สอนเสวนา สู่การเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย  ๓. กิจกรรมในวันที่ ๒ 


  

๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ 

กำหนดการเป็นดังนี้ (ปรับได้)

08.30 – 09.00 ลงทะเบียน 

09.00 – 09.20 Warm-up: การเชื่อมโยง  

09.20 – 09.40 Reflection: เมื่อวานเป็นอย่างไรบ้าง 

09.40 – 10.30 BREAK 

10.30 – 11.10 Activity: ซากเรือที่อับปาง 

11.25 – 12.10 12.10 – 12.45 Activity: ผีเสื้อที่สวยงาม  Activity: เกมตัวเลข 

12.45 – 13.45 LUNCH 

13.45 – 14.00 Warm up: Hot Seat 

14.00 – 14.40 14.40 – 15.30 Activity: เรื่องราวของสังคม Activity: กล่องที่เคลื่อนย้าย 

15.30 – 15.45 15.45 - 16.30 BREAK Activity: มาสร้างจักรวาลกัน 

16.30 – 17.00 Activity: ยังคงมีชีวิต 

17.00 สะท้อนคิดและจบกิจกรรม

เป็นครั้งแรก ที่ผมเข้าร่วมกิจกรรมนี้แบบเต็มเวลาและเต็มรูปแบบ   พร้อมกับเตรียมเรียนรู้จากกิจกรรมอย่างเต็มที่    ตีสามผมตื่นขึ้นมาเตรียม    โดยอ่านเอกสารรายละเอียดของกิจกรรม เตรียมทำความเข้าใจล่วงหน้า

เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของวันนี้คือ การปฏิบัติกิจกรรมตามหลักสูตรที่นำไปใช้ได้จริงและสนุกสนาน ซึ่งจะสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตให้กับผู้เรียน: ผู้เข้าอบรมจะต้อง: • พิจารณาและศึกษาวิธีการรับฟังและการตั้งคำถาม และค้นหาวิธีกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น • สร้างและออกแบบข้อตกลงสำหรับวิธีการสอนแบบสอนเสวนาที่มีประสิทธิภาพ (เน้นที่การฟัง/การตั้งคำถาม/การกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วม) • แสดงความเข้าใจของผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับ 'ลักษณะเฉพาะการเป็นครู' (และวิเคราะห์ว่าการตั้งคำถามของผู้เรียนเป็นการท้าทายครูอย่างไร) และพัฒนาความเข้าใจของผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่มีความหมาย • สร้างความมั่นใจของผู้เข้าอบรมด้วยการตั้งคำถาม (และการถูกถาม) และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน • ทำความคุ้นเคยกับหลักในการตั้งคำถามที่มีประสิทธิภาพและคำถามประเภทต่าง ๆ ที่มีไว้สำหรับจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน • ค้นหาแนวทางเพื่อพัฒนาความสามารถในการฟังของนักเรียน ถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นซึ่งกันและกัน (โดยเชื่อมโยงกับรายวิชาในหลักสูตร) ครูผู้สอนที่เก่งกาจจะมองเห็นนักเรียนเป็นเพื่อนคู่คิดระหว่างการจัดการเรียนรู้  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้รับความรู้เพียงอย่างเดียว (Swaffield, 2011)    

เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้สังเกตการสอน เสวนาที่มีประสิทธิภาพ เราจะสังเกตเห็นว่ามีคำถามที่ช่วยให้นักเรียนได้คิด และสังเกตเห็นว่า... • นักเรียนถูกกระตุ้นให้มีส่วนร่วมและต่อยอดแนวคิดให้กับกลุ่ม • ทั้งครูและนักเรียนมีการโยนประเด็นท้าทายที่ต้องใช้ความคิดให้กับทุกคนในห้องเรียน • มีการถามเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงเหตุผล หาวิธีพิสูจน์แนวคิดหรือการคาดการณ์ของตัวเอง • สมาชิกมีการต่อรองในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และอาจมีการเปลี่ยนแนวคิดของตัวเอง

  Alexander (2008) กล่าวไว้ว่า การสอนเสวนาจะดำเนินไปด้วยการตั้งคำถามเป็นหลัก (ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาในระดับชั้นเรียน กลุ่ม หรือรายบุคคล)    ซึ่งจะ • ขึ้นอยู่กับบริบทและเนื้อหาจากบทเรียน • ต่อยอดจากความรู้เดิม • เป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่าเด็ก ๆ เข้าใจประเด็นนั้น ๆ จริง • จะเปิดกว้างให้เด็ก ๆ ได้... ตอบคำถามปลายปิด (เช่น อะไรคือ....?) และปลายเปิด (จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.....) • ใช้ร่วมกับชีวิตประจำวัน เจาะลึกหาข้อมูล (ทำไม...) • ใช้การถามชี้นำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น • กระตุ้นและท้าทายให้เกิดการคิดและการใช้เหตุผล • ถามคำถามปลายเปิด และถามชี้แนะให้สมดุลกัน เพื่อลดความผิดพลาดในการตอบคำถาม • เมื่อถามคำถาม ควรชัดเจนในเรื่อง “ความตั้งใจ” เช่น หากจะตรวจสอบความเข้าใจของเด็ก ให้ใช้คำถามปลายปิด และหากจะตรวจสอบว่าเด็กได้ความคิดหรือไม่ ให้ใช้คำถามปลายเปิด    ทำให้ชัดเจน และทำให้แน่ใจในทุกครั้งว่าคุณมี “ความตั้งใจ” ในแต่ละการถาม • ให้เวลาผู้เรียนได้คิด

09.00 – 09.20 Warm-up: การเชื่อมโยง   BOXES (กล่องปริศนา) 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ให้ผู้เข้าอบรมค้นหาคำตอบร่วมกัน   และสร้างการเชื่อมโยง

เป็นเกมสั้นๆ เพื่อฝึกการสังเกต  ปรึกษาหารือกัน และเชื่อมสู่ความหมาย   

09.20 – 09.40 Reflection: เมื่อวานเป็นอย่างไรบ้าง 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ทบทวนเข้าอบรมเกี่ยวกับประเด็นหลักต่าง ๆ ของกิจกรรมเมื่อวาน    ตอบคำถามและไขข้อสงสัยให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนคิดอีก เพราะได้ส่งข้อสะท้อนคิดให้วิทยากรแล้วเมื่อวาน   ช่วงนี้คุณพอลเองชี้ว่าเมื่อวานการกำหนดโจทย์และเวลาไม่ชัดเจน   และให้ผมสะท้อนคิดข้อเรียนรู้จากเมื่อวาน    ผมให้ ๔ ข้อ (๑) บทบาทครูในการหนุนให้นักเรียน engage กับกิจกรรมทั้งด้านกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา    ที่ต้องเข้าใจว่าทั้ง ๔ ด้านสนธิพลังกัน    และเป็นทั้ง end  และ means ของการเรียนรู้และพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมของมนุษย์ (๒) การพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมของมนุษย์ อาจมองว่า เป็นการพัฒนาครบ VASK   และต้องการระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ผู้เกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์แบบคนเสมอกัน    ไม่ตกอยู่ในบรรยากาศของอำนาจเหนือ   ที่ช่วยให้คนกล้าแสดงออก ในวงสานเสวนา   (๓) ชวนคิดว่า จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย ให้หลุดจากวัฒนธรรมอำนาจได้อย่างไร ดำเนินการอย่างไร ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะแสดงบทบาทอย่างไร  ฝากให้ช่วยกันคิด และดำเนินการจากมุมของผู้ปฏิบัติคือครู   (๔) แนะนำหนังสือ สอนเสวนา สู่การเรียนรู้เชิงรุก            

๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ เป็นรายการสร้างโมเดลมหาวิทยาลัยของเมื่อวาน ตามด้วยการให้คะแนนโดยกลุ่มอื่น   และอภิปรายร่วมกัน 

9.40-10.30 เปลี่ยนเป็น ๑๐.๓๐ - ๑๑.๓๐ น.    การเปลี่ยนแปลงจำเป็นไหม ที่โรงเรียนของเรา? IS CHANGE NECESSARY IN OUR SCHOOLS? 

วัตถุประสงค์: ใช้ประเมินความเข้าใจของผู้เข้าร่วม ว่าโรงเรียนในประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไหม

ใช้กระบวนการกลุ่ม   เอาการ์ดข้อความติดบอร์ด ๔ quadrant มีใน รร. แต่ต้องปรับปรุง   มีและใช้การได้   มีแต่ใช้การไม่ได้    ไม่มีใน รร.  แต่ต้องการให้มี    สิ่งที่สังเกตเห็นคือ สมาชิกกลุ่มเสวนากันคล่องขึ้นมาก    และมีบางกลุ่มเขียนการ์ดเพิ่ม   ตามด้วยการเดินวนไปประเมินงานเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่ม    และเขียน postit เพิ่มให้   สุดท้ายเจ้าของผลงานกลับมาพิจารณาข้อเสนอของเพื่อน    แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่กลุ่มละ ๓ นาที    โดยให้ตอบคำถาม เราจัดการการ์ดอย่างไร ใช้หลักการอะไร   จัดการอย่างไรต่อคำแนะนำที่เพื่อนให้  การศึกษาไทยต้องปรับปรุงในระดับใด     

ฟังแล้วผมสะท้อนคิดกับตัวเองว่า    ต้องหาวิธีชักชวนให้ผู้เข้าร่วมคำนึงถึงประเด็นที่ตนเองมีส่วนทำได้เป็นหลัก    ไม่เน้นคิดให้ผู้อื่นทำ    และขออนุญาตคุณพอลเล่าต่อที่ประชุม    

11.50 – 12.45: ผีเสื้อที่สวยงาม  

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ฝึกการฟัง ตั้งคำถาม วิจารณ์และต่อยอดผลงานของผู้อื่นในด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

ให้แต่ละคนดูรูปผีเสื้อ ๑ นาที    แล้วใช้เวลา ๕ นาทีวาดรูป    ดูรูปจากจออีก ๓๐ วินาที   จับคู่ ตั้งคำถามต่อกันเพื่อช่วยการปรับปรุง  ห้ามให้คำแนะนำ    แล้วปรับปรุง   ทำแบบเดิมซ้ำอีกรอบหนึ่ง    ตามด้วยการดูวิดีทัศน์ตัวอย่างในเด็ก ป. ๑ vที่ครูอธิบายต่อผู้ชมว่า ในที่สุดเด็กวาดรูปผีเสื้อได้สวยงามได้โดยการรับฟังคำถามจากเพื่อนคู่เรียนหลายรอบ จนจับหลักได้    หัวใจคือจับหลัก ไม่ใช่จับรายละเอียด  รายละเอียดมาทีหลัง         

12.45 – 13.45 Lunch

13.45 – 14.00 Warm up: Hot Seat 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : การพัฒนาและปลูกฝังของการสอนและการเรียนรู้แบบสอนเสวนา

ให้สมาชิกกลุ่มผลัดกันนั่ง “เก้าอี้ร้อน” ที่ต้องทายคำศัพท์ที่เพื่อนร่วมทีมช่วยกันบอกใบ้ด้วยท่าทางให้สำเร็จภายใน ๓๐ วินาที    หากทายไม่ได้ภายใน ๓๐ วินาที เปลี่ยนคนนั่งเก้าอี้  

14.00 – 14.40 Activity: เรื่องราวของสังคม 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : พัฒนาความมั่นใจในทักษะการพูดและการฟัง การให้ผู้เข้าอบรมเคารพในมุมมอง ทางเลือก ค้นหา ว่าคำถามที่ดีสามารถปรับปรุงความเข้าใจของเราได้อย่างไร และให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ แก่ผู้อื่น เพื่อให้เข้าใจถึงพลังของการสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด ฝึกอธิบาย ฟัง วิเคราะห์ ตั้งคำถาม บรรยาย

ผมไม่ได้อยู่สังเกตการณ์ เพราะต้องออกไปประชุมออนไลน์กิจการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี ๒๕๖๗ ระหว่าง ๑๓.๓๐ - ๑๖.๐๐ น.    ทราบตอน reflection ก่อน ๑๗ น. ว่า เป็นการให้สมาชิกกลุ่มฝึกการฟังอย่างตั้งใจ   โดยมีข้อกำหนดดังนี้ ผู้เข้าอบรมต้องคิดด้วยตนเองเป็นเวลา 3 นาทีเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อนที่แต่ละคนเคยพบเจอและวิธีที่การจัดการกับมัน • ผู้เข้าอบรมจะย้ายไปจับคู่กับคนที่ไม่เคยทำงานด้วยมาก่อน   ให้บุคคล A เล่าเรื่องราวของตัวเอง  อธิบายสถานการณ์และวิธีจัดการกับเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างละเอียด    จากนั้นบุคคล B ทำหน้าที่เป็นครูและต้องรับบทเป็นผู้ฟังเป็นเวลา 3 นาทีโดยห้ามพูดอะไร   จากนั้นบุคคล B ในฐานะครูสามารถถามคำถามได้   แต่ประเด็นของการตั้งคำถามคือช่วยให้บุคคลนั้นเห็นมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น    จากนั้นให้ทั้ง้คู่สลับบทบาท • จากนั้น B จะสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวของ A ให้กับ A ฟัง (จุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด)     การสรุปสามารถเพิ่มเรื่องของวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ เข้าไปด้วยก็ได้    จากนั้นให้ A สรุปสั้น ๆ เช่นเดียวกับที่ B ทำ • หลังจากที่ทั้งคู่ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องราวของกันและกันแล้ว   จากนั้นให้แชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนทั้งหมดฟัง 

สมาชิกสะท้อนคิดตอนเย็นว่ากิจกรรมนี้สนุกและเป็นประโยชน์มาก   ท่านหนึ่งบอกว่าใจเปิดจนตั้งใจเล่าเรื่องหนึ่ง   แต่พอถึงเวลาจริงอารมณ์พาไปเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องคางคาใจมานาน    และได้มุมมองใหม่จากคำถามของเพื่อนจริงๆ       

14.40 – 15.30  : Activity กล่องที่เคลื่อนย้าย

จุดประสงค์ของกิจกรรม : กิจกรรมนี้มีประโยชน์สำหรับการสำรวจศักยภาพในการใช้วัตถุหรือเซตของวัตถุให้เป็นจุดเน้นสำหรับการเรียนรู้ในการพูดคุยและการมีส่วนร่วมของนักเรียน  ส่งเสริมการสำรวจ จินตนาการ และการคาดการณ์  และใช้สำหรับสอนนักเรียนทั้งชั้นเรียนได้

ขั้นตอนการจัดกิจกรรม • อธิบายว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังเดินทางมาที่การอบรมเชิงปฏิบัติการเมื่อเช้านี้เราพบกล่องนี้    ข้างในเต็มไปด้วยของต่าง ๆ มากมาย   มันน่าจ่ะเอาไว้ใช้เพื่อย้ายของไปที่อื่น    แต่ว่ามันถูกทิ้งไว้บนถนน • ให้ทุกคนมาดูที่กล่องแต่ห้ามเปิด   ถามทุกคนวาเราได้เบาะแสอะไรจากกล่องบ้าง โดยที่ไม่เปิดมัน?  พยายามให้ทุกคนพยายามแสดงแนวคิด เพิ่มเติม โดยวิทยากรอาจจะพูดว่า “ใครอยากเพิ่มเติมอะไรไหม”  “เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย? เรานึกถึงเบาะแสอะไรอีก?) • ไม่มีชื่อใครอยู่บนกล่องเลย  และวิทยากรอธิบายว่าไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไงกับกล่องนี้   วิทยากรถามผู้เข้าอบรมว่าแต่ละกลุ่มคิดว่าควรทำยังไงกับกล่องใบนี้ (ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละคนแสดงความคิดเห็นโดยเรียงตามเดือนเกิด มกราคม/กุมภาพันธ์/มีนาคม) บันทึกแนวคิดต่าง ๆ ไว้  เช่น การเปิดกล่องดูข้อมูลข้างใน (แต่เราจะไม่เปิดกล่องดู  ให้บันทึกไว้ว่าเป็นคำแนะนำ)    ยกกล่องขึ้นเพื่อดูว่าหนักแค่ไหน  เขย่ากล่องเพื่อดูว่าของในนั้นมีเสียงดังหรือไม่ ดมกลิ่นของที่อยู่ข้างใน  ดูที่ตัวกล่องเพื่อดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง (เก่า ชำรุด มีฉลากติดไว้หรือเปล่า)   พยายามให้คนอื่น ๆ มีส่วนร่วมกับคำตอบโดยการขอหลักฐานหรือให้เหตุผลเพิ่มเติม - ทำไมถึงคิดแบบนั้น? "   อธิบาย รายละเอียดเพิ่มเติมได้ไหม"   คนอื่นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย  เพราะเหตุใด • ระบุว่า “กล่อง” จะต้องมีเจ้าของและผู้เข้าอบรมถูกท้าทายให้เป็นนักสืบและพยายามอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาว่ากล่องเป็นของใคร    นักสืบที่ดีจะถามคำถามมากมายและใช้ประสาทสัมผัส (ตา หูกลิ่น และสัมผัส) เพื่อพยายามค้นหาและเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ    วิทยากรถามว่า มีใครมีแนวคิดไหมว่ากล่อง ๆ นี้เป็นของใคร และเหตุใดจึงถูกทิ้งไว้    ให้ผู้เข้าอบรมคาดเดาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลา 2-3 นาที ในกลุ่ม 3 - 4 คน กับผู้เข้าอบรมคนอื่น ๆ ที่นั่งใกล้กัน และให้ผู้เข้าอบรมทุกคนต้องดูกฎของห้องเรียนที่ติดไว้ • แต่ละกลุ่มแชร์ความคิดของตัวเองว่า 'กล่องสำหรับย้ายของ' เป็นของใคร และเหตุใดจึงถูกทิ้งไว้    วิทยากรพยายามตั้งใจฟังคำตอบและคิดตาม (ใช้แนวคิดในงานของ Mercers – เทคนิคการพูดเพื่อสร้างความเข้าใจ)    จากนั้นวิทยากรแนะนำว่าบางทีถ้าเปิด 'กล่องสำหรับย้ายของ' เราอาจได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเจ้าของและช่วยการทำงานของผู้เข้าอบรมในฐานะนักสืบให้ง่ายขึ้น    ผู้เข้าอบรมแต่ละคนจะได้รับตรานักสืบ • ผู้เข้าอบรมบางคนจะรับเชิญให้เปิดกล่องและนำวัตถุแต่ละรายการออกอย่างระมัดระวัง  และวัตถุต่าง ๆ จะถูกส่งผ่านไปให้ผู้เข้าอบรมแต่ละคนอย่างระมัดระวังและเงียบ ๆ ไปรอบๆ วงกลม และควรแนะนำให้นักเรียนตรวจสอบวัตถุแต่ละชิ้นทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วน    เมื่อได้ตรวจสอบวัตถุเรียบร้อยแล้ว ให้วางวัตถุบนผ้าที่พื้นอย่างระมัดระวัง    ตอนนี้มีเราเบาะแสมากขึ้นแล้วว่าใครเป็นเจ้าของกล่องใส่ของ    ตอนนี้ทุกคนเป็นนักสืบ มีคดีให้แก้ไขและต้องระบุตัวเจ้าของกล่อง

การสะท้อนคิด: ให้เน้นที่บทบาทของวิทยากร - ดูว่าวิทยากรถามคำถามอะไร, วิทยากรกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมคิดได้ดีขึ้นได้อย่างไร  ในตอนที่เป็นนักเรียนส่วนใหญ่แล้วใช้รูปแบบการพูดคุยแบบไหน? กฎของการพูดคุยที่ดีข้อไหนที่ได้ปฏิบัติขณะทำกิจกรรม?

15.30 – 15.45 BREAK 

16.00 - 16.30  แผนผังความคิดสร้างสรรค์   Creative Mindmaps

   จุดประสงค์ของกิจกรรม : ระบุการเชื่อมโยง ฝึกวิธีขยายแนวคิดและรูปแบบผลงานให้กว้างขึ้น

เป็นกิจกรรมกลุ่มที่เริ่มจากการ์ด กลุ่มละ ๒ แผ่น แตะละแผ่นมีคำ ทะเล ป่า อนาคต การเรียนรู้ ชุมชน ความรัก อิสระ แผ่นละคำ   ให้ร่วมกันคิดคำเป็น mindmap ออกจากคำหลักนั้น เป็น galaxy ของคำที่เชื่อมโยงกัน    แล้วหาทางเชื่อม ๒ galaxy เข้าด้วยกัน   

ตอน reflection  มีการกล่าวว่า หากนำไปใช้กับเด็กประถม ต้องหาคำที่เหมาะสมกับวัย    คุณพอล บอกว่าใช้คำที่เกี่ยวกับสาระที่จะเรียนในคาบนั้น 

16.30 – 17.00 Activity: ยังคงมีชีวิต  ภาพหุ่นนิ่ง (Still – Life)

เป็นภาพสิ่งของที่เคลื่อนไหวไม่ได้    

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ  สิ่งที่ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ในระหว่างวัน  และสร้างความเข้าใจ

ผู้เข้าอบรมจะทำงานแบบเดี่ยว  โดยมีเวลา 10 นาทีในการสร้างโมเดล 3 มิติโดยใช้สิ่งของที่มีในห้องอย่างน้อย 10 ชิ้น  ซึ่งสิ่งของที่เลือกมาควรเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในวันนี้ • หลังจากครบ 10 นาทีให้จับกลุ่ม 3 คน และหาวิธีในการนำโมเดลของทั้ง 3 คนมารวมให้เพื่อสื่อความหมายถึงการเรียนรู้ที่ได้รับของ สมาชิกทั้ง 3 คน • เมื่อแต่ละกลุ่มสร้างโมเดลเรียบร้อยแล้ว ให้ทุกกลุ่มนำโมเดลมาจัดแสดง และให้ทุกคนเดินรอบโมเดลเพื่อชื่นชมผลงานจากการเรียนรู้ ของกลุ่มอื่น ๆ    ตามด้วยคำอธิบายของตัวแทนแต่ละกลุ่ม   

17.00 สะท้อนคิดและจบกิจกรรม

แบ่งกลุ่มสะท้อนคิด ๓ กลุ่ม    ผมไปเข้ากลุ่มที่ อ. ฮูดาห์ ดูมีแด (มรภ. ยะลา) เป็น Fa   และคุณพอลเข้ามาร่วมด้วย    ทำให้การสะท้อนคิดมาสาระลึกมาก   สนุกสนานกันจนเลย ๑๘ น.   ผมเกิดความคิดว่า นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่นควรสะท้อนคิดแนว futuristic reflection  ... สะท้อนคิดสู่อนาคต ที่ตนจะต้องไปทำหน้าที่ Fa   เน้นสะท้อนคิดด้วยคำถาม   “ปรับเป็นอย่างนี้ดีไหม เพื่อให้เหมาะแก่ นศ. ที่จะเข้า workshop คราวหน้า”   “ใช้คำพูดที่ปรับว่าอย่างนี้ .. ได้ไหม  จะยังคงสาระและความหมายอย่างเดิมไหม แต่ปรับให้เป็นศัพท์วัยรุ่น”  เป็นต้น   

ผู้เข้าอบรมแต่ละคนจบกิจกรรมของวันด้วยการเขียนใบงาน ฉันชอบ... / ฉันสังเกตเห็น... / และฉันอยากจะแนะนำ... และเขียนกระดาษโน้ตบนกระดานคำถามที่มีหัวข้อว่า 'สิ่งที่ฉันไม่เข้าใจ คือ …' สิ่งที่ฉันอยากรู้เพิ่มคือ ...' คำถามของฉันคือ ...   ผู้เข้าอบรมแต่ละคนจะกรอกแบบประเมินศักยภาพของตนเองโดยใช้แบบฟอร์มการประเมินที่ประกอบขึ้นจากกิจกรรมวันก่อน   นอกจากนี้แต่ละกลุ่มจะต้องเพิ่มตัวชี้วัดใหม่สองตัวเพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่แต่ละกลุ่มเรียนรู้ในแต่ละวัน

จบแล้วผมไปนั่งฟัง AAR ระหว่างคุณพอลกับ Fa ทั้งสอง   ได้รับรู้เหตุการณ์ในการประชุมในมิติที่ลึกขึ้นมาก    เลิกเกือบทุ่ม   

วิจารณ์ พานิช

๒๐ เม.ย. ๖๗

ห้อง ๕๐๙   โรงแรมเดอะเซส   บางแสน 

 

หมายเลขบันทึก: 718292เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท