ชีวิตที่พอเพียง  4797. ที่มาของ "ตำบลท่ายาง" อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร


 

 นพ. วิชัย พานิช น้องชาย ส่งข้อความข้างล่าง ที่เป็นเรื่องของตำบลท่ายาง อ. เมือง  จ. ชุมพร ที่เป็นบ้านเกิดของผม มาให้   จึงนำมาเผยแพร่ต่อ   

📸 “ในภาพคือ ตลาดท่ายางเมื่อปีพ.ศ 2479

ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒พระเจ้าปะดุงแห่งประเทศพม่า ให้ “อะเติ่งวุ่น” เป็นแม่ทัพยกมาตั้ง ณ เมืองทะวาย แล้วให้ “แยมอง” เป็นแม่ทัพไปตีเมืองถลางให้ “ดุงเรียงสารากะยะ” กุมพลสามพันเข้าตีเมืองมลิวัน เมืองกระบุรี (เมืองมะลิวันและเมืองกระบุรี เป็นหัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองชุมพรที่เป็นหัวเมืองชั้นตรี)

ไม่ทันที่พม่าจะได้ตีเมืองอื่นได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ยกทัพไปสู้รบกับพม่า สมเด็จพรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ จึงให้“พระยาจ่าแสนนากร”(บัง) เข้าตีกองทัพพม่าที่เมืองชุมพร จนแตกทัพหนีไป กองทัพหลวงที่ยกมายังคงอยู่ที่เมืองชุมพรเป็นเวลานาน และได้ส่งกองทัพออกไปปราบปรามกองทัพพม่าจนหมดสิ้น ซึ่งสถานที่ที่ทัพหลวงมาตั้งอยู่คือ “บ้านท่ายาง”

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ และพระยาเพชรกำแหงสงคราม (เกตุ) ได้รวบรวมผู้คนที่หนีภัยพม่า ให้อยู่รวมกัน และตั้งเมืองขึ้นใหม่ เพราะเมืองเดิมถูกพม่าเผาทำลายหมด โดยในปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้สร้างวัดขึ้นมาชื่อว่า “วัดพิชัยยาราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชนะศึกพม่า ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกว่า “วัดโบสถ์”

พระยาเพชรกำแหงสงคราม (เกตุ) ได้ตั้งบ้านเรือนและที่ทำการเมืองชุมพร ที่ริมน้ำคลองท่ายาง ใกล้กับท่าน้ำวัดพิชัยยาราม และให้ชาวบ้านปลูกบ้านอาศัยอยู่ริมคลองท่ายางทั้งสองฝั่ง ซึ่งริมคลองท่ายางด้านทิศตะวันออกเป็นสันดอนกว้าง ๒-๓ เส้น น้ำขึ้นไม่มากจึงใช้ปลูกบ้านที่อยู่อาศัย ถัดไปเป็นทุ่งนา จนจดทะเลก่อนถึงทะเลมีสันดอนริมทะเล ทำให้น้ำเค็มไม่เข้าทุ่งนาจึงทำนาได้ผลดี แต่ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่มน้ำขึ้นถึงจึงทำนาไม่ได้ แต่ทำไร่ได้บ้าง

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระยาเพชรกำแหงสงคราม (เกตุ) ถึงแก่กรรม   พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ซุ่ย) ได้เป็นเจ้าเมืองชุมพรแทนท่านได้รับพระราชทานที่นา และที่อยู่อาศัย คือที่ริมคลองท่ายางจดที่นา ต่อจากนาของกรมการเมืองสมัยพระเกตุ ไปจนถึงนาเหนือทิศตะวันออกจดทะเล บริเวณที่นาเหนือคือ วัดกลาง (บริเวณพ่อปู่ชี และตลาดนัดปัจจุบัน)

ในสมัยพระยาชุมพร (พระยาเพชรกำแหงสงคราม ซุ่ย) เป็นเจ้าเมือง ท่ายางเจริญรุ่งเรืองที่สุด เป็นเมืองที่มีการค้าขายกับเมืองจีนและเมืองอื่น ๆ มีคนจีนเข้ามาอพยพเข้ามาอยู่อาศัย มีการทำรังนกนางแอ่น เป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือ จนเป็นที่รู้จักของชาวจีนว่า ท่าเรือ “เถ่เอี้ยง” (คือ ท่ายาง) ที่เมือง “เจียมพุง” (คือ ชุมพร) มีร้านค้าริมฝั่งคลองท่ายาง มีร้านทำ เครื่องทอง โรงเหล้า โรงบ่อนเบี้ย โรงยาฝิ่น มีศาลเจ้าจีน และมีวัดถึง ๗ วัด คือ

๑. วัดพิชัยยาราม (วัดโบสถ์) ปัจจุบัน วัดท่ายางกลาง

๒. วัดคงคานาม (วัดล่าง) ปัจจุบัน วัดท่ายางใต้

๓. วัดพ่อท่านม่วง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ โรงเรียนวัดพิชัยยาราม

๔. วัดท่าทะขาม ปัจจุบันที่กรมศาสนา ราษฎรเช่าที่ท่าเรือเกาะเต่า และโรงแรม

๕. วัดนอก ปัจจุบันเป็นบ้านนายกุศล – นายวิเชียร – นางสาวประนอม

๖. วัดกลาง ปัจจุบันเป็นตลาดนัดท่ายางและพ่อปู่ชี

๗. วัดตะเคียนทอง (วัดเหนือ) ปัจจุบัน วัดท่ายางเหนือ

พ.ศ. ๒๓๗๖ พระยาชุมพร (ซุ่ย) ถูกอาญาแผ่นดิน ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง    พระปลัดครุฑ ปลัดเมือง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทน พระยาชุมพร (ครุฑ) ท่านได้สร้างวัดสุบรรณนิมิต (สุบรรณแปลว่า ครุฑ) และได้ย้ายบ้าน และย้ายที่ทำการกรมการเมืองมาอยู่ที่ท่าตะเภาด้านฝั่งตะวันตก   ดังนั้นที่ตั้งของเมืองชุมพร จึงได้ย้ายจากท่ายางมาอยู่ที่ ท่าตะเภา รวมเมืองชุมพรอยู่ที่ท่ายางแค่ ๒๓ ปีเท่านั้น

แต่ท่ายาง ก็ยังเป็นเมืองท่า และตลาดอยู่อีกนาน และด้วยท่ายางเป็นบ้านใหญ่ และใกล้ปากอ่าวเรือ ทำให้มีเรือขนส่ง และเรือสินค้ามาแวะเวียนอยู่เสมอ เพื่อส่งสินค้าเข้าสู่เมือง จึงทำให้ท่ายางมีประชากรหนาแน่นขึ้น​ จึงทำให้คนตำบลท่ายางในปัจจุบัน มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมขนส่งและการเกษตรในท้องถิ่น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่สวยงาม และน่าสนใจมาจนปัจจุบัน

จากข้อมูลที่แอดหาเพิ่มได้มีการเล่าให้ฟังว่า​ บ้านท่ายางถูกยกเป็นตำบลตามพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ปี​ ๒๔๕๗ สมัยร.๖ ซึ่งแรกใช้ระบบได้แบ่งอำเภอเมืองชุมพรออกเป็น​ ๓ ตำบล​ คือ

๑.​ #ตำบลท่าตะเภา​ มี "ขุนสมานนรชน" ต้นตระกูล​ #ซุ่ยยัง เป็นกำนันคนแรก

๒.​ #ตำบลปากน้ำ มี​ "ขุนผจญนรทุษฐ์" ต้นตระกูล​ #เจริญเดช เป็นกำนัน

๓.​ #ตำบลท่ายาง​ มี​ "ขุนประคุตนรสิทธ์​" ต้นตระกูล​ #รัตนสุนทร​ เป็นกำนัน” 

ขอขอบคุณที่มา : http://www.tayangcity.go.th/html/new-menu.asp?typemenu=1

See Translation

 

May be a black-and-white image of 1 person

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๖๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 719210เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2024 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2024 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

The link provided is broken or incorrect (404 error).

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท