ชีวิตที่พอเพียง  4676. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (231) เปลี่ยนขาดโรงเรียนทั้งระบบ


 

วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗ ผมเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก   เพื่อร่วมประชุม มหกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การสร้างความร่วมมือของกลไกการขับเคลื่อนเครือข่ายการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก” วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตอนบ่ายผมเข้าร่วมห้องย่อยที่ ๑  ห้องประชุมราชมนู “ถอดบทเรียนการหนุนเสริมให้โรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างเข้มแข็ง” ผู้ร่วมวงเสวนา: ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1-3 ศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก และผู้อำนวยการกองการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ผู้ดำเนินการ: นิสิตระดับปริญญาเอก ชั้นปี 1-2 สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร   ได้เรียนรู้มากอย่างอิ่มเอม 

ที่สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้กลยุทธของคณะศึกษาศาสตร์ มน. ในการทำหน้าที่ change (transformation) agent ให้แก่ระบบการศึกษาไทย    โดยสนธิพลังของนักศึกษาปริญญาโท และเอก ที่รับถึงปีละ ๓๐๐ และ ๓๐ ตามลำดับ จากครูในพื้นที่     กับพลังขับเคลื่อนของ กสศ. ที่เวลานี้เข้าสู่ยุค TSQM (Movement), TSQN (Network), และ TSQA (Teacher and School Quality Area) หรือเครือข่ายขับเคลื่อนคุณภาพครูและโรงเรียนในพื้นที่  

คุ้มอย่างยิ่งกับที่คนแก่อายุ ๘๒ จะตรากตรำชีวิต (ที่อ่อนแอจากอายุ  แต่เข้มแข็งจากแรงบันดาลใจ)  ๑ วัน เดินทางไปร่วมเรียนรู้ เพื่อหาทางขับเคลื่อนการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษาไทย   

ขอแสดงความชื่นชมการออกแบบกิจกรรม ที่สะท้อนความเข้าใจ “การเรียนรู้เชิงรุก” (active learning) อย่างลึกซึ้ง   และนิสิตระดับปริญญาเอก ที่ทำหน้าที่ดำเนินรายการก็ตีบทแตกกระจุย    รวมทั้ง ศน. และครู ผู้เข้าร่วมก็เปิดใจให้ความเห็นในช่วง dialogue อย่างมีพลังยิ่ง    และผมเชื่อว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่จะฝังใจไปนาน    นำสู่การสะท้อนคิดเมื่อได้ไปเผชิญกิจกรรมที่โรงเรียน ที่ที่ทำงานของตน  และเผชิญหรือดำเนินการ กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนใน ระบบนิเวศการเรียนรู้  (learning ecosystems) ของนักเรียน ลักษณะอื่นๆ      

สะท้อนสภาพระบบบริหารการศึกษาของประเทศที่สวนทางกับเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนในยุคปัจจุบัน   ที่นักเปลี่ยนขาดการเรียนรู้ของนักเรียนต้องเผชิญ 

นี่คือธรรมชาติความซับซ้อนของระบบการศึกษา    

ตอนนั่งเครื่องบินกลับ ผมจึงคุยกับคุณติ๋ม (รัตนา กิติกร) และคุณยุ้ย (นาถชิดา อินทร์สอาด) แห่ง SCBF เพื่อเรียนรู้สภาพของปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษาที่มุ่งอนุรักษ์ผลประโยชน์ของตัวละครในระบบ กับฝ่ายมุ่งเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาให้มุ่งเอื้อผลประโยชน์แก่นักเรียน    ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างไม่รู้ตัว    เอื้อให้ผมได้เรียนรู้ธรรมชาติของสังคม และธรรมชาติของมุษย์ จากมุมมองที่เป็นกลาง หรือเป็นบวก ไม่ตำหนิ   

ข้อเรียนรู้คือ การเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาไทย ต้องเป็นกระบวนการระยะยาว ค่อยเป็นค่อยไป ใช้กลยุทธ์ที่อยู่บนฐานของจิตวิทยาเชิงบวก   ใช้ธรรมชาติด้านดีของมนุษย์   อดทนและเมตตาต่อธรรมชาติด้านลบของมนุษย์ แต่ก็มุ่งเอาชนะด้านลบเหล่านั้นโดยไม่ทำลายล้าง   

หัวใจคือ คณะเปลี่ยนขาดระบบต้องอดทน มุ่งมั่น ดำเนินการโดยไม่ท้อถอย ไม่หยุดยั้ง แม้จะเผชิญแรงต้านเชิงระบบเพียงใดก็ตาม    มุ่งรวมพลังความดีของมนุษย์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพพลเมืองไทย 

ผมได้เรียนรู้จากคุณติ๋มว่า ขบวนการเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาที่จังหวัดระยองรวนเร   จากแรงเฉื่อยหรือแรงต้านจากระบบ   ในขณะที่ขบวนการเดียวกันที่จังหวัดศรีสะเกษก็เผชิญความท้าทายจากการที่ ผอ. โรงเรียนที่ทำหน้าที่นำการเปลี่ยนแปลงเกษียณอายุ  ได้ ผอ. ใหม่ที่ไม่เข้าใจและไม่ศรัทธา รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ active learning   ทำให้ครูรวนเร   มีแนวโน้มหรือความท้าทายที่รูปแบบการเรียนการสอนที่โรงเรียนจะกลับไปเป็นแบบ passive อย่างเดิม   

นี่คือ “ความเป็นจริง” (reality)  ของระบบการศึกษาไทย    ที่เราต้องไม่ปฏิเสธ   ต้องทำความเข้าใจ และหาทางร่วมกันก้าวข้าม ร่วมกับระบบใหญ่ของประเทศ คือกระทรวงศึกษาธิการ  โดยมุ่งเฟ้นหา change agent ที่อยู่ในระบบนั้นเอง    เข้ามาร่วมกันเปลี่ยนขาดระบบ 

ผมเชื่อว่า มีคนในกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนหนึ่ง ที่มี “เสียงภายใน” ของตนเอง บอกให้ตนเองเปลี่ยนพฤติกรรม    หันไปร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง แทนที่บทบาทในปัจจุบันที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพราะต้องทำตามผู้มีอำนาจเหนือ   

คนที่มี “เสียงภายใน” (inner voice) เหล่านี้    มีจำนวนไม่น้อย (ผมเชื่อเช่นนั้น) และพร้อมที่จะเปลี่ยนขาด (transform) ตนเอง   เปลี่ยนไปทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (เปลี่ยนขาด) 

นี่คือความท้าทาย ของการดำเนินการเปลี่ยนขาดโรงเรียนทั้งระบบ   ที่ผมมองว่า หัวใจอยู่ที่การหนุนให้ครูพัฒนา “ตัวตน” (self actualization) หรือ “คุณค่าความเป็นครู” ของตนเอง   จากการทำหน้าที่เอื้อการเรียนรู้แก่ศิษย์   

สำหรับผม หัวใจของการเปลี่ยนขาดโรงเรียนทั้งระบบ อยู่ที่การจัดระบบหนุนเสริมให้การปฏิบัติหน้าที่ครู ให้เป็นการหนุนให้ครูได้เรียนรู้และพัฒนา VASK ของตนเองไปพร้อมๆ กันกับการหนุนให้ศิษย์พัฒนา VASK ของตนเอง                

เป็นการพัฒนา VASK  ที่กล้าพัฒนา V (นิยม) ของตนเอง    ที่ต่างจาก V (ค่านิยม) ด้านลบ หรือผิดๆ   สู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษานั้นเอง   

เปลี่ยนจากค่านิยมเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง    สู่ค่านิยมเพื่อผลประโยชน์ของศิษย์ หรือการเรียนรู้ที่แท้จริงของศิษย์     สู่การพัฒนาคุณภาพของพลเมืองไทยในอนาคต    และสู่การพัฒนาศักดิ์ศรีของความเป็นครู   

ในช่วงเช้า หลัง Ted Talk โดยครูและนักเรียน   มีเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มใหญ่ โดยฝ่ายบริหารเชิงสนับสนุน กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ในการดำเนินการให้เกิด TSQA  หรือเครื่อข่ายยกระดับคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างทรงพลัง       ผมได้รับเชิญให้นำเสนอความเห็นด้วย PowerPoint ตามวิดีทัศน์ (๑)    

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ม.ค. ๖๗ 

    

หมายเลขบันทึก: 717510เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2024 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2024 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลังจากอ่านเรื่องหลายเรื่องของอาจารย์วิจารณ์ฯ ได้รับทราบเรือง transform agent และ transform นั่นนี่ ผมว่าสิ่งที่อาจารย์ทำเป็นเสมือนตัวการใหญ่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการศึกษา ผมเลยคิดถึง Transformer man ในความหมาย” ตัวแปลง (Transformer) เป็นสถาปัตยกรรมนิวรัลเน็ตเวิร์กชนิดหนึ่งที่แปลงหรือเปลี่ยนลำดับอินพุตเป็นลำดับเอาต์พุต ซึ่งทำเช่นนี้ได้โดยการเรียนรู้บริบทและติดตามความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบตามลำดับ. ผมว่าอาจารย์ฯ เป็นแบบนัั้นจริงๆ และส่งรูปมาด้วย (แต่ไม่สำเร็จ…load ไม่ขึ้นครับ)….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท