สอนเสวนา สู่การเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย  ๔. กิจกรรมในวันที่ ๓ 


 

๒๐ เมษายน ๒๕๖๗ 

โชคดีมากที่เมื่อวานผมขอเปลี่ยนห้องพัก    และเขาจัดให้พักห้อง ๕๐๙   เมื่อคืนจึงนอนเต็มอิ่ม    ตื่นตีสามเศษๆ   ลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อมในการร่วมสังเกตการประชุมปฏิบัติการ    พอ ๖ น. เศษออกไปเดินออกกำลัง    ๗ น. กลับมากินอาหารเช้า ที่ได้กินผักสมใจ    ๗.๓๐ น. ได้กลับมานั่งเอกเขนกบนเตียงนอน    ทบทวนข้อเรียนรู้ ในท่ามกลางวิวทะเลและทิวยอดมะพร้าว    ได้ความสดชื่นสุดๆ   

กำหนดการเป็นดังนี้ (ปรับได้) 

08.30 – 09.00 ลงทะเบียน 

09.00 – 09.15 Warm up: ฉันเป็น “ผู้มีชื่อเสียงนะ” พาฉันออกไปจากที่นี้ 

09.15 – 10.00 Reflection: เมื่อวานเป็นอย่างไรบ้าง 

10.00 – 11.00 Exercise: หมวดหมู่ที่สร้างสรรค์ 

11.00 – 11.15 BREAK 

11.15 – 12.45 Exercise: WORLD CAFÉ 

12.45 – 13.45 Lunch 

13.45 – 14.00 Warm up: “ทำคนละส่วน 

14.00 – 14.45 Exercise: มาเรียนรู้ที่จะสร้างบทสนทนาที่ดีกัน 

14.45 – 15.15 Prototyping: เรียนรู้ที่สนทนา 

15.15 – 15.30 BREAK 

15.30 – 17.00 Prototyping: เรียนรู้ที่สนทนา 

17.00 สะท้อนคิดและจบกิจกรรม

เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของวันนี้คือ: เพื่อพิจารณาและสำรวจนักเรียน: การมีส่วนร่วม / การพูดคุยเพื่อการเรียนรู้ • เพื่อสร้างและจำลองเงื่อนไขการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  • เพื่อสำรวจรูปแบบการสนทนาเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย (เล่าเรื่องราว อธิบาย วิเคราะห์ อนุมาน จินตนาการ สำรวจ ประเมิน อภิปราย โต้แย้ง ให้เหตุผลและถามคำถามของตนเอง ควบคู่ไปกับการให้แต่ละกลุ่มฟัง คิด เกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละกลุ่มได้กำลังฟัง   ให้เวลาผู้อื่นได้คิด และเคารพ มุมมอง ทางเลือกของผู้อื่น)  และพิจารณาว่าสิ่งนี้จะฝังอยู่ในทุกรายวิชาได้อย่างไร  • เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ให้มั่นใจในการสนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้วิธีการพูดคุย และช่วยให้นักเรียนได้คิดและฟังให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น    “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเปิดกว้างทางความคิดให้เด็ก ๆ คิด  ไม่ใช่แค่ให้เขาเอาแต่ความคิดของคนอื่นมาพูด” (ดัดแปลงจาก Martin Nystrand et.al. (1997) Opening Dialogue: understanding the dynamics of language and learning in the English classroom, New York: Teachers College

09.00 – 09.15 Warm up: ฉันเป็น “ผู้มีชื่อเสียงนะ” พาฉันออกไปจากที่นี้  

จุดประสงค์ของกิจกรรม : การพัฒนาเทคนิคการตั้งคำถามและฝึกการประมวลผลข้อมูล สำรวจอุปนิสัยทางความคิด: อยากรู้อยากเห็น: สงสัยและตั้งคำถาม, สำรวจและสอบสวน, ยืนหยัดมุ่งมั่น: อดทนต่อความไม่แน่นอน, จินตนาการ: การสร้างการเชื่อมโยง, เล่นกับความเป็นไปได้, การมีวินัยในการกำกับตนเอง : พัฒนาเทคนิค องค์ประกอบของห้องเรียนประสิทธิภาพสูงที่เกี่ยวข้อง: ท้าทาย กระบวนการกลุ่ม มีตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ รับรู้อารมณ์ จัดการตนเอง ทุกคนมี ส่วนร่วม สะท้อนคิด

เป็นเกมที่เล่นง่ายและสนุก    มีบัตรชื่อเซเลบ บัตรละชื่อ    แจกผู้เข้าร่วมครึ่งหนึ่งของทั้งหมด    ให้คนไม่ได้บัตรเป็นผู้ซักและทายว่าเป็นใคร    แล้วสลับบทบาท   จบแล้วคุยกันเรื่องวิธีตั้งคำถามของคนที่ทาย    โดยเฉพาะคนที่ถามและทายเก่ง 

09.15 – 10.00 Reflection: เมื่อวานเป็นอย่างไรบ้าง 

คุณพอลสะท้อนคิดป้อนกลับว่าการประชุมปฏิบัติการก้าวหน้าไปอย่างไร    ตอนไปปฏิบัติจริงจะต้องปรับอย่างไร    สรุปได้ว่า ก้าวหน้าดีมาก   

9.40 – 10.40  Exercise: หมวดหมู่ที่สร้างสรรค์ 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : สำรวจกระบวนการจัดหมวดหมู่  กำหนดแนวคิด และการมองหาวิธีอื่นในการจัดกลุ่ม

ทีม ๖ คน ใช้เวลา ๑๐ นาที ไปจัดกลุ่มสิ่งของบนโต๊ะ    โดยหนึ่งในทีมแสดงบทผู้นำ    มีการกำหนดวิธีจัดกลุ่มหลากหลายแบบ  มีความซับซ้อนต่างกัน    ครบ ๑๐ นาทีเวียนไปโต๊ะอื่น  และเปลี่ยนตัวผู้นำ    หลังจากนั้นให้สะท้อนคิดว่า กิจกรรมกระตุ้นทักษะการสนทนาอย่างไรบ้าง    กระตุ้นอะไรบ้างใน Five Habits of Mind     คุณพอลชี้ให้เห็นว่า เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นพัฒนาการของเด็กในหลากหลายด้าน   

ผมลองถาม Gan AI ทั้งสามของผมว่า How does creative categorization exercise stimulate development of primary school children? How to organize an effective categorization exercise? How important is the facilitator? What are dos and don'ts for facilitator?  ได้รับคำตอบที่ให้ความรู้ความเข้าใจดีทีเดียว

     

10.50 – 12.45 Exercise: WORLD CAFÉ 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ฝึกเทคนิคต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น

แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ - ๖ คน   แยกกันไปทำกิจกรรมต่างกันที่แต่ละโต๊ะ   ที่แต่ละโต๊ะสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งทำหน้าที่นำ ตามคำสั่งและสิ่งของที่จัดไว้ให้    เพื่อให้สมาชิกได้สัมผัสต่างแบบ และอภิปรายการตีความหรือความเห็นต่อกัน    ใช้เวลาที่โต๊ะละ ๑๕ นาที   แล้วเวียนโต๊ะจนครบทั้ง ๔ โต๊ะ   

  สะท้อนคิด: คุณจะใช้กิจกรรมนี้ในชั้นเรียนอย่างไร? คุณได้ใช้ทักษะการคิด (dialogic thinking) อันไหนไปแล้วบ้าง? คุณใช้ลักษณะนิสัยของการคิดอย่าง สร้างสรรค์ (Creative Habits of mind) ตัวไหนไปแล้วบ้าง? คุณใช้องค์ประกอบตัวไหนของห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง (High Functioning Classroom) ไปแล้วบ้าง?   

จะเห็นว่า คำถามชวนสะท้อนคิดจะช่วย dialogic learning อย่างมาก    และระหว่างที่ผมเข้าสังเกตคำพูดในกลุ่ม พบว่าบางครั้งสามารถจับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้พูดได้    เช่นบางคนศรัทธาการเรียนจากผู้รู้  มากกว่าคุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์    ซึ่งต่างจากความเชื่อของผม   

Bloom’s Taxonomy

จุดประสงค์ของการสอนด้วยการเสวนา คือ เพื่อกระตุ้นการคิดและพัฒนาการเรียนรู้  อย่างไรก็ตามทักษะในการคิดนั้นมีหลายระดับดังแสดงในภาพ Bloom’s Taxonomy (จำ เข้าใจ  ประยุกต์ใช้/อธิบาย  วิเคราะห์ ประเมิน  สร้าง)    การจะกระตุ้นทักษะการคิดในระดับต่างๆ นั้น ครูจะใช้การถามคำถามและคำถามที่ต่างกันไป เพื่อกระตุ้นทักษะการคิดในแต่ละระดับ เช่น: @ สร้าง (Create) – คุณจะเรียงรูปทั้ง 6 รูปอย่างไรให้เป็นเรื่องราว?  @ ประเมิน (Evaluate) – ในกิจกรรม 'เรืออัปปาง' ทำไมการไม่โยนหมอทิ้งไปนอกเรือจึงมีความสำคัญ?  @ วิเคราะห์ (Analyse) – ในกิจกรรม ‘กล่องปริศนา (moving box)’ คุณได้รับข้อมูลที่เป็นเบาะแสเพิ่มเติม คุณต้องทำอะไรเพื่อที่จะระบุตัวเจ้าของกล่องให้ได้   @ นำไปใช้ (Apply) – คุณจะใข้กฏของการพูดคุยที่ดีมาช่วยในการโต้วาทีกันได้ยังไง?   @ เข้าใจ (Understand) – คุณทำยังไง ตัดสินใจยังไง ในการจัดประเภทให้กับผ้าหลายชิ้นที่ไม่เหมือนกัน?  @ จำ (Remember) – คุณจำของได้กี่ชิ้น จากรูปภาพที่ฉันให้คุณดูไปเมื่อกี้นี้?

๔ กลุ่มเดิม ได้รับแผ่นชาร์ท ระบุ Bloom’s Taxonomy ของการคิด ๖ ระดับ  ฉายภาพขึ้นจอ ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันตั้งคำถาม ๖ คำถาม    ที่สะท้อนการคิดคำถามละระดับ  ให้ครบทั้ง ๖ ระดับ   

 

13.45 – 14.00 Warm up: “ทำคนละส่วน  Acting the part 

 เป็นกิจกรรมทายคำจากภาพวาดที่วาดเพื่อบอกใบ้คำ    โดยทำเป็นคู่ๆ   

14.00 – 15.15 Exercise:  สนทนาเพื่อการเรียนรู้ (LEARNING TALK) 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ให้โอกาสผู้เข้าอบรมได้ออกแบบและกิจกรรมที่เน้นการพูดคุยในชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญ ของการเรียนรู้ผ่านการพูดคุย: เล่าเรื่องราว อธิบาย วิเคราะห์ คาดเดา จินตนาการ สำรวจ ประเมิน อภิปราย โต้แย้ง แยกแยะ ให้เหตุผลและถามคำถามของตนเอง   

ขั้นตอนของกิจกรรม : • ผู้เข้าอบรมจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 3 คน และให้เวลา 60 นาทีในการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนไดฝึกฝนแนวคิดหลัก 10 ประการของการเรียนรู้ผ่านการพูดคุย • แต่ละกลุ่มจะได้รับการ์ดที่เป็นหนึ่งในสิบประการของการเรียนรู้ผ่านการพูดคุย   1. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านเรียนรู้วิธีการตั้งคำถามเพื่อส่งเสริมความเข้าใจให้มากขึ้น)  2. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่างการคาดคะเนจากข้อมูล (Speculating) กับการทาย (Guessing)    การคาดคะเน (Speculating) หมายถึงกระบวนการคิดที่มีสำคัญมากอันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะอันวางอยู่บนพื้นฐาน ของประสบการณ์หลักฐาน และอาจรวมถึงทฤษฏีต่าง ๆ  3. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านใช้หลักฐานเพื่อส่งเสริมข้อโต้แย้ง  4. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านเข้าใจความแตกต่างระหว่างการบรรยาย (Describing) และการอธิบาย (Explaining)   การบรรยาย คือ การที่จะตอบคำถามคำว่า “อะไร” (บรรยายสิ่งที่เราเห็น เป็นต้น)   การอธิบาย คือการที่จะตอบคำว่า “ทำไม” (เช่น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”)   5. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านเข้าใจ “การฟังอย่างตั้งใจ” (Active Listening)   6. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านใช้เรื่องเล่าให้เขาเข้าใจมากขึ้น    เรื่องนั้น ๆ จะต้องอธิบายแนวคิด (Concept) และ ความคิดเห็น (Idea)   7. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านใช้การประเมินเพื่อปรับปรุงคุณภาพของงานของพวกเขา   8. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนของท่านใช้จินตนาการเพื่อการแก้ปัญหา   9. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนฝึกใช้การพูดคุยเชิงสำรวจ (Exploratory Talk) ที่สามารถส่งเสริมความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น การพูดคุยเชิงสำรวจมักจะใช้คำว่า “ฉันสงสัยว่า.....”  “เป็นไปได้ไหมว่า.....” “ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ว่า......” “อาจเป็นไปได้ที่ว่า ...... 10. ให้ออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนหาข้อดีหรือประโยชน์จากข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน (Disagreement) ของแต่ละคน

 เป็นกิจกรรมออกแบบการสอน ๑๕ นาที    ของ ๖ กลุ่ม กลุ่มละ ๔ - ๕ คน   

15.15 – 15.30 BREAK 

15.30 – 16.30 Prototyping: เรียนรู้ที่สนทนา 

เป็นการนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบตามเป้าหมายที่วิทยากรกำหนดให้แต่ละกลุ่ม    โดยนำเสนอกลุ่มละ ๑๕ นาที    ตามด้วยการสะท้อนคิด ๕ นาที    รวม ๓ กลุ่ม   

16.30 – 17.00  สะท้อนคิด  และจบกิจกรรม  

แยกสะท้อนคิด ๓ กลุ่ม   ผมไปฟังกลุ่มที่ อ. ฮูดา (มรภ. ยะลา) เป็น Fa   และคุณพอลอยู่ด้วย    ให้สะท้อนคิด ๒ เรื่อง  (๑) ข้อกังวลเมื่อไปทำหน้าที่ Fa จริงๆ   (๒) ประเด็นอื่นๆ ที่อยากแลกเปลี่ยน 

นศ. มรภ. พิบูลสงคราม ชื่อ ริน ให้ข้อกังวลที่ดีมาก ว่า กังวลปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่คาดคิด   ที่มีคนบอกว่า ทีมงานจะไม่ปล่อยให้เผชิญคนเดียว จะค่อยช่วยเหลือ    และคุณ พอล แนะนำว่า อย่าอายที่จะบอกว่าตนไม่รู้และขอความช่วยเหลือ   อย่าหลงคิดว่าคนเป็นครูต้องรู้ดีทุกเรื่อง    มีการเปิดใจระหว่าง นศ., ศน., และอาจารย์มหาวิทยาลัย ดีมาก   ถือได้ว่าการประชุมปฏิบัติการประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่เปิดใจได้อย่างเยี่ยมยอด

ผมนึกในใจว่า ป้องกัน และเตรียมรับมือต่อปัญหาไม่คาดคิดได้โดย BAR แต่ไม่มีโอกาสพูดเพราะเวลาจำกัด   

วิจารณ์ พานิช

๒๐ เม.ย. ๖๗

ห้อง ๕๐๙   โรงแรมเดอะเซส  บางแสน     

    

หมายเลขบันทึก: 718305เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2024 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2024 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท