ชีวิตที่พอเพียง  4732. สี่สหายนัดกินอาหารเที่ยงและคุย


 

สี่สหายพบกันครั้งหลังสุดคือ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ (๑)    แล้วก็มีเหตุแบบคนแก่ให้ต้องเลื่อนนัด มาเป็นวันอังคารที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗   ที่บ้าน ศ. ดร. ฉัตรทิพย์   แล้วเดินไปกินอาหารญี่ปุ่น Hoshi ที่ร้านติดกับบ้าน ศ. ฉัตรทิพย์   ที่มีอาหารญี่ปุ่นชนิดคลาสสิค   โดยเราหลบขึ้นไปกินที่ห้องวีไอพีชั้น ๒  ที่เพราะอากาศร้อน ห้องจึงไม่ค่อยเย็น   และกว่าเราจะไปก็บ่ายโมง    รวมทั้ง ศ. วิสุทธิ์มีธุระต้องกลับบ้านบ่ายสามโมง   พอบ่ายสองโมงเศษเราก็ต้องรีบกลับไปบ้าน ศ. ฉัตรทิพย์    โดยสั่งไอศครีมกินกับเต้าหู้อ่อนแบบญี่ปุ่มมากินที่บ้าน    ร้านนี้เขาบริการบ้าน อ. ฉัตรทิพย์อย่างคุ้นเคยกัน   

และพอ ๑๔.๔๐ น. ก็มีโทรศัพท์มาตาม ศ. วิสุทธิ์ให้กลับบ้าน   

การพูดคุยจึงมีเวลาจำกัด    อ. ฉัตรทิพย์จึงขอนัดครั้งต่อไปภายใน ๒ เดือน   

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ ทั้งสี่สหายมีลักษณะชราภาพมากขึ้นชัดเจน   ศ. วิชัย บุญแสง สมองเสื่อมหลงๆ ลืมๆ โดยรู้ตัวว่าเป็นเช่นนั้น  จึงลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด   แต่ก็เป็นคนที่ไปเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในสี่สหาย    โดยไปกับภรรยาและลูกสาว    ส่วนผมไปทำงาน    อีกสองท่านไม่ได้ไป   

ศ. ฉัตรทิพย์เป็นคนเดียวที่มีงานสอน วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แก่ นศ. ป. โทคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ    ก่อนโควิดให้การบ้านไปอ่านหนังสือมาก่อน แล้วมาคุยกันที่บ้าน อ. ฉัตรทิพย์   แต่เมื่อโควิดระบาดก็เปลี่ยนเป็นสอนทางออนไลน์   

ผมจึงได้โอกาสถามท่านว่า สงครามมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไหม    ท่านตอบว่า สงครามมีส่วนเปลี่ยนโลก  และมีผลต่อกลไกเศรษฐกิจ    วงจรสลับกันระหว่าง War and Peace มีผลต่อประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่างแน่นอน    ผมจึงกลับมาถามสหาย Gen AI ทั้ง ๓ เจ้า ว่า How is the cycle of war and peace affect global economy? Does war has booster effect on economy? Do the war at the present has ground of promoting national economy of the participating countries?      

พบว่าตอบไปในทางเดียวกันว่า สงครามมีผลเสียมากกว่าผลดี   ผลดีมีต่อเฉพาะบางด้าน และในระยะสั้นเท่านั้น     โดยผมชอบคำตอบของ Copilot มากที่สุด    และ ChatGPT 3.5 ให้คำตอบ ๒ แบบ    

แต่ผมก็อดเถียงไม่ได้ว่า ในบางสงคราม มีเป้าหมายซ่อนเร้นทางผลประโยชน์ของคนหรือธุรกิจเป็นตัวการ โดยที่นักการเมืองมีส่วนได้รับผลประโยชน์อยู่ด้วย   สรุปว่า สงครามเป็นเรื่องสีเทา    ไม่มีขาวดำชัดๆ                   

ผมเอาหนังสือ ไปฝากเพื่อนทั้งสาม รวมคนละ ๗ เล่ม   เป็นหนังสือชุดธรรมะใกล้มือ ๓ เล่ม   และหนังสือที่ผมเขียน ๔ เล่ม คือ ชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ ผ่านประสบการณ์ ๓ เล่ม    และ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ อีก ๑ เล่ม 

ได้โอกาสอธิบายเรื่อง experiential learning ให้เพื่อนๆ ฟัง    ศ. ฉัตรทิพย์สนใจเจ้าทฤษฎี ศ. David A. Kolb     ขอจดชื่อเอาไปศึกษาต่อ    และเมื่อผมแนะนำ Generative AI สำหรับใช้งานเป็นเหมือนเพื่อนคุยทางตัวหนังสือ    ท่านก็ขอให้ผมจดชื่อ Gen AI ทั้งสามที่ผมใช้เป็นประจำให้

วิจารณ์ พานิช

๒๓ เม. ย.  ๖๗ 

 

 

1 สี่สหายที่ห้องรับแขกบ้าน ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่เหมือนห้องสมุด

หมายเลขบันทึก: 718338เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2024 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2024 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้อาจารย์และเพื่อนๆสุขภาพแข็งแรงนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท