ลองของให้ช่ำชอง


“คุณอำนวย” ของชมรมเกษตรธรรมชาติฯ นั้นมาจากการที่ได้ผ่านบททดสอบของการเป็นคุณกิจ ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วนั่นเอง ซึ่งตรงประเด็นนี้ทางกลุ่มแกนนำ “คุณอำนวย” ต่างเห็นพ้องต้องกันว่านั่นคือ “คุณสมบัติของการจะก้าวเป็นคุณอำนวย” ได้ ดังนั้นจึงเข้าหลักการวัดขีดความสามารถของผู้นำที่ว่า “ใฝ่เรียนรู้ ทดลอง ปฏิบัติ ผลงานเด่นชัด เป็นที่ยอมรับ”

การสร้างและพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการ หรือ คุณอำนวย ที่พิจิตรนั้น ใช้วิธีหนูลองยา ลองของ(ฟังดูแล้วน่ากลัวนะครับ แต่เปล่าเลยมันเป็นของหวานที่น่าลิ้มลองชะมัด)   จากการทดลองปฏิบัติจริง จากเวทีประชุมต่างๆนั้น ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ ความชำนาญ มีความเคยชิน และให้เรียนรู้ตามความต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเล่นบทบาทตามความถนัดมากกว่า โดยมีพี่เลี้ยงอย่างมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เป็นคนส่งลูก รับลูกให้  แต่ถ้าบางพื้นที่ที่ช่ำชองแล้วอย่าง กลุ่มเกษตรย้อนยุคอำเภอวังทรายพูน ตั้งทีมวิทยากรกระบวนการชาวบ้าน โดยเรียกขานกันเองภายในกลุ่มกันว่า ละครเร่  ในการไปถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ อาทิเช่นด้าน การทำนาปลอดสารพิษ  การปลูกผัก  การทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ  การทำสวนผสม  ฯลฯ มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ซึ่งหัวหน้าละครเร่นี้คือ ครูจำรัส มาเนียม  และมีคุณหมอ พัด สิงห์ทอง จากโรงพยาบาลอำเภอวังทรายพูน เป็นพี่เลี้ยงเกาะติดช่วยเหลือด้านข้อมูลวิชาการ จัดการเรื่องการเงินบัญชีให้  ซึ่งทำให้รูปแบบละครเร่ที่ว่านี้ ลงไปพื้นที่ไหนก็ประทับใจผู้เข้าร่วมรับฟัง เรียนรู้ร่วมกันทั้งนั้น เพราะลีลาการพูดคุยของแต่ละคนมีความเฉพาะตัว เป็นกันเอง สนุกสนาน โดนใจ ทำให้การเรียนรู้เข้มข้น ครบรส  และเหมาะสมกับพื้นที่เวทีชาวบ้านเป็นอย่างมาก   

นอกจากภาพทีมวิทยากรกระบวนการในเชิงพื้นที่อำเภอตัวอย่างนี้แล้ว   ยังมีวิทยากรกระบวนการในเชิงประเด็น กล่าวคือ   ตั้งแต่มีกระบวนการเรียนรู้การจัดการความรู้ หรือเรียกกันสั้นๆติดปากว่า เคเอ็ม (KM : Knowledge Management)  ก็มีชุมชนนักปฏิบัติ 7 กลุ่มเกิดขึ้น คือ กลุ่มผักคุณกิจ   ข้าวสะอาด   เกษตรรวมมิตร(เกษตรผสมผสาน)   สวนเล็ก(เกษตรพื้นที่ขนาดเล็ก)  โรงเรียนทายาทแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง   โรงสีเพื่อชุมชน   และอบต.เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกร    ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์ ปฏิบัติได้ผลเห็นจริงชัดแจ้งแล้ว มาร่วมกันสร้างทีมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พร้อมกันแบ่งปัน องค์ความรู้ภูมิปัญญาปฏิบัตินี้ให้กับเพื่อนเกษตรกรในแต่ละอำเภอที่สนใจด้วย   ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดของการเรียนรู้การเป็นวิทยากรกระบวนการจากของจริง  แรกๆวิทยากรมือใหม่ก็จะสั่นๆพูดไม่ค่อยเก่งเท่าไร แต่พอเรียนรู้มีประสบการณ์ มีข้อมูล  ได้ฝึกบ่อยๆทำให้มั่นใจมากขึ้น   ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่โอกาสที่ได้รับ ซึ่งทางมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จะเป็นพี่เลี้ยงคอยหยิบยื่นให้  นอกจากนี้แล้วก็มีหน่วยงานทางภาครัฐ เทียบเชิญแกนนำเกษตรกรไปเป็นวิทยากรตามประเด็นที่สนใจด้วย  อย่างกรมพัฒนาชุมชนภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้เชิญ ลุงณรงค์ แฉล้มวงศ์  ประธานชมรมเกษตรธรรมชาติฯ ไปเป็นวิทยากรส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรพอเพียงด้วยเป็นประจำ               

   จะสังเกตได้ว่าวิทยากรกระบวนการ  หรือ คุณอำนวย ของชมรมเกษตรธรรมชาติฯ นั้นมาจากการที่ได้ผ่านบททดสอบของการเป็นคุณกิจ ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วนั่นเอง   ซึ่งตรงประเด็นนี้ทางกลุ่มแกนนำ คุณอำนวย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่านั่นคือ คุณสมบัติของการจะก้าวเป็นคุณอำนวย ได้   ดังนั้นจึงเข้าหลักการวัดขีดความสามารถของผู้นำที่ว่า  ใฝ่เรียนรู้ ทดลอง ปฏิบัติ ผลงานเด่นชัด เป็นที่ยอมรับ   คุณผดุง เครือบุษผา  แกนนำกลุ่มข้าวสะอาดได้สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ...ถ้าผมไม่ลงมือทดลองทำเอง ก็ไม่มีข้อมูลไปพูดกับเค้าได้...     หรือแม้แต่คุณจรัญ ติ้งฉิ่น  ที่ดูรูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นคนนิ่งเงียบ พูดไม่ค่อยเก่ง แต่พอได้จับไมค์พูด  กลับถ่ายทอดเนื้อหาสาระเป็นขั้นเป็นตอนได้ชัดเจนมากยังกับเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรยังไงยังงั้นเลย

                ดังนั้นจึงเห็นว่าการสร้างและพัฒนาศักยภาพ คุณอำนวย ของแกนนำเครือข่ายเกษตรธรรมชาติจังหวัดพิจิตรนั้น มาจากกระบวนการ  วปอ.ภาคประชาชน, ศึกษา เรียนรู้ ทดลอง ลงมือทำจนเกิดผล, มีพื้นที่/โอกาสที่หยิบยื่นให้จากพี่เลี้ยง(ภาครัฐและเอกชน)  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่ได้ไล่เรียงลำดับเป็นขั้นเป็นตอนแต่อย่างใด  บางคนอาจจะทำการเกษตรประสบความสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง เป็นคนพูดค่อนข้างเก่งอยู่แล้ว แต่พอได้มีโอกาสฝึกถ่ายทอด เรียนรู้แล้วก็ทำให้การเป็นคุณอำนวยนั้นดูง่ายมากขึ้น และยิ่งได้เข้ามาเรียนหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน แล้วด้วยนั้น ยิ่งทำให้มีความรู้สึกไว้วางใจ กล้าพูด กล้าแสดงออก กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันมากยิ่งขึ้นด้วย  เป็นการเรียนรู้ที่เนียนอยู่กับเนื้องานโดยแท้  ซึ่งคุณอำนวยเหล่านี้ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังแสดงบทบาทของคุณอำนวย  ดังนั้น กระบวนการพัฒนาคุณอำนวยที่พิจิตร  จึงไม่ได้เป็นการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมใช้ได้   แต่ใช้การกระทำ ปฏิบัติ ทดลอง เรียนรู้ไปก่อนระยะหนึ่ง ถึงทำให้รู้ว่าคุณสมบัติของ คุณอำนวยชาวบ้าน นั้นควรเป็นเช่นไร?         

แล้วท่านหล่ะวันนี้ได้ลองของกันแล้วหรือยัง????? 

หมายเลขบันทึก: 75136เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กลุ่มชาวบ้านเรียนรู้ด้วยกันแบบนี้ เป็นภาพที่หาดูได้ยากนะครับ

นวัตกรรมใดๆก็ตามที่จะมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ควรต้องประยุกต์ให้เหมาะสมและเป็นธรรมชาติและที่สำคัญเป็นเรื่องสนุกๆที่ผ่อนคลายจะดีมากครับ

  • การลงมือฝึกปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง  เป็นเสมือนกระบวนการลองของ  เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา
  • แต่เป็นวิธีการที่ดี เพราะเขาจะได้เรียนรู้ สัมผัส และเห็นจริงจากการลงมือทำ ซึ่งมีค่ากว่าการบอกเล่าจากผู้อื่น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท