สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขากับการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานคุ้มครองเด็กแม่ฮ่องสอน


“ปัญหาเด็ก เยาวชน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน และจำต้องอาศัยฐานข้อมูลแบบบูรณาการในมิติพหุวิทยาการ”

“ปัญหาเด็ก เยาวชน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน และจำต้องอาศัยฐานข้อมูลแบบบูรณาการในมิติพหุวิทยาการ”

9 เม.ย.2567 ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 1/2567 
เป็นการประชุมใหญ่ ที่แม้จะเป็นการประชุมที่ไม่บ่อย แต่ก็เป็นปีที่ 5 แล้วที่ผมได้นั่งอยู่ตรงนี้ 
ได้สังเกต ได้เสนอความเห็น ตามหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็กเรื่อยมา
ประชุมรอบนี้ ประธานการประชุมท่านใหม่เข้ามา คือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดท่านใหม่ (ท่านอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา) ดูท่านสนใจแนววิชาการ เลยเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอแนวความคิด 
ผมอาจจะเป็นกรรมการที่พูดในที่ประชุมเยอะหน่อย แต่ก็คิดว่า กระชับ และเอาเท่าที่จำเป็น

ผมคิดว่า เรื่องเด็ก เยาวชน เวลามีปัญหาหนักๆ หรือแรงๆมา เราก็มักจะวิ่งไล่ตามปัญหาอยู่มาก แม้พักหลังจะมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น อบรม ป้อมปราม แต่ทำไมปัญหาหลายอย่างไม่ลด แต่รุนแรงขึ้น

หลายเรื่องเราตอบไม่ได้ พยากรณ์ก็ยาก เพราะเราไม่มีฐานข้อมูลที่บูรณาการแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเป็นภาพจังหวัด ยิ่งแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีความพิเศษทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ ภูมิหลัง บริบทการพัฒนา เรายิ่งต้องมีฐานข้อมูลเชิงสังเคราะห์ออกมา ก่อนไปกำหนดเป็นแผนหรือโครงการต่างๆ

พอไม่มีภาพใหญ่ ไม่มีข้อมูลเชิงสังเคราะห์แบบบูรณาการที่ชัด ประชุมคณะกรรมการจังหวัดแต่ละครั้ง ก็เลยกลายเป็นว่าแต่ละหน่วยงานมีแนวนโยบายอย่างไร และได้ทำอะไรไปบ้าง ก็ดูๆแยกส่วนกัน ข้อมูลบางอย่างก็ดูจะย้อนแย้งกัน หรือบางอย่างก็เป็นข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่มีเวลาให้ถกแถลง เพราะเวลาประชุมมีน้อย

จุดอ่อนสำคัญคือ งานวิชาการที่ต้องเข้ามา support เวทีระดับหัวหน้าส่วนราชการเหล่านี้ ส่วนตัวผมคิดว่า ท่าน รอง ผวจ. ท่านมีใจอยู่แล้ว แต่พอขาดวิชาการ support ก็ไปลำบาก

เหมือนหลัก “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ฝั่งนโยบายเขามีแล้ว ฝั่งประชาชนก็เอาด้วย แต่ฝั่งวิชาการ เราไม่เข้มแข็งพอ อาจจะมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กหลายคนอยู่ในบอร์ดชุดต่างๆ แต่ถ้าไม่มีฐานข้อมูล งานวิชาการที่ร่วมสมัย ผู้ทรงฯทั้งหลาย รวมถึงผมก็อาจติดกับดักประสบการณ์รวมถึงวาทกรรมชุดเก่าๆได้  

                                              ภาพจาก khonthai4-0.net

 

ฐานข้อมูลที่มีส่วนใหญ่จึงกระจัดกระจาย แยกส่วนไปตามแต่ละหน่วยงาน ต่างฝ่ายต่างเก็บ ต่างวิเคราะห์ แต่ดูเหมือนขาดเจ้าภาพร่วม ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมชัดๆ

แต่แค่ “ชัด”  ไม่พอ ต้อง “ลึก” ด้วย คือ เมื่อมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ลึกลงไปก็มีแบบแผน โครงสร้างสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความเชื่อ วิธีคิด ที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งแม่ฮ่องสอน แต่ละอำเภอก็มีความเฉพาะเจาะจงในเรื่องเหล่านี้ ที่ดูเหมือนยังไม่มีฐานข้อมูลหน่วยงานใดเจาะลงไปถึง นอกจากจะเป็นงานวิจัยบางชิ้น ซึ่งเราสามารถใช้เป็น “สารตั้งต้น” ได้

                                                       ภาพจาก Blockdit.com

 

ภาพจากภาพยนตร์ซีรีส์ หญิงเหล็กศาลเยาวชน (juvenile Justice) ทาง netflix เมื่อปี 2022

 

เหล่านี้ ต้องอาศัยการ Rethinking คือคิดกระบวนระบบใหม่ จุดไหนอ่อน ต้องพัฒนาจุดนั้น

ดีใจที่ท่าน รอง ผวจ. แจ้งในที่ประชุมว่าท่านเห็นด้วยกับแนวคิดที่ผมเสนอไป 
แต่ในแง่การผลักดันให้เร่งพัฒนาฝ่ายงานวิชาการขึ้นมาสนับสนุนนั้น ผมมานึกดูแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่ทราบ และแน่นอนว่าจะให้จริงจังก็ต้องกำหนดเป็นโครงการที่มีงบประมาณรองรับด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกินบทบาทผมไป เราก็ได้แต่วิเคราะห์และนำเสนอสิ่งที่พบเจอ และเป็นไปได้ก็ Down Scale มาใช้ในจุดที่เราพอทำไหว

นำมาบันทึกไว้ เผื่อทบทวน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจต่อไปครับ
 

หมายเลขบันทึก: 717927เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2024 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2024 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท