วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ผมไปร่วมงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้ง ที่ ๑๗ ที่อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี โดยขับรถไปเอง เพราะอยู่ใกล้บ้าน ขับรถไปเพียง ๑๕ นาที และเขาจัดที่จอดรถให้อย่างดี
ผมไปถึงที่ประชุมตั้งแต่เวลา ๗.๓๐ น. ไปชมและถ่ายรูปนิทรรศการ เอามาสะท้อนคิดที่บ้าน เพราะคนแก่รับรู้ได้จำกัด ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยบันทึก เอามาเคี้ยวเอื้องต่อ ในภายหลัง
ข้อดีของการไปร่วมงานแบบนี้คือ ได้พบผู้คน ที่เป็นทั้งสหายเก่าที่ไม่ได้พบกันมานาน รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องลึกๆ จากการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ เช่นได้เข้าใจว่า การเมืองไทยของเราในขณะนี้ เป็นชุมชนสีเทา คนที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรีและนักการเมืองไทย ต้องมีทักษะดำรงชีวิตอยู่ในโดนัทสีเทา ที่เป็นที่ยอมรับเชิงสังคม ช่วยให้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเอาไว้ค้ำจุนฐานะทางการเมืองและสังคม และไม่ถูกกฎหมายเล่นงานได้ เป็นทักษะที่ผมไม่คุ้นเคย และรังเกียจมาตั้งแต่เด็ก และคิดถูก ว่าตนเองไม่สันทัดชีวิตแนวนี้ จึงปฏิเสธเมื่อมีผู้ใหญ่มาชวนไปทำงานการเมือง
ผมบอกตัวเองตั้งแต่อายุไม่ถึง ๓๐ ว่าชีวิตของผมจะมีข้อจำกัด ทั้งจากความสามารถของตนเอง และจากอุดมการณ์ส่วนตัว ที่ไม่ผ่อนปรนกับวิธีคิดและพฤติกรรมสีเทา และพบว่าเป็นการคิดที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็ในบริบทไทย พิสูจน์ไม่เฉพาะโดยชีวิตของผมเอง ยังมีข้อมูลหลักฐานข้ามประเทศ ข้ามสังคม ดังตัวอย่างอดีตและอนาคต ปธน. ทรัมป์ ของ สรอ. ที่เข้าสู่อำนาจเป็นประมุขของประเทศได้ ด้วยสมรรถนะสีเทา เป็นข้อพิสูจน์ว่าอุดมการณ์ของผมทำให้ “โดนัทชีวิต” ของผม มีขนาดเล็ก ในขณะที่ “โดนัทชีวิต” ของทรัมป์ ใหญ่กว่านับล้านเท่า เมื่อมองจากมุมของอุดมการณ์ทุนนิยมวัตถุนิยม
แต่หากมองจากจิตวิญญาณนิยม ผมคิดว่าชีวิตของผมดีกว่า เป็นชีวิตที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่า แม้ผลกระทบจะแคบกว่าเป็นล้านเท่า แต่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ altruism ที่มีเป้าหมายชีวิตเป็นขั้วตรงกันข้าม กับทรัมป์
เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของพหุชน
วันนี้ผมมีภารกิจ ๓ ด้าน จบเมื่อเวลาสองทุ่มเศษ ได้มีโอกาสทดสอบกำลังอึดของตนเอง ว่าอายุครบ ๘๒ แล้ว มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ได้เรียนรู้ชัดเจนว่า มีข้อจำกัด คือเหนื่อยมาก แต่ก็พอทน
ภารกิจแรก เข้าร่วมกิจกรรมเปิดการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ เวลา ๙ น. ที่ผมแค่ไปนั่งแถวหน้า ทำหน้าที่ตัวประกอบให้พิธีศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ได้พบปะพูดคุยกับมิตรสหายมากมาย
ภารกิจที่สอง ตอน ๑๓.๓๐ น. เข้าร่วมพิธีเปิด และกล่าวเปิด การประชุมวิชาการ “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” โดยเขามีร่างคำกล่าวเปิดไว้ให้อย่างดีมาก และเป็นการประชุมที่มีสาระแน่น มีประโยชน์ต่อการสร้างสังคมสูงวัยอย่างดียิ่ง
ภารกิจสุดท้าย ตอน ๑๖.๓๐ น. เข้าร่วมกิจกรรม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2567 และบรรยายเรื่อง ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ ที่ชม PowerPoint ได้ ที่นี่
ผมขับรถจาก อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี กลับถึงบ้าน เวลา ๒๑.๑๕ น. ด้วยความเหนื่อยอ่อน แต่ภูมิใจ ที่ได้ทำประโยชน์แก่สังคม
วิจารณ์ พานิช
๒๙ พ.ย. ๖๗
ไม่มีความเห็น