ชีวิตที่พอเพียง  4671. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (229) PLC ศน.  เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน  ด้วยจริตเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง


 

วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗ ผมเข้าร่วมประชุม PLC แลกเปลี่ยนประเด็นเรียนรู้บทบาทศึกษานิเทศก์ให้เป็นโค้ช (Supervisor as Coach) เพื่อการมีส่วนร่วมกับสถาบันผลิตครูและโรงเรียนปลายทางครูรัก(ษ์)ถิ่น   เวลา 09.30 – 14.00 น.ณ ห้องประชุมสานพลัง กสศ. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์   โดยผมเข้าร่วมประชุมแบบ ออนไลน์ 

หลังได้ฟัง ศน. ๔ กลุ่ม ๙ ท่าน เล่าข้อเรียนรู้จากการเข้าร่วมฝึกเป็น โค้ช และ Fa การจัดการเรียนรู้แบบ active learning โดยมีคุณ Paul Collard เป็นหัวหน้าทีมฝึก   ผมเห็นความสามารถที่สูงมากของ ศน. ทั้ง ๙ ท่านด้านการตกผลึกหลักการที่ได้เรียนรู้จากการได้เข้าเป็นทีมโค้ชในกิจกรรม Workshop Active Learning (การเรียนรู้เชิงรุก)   และเชื่อมโยงหลักการของการเรียนรู้เชิงรุก เข้าสู่การปรับเปลี่ยนบทบาทของ ศน. เป็นโค้ช ได้อย่างดียิ่ง   

แต่ผมอดมองมุมกลับไม่ได้ว่า Abstract Conceptualization ยังไม่พอ   ยังต้องมี จริตเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพื่อใช้เป็นพลังขับเคลื่อนสู่การนำหลักการที่ตกผลึกได้ไปลองใช้ (Active Experimentation)    ตามใน Kolb’s Experiential Learning Cycle    

กล่าวใหม่ว่า การที่ ศน. ทั้ง ๙ ท่านเข้าร่วมฝึกเป็น Fa & coach ใน workshop ฝึก Active Learning แก่ นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น   หากมองจากมุมของการเรียนรู้จากประสบการณ์    โดยเอา Kolb’s Experiential Learning Cycle เข้ามาจับ    ศน. ทั้ง ๙ ท่าน ได้เข้าสู่ Concrete Experience  แล้วท่านเข้าสู่ขั้นที่ ๒ ของ Kolb’s Experiential Learning Cycle ได้อย่างดีเยี่ยม คือ Reflective Observation  แล้วเข้าสู่ขั้นตอนที่ ๓ คือ Abstract Conceptualization (ตกผลึกหลักการ)    แต่น่าเสียดายที่ในตอนที่ท่านนำเสนอต่อที่ประชุม ท่านหยุดอยู่แค่ขั้นตอนที่ ๓  ไม่ก้าวต่อสู่ขั้นตอนที่ ๔ ของ Kolb’s Experiential Learning Cycle  คือ Active Experimentation    เพื่อให้ครบวงจรหรือเกลียวยกระดับของการเรียนรู้ของ PLC   

ผมจึงถาม ศน. ทั้ง ๔ ทีม ว่าได้เอาหลักการที่ตกผลึกได้ไปทดลองใช้กับครูอย่างไรบ้าง    ขอให้เล่าเป็นเรื่องเล่า (storytelling)    จึงได้เรื่องเล่าพรั่งพรูออกมา ฟังแล้วชื่นใจ   

สองทีมเอาไปใช้กับครูจริงๆ ที่พอจะเดาได้ว่า จะเห็นผลที่ learning outcome ของนักเรียน    และน่าจะเกิด experiential learning spiral   เพราะสองทีมนี้ทำ Active Experimentation จริงๆ    ส่วนอีกสองทีมเอาไปใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในเชิงบริหาร ที่ไม่ชัดเจนว่าจะส่งผลถึงนักเรียน และไม่แน่ว่าจะเกิด experiential learning spiral หรือไม่   นี่คือความซับซ้อนของระบบการศึกษา     

การดำเนินการการประชุมเน้นไปที่บทบาท ศน. กับการผลิตครู    ที่นำสู่แนวคิดดีๆ มากมาย   ในตอนท้ายผู้ดำเนินรายการโยนมาให้ผมให้ความเห็น   ผมใช้จริต เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง    บอกที่ประชุมว่า ผมมีความสงสัยว่า หากทำตามแนวที่เราคุยกันมาเป็นเวลาราวๆ ๔ ชั่วโมง   ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไทยจะสูงขึ้นหรือไม่    ผมสงสัยว่าอีก ๑๐ ปีจะมีคำตอบว่าไม่    เพราะที่พูดกันมา ๔ ชั่วโมงนั้น ไม่มีการพูดถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเลย 

ผมสรุปกับตัวเอง (ไม่ทราบว่าสรุปถูกหรือผิด) ว่า สิ่งที่ ศน. เรียนรู้จากการฝึกกับคุณ พอล คอลลาร์ด นั้น  ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว   เป็นสิ่งที่ ศน. ต้องร่วมกับครูเอาไปลองประยุกต์ใช้กับนักเรียน    แล้วเรียนรู้จากประสบการณ์ ในลักษณะของการหมุนยกระดับเกลียวการเรียนรู้ด้วย Kolb’s Experiential Learning Cycle   

ศน. จึงต้องทำหน้าที่แบบ “ไม่นิเทศ”  แต่ทำหน้าที่เข้าไปร่วมทำงานและร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ร่วมกับครู    คือร่วมวง PLC กับครู   ยิ่งเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน ตามในหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ ก็จะเป็นประกันว่า นักเรียนจะได้ประโยชน์จริง    

วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717446เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2024 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2024 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท