ชีวิตที่พอเพียง  4792. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (238) ร่วมค้นหาตัวตนของ กสศ.


 

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ในการประชุม รีทรีต ของบอร์ด กสศ. ที่ อาณา อานันท์  รีสอร์ท พัทยา    มีการนำเสนอผลงานในอดีต และความคาดหวังในอนาคต ของ กสศ.  ที่ชักนำให้ผมสรุปว่า ในช่วง ๖ ปี ที่ กสศ. ดำเนินการต่อเนื่องจาก สสค.   กสศ. ได้วางรากฐานความยอมรับในสังคมไทย และต่างประเทศ    ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาไทย (ที่เน้นการพัฒนาความเสมอภาคทางการศึกษา) อย่างมั่นคงแล้ว

ต่อไปจะเป็นการกำหนดตัวตนเชิงคุณค่า และเชิงทำหน้าที่ตัวเร่งปฏิกิริยาสร้างการพลิกโฉม (transform) ระบบการศึกษาไทย อย่างเกิดผลจริง     ที่มีความท้าทายมาก ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่     

ผมตีความว่า จะทำได้สำเร็จ กสศ. ต้องพลิกโฉม (transform) ตนเอง    จากมุ่งสร้าง visibility ของตนเอง    เปลี่ยนไปสร้าง visibility ให้แก่ภาคี หรือผลงานของภาคี  เพื่อหนุน bottom-up transformation    เชื่อมโยงกับ top-down transformation ที่ผู้บริหารของ กสศ. เก่งมากด้าน political engagement    ที่ผมเตือนสติว่า ต้องระวังการถูกดึงเข้าไปสาละวนกับ superficial หรือ short-term achievement    ไปไม่ถึง systems transformation    

กรรมการคนแล้วคนเล่าของ กสศ. ชี้ให้เห็นมิติลึกๆ ของความสำเร็จ และความท้าทายของ กสศ.    เป็นที่ประเทืองปัญญายิ่งนักสำหรับผม    ทำให้ผมมองเห็นความหมายใหม่ของคำว่า “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ว่ากว้างขวางล้ำลึกและมีคุณค่าสูงกว่าที่กำหนดใน พรบ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ อย่างมากมาย    

พรบ. กำหนดในมาตรา ๖ ว่า “กองทุน” ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินรวม ๘ รายการ    ที่มีลักษณะเป็นเงินทั้งสิ้น    คือกฎหมายตีความ เป็น “กองทุน” เป็น fund   แต่ในการประชุมมีกรรมการหลายท่านรวมทั้งผมตีความเป็น assets (สินทรัพย์) ที่มีลักษณะเป็นเงินและไม่ใช่เงิน   ได้แก่ เป็นตัวคน  ปฏิสัมพันธ์  เครือข่าย  กระบวนทัศน์ ความรู้หรือปัญญาที่มีการสั่งสมจากการทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ แล้วนำประสบการณ์มาสะท้อนคิดร่วมกัน ตกผลึกเป็นหลักการ สำหรับใช้ขับเคลื่อนการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย

และที่ผมให้ความสำคัญที่สุดในเรื่อง assets คือ ท่าที “ไร้ตัวตน” (selflessness) ของ กสศ. เอง     โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหาร และกรรมการของ กสศ.    เท่ากับผมมอง “การยึดติดตัวตน” ของ กสศ. เป็นปัจจัยลบ    และชอบใจมากที่คุณชาลี จันทนยิ่งยง กรรมการบริหารของ กสศ. บอกว่า ไม่ควรใช้คำ “ส่งต่อ”  “ขยายผล”    ควรใช้คำที่แสดงความนอบน้อมถ่อมตน    

เท่ากับผมมองว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนที่ติดลบอยู่   ดังเห็นได้จากผลการประเมินนานาชาติ เช่น PISA    และส่วนที่ติดลบนั้นฝังแน่นอยู่ในระบบ    ที่ผู้ใหญ่ในระบบทั้งยอมรับและไม่ยอมรับ    การพูดเรื่องการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย จึงต้องพูดแบบให้เกียรติและรักษาหน้าของผู้ใหญ่ในระบบการศึกษา    เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน   

ตัวตนของ กสศ. จึงควรทำหน้าที่ change agent แบบไร้ตัวตนที่สุดเท่าที่จะทำได้    ในท่ามกลางระบบการศึกษาที่ซับซ้อน    และมี change agents ใหญ่น้อยอยู่ภายในระบบ   

 

กสศ. จึงควรเน้นทำหน้าที่ เข้าไปหนุน change agent น้อยใหญ่ภายในระบบ   โดยการทำให้ผลงานของ change agent เหล่านั้น ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นที่ประจักษณ์ต่อสาธารณชน   ชี้ให้เห็นหลักการที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น    และชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยมีช่องทางหนุนเสริมให้  change agent ที่มีอยู่ทำงานสะดวกขึ้นได้อย่างไร      

“ทุน” เพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย   ที่สำคัญที่สุดคือ change agents ที่ กสศ. หนุนให้เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ    และที่เกิดขึ้นเอง จากธรรมชาติสร้างสรรค์ของมนุษย์ในระบบการศึกษา    กสศ. ควรมุ่งสร้าง “ตัวตน” ที่มีสมรรถนะหนุนเสริม   change agent เหล่านั้น    เน้นที่การมี soft power หนุนการพลิกโฉมดังกล่าว      

ผมเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ว่า    คำว่า  policy value chain ควรตีความคำว่า policy ให้กว้างกว่านโยบายทางการเมือง    ตีความให้ครอบคลุม “นโยบาย” ของภาประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคท้องถิ่น และภาคประชาชน    ตามหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี 

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมเสนอคือ นิยามคำว่า “กองทุน” ในความหมายที่กว้างกว่า Fund ตามที่กล่าวแล้วข้างตน   ที่ทั้งท่านประธานและที่ประชุมดูจะให้การตอบรับอย่างดี 

หลักการที่ ๓ ที่ผมเสนอในวันที่ ๑๔ คือ การใช้กลุ่มเปราะบางที่ กสศ. เข้าไปให้ความช่วยเหลือนั้นเองเป็น co-creator หรือ change agents    คือเปลี่ยนเด็ก เยาวชน และบุคคลเหล่านี้ จากผู้รอรับความช่วยเหลือ ให้พัฒนาตนเองขึ้นเป็นผู้ทำประโยชน์สร้างสรรค์ชุมชนและสังคม    เป็นการหนุนให้เด็ก เยวชน และบุคคลเหล่านี้สร้างตัวตนใหม่   จากผู้อ่อนแอ เป็นผู้เข็มแข็ง   ที่ภายใน ๑-๒ ปีแรกประสบความสำเร็จประมาณณ้อยละ ๑๐ ของผู้รับทุนเสมอภาค และทุนอื่นๆ    ก็น่าจะถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่    ที่นำทางสู่การดำเนินการที่เกิดผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป   

เป็นกลยุทธเปลี่ยนประชากรกลุ่มตัวปัญหา (problem)   ให้กลายเป็นกลุ่มสร้างทางออก (solution)     หรือยุทธศาสตร์ “หนามยอก เอาหนามบ่ง”         

คำถามสำคัญคือ กสศ. จะมีกลยุทธการปฏิบัติงาน ที่พลิกโฉมไปจากเดิมอย่างไร 

วิจารณ์ พานิช 

๑๕ ก.ค. ๖๗ 

  

หมายเลขบันทึก: 719136เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2024 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2024 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท