การขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยสู่การพัฒนาของกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหนองจิก ตำบลหนองยาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ผู้ผลิตข้าวปลอดภัยจังหวัดอุทัยธานี มีการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันอย่างมีระบบ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนโดยมีหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มแกนนำชุมชน สนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการรับรู้เรียนรู้และร่วมกันขับเคลื่อนที่มีทิศทางและเป้าหมายสู่ความสำเร็จด้าน กินดีอยู่ดี ที่พึ่งพาตนเองของคนในชุมชน
แกนนำชุมชนที่มีแนวคิดพัฒนากลุ่มคือต้องเรียนรู้ข่าวสาร ข้อมูล องค์ความรู้จากภายนอกชุมชน นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร โดยมุ่งแสวงหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ความปลอดภัยและต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นในการผลิตข้าว ต่อมาได้รับการหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ทำการผลิตข้าวที่ปลอดภัยและมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอุทัยธานี ร่วมกันผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวปลอดภัยอุทัยธานีที่ได้ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานและร่วมกันตรวจสอบ
กระทั่งมีปัญหาการจำหน่ายข้าวปลอดภัยอุทัยธานีที่ดำเนินการผลิต กลุ่มแกนนำจึงได้วิเคราะห์ ข้อมูลชุมชน พบว่าชุมชนมีการซื้อข้าวสารมาบริโภคในชุมชน ปีละกว่า 500,000 บาท กลุ่มเกษตรกรจึงได้ร่วมกันตัดสินใจ กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหนองฉาง นำมาซื้อข้าวเปลือกสมาชิกเก็บไว้แปรรูปและจำหน่าย โดยการฟื้นฟูกิจการโรงสีชุมชนที่มีอยู่เดิม เพื่อมาแปรรูปข้าวเปลือกของสมาชิกผลิตข้าวได้ 2 ตันต่อวันและจำหน่ายผ่านร้านค้าชุมชนที่มีอยู่
แม้แกนนำกลุ่มจะเริ่มโครงการนำร่องเล็กๆ แต่ก็ทำจริง และมีการจดบันทึกข้อมูล กระบวนการและบัญชีต้นทุนการผลิต เพื่อเป็นองค์ความรู้เผยแพร่เป็นตัวอย่างแก่คนในชุมชน นำข้อมูลมาสื่อสารสร้างความเข้าใจร่วมกัน ตลอดจนสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชนใช้ในการตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ
ความสำเร็จและความพยายามในการพึ่งตนเองด้วยกิจกรรมร้านค้าชุมชนทำให้ชุมชนเข้มแข็งลดรายจ่ายได้จำนวนมาและยังมีอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น คือ การเลี้ยงโค-กระบือ ซึ่งแต่เดิม มีการเลี้ยงเพียง 20 ตัวเท่านั้น ปัจจุบันในชุมชนมีการเลี้ยงโค-กระบือ กันมากถึง 400 – 500 ตัว และมีมูลสัตว์มากพอที่จะมาทำปุ๋ยผลิตข้าวปลอดภัยได้อีก
นอกจากนี้ยังเกิด สถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองจิก ที่เกิดจากกองทุนต่างๆ ในชุมชนบ้านหนองจิก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว กองทุนโรงสี และธนาคารสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองจิก มีเงินออมมากกว่า 5 ล้านบาทแล้ว
ซึ่งชุมชนบ้านหนองจิกนับเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนหนึ่งที่ศึกษาเชื่อมโยงความรู้ในอดีต สู่ปัจจุบันและจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่สดใสได้ มีการจัดการความรู้ในชุมชนจากการเชื่อมร้อยความรู้จากภายนอก ผนวกเข้ากับฐานทุนเดิมที่เป็นชุดความรู้ในชุมชนที่สำคัญชุมชนเปิดใจเรียนรู้และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้ชุมชนบ้านหนองจิกเดินทางสู่เป้าหมายกินดีอยู่ดีถึงปัจจุบัน