ทำงานกับเรียนรู้อยู่ด้วยกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกัน


 

หนังสือ The Modern Learning Ecosystem (2022) เขียนโดย JD Dillon ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Learning Architect ของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง    แนะนำ L&D Mindset สำหรับที่ทำงานในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง    L&D = Learning and Development 

ผมได้เรียนรู้ว่า บริษัทสมัยใหม่เขามี L&D Department    ทำหน้าที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในองค์กร ว่า งานกับการเรียนรู้ไม่ได้แยกกัน   การเรียนรู้ต้องบูรณาการอยู่ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทำงานอย่างคล่องตัว (agile) และปรับตัว (adaptable)   

การเรียนรู้คู่การปฏิบัติงาน ใช้หลักการ ๓ ข้อ คือ

  1. หลักการ 70:20:10    คือร้อยละ ๗๐ เรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติงานของตนเอง    ร้อยละ ๒๐ เรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือเพื่อนร่วมงาน    และร้อยละ ๑๐ เรียนรู้จากการเรียนต่อหรือการฝึกอบรม
  2. เรียนรู้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับงานด้วย 4E : Education (การเรียนรู้อย่างเป็นทางการ), Experience (เรียนรู้จากประสบการณ์), Exposure (เรียนจากเพื่อนร่วมงาน), Environment (มีระบบและเครื่องมือสนับสนุน)   
  3. มีการจัดการความรู้เพื่อสนองความต้องการในขณะนั้น ๕ แบบที่เชื่อมโยงกัน คือ  (๑) รับความรู้ใหม่  (๒) ขยายความรู้เดิม  (๓) ประยุกต์ใช้ความรู้  (๔) ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา  (๕) ปรับความรู้ให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่        

กระบวนทัศน์การเรียนรู้สมัยใหม่ (Modern Learning Mindset) มี ๖ ข้อคือ  (๑) การเรียนรู้บูรณาการอยู่ในงาน  (๒) ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่หลากหลาย (๓) ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลหลักฐาน  (๔) มีแผนเรียนรู้เฉพาะตัวของบุคลากรแต่ละคน  (๕) เน้นการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลงาน (performance)  (๖) ปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว 

ระบบ L&D จึงเปลี่ยนจากหน้าที่ให้ความรู้ มาเป็นระบบสนับสนุน 

MLE (Modern Learning Environment) ในองค์กร ประกอบด้วย ๖ องค์ประกอบ ต่อกันเป็นรูปพิรามิด คือที่ฐานเป็น (๑) ระบบแบ่งปันความรู้กัน (shared knowledge)  ถัดขึ้นไปคือ (๒) การสนับสนุนให้มีผลงานดี (performance support)  (๓) การเสริมแรง (reinforcement)  (๔) โค้ชชิ่ง  (๕) การฝึกแบบช่วยเหลือ (pull training)  (๖) การฝึกแบบผลักดัน (push training)   ใช้การฝึกแบบผลักดัน หรือฝึกอย่างเป็นทางการเมื่อวิธีการอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น    นักวิชาชีพ L&D เป็นผู้จัดระบบให้มีองค์ประกอบทั้ง ๖ สนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน   

ระบบแบ่งปันความรู้ ต้องมีทั้งระบบไอทีสำหรับเก็บและเข้าถึงความรู้ขององค์กร   รวมทั้งระบบพบปะสังสรรค์หรือเวทีแบ่งปันความรู้    ที่สมัยนี้เป็นได้ทั้ง ออนไซต์และออนไลน์     

ระบบสนับสนุนการยกระดับ performance เริ่มจากการรู้ workflow  และการมีวิธีวัด performance    และรู้ว่าจะต้องเข้าไปช่วยแนะนำตรงส่วนไหนของขั้นตอนการปฏิบัติงาน    จะต้องพัฒนาความรู้และทักษะตรงส่วนไหนให้แก่พนักงานผู้นั้น

พัฒนาความรู้และทักษะให้แล้ว ต้องตามด้วยการให้กิจกรรมเสริมแรง (reinforcement)  ได้แก่การนำไปทดลองปฏิบัติแบบ role play   หรือโดยใช้สถานการณ์จำลอง (simulation) 

โค้ชชิ่ง เป็นเรื่องที่ผู้บริหารให้แก่พนักงาน เริ่มจากความสามารถในการมองเห็นจุดอ่อนหรือทักษะที่ต้องแก้ไขหรือพัฒนา    ทักษะการโค้ช  และการกำหนดลำดับความสำคัญในการทำหน้าที่โค้ช    เรื่องนี้ผมขอให้ข้อสังเกตว่า ผู้บริหารไทยสมัยนี้ไม่ค่อยให้บริการโค้ชชิ่งแก่ผู้ร่วมงาน    ต่างจากสมัยผมทำงาน ที่ผมมุ่งฝึกคน ถือเป็นความเอื้อเฟื้อแก่ผู้ร่วมงาน    คือทำหน้าที่พัฒนาเพื่อนร่วมงาน (ที่เรามักใช้คำว่า ลูกน้อง) ที่ไม่ใช่แค่พัฒนาทักษะการทำงานเท่านั้น    ยังมุ่งพัฒนาครบทั้ง VASK   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง V – Values – ค่านิยม ด้านความซื่อสัตย์สุจริตและการเห็นแก่ส่วนรวม  

  การฝึกแบบช่วยเหลือ เป็นการฝึกแบบตนเองเป็นผู้กำหนด (self-directed training)    ส่วนการฝึกแบบผลักดันเป็นการฝึกที่บังคับให้ต้องเข้า และทำอย่างเป็นระบบ   

ผมลองถาม ChatGPT ว่า Modern Learning Environment คืออะไร    ได้คำตอบว่า  “A Modern Learning Environment (MLE) refers to an educational approach that integrates technology, flexible learning spaces, personalized learning experiences, and collaborative learning methods to enhance the learning process. MLEs are designed to meet the needs of 21st-century learners by promoting critical thinking, creativity, collaboration, and communication skills.” 

ดังนั้น หลักการและวิธีการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้สมัยใหม่ ใช้ได้ทั้งต่อนักเรียนและโรงเรียน  แต่ต่อผู้ปฏิบัติงานและสถานประกอบการ

ทั้งหมดนั้น อาจตีความได้ว่า เป็นหลักการจัดการความรู้สมัยใหม่ ก็ได้   

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๖๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 717744เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2024 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2024 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท