เพราะเพื่อนก็เรียนห้องเดียวกัน ใช้ Nikon F 55 แต่บางครั้งก็ยืมพี่สาวเพราะพี่เค้าก็เรียนมาทางด้านนี้เหมือนกันแต่จบแล้ว ไปทำงานทางด้านผู้กำกับก็เลยไม่จำเป็นต้องใช้กล้องซักเท่าไหร่ พี่สาวใช้ Cannon Eos 500 เราก็เลยใช้ได้ทั้ง 2 รุ่น แล้วพี่จักรก็ถามอีกว่าสนใจอยากถ่ายภาพให้ที่นี่รึเปล่า เพราะเห็นส่วนใหญ่เห็นนั่งตัดต่ออยู่แต่ข้างบนทั้งวัน ก็บอกพี่จักรไปว่าสนใจมากๆ ถ้าพี่จักรไว้ใจให้ทำ พี่เค้าก็บอกว่า ก็เคยเห็นฝีมือการถ่ายรูปมาแล้วนี่ ไม่ถึงกับขี้เหล่อะไรตรงไหน และจะสอนเทคนิคอะไรเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมให้ เพราะยังไงพรุ่งนี้จะได้มีผู้ช่วยมาถ่ายภาพเพิ่มอีก 1 คน เบาแรงไปด้วย พรุ่งนี้ต้องไปถ่ายทำสารคดีที่บ้านพีน็อกคิโอ ที่บางเขน เห็นพี่จักรบอกว่าเป็นค่ายลูกเสือ เพราะยังไงก็ต้องไปด้วยกันอยู่แล้ว ก็คุนกันแค่นี้ แล้วก็ขึ้นไปที่ห้องตัดต่อตามเดิม ขึ้นไปห้องตัดต่อเวลาประมาณเกือบๆ 10 โมงเช้า ก็ไม่เจอพี่โต เห็นแต่ดาราภรณ์นั่งทำงานอยู่คนเดียว เพราะพี่โตไม่ค่อยสบาย ข้างบนวันนี้เลยเงียบๆไม่ค่อยมีงาน ก็เลยลงมาขอเรียนรู้เทคนิคเล็กๆน้อยๆจากพี่จักรข้างล่าง และพี่จักรก็ว่างอยู่พอดี พี่จักรใช้กล้อง Cannon Eos 1000 FN ถ้าจำไม่ผิดนะ(อีกแล้ว)ก็เลยเริ่มจาก เทคนิคการถ่ายภาพจากพี่จักร

ขั้นแรกเลยก็ต้องเตรียมกล้องให้พร้อมอยู่เสมอ
   เผื่อว่าบางทีก็อาจจะมีประสบการณ์อะไรที่น่าประทับใจ ที่เราไม่น่าจะพลาดไปได้(ไม่งั้นก็คงจะน่าเสียดายมากๆเลย) เพราะอย่างนี้ เราถึงต้องตรวจ เช็คแบตเตอรี่ ฟิลม์ และก็อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

2. ระยะที่เราจะเข้าใกล้

  พี่จักรบอกว่าการเข้าถ่ายภาพในระยะที่ใกล้วัตถุ จะช่วยขจัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง และยังทำให้วัตถุเด่นและก็จะได้ภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย เราควรที่จะลองถ่ายภาพที่เน้นเฉพาะสิ่งที่ต้องการ จะทำให้ภาพน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญก็คือเราควรที่จะศึกษาดูคู่มือการใช้กล้องไว้ด้วย ว่าสามารถถ่ายภาพได้ใกล้สุดที่ระยะขนาดไหน เพราะกล้องอัตโนมัติส่วนมากมักจะถ่ายภาพได้ชัดจากระยะ 4 ฟุตขึ้นไป

3. การวางท่าทางให้เป็นธรรมชาติ

   เวลาถ่ายภาพบุคคล ก็ไม่ควรที่จะลืมบอกหรือว่าแนะนำให้คนที่เป็นแบบ แสดงท่าทางให้มีชีวิตชีวา ภาพที่ได้ก็จะทำให้ดูดีกว่ากันมาก และควรที่จะหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ภาพที่ออกมาแข็งทื่อ เราควรที่จะบอกให้ผู้ที่จะถ่ายภาพแสดงท่าทางหรือแสดงความรู้สึกออกมาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด หรือจะลองถ่ายภาพบุคคลตอนไม่รู้ตัวบ้าง ก็จะดูมีชีวิตชีวามากๆ

4. ใช้ฉากหลังที่ธรรมดา
  ฉากหลังที่ธรรมดา จะช่วยทำให้ให้วัตถุที่ต้องการถ่ายภาพดูเด่นขึ้น และยังทำให้ภาพชัดให้อารมณ์มากกว่า และก็ลองแปลี่ยนแบบให้อยู่ในตำแหน่งที่ฉากหลังเรียบๆ บ้างก็ดี

5. วางแบบให้ออกจากจุดกึ่งกลาง

  ปรกติแล้วการถ่ายภาพมักจะวางแบบไว้ที่ตรงจุดกึ่งกลาง แต่บางครั้งการวางแบบนอกจุดกึ่งกลางก็อาจจะช่วยให้ภาพ ได้ความรู้สึกว่ามันดูเคลื่อนไหว และน่าสนใจมากขึ้นได้

6. นำฉากหน้าเข้ามาไว้ในภาพ

  เวลาที่เราจะถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ควรที่จะถ่ายภาพให้ติดวัตถุในระยะใกล้ๆ เข้าไว้ในภาพเปรียบเป็นเหมือนฉากหน้าด้วย เพราะฉากหน้าจะช่วยเพิ่มความลึกและเพิ่มมิติให้กับภาพ

7. จัดแสงให้เฉียบคม

      แสงสว่างที่เพียงพอ จะทำให้ภาพออกมาดูนุ่มนวลไม่เข้มหรือว่าอ่อนเฉพาะส่วนจนเกินไป

       - แสงวันที่มีเมฆมากมักจะทำให้ภาพออกมาดูนุ่มนวล แสงจะฉาบไล้ไปทั่วใบหน้า

       - แสงวันที่แดดแรงๆ ภาพจะออกมาเข้มหรืออ่อนเฉพาะจุดมากจนเกินไป

   เวลาที่เหมาะที่สุดที่จะถ่ายภาพ ก็คือ ช่วงเช้า ช่วงประมาณ 8 โมง - 10 โมง ส่วน ช่วงตอนเย็นก็จะเป็นตอนเวลาซักประมาณ 3 โมงถึง 5 โมงเย็น

8. จับกล้องให้มั่นๆ
   เพราะบางครั้งอาจจะไม่ได้ภาพที่ดี ก็เพราะเราลืมกฏเบื้องต้นไป ก็คือเวลาที่เราถือกล้องนิ่งๆ จะช่วยทำให้ภาพที่ได้ออกมาคมชัด พอเวลาเรากดปุ่มลั่นชัตเตอร์ก็ให้กดเบาๆ อย่าไปกระแทกมันแรงๆ เพราะการที่กล้องไหวแค่นิดเดียว ก็จะทำให้ภาพเสียความคมชัดไป เราอาจจะใช้สายคล้องเพื่อรั้งแขนเราให้นิ่ง หรือจะใช้ขาตั้งกล้อง(ถ้ามี)ก็จะดีมาก

9. เรื่องของการใช้แฟลช
   การปรับปรุงการถ่ายภาพ โดยการที่เราใช้ประโยชน์จากแฟลชที่มีมากับกล้อง แฟลชจะช่วยเพิ่มแสงสว่าง โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่ร่ม และก็ยังจะช่วยจับภาพเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งและก็คมชัด ต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าถ่ายภาพในระยะที่เหมาะสมหรือเปล่า ระยะที่เหมาะสมในการใช้แฟลช ก็คือ 4-12 ฟุต และเราก็สามารถใช้แฟลชกลางแดดจ้าๆได้ด้วย เพราะแฟลชจะช่วยลบเงาความมืดบนหน้า ต.ย.อย่างเช่น เวลาถ่ายภาพย้อนแสง เป็นต้น

10. เราควรที่จะเลือกใช้ฟิลม์ให้ถูกต้อง
   ฟิลม์จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความไวของแสง ก็คือ 100, 200, 400 เรียงตามระดับความไวของแสงจากน้อยไปมาก

      -  ตอนช่วงเวลากลางวันจะเป็นช่วงที่มีแสงมาก เราควรใช้ระดับความไวแสงต่ำ คือ 100 ก็พอ

      -  ส่วนตอนช่วงเวลากลางคืน เราควรที่จะใช้ ฟิลม์ระดับความไวแสงสูง คือ 400

    และนอกจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคเฉพาะตัวด้วย อย่างเช่น เวลาถ่ายภาพพลุตอนกลางคืน เราอาจจะใช้ฟิลม์ 100 ก็ได้เพื่อที่จะได้ตั้งสปีดชัตเตอร์ ค้างไว้ นานๆ เก็บภาพเคลื่อนไหวของพลุได้

ส่วนวิธีการจับกล้องถ่ายภาพ

   วิธีการจับกล้องเพื่อถ่ายภาพ เราต้องจับในท่าที่เราถนัดและมั่งคงที่สุด เพื่อป้องกันการ สั่นไหว ของกล้องขณะบันทึกภาพ จับด้วยสองมือให้มั่นคง และใช้นิ้วชี้ของมือขวากดชัตเตอร์ และปรับความเร็วชัตเตอร์ และนิ้วหัวแม่มือจะใช้ในการเลื่อนฟิล์ม และก็ใช้อุ้งมือและนิ้วที่เหลือจับกล้องให้มั่น ส่วนมือข้างซ้ายจะวางอยู่ที่ด้านล่างของกล้องให้ใช้อุ้งมือเป็นตัวรองรับด้านล่างของกล้อง ใช้นิ้วหัวแม่มือ ทำการปรับระยะความชัดและปรับขนาดรูรับแสง ข้อศอกทั้งสองข้างต้องชิดลำตัวเพื่อให้กล้องนิ่งที่สุดขณะบันทึกภาพ

   นอกจากนี้พี่จักรยังบอกยังท่าจับกล้องในลักษณะต่างๆ ตามสถานการณ์การถ่ายภาพ เช่น ท่ายืน ท่านั่ง ท่านอน เพื่อให้ได้ภาพในมุมที่สวยและคมชัดที่สุด

      -  ท่าถ่ายภาพท่าปกติ ใช้มือซ้ายประคองกล้องให้นิ่ง พร้อมกับปรับระยะความชัด และปรับรูรับแสง มือขวา จับตัวกล้องให้แน่น พร้อมกับลั่นชัตเตอร์ ข้อศอกชิดลำตัว ทำให้การจับถือกล้องมั่นมากคงขึ้น

      -  ท่าถ่ายภาพท่าปกติ ในแนวตั้ง ข้อศอกชิดลำตัว ทำให้การจับถือกล้องมั่นคงมากขึ้น

      -  ท่าถ่ายภาพในท่านั่ง ข้อศอกซ้ายตั้งบนหัวเข่าช่วยให้กล้องนิ่งมากยิ่งขึ้น

      -  ท่าถ่ายภาพท่าในท่านอน ข้อศอกทั้งสองข้างตั้งกับพื้น ใช้ในกรณีที่ถ่ายภาพที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ โดยที่ไม่มีขาตั้งกล้อง หรือตอนถ่ายภาพ วัตถุในที่ต่ำ

      -  ท่าถ่ายภาพท่าในท่านอน วางกล้องกับพื้น ใช้ในกรณีที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ มาก เพื่อให้กล้องนิ่งที่สุด ( ถ้ามีขาตั้งกล้องก็ให้ใช้แทน) หรือตั้งเวลาในการถ่ายภาพตัวเอง

      -  ท่าถ่ายภาพท่าเหนือศรีษะ ใช้สำหรับตอนถ่ายภาพผ่านสิ่งกีดขวาง แต่ถ่ายภาพในลักษณะนี้ คนที่ถ่ายต้องมั่นใจว่าจะสามารถถ่ายภาพได้ไม่หลุด กรอบ หรือว่ากะระยะโฟกัสได้แม่นยำ

    พอตอนเที่ยงกว่าๆหัวหน้าฝ่าย(ลุงติ๋ว)ก็พาไปเลี้ยงข้าวข้างนอกอีกด้วย เพราะวันนี้เป็นวันเกิดของพี่โต หัวหน้าก็เลยพาออกไปเลี้ยงข้าวข้างนอกฉลองวันเกิดพี่โตซักหน่อย ก็กลับเข้ามาที่สำนักงานประมาณบ่ายโมงกว่าๆ ก็ขึ้นไปที่ห้องตัดต่อตามเดิม นั่งพิมพ์บทเรียนขึ้นเว็บ ของโรงเรียนวัดสวนพลูต่อจากดาราภรณ์ ซักบ่าย 3 โมงเย็น พี่โตก็ขอลากลับบ้านไปก่อน เรา 2 คนนักศึกษาฝึกงานก็เลยต้องลงมาข้างล่าง ก็มาทำงานต่อที่เครื่องข้างล่าง ถึงเวลา 4.30 น.ก็ลงชื่อกลับบ้านกันตามระเบียบค่ะ


 

 


 

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7892เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2005 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท