โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ ๑๑. ออกแบบบทเรียนเพื่อการเรียนรู้


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๑๑ นี้ ตีความจาก บทที่ ๕ ของหนังสือเล่มที่สอง   เรื่อง Designing the Research Lesson 

      

สรุปโดยย่อที่สุดคือ การออกแบบบทเรียนทำโดยทีมครู    ทำอย่างมีเป้าหมายชัดเจนหลายชั้น    และออกแบบอย่างประณีตและมีขั้นตอนชัดเจน   ทั้งที่ใช้โดยครูผู้สอน  และที่ใช้โดยผู้เข้าสังเกตชั้นเรียน   ต้องมีการเตรียมผู้เข้าสังเกตชั้นเรียนอย่างดี  เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากชั้นเรียนได้ตามที่กำหนด  รวมทั้งต้องออกแบบกระบวนการวิพากษ์และสรุปข้อเรียนรู้ (debriefing) ทันทีหลังสังเกตชั้นเรียน     

 

บทเรียนเพื่อการวิจัย (research lesson)  หรือบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ (study lesson)  เป็นหน้าต่างหรือประตูเข้าสู่การศึกษาบทเรียน (lesson study)   หรือประตูสู่การที่ครูรวมตัวกันหาทางพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนของตน   

การพัฒนาบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ เกิดขึ้นหลังจากครูได้พัฒนาเป้าหมายทั้ง ๔ ชั้น ตามที่กล่าวในบทที่แล้ว    นั่นคือ ได้พัฒนาเป้าหมายใหญ่ของการเรียนรู้ของนักเรียน  เป้าหมายในรายวิชาที่ตนสอน  เป้าหมายเฉพาะหน่วยการเรียนรู้ ที่บทเรียนเพื่อการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนี้      

สาระของบทเรียนเพื่อการเรียนรู้อาจได้จากปัญหาการเรียนของนักเรียนที่สะท้อนจากผลการทดสอบ   หรืออาจได้จากการสังเกตของครูที่นำมาหารือกัน    

บทเรียนเพื่อการเรียนรู้อาจพุ่งไปที่ความเข้าใจผิดของนักเรียนเกี่ยวกับหลักการใดหลักการหนึ่ง   เพื่อนำสู่วิธีการสอนที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ถูกต้องมากขึ้น    อาจพุ่งไปที่เป้าหมายใหญ่ของโรงเรียน ที่นักเรียนยังทำได้ไม่ดี    เพื่อหาทางให้นักเรียนทำได้ดีขึ้น   

ครูทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาบทเรียนเพื่อการเรียนรู้    โดยต้องมีเวลาเพื่อการนี้   โดยครูร่วมกันพิจารณาว่าในบทเรียนเพื่อการเรียนรู้นั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้อะไร ครูจะได้เรียนรู้อะไร   และการเรียนรู้นั้นเชื่อมสู่มาตรฐานหลักสูตรในส่วนของหน่วยวิชาที่บทเรียนของการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่ง อย่างไร    รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบว่า จะเชื่อมโยงสู่เป้าหมายใหญ่ของโรงเรียนอย่างไร    

ก่อนวางแผนบทเรียนที่จะศึกษา

ก่อนวางแผนบทเรียนที่จะศึกษา ครูต้องทำความเข้าใจความซับซ้อนของการวางแผนและการ facilitate บทเรียนที่เน้นจ้องมองการคิดและการแก้ปัญหาของนักเรียน    ที่จะต้องเน้นการเรียนแบบตั้งข้อสงสัย (inquiry learning)   ที่นักเรียนต้องเข้าร่วมแก้ปัญหา และร่วมอภิปราย    ครูต้องทำความคุ้นเคยกับการเรียนแบบตั้งข้อสงสัยเพื่อสร้างความรู้ใส่ตัว (constructivism)    ต้องคุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบยึดปัญหาเป็นศูนย์กลาง (problem-centered learning)    ครูควรได้ร่วมกันค้นคว้าทบทวนความเข้าใจเรื่องเหล่านี้   ที่ครูทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการให้นักเรียนร่วมกันทำ   และร่วมกันตกผลึกหลักการหาความหมายเอง     โดยการเชื่อมโยงความรู้เดิมเข้ากับสิ่งที่ทำ เกิดเป็นความรู้ใหม่   ครูควรร่วมกันทำความเข้าใจวิธีสร้างสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อให้นักเรียนร่วมกันสร้างความหมายและความเข้าใจด้วยตนเอง      

ออกแบบการเรียนรู้ที่ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลาง

การเรียนรู้แบบยึดปัญหาเป็นศูนย์กลาง ใช้หลักการว่า การเรียนรู้เป็นการตั้งข้อสงสัย   ซึ่งการออกแบบมี ๓ ขั้นตอน ได้แก่  ขั้นตอนที่ ๑ ช่วยให้นักเรียนระบุปัญหาให้ชัดเจน   ซึ่งในภาษา LS เรียกว่าขั้น launch   ขั้นตอนที่ ๒ ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ความรู้เชิงสาระหรือทฤษฎี  โดยการร่วมกันค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และ/หรือนำมาทำกิจกรรมแก้ปัญหาร่วมกัน    ซึ่งในภาษา LS เรียกว่าขั้น exploration and sharing    ขั้นตอนที่ ๓ ครูช่วยให้นักเรียนสามารถประเมินและปรับวิธีแก้ปัญหา และสามารถสะท้อนคิดสู่การเข้าใจหลักการอย่างแท้จริง   ย้ำว่าในขั้นตอนนี้ ครูต้องมั่นใจว่านักเรียนทุกคนเข้าใจหลักการอย่างแท้จริง    ภาษา LS เรียกว่าขั้นตอนนี้ว่า closure   

ตัวอย่างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมต้นของครู ซูซาน บราวน์ 

ครูซูซาน บราวน์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมต้นในโรงเรียน Sierra Middle School ในรัฐนิวเม็กซิโก ใกล้ชายแดนรัฐเท็กซัสและประเทศเม็กซิโก    โรงเรียนอยู่ในชุมชนคนยากจนและคนชั้นกลาง    นักเรียนราวๆ ร้อยละ ๖๐ เป็น ฮิสปานิก    ร้อยละ ๔๐ ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษที่บ้าน    โรงเรียนนี้เดิมเป็นโรงเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียนเกเร ผลการเรียนต่ำ    แต่ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ได้พลิกฟื้นกลายเป็นโรงเรียนมัธยมต้นตัวอย่าง   

ในปัจจุบัน ครูจะพบกันทุกวันเพื่อวางแผนการสอนร่วมกัน   เพื่อจัดการเรียนรู้ตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายคน   หลักสูตรเน้นการสอนแบบบูรณาการ (thematic teaching)  มีความร่วมมือกันระหว่างครูประจำชั้น  ครูประจำวิชา และผู้ปกครอง   

ครูซูซาน สอนมา ๑๗ ปีในเมือง Sierra  โดยยินดีสอนนักเรียนที่ข้ามแดนมา และต้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับเรียนภาษา    โดยใช้วิธีเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบโครงงาน (project-based approach)    เน้นให้นักเรียนเกิดความพิศวงสงสัยไปพร้อมๆ กับเรียนวิทยาศาสตร์    ดังกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดเทอมแรกของปีการศึกษาเมื่อนักเรียนเดินเข้าห้องเรียน ก็พบป้ายบอกว่านักเรียนกำลังเข้าไปในบริษัท Sierra Sands Scientific Company 

ใต้ป้ายเป็นข้อความคู่มือพนักงานของบริษัท (นักเรียนทุกคน) ความว่า   “เราภูมิใจที่ได้ต้อนรับท่านทุกคนในฐานะพนักงานใหม่ของบริษัท    บริษัท Sierra Sands Scientific มีปณิธานให้บริการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเลิศ    ในฐานะพนักงานใหม่  ทุกคนต้องร่วมและดำเนินกิจกรรมในทุกศูนย์ให้ครบถ้วน  เพื่อทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทุกชิ้นที่เราขายให้แก่โรงเรียน    ขอต้อนรับอีกครั้งหนึ่ง   เราตื่นเต้นที่ได้ท่านเข้ามาร่วมทีม” (ข้อความที่เขียนในปี 1999)   

ครูซูซานจัดให้นักเรียนทำงานที่ศูนย์ (มี ๑๖ ศูนย์ แต่ละศูนย์ทำงานต่างกัน) เป็นทีม ๒ คน    โดยต้องจัดให้มีจำนวนศูนย์เพียงพอแก่จำนวนนักเรียน   ในแต่ละคาบ ระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรม ครูซูซานจะดึงนักเรียนครึ่งชั้นเข้ากิจกรรมกลุ่มปฐมนิเทศและปรึกษาหารือ    ซึ่งจะช่วยนักเรียนมาก โดยเฉพาะนักเรียนที่เพิ่งข้ามมาจากเม็กซิโก และพูดได้เฉพาะภาษาสเปนเท่านั้น    หลักการของครูซูซานคือ ต้องไม่โมเมว่านักเรียนเข้าใจ     

เมื่อนักเรียนใหม่มาที่ศูนย์ ก็จะเบิกตากว้างด้วยความตกใจ และไม่กล้าแตะเครื่องมือ   แต่หลังจากประสบความสำเร็จที่หนึ่งถึงสองศูนย์ก็จะเกิดความมั่นใจและความกระตือรือร้นที่จะเรียนจากการปฏิบัติ    และมีนักเรียนจากเม็กซิโกบางคนที่เรียนได้ดีกว่านักเรียนตามปกติ    มีนักเรียนหญิงจากเม็กซิโกคนหนึ่งคิดวิธีหาความกว้างของห้องโดยไม่ต้องใช้สายวัดความยาว     เนื่องจากพื้นห้องปูกระเบื้อง เขาจึงวัดความยาวของแผ่นกระเบื้องคูณด้วยจำนวนแผ่นกระเบื้องได้เป็นความกว้างของห้อง    ช่วยให้นักเรียนกลุ่มอื่นๆ ก็ใช้หลักการเดียวกันด้วย   

ในศูนย์ต่างๆ นักเรียนได้ฝึกทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การฝึกใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  ฝึกตวงน้ำสีโดยใช้ beaker   ฝึกดูสไลด์ด้วยกล้องจุลทัศน์ และด้วยแว่นขยาย พร้อมวาดรูปที่เห็น   ฝึกช้อนใบชาออกจากถ้วยชาและชั่งน้ำหนัก   ฝึกวัดอุณหภูมิของกล่องหลากสี ฯลฯ    

นักเรียนยังได้ฝึกทำการทดลองง่ายๆ เช่น ลอยเรือ หาทางบอกว่าผงปริศนาเป็นอะไร   ตรวจหาคุณสมบัติของของเหลวปริศนาโดยใช้ petri dish และหลอดทดลอง  เป็นต้น                                

ใช้การออกแบบโดยเน้นปัญหา เป็นกิจกรรมพัฒนาครูประจำการ

เขาแนะวิธีการง่ายๆ ดังนี้ 

  1. เลือกหนึ่งหลักการจากมาตรฐานด้านกระบวนการ (process standard) จากมาตรฐานที่ต้องสอน    นำมาร่วมกันออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง 
  2. ร่วมกันอภิปรายความซับซ้อนในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรแบบใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง    โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนมีทักษะด้านภาษาและทักษะด้านการเรียนรู้แตกต่างกันมาก    

เครื่องมือใช้ออกแบบปัญหาสำหรับเรียนรู้

เครื่องมือที่ใช้คือแม่แบบ (template) ที่มี ๒ ส่วนคือ  (๑) ส่วนที่เป็นบริบทของบทเรียนที่เป็นเป้าหมาย ๔ ชั้น  (๒) ส่วนที่เป็นบทเรียน ที่เป็นหน้าต่างหรือประตูสู่ประเด็นเรียนรู้ใน LS    ดังแสดงในตัวอย่าง   

ตัวอย่างบทเรียนที่จะศึกษา ของโรงเรียนในชุมชนขนาดเล็ก 

ระดับชั้นเรียน เกรด ๕ – ๖                                                                                        วันที่  2/24/03

ครูผู้สอน         .....................                                                                       จำนวนนักเรียน  ๑๑ คน

เวลาเรียน        ๑๓.๔๕ - ๑๔.๓๐  น.                                                         ชนิดของชั้นเรียน ..............

สถานที่ตั้งของโรงเรียน ........................

บริบทด้านสังคมวัฒนธรรมของโรงเรียน   เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  ในชุมชนยากจน  สอนชั้นอนุบาลถึงเกรด ๑๒   มีนักเรียนประมาณ ๘๐ คน  

 

 

  1. เป้าหมาย 

    ก.เป้าหมายใหญ่ (Overarching Goal)  (ครูต้องการให้นักเรียนพัฒนาเป็นคนแบบไหน

        นักเรียนมีความมั่นใจประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ต่อวิชาอื่น ในหลักสูตร 

       ข. เป้าหมายสาระ (Content Goal)  (ครูต้องการให้นักเรียนเรียนรู้คณิตศาสตร์ในลักษณะใด)

        นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในปัญหาวิทยาศาสตร์ 

      ค. เป้าหมายของหน่วย (Unit Goals)  (เมื่อเรียนจบหน่วยนี้นักเรียนสามารถทำอะไรได้ด้านคณิตศาสตร์)

        นักเรียนสามารถเปรียบเทียบจำนวนขนาดใหญ่มาก เพื่อให้เข้าใจขนาดเชิงเปรียบเทียบของดาวเคราะห์ได้   

      ง. เป้าหมายของบทเรียน (Research Lesson Goal)   (บทเรียนนี้สอดคล้องกับเป้าหมายอื่นๆ อย่างไร   ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับนักเรียนอย่างไร)   เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนเข้าใจเรื่องจำนวนขนาดใหญ่ โดยใช้รูปแบบสเกล 

 

2. ลักษณะของหน่วยเรียนรู้ (๑ - ๒ ประโยค)   นักเรียนกำลังศึกษาเรื่องอวกาศ   การเปรียบเทียบขนาดของดาวเคราะห์เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์   

              ก.    บทเรียนนี้สอดคล้องกับหน่วยเรียนรู้อย่างไร 

  • หลักการที่ได้เรียนรู้ก่อนแล้ว : (ต้องใช้หลักการอะไรในการดำเนินการบทเรียนนี้)   

                   เปรียบเทียบจำนวนขนาดใหญ่

                    ขยายความรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ 

                     ค่าตำแหน่ง (place value) เช่นหลักสิบ หลักร้อย 

                      ตัวเลขกลม (rounding numbers)    

  • หลักการที่จะได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้ : 

                        สเกล 

                        การเปรียบเทียบ 

                        โมเดลของขนาด

                         การแก้ปัญหา 

  • หลักการที่จะได้นำไปใช้ในบทเรียนต่อไป 

                            การเปรียบเทียบ

                             โมเดลของ สเกล

                              โมเดลของระยะทาง 

ขอย้ำว่า ตัวอย่างแม่แบบข้างบนให้ไว้พอให้ทีมศึกษาบทเรียนได้ใช้ช่วยการคิดเชิงหลักการ    ท่านอาจปรับโมเดลที่แตกต่างจากแม่แบบนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของท่านได้   

ตัวอย่างการออกแบบบทเรียนเพื่อการเรียนรู้

ถึงตอนนี้ ทีมศึกษาบทเรียนจะต้องพัฒนาบทเรียน โดยอาศัยแม่แบบตัวอย่างข้างบน    ตัวอย่างบทเรียนดังข้างล่าง    โดยขอย้ำว่า ต้องเป็นบทเรียนแบบที่ใช้การเรียนรู้เชิงรุก (active learning)    คือไม่ใช่แบบที่ครูบอกความรู้แก่นักเรียน  แต่เป็นกระบวนการที่ครูให้โจทย์แก่นักเรียน  ให้นักเรียนค้นคว้าความรู้ที่ต้องการใช้เอง    เอามาดำเนินการแก้ปัญหาเป็นทีม 

โครงสร้างของบทเรียนประกอบด้วย  (๑) ขั้นเริ่มต้น (launch)  เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่จะเรียน  และเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่นักเรียนได้เรียนแล้ว   (๒) ขั้นค้นคว้า (explore) หาความรู้ที่เกี่ยวข้อง นำสู่การวางแผนการดำเนินการแก้ปัญหา  (๓) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (share) ผ่านการปฏิบัติ และสื่อสารปฏิสัมพันธ์แนวทางที่แตกต่างกัน  และ (๔) ขั้นสรุปข้อเรียนรู้ (summarize) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ลึกถึงระดับหลักการ 

 

คาดหวังความเข้าใจของนักเรียน

เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง ในการเตรียมตัวของครู   คือครูต้องร่วมกันคาดคะเนพฤติกรรม ความคิด และความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นในนักเรียน   รวมทั้งคาดคะเนไอเดียและคำถามที่นักเรียนอาจเสนอ    นอกจากนั้น ครูต้องร่วมกันคาดคะเนว่านักเรียนอาจมีปฏิกิริยา ความสงสัย หรือกลยุทธที่เกิดระหว่างเรียน   แล้วครูใช้การคาดคะเนดังกล่าวในการเตรียมตอบสนอง     

ออกแบบบทเรียนเพื่อการเรียนรู้

บทเรียนที่ออกแบบต้องมีโครงสร้าง ๓ – ๔ ส่วนดังกล่าวแล้ว คือ  ช่วงเริ่มต้น  ช่วงค้นคว้าและอภิปราย   ช่วงดำเนินการแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ตามด้วยช่วงสรุป     

เปรียบเทียบบทเรียนที่ออกแบบกับบทเรียนของญี่ปุ่น

เมื่อเริ่มต้นดำเนินการที่รัฐนิวเม็กซิโก  ใช้รูปแบบของญี่ปุ่นเป็นแนวทางคือ  (๑) ทำความเข้าใจปัญหา  (๒) นำเสนอรูปแบบของปัญหา  (๓) แก้ปัญหาหลัก  (๔) สรุปและรายงานวิธีแก้ปัญหา  (๕) สรุปและประกาศบทเรียนต่อไป   แต่เมื่อใช้จริงครูในสหรัฐอเมริกาไม่เข้าใจศัพท์บางคำ    จึงมีการปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่     หนังสือเสนอตัวอย่างบทเรียนตัวแปรในพีชคณิต แต่ผมจะไม่นำมาเสนอ    

วางแผนบทเรียนเพื่อการเรียนรู้

ต้องสร้างบรรยากาศให้ครูสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ในกระบวนการร่วมกันเขียนบทเรียนเพื่อให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมและได้เรียนรู้หลักการที่ต้องการให้ได้เรียน   โดยที่เป้าหมายที่ตัวนักเรียนสอดคล้องกับเป้าหมายของทีมครูและเป้าหมายของโรงเรียน เขตพื้นที่ และประเทศ    ในกระบวนการนี้หากมีผู้เชี่ยวชาญภายนอกอยู่ด้วยก็จะช่วย    ผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นโค้ชด้านการสอน  หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูใหญ่ที่ทำหน้าที่ผู้นำด้านการพัฒนาการเรียนการสอน   หรือที่ปรึกษาภายนอก  หรือครูที่มีประสบการณ์ต่อ LS เป็นเวลา ๑ – ๒ ปี            

ผู้เขียนพบว่า ในตอนแรกครู (อเมริกัน) ไม่คุ้นกับการและเปลี่ยนเรียนรู้ใน LS  เพราะคุ้นกับการทำงานคนดียว   แต่เมื่อร่วมกิจกรรมไปไม่นานก็ชอบการทำงานแบบร่วมมือกัน    โดยมีคำกล่าวของครูดังต่อไปนี้

  • เกิดความคิดใหม่ๆ
  • ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ครูปฏิบัติในห้องเรียน
  • ช่วยให้มีบทเรียนที่ดียิ่งขึ้น มีเนื้อหามากขึ้น
  • ช่วยให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายของโรงเรียนและของเขตพื้นที่มากขึ้น   ช่วยให้บทเรียนสำคัญยิ่งขึ้น
  • ช่วยให้นักเรียนมีมุมมองระดับโลกมากขึ้น  ไม่มองแคบๆ อยู่แค่ภายในห้องเรียน
  • ช่วยให้ครูที่เข้าร่วมมีมุมมองใหม่ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน   
  • ช่วยให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย ที่ช่วยให้ครูพุ่งเป้าไปที่นักเรียนและการเรียนรู้ของนักเรียนได้มากขึ้น      

กำหนดกรอบของประสบการณ์การเรียนรู้

ต้องวางแผนประสบการณ์การเรียนรู้โดยเริ่มจากการตั้งคำถามถึง   หลักการที่นักเรียนได้เรียนมาแล้ว    สิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนอยู่ในหลักสูตร    และเป้าหมายที่ต้องการให้นักเรียนบรรลุ    หากนักเรียนยังไม่พร้อมที่จะเรียนบทเรียนใน LS  จะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนอย่างไร    บทเรียนใน LS เชื่อมโยงกับสาระในวิชาอื่นๆ อย่างไร และเชื่อมโยงกับสิ่งที่นักเรียนได้เรียนมาแล้วอย่างไร    บทเรียน LS เชื่อมโยงกับเป้าหมายในอนาคตของครู โรงเรียน และเขตพื้นที่ อย่างไร     เป็นบทเรียนที่ช่วยหนุนให้นักเรียนสร้างความรู้ใส่ตัว ไม่ใช่แค่ให้ท่องจำความรู้ ใช่หรือไม่        

ให้นักเรียนมีส่วนกระทำ เพื่อเรียนรู้หลักการ

หลักการคือ ต้องให้นักเรียนเป็นผู้กระทำ หรือมีส่วนร่วมกันทำ สู่ความเข้าใจหลักการที่ต้องการเรียนรู้   ตามแนวทางของ constructivism   หรือ inquiry learning   ครูต้องร่วมกันวางแผนให้นักเรียนเข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ    วัตถุประสงค์ของบทเรียนที่มีต่อนักเรียน จึงต้องมี ๒ ด้าน คือด้านการเรียนรู้หลักการ กับด้านการเข้าร่วมกระทำและมีปฏิสัมพันธ์กัน   

ปิดและสรุป

ช่วงปิดและสรุปมีความสำคัญมาก   สมาชิกของวง LS ทุกคน ต้องได้ทบทวนกิจกรรมตั้งแต่ต้นจน    ทั้งจากมุมของแต่ละบุคคล  และจากมุมความเห็นร่วมของกลุ่ม    และทั้งจากมุมของครูและมุมของนักเรียน   โดยควรให้สมาชิกหมุนเวียนกันสมมติตัวเองเป็นนักเรียน    ควรได้ทบทวนภาพรวมทั้งหมด โดยตอบคำถามต่อไปนี้ 

  • กิจกรรมได้สนองตอบเป้าหมายในระดับต่อไปนี้หรือไม่ เป้าหมายใหญ่ของ โรงเรียน เป้าหมายของหน่วยสาระการเรียนรู้ เป้าหมายของระดับชั้น 
  • บทเรียนดึงดูดความสนใจหรือไม่
  • บทเรียนเหมาะสมต่อกลุ่มนักเรียนนั้นหรือไม่   

ในช่วงวางแผนนี้ ทีม LS ต้องตัดสินใจว่าครูคนไหนจะเป็นผู้สอน   ใครบ้างเข้าสังเกต  และต้องการให้สังเกตอะไรบ้าง    ร่วมกันกำหนดเวลาของบทเรียน   วัสดุที่ต้องการใช้   รวมทั้งสิ่งสนับสนุนอื่นๆ สำหรับใช้ในการสอนบทเรียนใหม่นี้    

พัฒนาคู่มือสังเกตชั้นเรียน

คู่มือสังเกตชั้นเรียนระบุสิ่งที่สมาชิกของทีม LS ต้องการรู้  นำสู่การระบุข้อมูลที่ต้องการให้ผู้เข้าสังเกตเก็บ   ซึ่งเน้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ใช่เน้นสังเกตว่าครูสอนดีหรือไม่ดีอย่างไร 

ผู้เข้าสังเกตยิ่งมีบุคคลหลายกลุ่มจะยิ่งดี   เพราะจะได้ข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย    ตัวอย่างของผู้เข้าสังเกตชั้นเรียนได้แก่  (๑) ครูที่เป็นสมาชิกของทีมเตรียมการ  โดยผู้บริหารโรงเรียนต้องหาคนสอนแทนในงานสอนประจำของครูท่านนั้น  (๒) นักศึกษาครู  (๓) สมาชิกของกลุ่ม LS กลุ่มอื่น เช่นกลุ่มต่างระดับชั้นในโรงเรียนเดียวกัน  หรือกลุ่มระดับชั้นเดียวกัน กลุ่มสาระเดียวกันในต่างโรงเรียน  (๔) ผู้บริหารโรงเรียนเดียวกันหรือต่างโรงเรียน  หรือจากเขตพื้นที่การศึกษา    การมีผู้บริหารเข้าร่วมมีความสำคัญมาก เพราะจะกลายเป็นผู้สื่อสารประชาสัมพันธ์สนับสนุน และหาทรัพยากรสนับสนุน     

ข้อกำหนดสำหรับใช้ต่อผู้สังเกตชั้นเรียน

ก่อนเข้าสังเกตชั้นเรียน  ผู้เข้าสังเกตต้องอ่านเอกสารแผนการสอน    โดยอาจส่งให้ทางเน็ตในลักษณะ e-document หรือโพสต์ในเว็บไซต์ของการสังเกตชั้นเรียนครั้งนั้น    และควรจัดประชุมสั้นๆ ทางออนไลน์ในกลุ่มผู้เข้าสังเกต (ในบ้านเราอาจใช้ Zoom หรือ Line)   เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายและขั้นตอน รวมทั้งกติกาในการเข้าสังเกตชั้นเรียน   

กติกาสำคัญคือ ผู้เข้าสังเกตต้องไม่เข้าไปมีส่วนกับการเรียนการสอน  ต้องทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนอยู่ในห้องเรียน   

ผู้เข้าสังเกตต้องได้รับคำแนะนำว่าให้สังเกตอะไรบ้าง   เช่น ความเข้าใจหลักการของนักเรียน   แรงจูงใจของนักเรียน   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน  เป็นต้น   

เป้าหมายของชั้นเรียนอาจมีเป้าเดียวหรือหลายเป้า   หากมีหลายเป้าอาจแบ่งหน้าที่ให้ผู้เข้าสังเกตคนละเป้า   ละมีเกณฑ์สังเกตของแต่ละเป้าให้แก่ผู้เข้าสังเกต   เช่นหากเป้าคือฝึกให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน    มีคู่มือให้สังเกตถ้อยคำ  การหยิบจับหรือคลำ  การเคลื่อนไหว เป็นต้น   โดยมีตัวอย่างคำถามเพื่อเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้ 

  • นักเรียนมีส่วนร่วมอภิปรายหรือตอบคำถามหรือไม่  อย่างไร
  • นักเรียนเข้าร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่   นักเรียนจดบันทึกความคิด และแนวทางแก้ปัญหา หรือไม่
  • นักเรียนแสดงท่าทีตั้งใจและแววตากระตือรือร้นหรือไม่     

อาจแบ่งหน้าที่ของผู้เข้าสังเกต ให้สังเกตนักเรียนคนละกลุ่มหรือคนละคน   

ย้ำว่าเป้าการสังเกตคือคำถามหรือปัญหาของบทเรียน   เพื่อเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์แก่ทีม LS   มีตัวอย่างจริงของคำถามที่ใช้ในการสังเกตบทเรียนเรื่อง ลูกบาศก์ (cube lesson) ดังนี้

ด้านวิชาการ

นักเรียนใช้คำศัพท์อย่างถูกต้องหรือไม่

นักเรียนเข้าใจสาระด้านคณิตศาสตร์อย่างถูกต้องหรือไม่   (นักเรียนอธิบายหรือสาธิตแก่กันอย่างเหมาะสมหรือไม่  อย่างไร  เขาทำและพูดอะไร) 

ด้านแรงจูงใจ

นักเรียนยกมือกี่ครั้ง

นักเรียนถามเพื่อนนักเรียนหรือไม่   มีการถามตอบกันไปมาหรือไม่

นักเรียนถามครูหรือไม่         

นักเรียนตอบคำถามหรือไม่

ภาษากายของนักเรียนเป็นอย่างไร (ตาเป็นประกาย   อ๋อ) 

พฤติกรรมทางสังคม

เกิดปฏิสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน (นักเรียนอ้างถึงคำพูดของเพื่อนบ่อยแค่ไหน  เอาคำพูดของเพื่อนมาขยายต่อแค่ไหน) 

นักเรียนทุกคนให้คุณค่าต่อการกระทำของเพื่อนหรือไม่  อย่างไร

นักเรียนมีท่าทีเป็นมิตร และให้เกียรติเพื่อนหรือไม่ 

ทุกคนมีส่วนร่วมหรือไม่

เจตคติของนักเรียนต่อบทเรียน

นักเรียนชอบส่วนไหนของบทเรียนมากที่สุด  เพราะอะไร

นักเรียนชอบส่วนไหนของบทเรียนน้อยที่สุด  เพราะอะไร 

 

ผู้เข้าสังเกตบทเรียน ที่สังเกตต่างประเด็นหรือต่างกลุ่มนักเรียน  มาร่วมเสวนาสะท้อนคิดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ได้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาบทเรียนในโอกาสต่อๆ ไป   และเพื่อการเรียนรู้ของครูที่เป็นทีม LS    

ถ่ายวิดีทัศน์การศึกษาบทเรียน

การถ่ายวิดีทัศน์ช่วงการเปิดชั้นเรียนมีประโยชน์มากในด้านการบันทึกข้อมูลที่บางตอนครูผู้สอน และผู้เข้าสังเกตไม่เห็นในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น   เมื่อนำวิดีทัศน์มาดูภายหลังก็ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของข้อมูล   ครูผู้สอนอาจเอาไปเปิดดูที่บ้านและพบเหตุการณ์ที่ตนไม่ได้สังเกตขณะสอน   วิดีทัศน์นี้มีประโยชน์ที่สุดในตอนซักถามและสรุปข้อเรียนรู้ (debriefing)  และตอนออกแบบบทเรียนใหม่ (redesign) 

เครื่องมือสำหรับใช้ถ่ายวิดีทัศน์อาจใช้เครื่องมือง่ายๆ ราคาถูก (เช่นโทรศัพท์มือถือ)  ไปจนถึงกล้องและไมโครโฟนคุณภาพสูงราคาแพง    ขึ้นกับงาบประมาณที่มี   

การซักถามและสรุปข้อเรียนรู้ (debriefing)

ช่วงเวลาสำหรับการซักถามและสรุปข้อเรียนรู้ควรมากกว่าเวลาสอนบทเรียน ราวๆ ๑ ชั่วโมง   และผู้เข้าร่วมสังเกตบทเรียนทุกคนควรเข้าร่วม   เริ่มจากครูผู้สอนกล่าวเป็นคนแรกว่าตนรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น    ตามด้วยข้อคิดเห็นของทีมวางแผนบทเรียน   เพื่อตรวจสอบว่าเป้าหมายของ LS นี้คืออะไร   ส่วนไหนประสบความสำเร็จ  ส่วนไหนที่ยังต้องปรับปรุง    จะมีการปรับปรุงอย่างไร   

หลังจากนั้น ผู้เข้าสังเกตชั้นเรียน โค้ช และบุคคลอื่นๆ ให้ข้อมูลที่ตนสังเกตเห็นตามที่ได้รับมอบหมายหรือตกลงกันไว้    รวมทั้งให้ข้อสะท้อนคิดของตน   ผู้เข้าสังเกตชั้นเรียนควรได้ส่งมอบแบบฟอร์มบันทึกการสังเกตชั้นเรียนที่เขียนอย่างประณีตให้แก่ทีม LS    ตัวอย่างคำถามสำหรับใช้ในช่วง debrief มีดังนี้

  • ส่วนไหนของการออกแบบที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย
  • ยกตัวอย่างคำพูดหรือพฤติกรรมของนักเรียน ที่แสดงว่านักเรียนตั้งใจเรียนอย่างมาก
  • มีส่วนใดบ้างที่ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบทเรียนได้ดีขึ้น
  • คาดว่านักเรียนจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในข้อบนอย่างไร 

การอภิปรายในช่วง debriefing ควรเน้นตอบคำถามว่า การวางแผนบทเรียนได้ช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน   โดยอาจหยิบเอาแต่ละตอนของการวางแผนมาคุยกัน   

หากเป็นการทดลองสอนรอบสอง   สมาชิกของทีมควรระบุให้ชัดว่าในรอบนี้มีการปรับปรุงตรงไหนบ้าง    เพื่อบรรลุผลตรงไหน   และตรวจสอบว่าผลของรอบแรกกับรอบสองต่างกันอย่างไร    ผู้เขียนเล่าว่า บางกลุ่มปรับปรุงแล้วลองสอนใหม่เป็นครั้งที่ ๓ และ ๔ ก็มี    และในบางกรณีมีการออกแบบครอบคลุมทั้งหน่วยสาระ โดยมีบทเรียนที่ทดลองสอนหลายบทเรียน      

ผมขอเพิ่มเติมมุมมองของผมว่า    กระบวนการออกแบบบทเรียน  และการสรุปข้อเรียนรู้    เปรียบได้เป็น BAR (Before Action Review)   และ AAR (After Action Review) ของการจัดการความรู้นั่นเอง   

ออกแบบบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ใหม่

หลังการสรุปข้อเรียนรู้   ทีมออกแบบ LS นัดประชุมเพื่อเขียนบทเรียนใหม่ ที่ปรับปรุงจากชุดแรก ตามข้อนะนำและข้อเรียนรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมรอบแรก   โดยนำเอาวิดีทัศน์ที่บันทึกไว้มาดูและสะท้อนคิดร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการร่วมกันตัดสินใจปรับปรุง   

เมื่อได้บทเรียนชุดใหม่  ก็ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้สอนในรอบ ๒    จะเชิญใครมาร่วมบ้าง   

สรุป

บทเรียนที่ทีมครูร่วมกันออกแบบเป็นหัวใจของ LS   กระบวนการร่วมกันออกแบบ สอน สังเกต  สรุปข้อเรียนรู้  และออกแบบใหม่ ช่วยให้ครูเอาใจใส่สิ่งที่นักเรียนปฏิบัติและเรียนรู้ในห้องเรียน อันเป็นผลจากการสอนของครู   เมื่อครูเข้าร่วมกิจกรรมนี้สองสามรอบ ครูจะเปลี่ยนไป   จะมีความสุขความภูมิใจในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้   และกลายเป็นคนที่ทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนครู    หลายคนนำไปใช้ในวิชาอื่นๆ    และครูบางคนที่ย้ายโรงเรียนนำไปใช้ในโรงเรียนใหม่ของตน

เขาสรุปการเปลี่ยนแปลงของครูที่สำคัญ ๓ ประการคือ  (๑) ครูเปลี่ยนไปเอาใจใส่การเรียนรู้ของนักเรียน  แทนพฤติกรรมเดิมที่เอาใจใส่การสอนของตน (๒) ครูเรียนรู้วิธีตอบคำถามของนักเรียนโดยการถามกลับ  (๓) ครูใช้เวลาคุยกันมากขึ้นเรื่องการสอนกับการเรียนรู้ของนักเรียน    และชอบชีวิตความเป็นครูแนวใหม่นี้

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ย. ๖๖

โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้,  Manabu Sato, SLC, LS, School as Learning Community, Lesson Study, มานาบุ ซาโตะ, ซาโตะ, สหรัฐอเมริกา, USA,  Karin Wiburg,  Susan Brown, Wiburg, Brown, ออกแบบ, การศึกษาบทเรียน         

หมายเลขบันทึก: 717394เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2024 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2024 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I somehow get the feeling that most people (and teachers) in Thailand would miss the point that successful learning is a result of hard work by many dedicated people. This example says that if we really try, we will succeed.

Somehow, the feeling that not many Thais have the dedication and tenacity to over the hard yukka and many more Thais are inclined to invent smart ways to show success (as told in The Sin of Taking the Measure To Be the Goal https://www.gotoknow.org/posts/713359 ) and disregard the real attempts.

Oops! I missed typing a word go in the phrase ‘…have the dedication and tenacity to [go] over the hard yukka…’

So, the journey is not learned. Only the reward is to be won – in a ‘smart’ way (even fraudulently).

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท