โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๑๒. สะท้อนคิดและแลกเปลี่ยนการศึกษาบทเรียน


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๑๒ นี้ ตีความจาก บทที่ ๖ ของหนังสือเล่มที่สอง   เรื่อง Reflecting on and Sharing Your Research Lesson  เขียนโดย Jeff Hovermill Samatha     

  

สรุปโดยย่อที่สุดคือ ครูต้องรู้จักใช้ขั้นตอนของการจัดทำรายงานผลของกิจกรรม LS เพื่อการเรียนรู้ของตน    ทั้งการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม  การเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่เน้นเรียนรู้ความรู้เชิงสระวิชาที่ตนสอน  เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในวิชาที่ตนสอน  และเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของครูเอง     และที่สำคัญที่สุด เรียนรู้จิตวิญญาณความเป็นครู ที่เป็นจิตวิญญาณของวิชาชีพ ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา   และมีส่วนสร้างการเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพของตน       

 

นักวิชาชีพ (เช่นแพทย์ ทนายความ  วิศวกร ครู) คือผู้ปฏิบัตงานที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญขั้นสูง ที่ต้องผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนอย่างเคี่ยวกรำ   และในการปฏิบัติวิชาชีพต้องเรียนรู้ต่อเนื่อง   รวมทั้งต้องเผยแพร่ความรู้ความชำนาญนั้นเพื่อยกระดับสมรรถนะของชุมชนวิชาชีพของตนอย่างต่อเนื่อง    กล่าวง่ายๆ ว่าครูต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการทำหน้าที่ของตน    และแบ่งปันการเรียนรู้นั้นแก่เพื่อนครู   เพื่อให้วิชาชีพครูในภาพรวมทำประโยชน์แก่สังคมเพิ่มขึ้น และพัฒนาขึ้น อยู่ตลอดเวลา   

สาระในบทที่ ๑๒ นี้ว่าด้วยเรื่องดังกล่าว   

การเผยแพร่หรือแบ่งปันความรู้จากการศึกษาบทเรียนทำได้ ๓ ทางใหญ่ๆ คือ  (๑) การสาธิตกระบวนการและผล  (๒) การนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ  และ (๓) การนำเสนอเป็นเอกสารรายงาน    ไม่ว่าจะเผยแพร่ในแบบใด ทีมงานต้องร่วมกันสะท้อนคิดข้อเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในลักษณะทำความเข้าใจการเรียนรู้ของตนเอง ที่เรียกว่า “อภิปัญญา” (metacognition)   

สะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสาระวิชา นักเรียน และครู เป็น สามเหลี่ยนแห่งการสอน ดังรูป

The Instructional Triangle (Cohen et al. 2002) with two arrows bolded for emphasis

 

ในกระบวนการ LS  ทีมงานได้เรียนรู้จาก  (๑) สิ่งที่ครูปฏิบัติ  (๒) สิ่งที่นักเรียนปฏิบัติ  (๓) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนส่งผลต่อการเรียนรู้สาระวิชาอย่างไรบ้าง   

ในการรายงานผลของ LS   ทีมงานต้องสะท้อนคิดตีความหาความหมาย จากข้อมูลที่เก็บได้จากกระบวนการ LS ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

บทบาทของความเข้าใจสาระวิชาในกิจกรรมเรียนรู้บทเรียน

หลักสูตรผลิตครูโดยทั่วไปไม่ทำให้ครูแม่นในสาระวิชาที่ตนสอนอย่างแท้จริง   แต่การทำหน้าที่ครูมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ ๓ ด้าน คือ  (๑) ด้านสาระ (๒) ด้านการเรียนการสอน  และ (๓) ด้านการเรียนการสอนในสาระหนึ่งๆ (PCK – Pedagogical Content Knowledge)    ครูต้องแม่นในทั้งความรู้ทั้ง ๓ ด้านนี้ จึงจะทำหน้าที่หนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างลึกและเชื่อมโยงได้   คือช่วยให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้เชิงกระบวนการ (procedural knowledge) เข้ากับความรู้เชิงหลักการ (conceptual knowledge)  และเชื่อมโยงเข้ากับการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง หรือในโลกแห่งความเป็นจริง    และเชื่อมโยงกับความรู้ในต่างสาขา   

เป้าหมายของการศึกษาบทเรียน (Lesson Study) คือการส่งเสริมให้นักเรียนดำเนินการกระบวนการเรียนรู้เกือบทั้งหมดของกระบวนการ   นำสู่การเรียนรู้ที่ลึกกว่า และความเข้าใจที่ยั่งยืนกว่า    จะเป็นเช่นนั้นได้ ครูต้องแม่นในความรู้ ๓ ด้านที่กล่าวแล้ว    โดยที่ครูจะมี PCK แม่น ก็ต้องมีความรู้เชิงสาระแม่นมาก่อน   แต่กระบวนการการศึกษาบทเรียนจะช่วยให้ครูเรียนรู้และยกระดับความรู้ ๓ ด้านนี้ขึ้นไปพร้อมๆ กัน   ยิ่งถ้ามีผู้เชี่ยวชาญด้านสาระ เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูอาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านสาระเข้าร่วมด้วย   ก็จะช่วยให้ครูในทีมพัฒนาความรู้เชิงสาระได้ดียิ่งขึ้น    

เพื่อช่วยเตรียมการเขียนรายงาน   มีข้อแนะนำคำถามสำหรับบอกให้ครูทำอะไร

  • คุณมั่นใจได้อย่างไรว่ามีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความรู้เชิงสาระและ PCK ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาบทเรียน    คุณได้จากแหล่งค้นคว้าหรือประสบการณ์ใด 
  • คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างในด้านสาระ จากการเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาบทเรียน   

ขอยกตัวอย่างข้อสะท้อนคิดของครูว่าได้เพิ่มพูนความรู้เชิงสาระจากกิจกรรมศึกษาบทเรียนของตน  ดังต่อไปนี้

       ครูคนที่ ๑   “จุดแข็งอย่างหนึ่งของ LS คือ ได้ปรึกษาหารือตัวหลักการสำคัญด้านคณิตศาสตร์ที่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจ    ก่อนหน้านี้เราลอกมาจากตำรา    แต่ตอนนี้เราหาหลักฐานว่าตรงไหนที่ยากต่อนักเรียน   แล้วค้นคว้าและปรึกษาหารือกันว่านักเรียนต้องมีความรู้เดิมในลักษณะใดบ้าง จึงจะเรียนรู้บทเรียนนี้เข้าใจได้ลึก” 

        ครูคนที่ ๒  “สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้อยู่ที่สาระวิชา    มีประโยชน์มากที่ครูได้มีโอกาสแชร์กัน ว่าตนมองสาระเรื่องนั้นอย่างไร  จากการได้ฟังครูคนอื่น ทำให้ฉันเข้าใจสาระนั้นเพิ่มขึ้น”

         ครูคนที่ ๓  “เมื่อเราทบทวนการเรียนคณิตศาสตร์ของเราสมัยเป็นนักเรียน   เรารู้สึกว่าเรามีความรู้คณิตศาสตร์เพียงผิวเผิน   เมื่อได้อ่านหนังสือ The Teaching Gap (1999)  และเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาบทเรียน   ก็รู้สึกว่าได้เข้าใจคณิตศาสตร์ลึกขึ้นมาก  ได้ตระหนักว่าเราสามารถหนุนให้นักเรียนเข้าใจหลักการคณิตศาสตร์ ที่ตัวเราเองไม่ได้เรียนสมัยเป็นนักเรียนและนักศึกษา”

ผมขอเพิ่มเติมว่า    ครูจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมศึกษาบทเรียนได้อย่างแท้จริง ต้องทำตัวเป็นแก้วที่น้ำไม่เต็ม    

สาระกับนักเรียน

กระบวนการศึกษาบทเรียน ช่วยให้ครูได้เรียนรู้ทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับสาระวิชา    ในกระบวนการนี้ ครูร่วมกันกำหนดเป้าหมายทั้งระดับเป้าหมายใหญ่ และเป้าหมายจำเพาะบทเรียน ว่าต้องการให้นักเรียนบรรลุผลอะไร   แล้วร่วมกันวางแผนให้นักเรียนมีโอกาส และเข้าถึงการที่จะพัฒนาความเข้าใจทั้งด้านสาระและกระบวนการ    จากการศึกษาบทเรียน ครูได้เข้าใจปัจจัยที่ช่วยเอื้อหรือปิดกั้นนักเรียนต่อการบรรลุเป้าหมายนั้น    ครูควรได้รายงานผลการเรียนรู้นี้   

ในยุคที่ความรู้มากล้น   ครูต้องเลือกสอนเฉพาะความรู้ที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น  กระบวนการศึกษาบทเรียนจะช่วยให้ครูมีทักษะในการเลือกประเด็นที่ควรให้นักเรียนทำความเข้าใจ   โดยมีคำถามช่วยดังต่อไปนี้ 

  • คุณเลือกอะไรเป็นเป้าหมายใหญ่   เป้าหมายของสาระวิชา   และเป้าหมายสาระของการศึกษาบทเรียน  สำหรับให้นักเรียนเรียนรู้ 
  •  ทำไมคุณจึงคิดว่าเป้าหมายเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่มีความจำเป็น และนักเรียนต้องเข้าใจไปตลอดชีวิต 
  • คุณใช้ข้อมูลและประสบการณ์อะไร ในการกำหนดเป้าหมายเหล่านี้   

ครูต้องตั้งเป้าหมายสูง ให้นักเรียนทุกคนบรรลุความเข้าใจที่จำเป็นด้านสาระและกระบวนการที่กำหนด    ซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องได้รับโอกาสมาก ต่อการเรียนรู้เพื่อทดสอบและสร้างความรู้ความเข้าใจใส่ตัว    ประสบการณ์ของครู ในการจัดโอกาสเรียนรู้แก่นักเรียนเป็นสิ่งมีค่ามาก    และควรหาทางสะท้อนคิดออกมาเป็นรายงาน    โดยมีคำถามช่วยดังต่อไปนี้

  • ก่อนพัฒนาบทเรียนเพื่อเรียนรู้ ทีมครูมีสมมติฐานอย่างไรต่อความเข้าใจของนักเรียน    คุณคิดว่านักเรียนต้องมีความสามารถในการปฏิบัติและทำความเข้าใจอะไรบ้าง ก่อนเข้าร่วมในกระบวนการศึกษาชั้นเรียน
  • ทีมพัฒนาบทเรียนออกแบบโอกาสที่นักเรียนจะได้ขยายความเข้าใจเชิงสาระและเชิงกระบวนการ ในช่วงของการศึกษาบทเรียนรอบแรก อย่างไรบ้าง   หลังจากจบกระบวนการศึกษาบทเรียนรอบแรก ที่ทีมงานได้ทดลองสอน และสังเกตชั้นเรียน  บทเรียนนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 
  • ทีมครูใช้เครื่องมือและประสบการณ์อะไร ในการให้โอกาสแก่นักเรียน  ทำไมจึงตัดสินใจใช้สิ่งนั้น  เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นครูเปลี่ยนเครื่องมือหรือไม่   

เพื่อการเรียนรู้ของทีมครู และเพื่อการเขียนรายงานในภายหลัง   นอกจากทีมครูจะสังเกตนักเรียนในกระบวนการศึกษาชั้นเรียนแล้ว ต้องเก็บข้อมูล   เอามาทำความเข้าใจหลากหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน   คำถามเพื่อช่วยการเก็บข้อมูลได้แก่

  • ทีมครูมีข้อมูลหลักฐานอะไรที่บอกว่านักเรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ด้านสาระและด้านกระบวนการ   ข้อมูลเหล่านี้ช่วยการตอบคำถามของบทเรียนที่ตั้งไว้อย่างไรบ้าง   
  • ครูได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน จากข้อมูลที่เก็บได้ระหว่างกระบวนการศึกษาบทเรียน   พบความเข้าใจผิดของนักเรียนอย่างไรบ้าง    มีตัวอย่างข้อเรียนรู้ของครูจากการที่นักเรียนเข้าใจและไม่เข้าใจ อย่างไรบ้าง 
  • ทีมครูได้ปรับปรุงการสอนในบทเรียนที่ทดลองอย่างไรบ้าง   โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บได้  เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้นและลึกขึ้น 

หลังจากครูดำเนินการพัฒนารายงาน    ครูมีข้อสะท้อนคิดดังนี้ 

       ครูคนที่ ๑  “ในระหว่างกระบวนการนี้  ฉันคิดแล้วคิดอีก ว่าทำอย่างไรนักเรียนจึงจะได้เรียนรู้หลักการที่ฉันสอน   และเขาจะต้องบรรลุความสำเร็จตามแต่ละขั้นตอนของบทเรียนอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนด    ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในชั้นเรียนที่ศึกษา    แต่ต้องเกิดขึ้นในทุกชั้นเรียนที่ฉันสอน” 

       ครูคนที่ ๒  “หลังการศึกษาชั้นเรียนรอบแรก   นักเรียนร้อยละ ๕๖ เข้าใจผิดว่า ๑๓ ฟุต ๖ นิ้ว เขียนว่า ๑๓.๖ ฟุต    หลังปรับปรุงบทเรียน นำไปสอนรอบ ๒ ในนักเรียนกลุ่มที่เทียบกันได้   มีนักเรียนเข้าใจผิดเพียงร้อยละ ๑๔”

       ครูคนที่ ๓  “การศึกษาบทเรียนเน้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน   การเข้าถึงนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญในทุกบทเรียน   การศึกษาบทเรียนช่วยให้การสอนโฟกัสที่ประเด็นนี้”

        ครูคนที่ ๔  “ฉันได้รับ feedback จากนักเรียน   ว่าเขาคุยกันเรื่องปัญหาในบทเรียนตลอดช่วงอาหารเที่ยง   นักเรียนแสดงความกระหายที่จะหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุด ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด   นักเรียนชอบมากที่เราจัดการเรียนรู้ ๒ บทในหนังสือด้วยปัญหาข้อเดียว”

         ครูคนที่ ๕  “ในวงศึกษาบทเรียน นักเรียนตั้งใจแก้ปัญหามากกว่าที่ฉันคิดไว้   นักเรียนทำงานอย่างจริงจังเพื่อหาวิธีแก้โจทย์ที่ได้รับ   นักเรียนตั้งใจเรียนมาก”

นักเรียนกับครู 

 ความสามารถของครูในการจัดให้ห้องเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ของนักเรียน มีผลต่อความตั้งใจเรียนและความเข้าใจของนักเรียน นี่คือผลของการวิจัย    นอกจากนั้น สภาครูคณิตศาสตร์แห่งชาติ (ของสหรัฐอเมริกา) ยังแนะนำว่า  “สอนเก่งยังไม่พอ  ต้องรู้จักเลือกประเด็นสำหรับให้นักเรียนเรียนรู้    มีวิธีจัดให้นักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน    รู้จักเลือกคำถามเพื่อท้าทายนักเรียนที่มีความสามารถต่างกัน   รวมทั้งรู้วิธีหนุนนักเรียนให้ช่วยตัวเอง โดยครูไม่เข้าไปทำแทนหรือคิดแทน”

เพื่อช่วยให้ทีมครูวางแผนบทเรียนง่ายขึ้น เขาแนะนำให้สะท้อนคิดตอบคำถามต่อไปนี้  (๑) ออกแบบการเรียนรู้อย่างไร ให้นักเรียนสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ  (๒) นักเรียนจะมุ่งมั่นตรวจสอบสาระอะไร  (๓) คาดว่านักเรียนจะมีคำถามอะไร  และคาดหวังคำตอบอะไรจากครู  (๔) บทเรียนจะเปิดโอกาสอย่างไร ให้เกิดการสื่อสาร การร่วมมือ การประเมิน และการสรุป    ดังนั้น เพื่อเขียนรายงานส่วนที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน  แนะนำให้ทีมครูตั้งคำถามและสะท้อนคิดต่อไปนี้

  • คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาบทเรียน    และกลยุทธของการศึกษาบทเรียน  อย่างไรบ้าง
  • คุณได้เรียนรู้วิธีสนับสนุนให้นักเรียนค้นคว้าอย่างไรบ้าง
  • คุณได้เรียนรู้วิธีจัดการและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักเรียนอย่างไรบ้าง
  • คุณได้เรียนรู้วิธีสร้างการสื่อสารระหว่างนักเรียน-นักเรียน และนักเรียน-ครู อย่างไรบ้าง
  • คุณได้เรียนรู้วิธีสรุปและปิดบทเรียน อย่างไรบ้าง 

ตัวอย่างคำตอบของครู (อเมริกัน) ดังนี้ 

     ครูคนที่ ๑  เราได้เรียนรู้ว่า การเริ่มต้น (launch) ที่ดี ช่วยดึงดูความสนใจ ทำให้นักเรียนสนใจเรียนตลอดช่วงเวลาของบทเรียน 

      ครูคนที่ ๒  ในช่วงเริ่มต้น (launch)  เรามุ่งกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน  และทำให้นักเรียนอยากรู้ว่าจะเกิดกิจกรรมอะไรต่อ 

       ครูคนที่ ๓ ฉันเคยจัดให้นักเรียนจัดกลุ่มเรียนแบบร่วมมือกันมาก่อน    แต่หลังจากได้สอนบทเรียนนี้ ๒ ครั้ง    ฉันได้เห็นกับตาของตนเองว่าพฤติกรรมของนักเรียนเปลี่ยนไป เมื่อเขาได้รับกติกาและความรับผิดชอบของการทำงานเป็นกลุ่ม 

        ครูคนที่ ๔  ต้องให้เวลาคิดแก่นักเรียน   บ่อยครั้งที่ครูด่วนให้คำตอบ   ฉันพบว่าการชวนให้นักเรียนคิด โดยครูตั้งคำถามเชิงชี้ทาง ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า   เพราะช่วยให้นักเรียนเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้      

กระบวนการ LS

ข้อเรียนรู้จากกระบวนการศึกษาบทเรียนทั้งกระบวนการ เป็นหัวใจของรายงาน   เน้นที่  (๑) วิธีจ้องมองที่กระบวนการเรียนรู้และการสอน (๒) การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล  (๓) ความร่วมมือระหว่างครู    การเตรียมเขียนรายงานเป็นโอกาสให้ครูได้สะท้อนคิดร่วมกัน ว่าส่วนไหนของกระบวนการใช้ได้ดีในบริบทของตน  ส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงในการสอนครั้งต่อไป    โดยมีคำถามช่วยการสะท้อนคิดต่อไปนี้

  • ทีมงานครูได้สร้างบรรยากาศให้เกิดการสื่อสารและเกิดความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง   มีคำแนะนำอย่างไรบ้างต่อการสร้างการเปิดใจรับข้อเสนอแนะ และต่อการยกระดับความรับผิดชอบร่วมกันในสมาชิกของทีมงานทุกคน 
  • กิจกรรมการศึกษาบทเรียนดำเนินการบนฐานข้อมูลจริงเพียงใด ทั้งการวางแผน การสะท้อนคิด และการปรับปรุง  มีคำแนะนำอย่างไรบ้างต่อการทำงานอย่างมีกระบวนการพัฒนาต่อเนื่องตลอดไป โดยมีการเรียนรู้และเก็บข้อมูลช่วยสนับสนุน
  • ในด้านส่วนตัว  กระบวนการศึกษาบทเรียนช่วยให้ท่านเกิดการพัฒนาอย่างไรในฐานะที่เป็นครู    มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้ท่านเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น             

ตัวอย่างข้อสะท้อนคิดของครู   ดังต่อไปนี้

    ครูคนที่ ๑  “ก่อนหน้านี้ ฉันไม่สังเกตเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ควรเป็นกระบวนการต่อเนื่องอย่างไร    มองย้อนกลับไป บทเรียนของฉันแยกส่วนออกเป็น อ่าน ดูตัวอย่าง ปฏิบัติ    ไม่เป็นกระบวนการที่ไหลเลื่อนต่อเนื่อง    ไม่มีเรื่องราวให้ติดตาม    ไม่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ แต่เป็นสิ่งที่ทำตามความเคยชิน    เนื่องจากบทเรียนเพื่อ LS ดึงการดำเนินการตามความเคยชินออกไป    กระบวนการเรียนรู้จึงคาดเดาไม่ได้    แต่เนื่องจากมีแม่แบบให้วางแผนอย่างรอบคอบ   ทีมครูจึงเข้าใจหลักการเป็นอย่างดีก่อนเริ่ม LS   ครูต้องรับผิดรับชอบต่อกระบวนการ LS   โดยต้องตอบคำถาม  ข้อดีคือคำถามเหล่านั้นมีการคาดการณ์และเตรียมตอบไว้ก่อนแล้ว   ช่วยให้ครูมีความมั่นใจในการตอบ   ฉันภูมิใจ”         

     ครูคนที่ ๒   “LS ช่วยให้ทีมครูยกระดับทักษะ  โดยส่งเสริมให้เราพัฒนาความรู้เชิงวิชาชีพ”

     ครูคนที่ ๓  “กระบวนการที่ช่วยให้ฉันสังเกตว่านักเรียนเรียนรู้อย่างไร  และการเก็บข้อมูลที่จำเพาะ ช่วยให้ฉันเกิดความเข้าใจกระจ่างแจ้ง    ในกระบวนการสอนตามปกติ เราไม่เห็นขั้นตอนรายละเอียดของการเรียนรู้   ขั้นตอนอภิปรายและสรุป (debriefing) ของ LS มีพลังมาก  เพราะได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย  ในบรรยากาศร่วมมือกันเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน”

     ครูคนที่ ๔  “ขอแนะนำครูที่จะดำเนินการ LS ให้จัดทีมที่ดี    ทีมของเรามหัศจรรย์มาก    สมาชิกทุกคนทำงานหนัก  ร่วมมืออย่างเต็มใจและเปิดใจ ทำให้ได้ใช้พลังของสมาชิกทีมทุกคน    สิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดคือการเปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างใสซื่อ    ฉันจึงแนะนำครูว่า หากจะเข้าทีม LS ให้เลือกทีมที่สมาชิกที่เอาจริงเอาจัง ทำหน้าที่ตามที่ตกลงกันอย่างรับผิดชอบ มาประชุมทุกครั้ง  และสำคัญที่สุด ต้องการทำดีที่สุดเพื่อนักเรียน”    

จัดระบบสิ่งที่ได้เรียนรู้

หลังจากได้สะท้อนคิดประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้ ก็ถึงการเขียนรายงาน    โดยคำถามแรกที่ต้องถามตนเองคือ ผู้รับรายงานเป็นใคร    และคุณต้องการให้เขาได้เรียนรู้อะไร เพื่อเอาไปทำอะไร   คำถามต่อมาคือ จะรายงานในรูปแบบใด เป็นข้อเขียน การนำเสนอด้วยวาจา  เว็บไซต์  วิดีทัศน์   ที่จะนำสู่กระบวนการที่ทีมงานจัดเตรียมรายงาน    สาระในหัวข้อย่อยนี้มีเป้าหมายช่วยการเตรียมรายงานดังกล่าว   

ผู้รับสาร (audience)

นอกจากคำถามตามในอารัมภบทข้างบนแล้ว   คำถามเกี่ยวกับผู้รับสารที่จะช่วยการเตรียมรายงาน ได้แก่

  • ผู้รับสารคุ้นเคยกับ LS หรือไม่
  • คุณต้องการให้ผู้รับสารเรียนรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อเรียนรู้สาระที่จำเพาะนี้หรือไม่   ต้องการให้เขาเรียนรู้วิธีใช้กลยุทธการสอนที่จำเพาะนี้หรือไม่
  • คุณต้องการสื่อสารต่อผู้บริหารว่า LS เป็นเครื่องมือปลุกครูให้ลุกขึ้นมาร่วมกันกระทำการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือไม่ 
  • คุณต้องการให้ผู้รับสารนำเอาบางส่วนของ LS ในรายงานไปใช้ในการสอนของตน หรือไม่
  • ผลงานนี้จะนำไปแชร์ในเวทีที่เป็นทางการหรือไม่ เช่นในการประชุมวิชาการของวิชาชีพครู   หรือจะนำไปเสนอในเวทีที่เป็นทางการยิ่งกว่า เช่น ในการประชุมของโรงเรียน
  • คุณคาดว่าจะแชร์รายงานนี้ต่อคนจำนวนเท่าไร     

ผลผลิต

ผลผลิตมีได้หลายแบบดังกล่าวแล้ว    โดยคำแนะนำในการเตรียม (และใช้) มีดังต่อไปนี้ 

รายงานอย่างเป็นทางการ  

รายงานควรเขียนจากการสะท้อนคิดของทีม LS  และมีข้อมูลที่เก็บจากทุกขั้นตอนของ LS สนับสนุน  โดยมีแนวทางเขียนรายงานดังนี้

      ก. บทนำ   ระบุประเด็นต่อไปนี้   หัวข้อของการศึกษาบทเรียน   หัวข้อนี้สัมพันธ์กับเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนานักเรียน และเป้าหมายใหญ่ของโรงเรียนอย่างไร    มีการวางแผนบทเรียนนี้อย่างไร    ใช้แหล่งอ้างอิงใดบ้าง    ต้องการให้นักเรียนเข้าใจอะไร และทำอะไรได้ จากการเรียนบทเรียนนี้    ทำไมจึงเลือกหัวข้อนี้   หลังผ่านการเรียนในบทเรียนนี้แล้วหวังให้นักเรียนมีความเข้าใจอะไร ที่จะจดจำอยู่ตลอดไป    อธิบายลักษณะของนักเรียน (ข้อมูลประชากร  แรงจูงใจ  ความท้าทายด้านการเรียน  ฯลฯ)   

      ข. ข้อเรียนรู้สาระวิชาในหลักสูตร สิ่งที่ทีมครูได้เรียนรู้ เกี่ยวกับวิธีเรียนที่แตกต่างกันของนักเรียนต่างคน ในสาระวิชาที่จัดการศึกษาบทเรียน

  • ก่อนเรียนบทเรียนนี้ นักเรียนได้เรียนหลักการอะไร  บทเรียนนี้เชื่อมต่อจากความรู้เดิมของนักเรียนอย่างไร   ท่านต้องการแลกเปลี่ยนข้อเรียนรู้อะไรจากบทเรียนนี้
  • นักเรียนมีความเข้าใจผิดหรือความไม่รู้เกี่ยวกับหลักการนี้อย่างไรบ้าง    คุณรู้ได้อย่างไร   (ขอให้ยกตัวอย่างผลงานของนักเรียนที่ไม่รู้นั้น  และวิธีการที่คุณช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ตามในแผนการเรียนรู้ใน LS   รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อเพื่อนครูในการแก้ความเข้าใจผิดนั้น    หากจำเป็นอาจมีเอกสารแนบ) 
  • คุณให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่า นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนนี้อย่างถ่องแท้ 
  • สรุปข้อเรียนรู้ของครู เกี่ยวกับการเรียนวิชาของบทเรียนใน LS   จากกิจกรรมของ LS นี้
  • ครูเรียนรู้สาระวิชานี้อย่างไร   ครูมีหลักฐานอะไรในการยืนยันว่าท่านเข้าใจหลักการดังกล่าวอย่างแท้จริง 

     ค. กลยุทธการสอน 

  • กลยุทธการสอนของท่านต่อสาระวิชาใน LS เป็นอย่างไร ที่ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง
  • มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างใน LS รอบ ๒  จาก LS รอบ ๑   ทำไมจึงเปลี่ยน (เล่าการเรียนที่เกิดขึ้นในกระบวนการ LS รอบแรก)   
  • ครูมีวิธีการดึงดูดความสนใจและการมีส่วนร่วมของนักเรียนอย่างไร   มีวิธีทำให้นักเรียนสนใจต่อเนื่องอย่างไร   ครูเอื้อให้นักเรียนสื่อสารกันและร่วมมือกันอย่างไร  ครูประเมินสิ่งที่นักเรียนรู้และเข้าใจอย่างไร   ครูสรุปตอนจบอย่างไร      
  • สรุปข้อเรียนรู้ของครูจากการเข้าร่วม LS นี้ (ทั้งเฉพาะบทเรียนนี้  และข้อเรียนรู้ทั่วไป)    ขอให้สะท้อนคิด ให้ตัวอย่าง และสรุปสิ่งที่ครูได้เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารในชั้นเรียน (เช่น เอื้อให้มีการสื่อสารกันระหว่างนักเรียนผ่านการออกแบบกระบวนการ  หรือผ่านการตั้งคำถามในชั้นเรียน ตั้งคำถามอย่างไรจึงจะเกิดการสื่อสารระหว่างนักเรียนกับนักเรียน  และระหว่างนักเรียนกับครู)  

     ง. กระบวนการศึกษาบทเรียน 

  • การทำงานร่วมกันของครูในทีม LS มีผลให้ท่านเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานร่วมกับเพื่อนครูในโรงเรียนอย่างไร
  • ในทางส่วนตัว กระบวนการ LS สร้างการพัฒนาตัวท่านในฐานะครูอย่างไร
  • กระบวนการ LS นี้ มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร    จะพัฒนาให้ดีขึ้นในภาพรวมได้อย่างไร    จะปรับให้เหมาะต่อบริบทโรงเรียนของท่านได้อย่างไร    มีข้อเสนอแนะวิธีบูรณาการ LS เข้ากับตารางการปฏิบัติงานตามปกติได้อย่างไร

การเสนอเป็น PowerPoint   

รูปแบบการนำเสนอนี้เป็นการสรุปประเด็นสำคัญ สำหรับใช้ประกอบการนำเสนอในที่ประชุม หรือในการประชุมวิชาการ  โดยที่สมาชิกในทีมอาจช่วยขยายความบางตอน   และจะมีพลังมากหากมีวิดีโอคลิปของเหตุการณ์สำคัญประกอบ    สาระใน PowerPoint อาจปรับใช้รูปแบบตามรายงานข้างต้น  

การสาธิตบทเรียน

เป็นกระบวนการที่ทรงพลังมากในการเสนอวิธีการและผลที่เกิดขึ้นต่อผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก    แต่ต้องขออนุญาตผู้ปกครองนักเรียนก่อน  ยิ่งมีการถ่าย VDO ยิ่งต้องขออนุญาต   กิจกรรมนี้ผู้สาธิตต้องมีประสบการณ์และมีความมั่นใจ   รวมทั้งนักเรียนต้องคุ้นเคยกับการมีผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก   

 

กระบวนการ

นี่คือกระบวนการจัดทำรายงาน    ซึ่งเช่นเดียวกันกับทุกตอนของ LS  ต้องทำเป็นทีม และแบ่งงานกันทำ    โดยน่าจะมี facilitator เพื่อการดังกล่าว    ดีที่สุดหาก facilitator นี้ เป็น “คนนอกที่รู้เรื่องดี”   คือไม่ใช่คนในทีม แต่รู้เรื่อง LS และงานของทีม ดี   ทีมงานคนหนึ่งรับผิดชอบการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลจากการสะท้อนคิดนำมายกร่างรายงาน       

ทีมงานอีกคนหนึ่งรับผิดชอบรวบรวมและจัดระบบข้อมูล โดยทีมงานทุกคนช่วยกันดูว่ารวบรวมครบทุกความคิดเห็น    และมีข้อมูลช่วยสนับสนุนข้อเรียนรู้ครบทุกประเด็น   

หากจัดให้มีคลิปวิดีทัศน์ประกอบ ทีมงานอีกคนหนึ่งทำหน้าที่ บรรณาธิการ   หากมี PowerPoint ประกอบ ทีมงานอีกคนรับผิดชอบ                    

กระบวนการจัดทำรายงาน ต้องเป็นกระบวนการ “สะท้อนคิดและเรียนรู้” (reflect and learn) ไปพร้อมๆ กับการผลิตรายงาน

เผยแพร่สิ่งที่ได้เรียน

ทุกขั้นตอนของ LS เป็นการทำงานเป็นทีม และเป้าหมายส่วนหนึ่งคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    และเขาให้หลักการว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำสู่การเผยแพร่คุณภาพสูงคือการตระเตรียม  ซึ่งต้องทำเป็นทีม    ตรวจสอบว่ารายงานได้รับการ edit อย่างดี   ทุกตอนมีความชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย   และก่อนเสนอรายงานฉบับจริง หรือนำขึ้นเว็บ ต้องให้คนที่ไม่ได้อยู่ในทีม LS ช่วยอ่านเพื่อตรวจสอบว่าอ่านแล้วเข้าใจได้ดี ไม่มีส่วนใดที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจยาก   

หากจะมีการนำเสนอด้วยวาจา   ต้องเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นผู้เสนอ    มีการซ้อม โดยสมาชิกทุกคนเข้าร่วม    สมาชิกแต่ละคนซ้อมนำเสนอ ว่าจะเสนอส่วนสำคัญที่ใด  ควรมีการกำหนดว่าจะนำเสนอส่วนใดยาวขนาดไหน    มีการตรวจสอบความพร้อมของเทคโนโลยีที่จะใช้   

หากมีการนำเสนอด้วยการสาธิตกิจกรรม LS    ทีมงานทุกคนต้องเข้าร่วม โดยคนหนึ่งเป็นผู้สอน มีการแบ่งงานให้สมาชิกแต่ละคน  คนหนึ่ง (หรือหลายคน) ทำหน้าที่ต้อนรับและนำผู้เข้าสังเกตและเรียนรู้เข้าประจำที่ รวมทั้งให้คำแนะนำข้อพึงปฏิบัติและไม่ปฏิบัติระหว่างการสาธิต    ต้องมีคนรับผิดชอบจัดกระบวนการ “เสวนาและเรียนรู้” (debrief) ของทีมงาน ภายหลังการสาธิต    

นำสิ่งที่ได้เรียนรู้เข้าระบบจัดเก็บ (Archive)

เป็น “การจัดเก็บ” เพื่อให้มีคนค้นพบได้ และนำไปใช้ประโยชน์    ซึ่งต้องทำหลายๆ แบบ    แบบหนึ่งคือเอาขึ้นเว็บ    อีกแบบหนึ่งคือตีพิมพ์ในวารสารด้านการศึกษา    ต้องมีรายงานฉบับพิมพ์เป็นเล่มอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน  และอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนอื่นๆ ในเขตพื้นที่ 

“การจัดเก็บ” ในที่นี้จึงมีเป้าหมายเชิงเผยแพร่หรือแชร์ความรู้ที่เกิดขึ้น    ครูทุกคนเป็นนักวิชาชีพ (ไม่ใช่นักเทคนิค)   นักวิชาชีพต้องทำงานประจำวันเพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของตน และของเพื่อนร่วมวิชาชีพ     

สรุป

บทนี้ว่าด้วยเรื่องการรายงานการดำเนินการ LS    ซึ่งที่จริงแล้วเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้เป็นทีมของครู    จากการดำเนินการเพื่อพัฒนางานของตน   เป็นกระบวนการที่สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู  คือการที่ต้องร่วมกันเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน    และแชร์แก่เพื่อร่วมวิชาชีพ    เพื่อร่วมกันจรรโลงคุณค่าของวิชาชีพ

ในบริบทไทย  นี่คือวิธีการที่ช่วยเอื้อการสร้างผลงานตามแนวทาง วPA ของครู 

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๖๖

         

หมายเลขบันทึก: 717445เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2024 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2024 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาระยาว แต่เป็นการให้เนื้อหาที่ครบถ้วนดีมากครับ ขอบคุณครับ …วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท