ชีวิตที่พอเพียง  4681. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (232) เรียนรู้และปุจฉา เรื่อง Learning City


 

ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง Learning City จากโครงการหนึ่ง   ที่ดำเนินการโดยทีมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากแหล่งทุน  ทีมงานได้ทบทวนกิจกรรมในชื่อนี้และชื่อคล้ายคลึงจากทั่วโลก     ช่วยให้ผมได้ความรู้มาก

แต่ก็ทำให้ผมตั้งคำถามต่อตัวเองว่า วิธีดำเนินการแบบนี้จะส่งผลกระทบให้เกิด “จังหวัดเรียนรู้” หรือ “เทศบาลเรียนรู้”  ขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือ   เราจะตกหลุม “ทำมาก เกิดผลน้อย” หรือ “strong process, weak impact” หรือไม่    เราจะนำหลักการดีๆ ที่ริเริ่มโดยองค์การระหว่างประเทศ (เช่น UNESCO) มาปรับใช้ให้เหมาะต่อบริบทของประเทศไทย อย่างไร   

ผมไม่เห็นด้วยกับการทำตามแนวทางที่ผู้อื่นกำหนดไว้  โดยไม่ตั้งคำถามว่าเราควรปรับวิธีคิดและวิธีการนั้นให้เหมาะสมกับบริบทของเราอย่างไร    ไม่ว่า “ผู้อื่น” นั้น จะเป็นองค์การหรือหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ    เป็นนิสัยเสียติดตัวมาแต่กำเนิด   ทำให้ผมเป็นคนไม่น่ารัก ในสายตาผู้มีอำนาจ

ผมมีความเห็นว่า หลักการ และกลยุทธ Learning City, Learning Society เป็นสิ่งดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน    และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในบริบทไทย ต้องระมัดระวัง ไม่ให้หลักการนี้นำสู่พฤติกรรม “ทำตามถ้อยคำ ตามสูตรสำเร็จ”  และ“ทำเพื่อให้มี Learning City”   

   “ทำเพื่อให้มี Learning City” คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันเตือนสติว่า ไม่ใช่เป้าหมายของประเทศไทย    เราต้องใช้   “Learning City” เป็น means หรือเครื่องมือ    โดยเป้าหมาย (end) คือ พลเมืองไทยมีคุณภาพสูง  มีการเรียนรู้บูรณาการอยู่ในทุกกิจกรรม ทุกก้าวย่างของชีวิต         

ผมจึงตีความว่า “เมืองเรียนรู้”  หมายถึง “เมืองที่ดำเนินการหนุนให้พลเมืองเรียนรู้”   “เมืองที่พลเมืองร่วมกันเรียนรู้ในกิจการและวิถีชีวิตของตน”   “เมืองที่พลเมืองดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”   และเป็นการเรียนรู้ที่นำสู่ชีวิตที่มี “สุขภาวะ”    

ดังนั้น เป้าหมายสุดท้ายของ Learning City คือ “สุขภาวะ” ของพลเมืองใน City นั้น         

 ขยายความว่า มิติหนึ่งของการเรียนรู้ ที่มีความสำคัญยิ่งคือ สมรรถนะ ในการสร้างสุขภาวะ (well-being) ให้แก่ตนเอง และแก่สังคมหรือแก่เพื่อนร่วมโลก    ที่เป็นสมรรถนะเชิงซ้อน หรือซับซ้อนมาก   เป็นสมรรถนะที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต 

ผมจึงลองสมมติว่าหากผมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ Learning City แห่งหนึ่ง (สมมติว่าเป็น เมือง ก) ผมจะดำเนินการอย่างไรบ้าง    คำตอบต่อตัวเองคือ ต้องเริ่มจากรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของ เมือง ก  ว่ามี well-being ของพลเมืองอย่างไรบ้าง    คือเริ่มจากทำความรู้จักตัวเอง    ตามด้วยการกำหนดเป้าหมายว่า ต้องการพัฒนาให้ well-being ของพลเมืองของ เมือง ก เปลี่ยนไปเป็นอย่างไรใน ๑๐ ปี และ ๓ ปี    คือวางเป้าระยะยาว และระยะสั้น   

ย้ำว่า ต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุเป้าหมาย    และต้องตระหนักว่า เรื่อง Learning City เป็นเรื่องระยะยาว    หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   แต่ต้องปรับกลยุทธอยู่เสมอ   ไม่ใช่เรื่องที่ทำตามกระแส หรือทำแบบเป็น event   

กลับมาที่สมมติ เมือง ก ที่มีผมรับผิดชอบกิตกรรม Learning City    หลังวางเป้าหมาย ก็มาถึงวางกลยุทธเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น    ผมจะวางกลยุทธ (strategy) ใช้พลังภายใน เมือง ก เอง เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น   โดยหาทางให้กลไกส่วนกลางระดับประเทศเข้ามาหนุน แต่ไม่ใช่เข้ามาบงการ   

กล่าวใหม่ว่า เมือง ก ทำเอง    ไม่ใช่ขอให้กลไกระดับชาติเข้ามาทำให้    ใช้ทรัพยากรภายในเมือง ก เอง   ไม่ใช่มุ่งของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานระดับชาติ   เพราะผมมองว่า กลไกระดับชาติเกี่ยวกับการเรียนรู้มีความอ่อนแอและไม่  แน่นอน   หากจะทำเรื่องนี้ในลักษณะดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว เมือง ก ต้องมุ่งช่วยตัวเอง หรือเป็นตัวของตัวเอง เป็นกลยุทธหลัก   

กล่าวใหม่ว่า ผมเชื่อว่า Learning City ต้องมุ่งสร้างความเป็นตัวของตัวเอง    มีอิสระในการดำเนินการเพื่องพลเมืองของตนเองในระดับหนึ่ง    ไม่สมาทานกระบวนทัศน์พึ่งพิง ไม่ว่าพึ่งพิงส่วนกลางหรือพึ่งพิงองค์การระหว่างประเทศ   โดยคิดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าโดดเดี่ยวตนเอง ไม่คบค้ากับใคร    ส่วนกลางของประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ มีคุณค่าหรือประโยชน์มากในฐานะเพื่อนร่วมเรียนรู้   เป็นเพื่อนร่วมกิจกรรม หรือร่วมมือ   แต่ไม่ใช่เป็นผู้กำหนดชาลาปฏิบัติการเมืองเรียนรู้ให้แก่ เมือง ก    

จากเป้าหมาย  กลยุทธ  และชาลาปฏิบัติการ (operating platform)  ผมจะหาทีม DE – Developmental Evaluation   กับทีมปฏิบัติการ ของ เมือง ก มาร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการ ร่วมกับผู้ปฏิบัติ    โดยจะให้มแกนนำของทีมปฏิบัติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) มาร่วมกันประชุมปฏิบัติการ DE ต้นน้ำตอนต้นปี   DE กลางน้ำตอนกลางปี    และ DE ปลายน้ำตอนปลายปี   เป็นวงจรเรียนรู้เรื่อยไปไม่มีจบสิ้น

เท่ากับเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของ เมือง ก คือ DE   ที่เป็น reflective learning ร่วมกันของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   บนฐานข้อมูลของ learning city ตามที่กำหนดไว้  และเก็บรวบรวมมาโดยทีม DE   

เท่ากับ เมือง ก มีระบบฐานข้อมูล และสารสนเทศ เพื่อการขับเคลื่อนสู่การเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้”    และมีการนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ   อย่างน้อยก็ปีละ ๓ ครั้ง ในกระบวนการ DE    

เครื่องมือของการเรียนรู้เชิงระบบ (อาจเรียกว่า macro-learning) เพื่อขับเคลื่อนความเป็น  “เมืองแห่งการเรียนรู้” คือ DE

ส่วนเครื่องมือของการเรียนรู้ในทุกที่ ทุกเวลา ทุกกิจกรรม ทุกองค์กร (micro-learning) สำหรับ เมือง ก คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning)    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle หมุนเกลียวยกระดับการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด   ซึ่งหมายความว่า ผมจะจัดให้ระบบบริหาร เมือง ก มีทีมหนุน การเรียนรู้จากประสบการณ์ ในมิติต่างๆ และในทุกกิจกรรมหลักของ เมือง ก   

ทำอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว    และต้องทดลองทำ แล้วหมุนเกลียวการเรียนรู้ด้วย DE   คือไม่มีสูตรสำเร็จ   

เรียนรู้และปุจฉาเรื่อง เมืองแห่งการเรียนรู้    ลงท้ายด้วยวิสัชนาสั้นๆ    วิสัชนายาวๆ ต้องทำเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างน้อย ๓ วัน   

ลองถาม Generative AI  What are the purposes of Learning City Initiative and Movement? What are major  achievements so far?  ตามด้วย Please give examples of successful learning cities in the LMICs.   ได้คำตอบจาก ChatGPT ที่ (๑)    ช่วยยืนยันว่าหากทำอย่างถูกต้องจริงจังต่อเนื่อง การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ผลจริง   ผมจึงถามต่อว่า   Please give details of learning city movement in Kigali, Rwanda. What are major interventions? When was it started? What are measurable results?   ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์มาก   

จึงลองถาม bard ด้วยชุดคำถามเดียวกัน    ได้รับคำตอบที่ดียิ่งกว่า    และช่วยเสริมกัน (๒)    โดยผมรู้สึกว่า ในประเทศรายได้น้อย ขบวนการเมืองแห่งการเรียนรู้ ควรเน้นเป้าหมายพัฒนาด้านสังคมเป็นตัวนำ  บูรณาการไปกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ      

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ม.ค. ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717610เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2024 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2024 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท