โรคซึมเศร้า : คำแนะนำสำหรับญาติ


เขาไม่ได้อ่อนแอหรือไม่สู้

            ญาติมักจะรู้สึกห่วงเขา ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ไม่เห็นจะหนักหนาอะไร  บางคนพาลรู้สึกโกรธเคือง เห็นว่าเขาเป็นคน "อ่อนแอ" เป็นคน "ไม่สู้" ทำไมกับเรื่องแค่นี้ถึงต้องเสียใจมากอย่างนี้ หรือไม่ก็อาจพูดเปรียบเทียบว่า ทีคนอื่นเขาเจอปัญหามากกว่านี้ไม่เห็นเขาทุกข์อย่างนี้เลย ท่าทีของญาติแบบนี้แทนที่จะกระตุ้นหรือให้เขาฮึดสู้ กลับยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองแย่ลงไปอีก รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์
            ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง "เจ็บป่วย" อยู่  หากจะเปรียบกับโรคทางกาย เช่น โรคปอดบวม อาจจะทำให้พอเห็นภาพชัดขึ้น คนเป็นโรคปอดบวมจะมีการอักเสบของปอด เสมหะเหนียวอุดตันตามหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีไข้  เขาไม่ได้แกล้งไอหรือหอบ ที่ไอเพราะมีความผิดปกติอยู่ภายในร่างกาย  โรคซึมเศร้าก็เหมือนกัน ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก   ณ ขณะนั้น นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกาย ต่างๆ นานา รวมด้วย  ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปในแง่ลบด้วย ซึ่งก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก    เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นอาการของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป

ท่าทีต่อผู้ป่วย

หากญาติเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า  เห็นว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วยหรือเป็นแบบนี้
            บางครั้งเขาดูเงียบขรึม บอกไม่อยากพูดกับใคร ก็อาจต้องตามเขาบ้าง  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จะปล่อยเขาไปหมด หากสังเกตว่าช่วงไหนเขาพอมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมาบ้าง ก็ควรชวนเขาพูดคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ อาจเริ่มด้วยการคุยเล็กๆ น้อยๆ  ไม่สนทนานานๆ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน และยังเบื่อง่ายอยู่  การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วย และในขณะเดียวก็ไม่กระตุ้นหรือคะยั้นคะยอเกินไปเมื่อเห็นว่าเขายังไม่พร้อม จะทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายลง ไม่เครียดไปตามญาติ หรือรู้สึกว่าตนเองแย่ที่ทำตามที่ญาติคาดหวังไม่ได้

การทำร้ายตนเอง

ผู้ที่กำลังซึมเศร้าบางครั้งอาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา อาจรู้สึกอยากตายได้ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แม้ว่าบางคนจะไม่บอกใคร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกคนใกล้ชิดเป็นนัยๆ  ญาติควรใส่ใจและให้ถือเป็นเรื่องสำคัญหากเขาพูดจาในทำนองสั่งเสีย ล่ำลา หรือพูดเหมือนกับจะไม่อยากมีชีวิตอยู่  โดยเฉพาะถ้าเขาไม่เคยมีท่าทีทำนองนี้มาก่อน บางคนไม่รู้ว่าจะบอกคนอื่นอย่างไรถึงเรื่องอยากตายของตน รู้สึกสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากตาย ใจหนึ่งเป็นห่วงคนใกล้ตัว จะปรึกษาใครก็กลัวคนว่าคิดเหลวไหล  การบอกเป็นนัยๆ นี้แสดงว่าจิตใจเขาตอนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก 
            เรื่องหนึ่งที่มักเข้าใจผิดกันคือ คนมักไม่ค่อยกล้าถามเขาถึงเรื่องความคิดอยากตาย เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปชี้โพรงให้กระรอก แต่ตามจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ความคิดอยากตายมักเกิดจากการครุ่นคิดของเขาจากมุมมองต่อปัญหาที่บิดเบือนไปมากกว่า  ไม่ได้เป็นเพราะคำถามเรื่องนี้    ในทางตรงกันข้าม การถามกลับเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้พูด ได้ระบายความรู้สึก ทำให้ความตึงเครียด คับข้องใจลดลง 

หากเขาพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า "อย่าคิดมาก" "เลิกคิดเหลวไหลได้แล้ว"  หรือ "อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้ไหม" คำพูดทำนองนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าญาติไม่สนใจรับรู้ปัญหา เห็นว่าเขาเหลวไหล กลับยิ่งทำให้รู้สึกแย่ขึ้นไปอีก ญาติควรให้ความสนใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความคับข้องใจ

การสนทนากับผู้ป่วย

             จากประสบการณ์การเป็นแพทย์ของผู้เขียนพบว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย "ไม่มีโอกาส" หรือไม่ได้พูดความคับข้องใจหรือปัญหาของตนเองให้คนใกล้ชิด เพราะมีความรู้สึกว่า "เขาคงไม่สนใจ" "ไม่อยากรบกวนเขา" "ไม่รู้ว่าจะเล่าให้เขาฟังตอนไหน" ในช่วงภาวะวิกฤตินั้นสิ่งที่ผู้ที่ทุกข์ใจต้องการมากคือ ผู้ที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งด่วนให้คำแนะนำโดยที่เขายังไม่ได้พูดอะไร การที่เขาได้พูดระบายออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้ญาติได้เห็นชัดเจนขึ้นว่าปัญหา หรือสิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญคืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่ญาติเคยคิดมาก่อนก็ได้
            เมื่อเขาได้พูดระบายความคับข้องใจออกมา จิตใจจะผ่อนคลายลง สภาพจิตใจของเขาตอนนี้เริ่มจะเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เขาเกิดความไว้วางใจ ซึ่งก็คือผู้ที่พร้อมรับฟังปัญหาของเขายามที่เขาทุกข์ใจมากที่สุดนั่นเอง  ณ จุดนี้ ญาติจะสามารถชี้ให้เขาได้มองปัญหาจากแง่มุมอื่นๆ   ได้เห็นทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา   หากได้พูดคุยแล้วเห็นว่าเขายังมีความรู้สึกท้อแท้อยู่สูง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมาก ก็อย่าได้ไว้วางใจ ควรพาไปพบแพทย์ทันที

ในช่วงที่เขามีอาการซึมเศร้ามากนั้น หากเขายังทำอะไรไม่ได้ก็ควรจะให้พักผ่อนไปจะดีกว่าการไปบังคับให้เขาทำโดยที่ยังไม่พร้อม หากอาการเริ่มดีขึ้น ก็อาจค่อยๆ ให้งานหรือชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่พอทำได้บ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมากนัก หากเป็นงานที่มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่จะดีกว่างานที่เขานั่งอยู่เฉยๆ เพราะการมีกิจกรรมจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน การอยู่กับตนเองลดลง

ข้อควรทราบ

·         โรคนี้ไม่ได้ดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด  จึงไม่ควรคาดหวังจากเขามากเกินไป

·         การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เขายังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย

·         การตัดสินใจของเขาในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้เขาเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการดีขึ้นมากแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #โรคซึมเศร้า
หมายเลขบันทึก: 72387เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2007 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
คุณหมอคะ(ขอโทษนะคะพอดีเพิ่งไปอ่านประวัติมา) คนป่วยพวกนี้ต้องพึ่งทั้งยาและการดูแลเอาใจใส่ แต่คนไข้จำนวนมากไม่ยอมทานยา หรือบางครั้งก็แอบไม่ทานยา ทำให้อาการกำเริบ ซึ่งเรื่องนี้คนที่เป็นญาติก็ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ใช่มั้ยคะ เพราะคนพวกนี้มักจะดื้อเป็นพิเศษ ดีใจจังค่ะที่คุณหมอมีเวลามาเขียนบล็อก เพราะหมอส่วนใหญ่งานจะยุ่งมาก แรกๆก็เข้ามาตอบปัญหาตามเว็บต่างๆ แต่พอดัง(ขอโทษนะคะที่ใช้คำนี้) งานก็ค่อนข้างยุ่ง ก็เริ่มละเลยการเข้ามาตอบปัญหาในเว็บไป ดิฉันอยากเรียนรู้การช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้เพราะอยากช่วยพวกเขามากค่ะ ยิ่งเราพบเห็นปัญหานักศึกษาซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก แล้วอาจารย์ก็ไม่เข้าใจ บังคับแต่จะให้เขาเรียนให้จบ พ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่องเพราะลูกอยู่หอพัก ผู้ปกครองเขาฝากลูกไว้กับเราแล้ว เราก็ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุดค่ะ

พอดีช่วงอาทิตย์ก่อนค่อนข้างว่างและมาเจอ g2k พอดี ชอบมากเลยเอาเรื่องที่เขียนมาแล้วมาแลกเปลี่ยนครับ  เดี๋ยวอีกสักพักก็จะไม่ค่อยว่างแล้วครับ (แต่ยังไม่ดังนะครับ) ยังไงก็จะแวะมาส่งเรื่องเป็นพักๆ ครับ

ดีใจครับที่เรื่องเป็นประโยชน์ นักศึกษาเป็นกันก็เยอะครับ แต่ไม่ค่อยจะมีคนรู้ อาจารย์ช่วยได้เยอะครับ โดยเฉพาะถ้าใกล้ชิดกับนักศึกษา เขาจะเชื่อครับ ยินดีอย่างยิ่งครับที่อาจารย์อยากช่วยพวกเขาเหล่านี้

  • ขอบคุณล่วงหน้าค่ะคุณหมอ....ยังไงก็แวะเวียนมาเขียนบันทึกบ้างนะคะ  เพราะบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า  จิตเภท  พวกนี้จะค่อนข้างเป็นวิชาการ  แต่ที่คุณหมอเขียนจะอ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ    คือคนรอบๆตัวเป็นเยอะมากจนตกใจค่ะ     คนที่เป็นมักจะเรียนเก่งด้วย  หว้าเองก็จะอาศัยตรงนี้แนะนำกับญาติๆนักศึกษาและคนอื่นที่ป่วย   
  • คุณหมอดังแล้วอย่าหนีไปไหนนะคะ  จะคอยตามอ่านค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ (เรียกตามอ.ลูกหว้า)

รอบันทึกนี้อยู่ตั้งนาน ขอบคุณมากค่ะ

พิมพ์เก็บไว้แล้วค่ะ เผื่อลืม Link...

^___^

 

เป็นนักศึกษาอยู่ค่ะ ไม่สบายอยู่ ตอนนี้เหนื่อยมากเลย รักษาตัวอยู่ที่รามาค่ะ คุณหมอที่รักษาน่ารักมาก ขอบคุณคะ รู้สึกแย่มาก เหมือนไม่มีใครเข้าใจเลย อยากส่งเรื่องนี้ให้คนใกล้ชิดอ่าน แต่ก็ไม่กล้าค่ะ มีแต่คนบอกว่าอย่าไปคิดว่าเราป่วย ทำไมเรื่องแค่นี้ต้องร้องไห้ ใครว่าอะไรก็ไม่ได้ เป็นอย่างนี้แล้วใครจะรับเข้าทำงาน ให้ตื่นเช้ามาทำงาน ว่าอะไรไม่ได้ ชอบร้องไห้ ไม่รู้จะร้องทำไม กำลังคิดจะพักการเรียนอยู่ แต่ก็สงสารแม่ บางทีถูกสอนก็ร้องไห้ กระทบอะไรแรงๆ ไม่ได้เลย ไม่คิดที่จะทำให้ตัวเองหายบ้างเลยเหรอ ไม่คิดที่จะทำอะไรเลยเหรอ แต่มันเหนื่อยเกินกว่าที่จะทำอะไร อาจารย์สอนก็ร้องไห้ มีแต่คนอยากให้หาย อยากให้เปลี่ยนตัวเอง แต่มันเหนื่อยจนไม่อยากทำอะไร คิดจะทำร้ายตัวเอง กระทบต่อทุกอย่าง การนอน การกิน อยากอาเจียน  แต่บทความนี้จะให้คนอื่นอ่านยังไงล่ะ เหมือนกับเราแก้ตัว เค้าบอกว่าอย่าอ้างว่าป่วย อย่าคิดว่าตัวเองป่วย ทำไม่ได่น่ะค่ะ

รู้สึกแย่มากคะ

มาก...จนไม่รู้จะอธิบายยังไง เป็นโรคซึมเศร้าในช่วงเรียนใกล้จบ

อาจารย์ไม่เคยเข้าใจเลย

นอกจากต่อว่า

รู้ว่าเรามันแย่กว่าคนอื่นทุกๆอย่าง อาจารย์ต้องชอบคนเรียนเก่งอยู่แล้ว

คงเรียนไม่จบแน่ๆๆๆ

จะอยูยังไงดีคะ

มีน้องป่วย และเขาโกหกเราหลายอย่าง ดูไม่ออกว่าเขาป่วย และมีอาการเอาใจตนเองด้วยหรือไม่ บางครั้งต้องให้ตามใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท