ชีวิตที่พอเพียง  4675. PMAC 2024  11. ใช้ประโยชน์ข้อมูลจากการเรียกเก็บเงินค่าบริการสุขภาพ


 

บ่ายวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ ในช่วงเวลาของ Side Meeting  ผมไปฟังห้องที่เสนอเรื่อง Data Driven Decision Making in Health : Leveraging Claims Data จัดโดยธนาคารโลก    โดยที่ห้องนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ๙ น. เลิก ๑๗.๓๐ น.   

ได้เห็นคุณค่าของข้อมูลจากงานประจำ คือการให้บริการสุขภาพ ที่ต้องใช้เสนอต่อหน่วยจัดการเงินที่ภาครัฐจ่ายค่าบริการ   ข้อมูลชุดนี้เอามาใช้ศึกษาปัจจัยที่ก่อผลต่อสุขภาพได้มากมาย    และเป็นข้อมูลที่มีข้อจำกัดด้วย   อย่างที่ทางอินเดียเขาบอกว่าบริการสุขภาพของเขากว่าครึ่งเป็นภาคเอกชน    จึงไม่มีข้อมูลให้ใช้    มีแต่ข้อมูลของภาครัฐ    ทำให้งานวิจัยมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุม และการตีความ   

ตรงกับที่คุณหมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช. พูดอยู่เสมอว่า  ข้อมูลที่ สปสช. พร้อมให้ฝ่ายวิจัยเอาไปใช้ประโยชน์   สำหรับนำผลวิจัยมาพัฒนาระบบบริการสุขภาพต่อไป    

เมื่อผมเข้าไปฟัง เขากำลังเสนอเรื่องการใช้ข้อมูลจากค่าบริการสุขภาพ ศึกษาว่าภาษีบุหรี่ที่เก็บได้ กับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจากความเจ็บป่วย ที่มี ๓ หมวดคือ  (๑) ค่าใช้จ่ายทางตรง – ค่าบำบัดโรคที่เกิดจากบุหรี่  (๒) การสูญเสียทางอ้อมจากการที่เจ็บป่วยทำงานได้น้อยลง  และ (๓) การสูญเสียทางอ้อมจากการที่อายุสั้นลง  มีสัดส่วนอย่างไร    ได้คำตอบว่า ค่าใช้จ่ายจากบริการสุขภาพรวมกับการสูญเสียทางอ้อม  มากกว่าภาษีที่เก็บได้หลายเท่า    เป็นข้อมูลที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ขึ้นภาษีบุหรี่ (เพื่อลดจำนวนคนสูบบุหรี่)    และเพิ่มอายุคนที่ห้ามขายบุหรี่ให้  เช่นมีบางประเทศมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่แก่คนที่เกิดหลัง ค.ศ. 2000    ใช้ในสหราชอาณาจักรกับนิวซีแลนด์ ที่มีนโยบาย Tobacco-free Generation 

เนื่องจากเป็นห้องที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังเป็นนักวิจัยข้อมูล    จึงมีการลงรายละเอียดด้านเทคนิคมาก    ได้ข่าวว่า ช่วงเช้าคนแน่นห้อง   

ต่อจากนั้นเป็นการใช้ข้อมูลศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากโลกร้อนขึ้น    ดินแดนต่างๆ มีช่วงอากาศร้อนรุนแรง (heat wave) ที่นิยามอุณหภูมิร้อนเกินของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน    ผมได้มีโอกาสรู้จัก Global Climate Risk Index เป็นครั้งแรก   ที่ดูแล้วประเทศตะวันตกส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำกว่าประเทศรายได้น้อยอย่างชัดเจน   

นำสู่การวิจัย ผลกระทบของอากาศร้อนรุนแรงต่อการใช้บริการสุขภาพ    ที่มีผลงานวิจัยจากอินโดนีเซียมาเสนอ    มีรายละเอียดเชิงระเบียบวิธีวิจัยมากมาย    ข้อสรุปสำหรับเป็นความรู้ทั่วไปคือ คนแก่และคนมีโรคประจำตัวมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่า    ผมสงสัยว่า เด็กเล็กจะไดรับผลกระทบอย่างไร   แต่ไม่ได้ถาม            

ตอนสรุปประเด็น ๑๕ นาทีสุดท้าย   วิทยากรใช้วิธีให้ผู้ฟังบอก take home message คนละ ๑ ประเด็น   มีคนบอกว่า สัดส่วน  ๑๐%  กับ ๖๐%   ซึ่งหมายถึงคนร้อยละ ๑๐  ใช้เงินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศร้อยละ ๖๐   เป็นข้อมูลที่ต้องหาทางแก้ไข 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ม.ค. ๖๗

ห้อง ๔๖๑๐  โรงแรมเซนทารา แกรนด์

  

หมายเลขบันทึก: 717504เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2024 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2024 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท