โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๕. ลางสังหรณ์ของ Lesson Study เพื่อ Learning Community ในอินโดนีเซีย


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๕ นี้ ตีความจาก บทที่ ๖ ของหนังสือเล่มแรก   เรื่อง Harbinger of Lesson Study for Learning Community in Indonesia  เขียนโดย Tatang Suratno, Ibrohim, Ridwan Joharmawan, Husnul Chotimah and Naomi Takasawa     

 

สรุปโดยย่อที่สุดคือ LSLC ในจังหวัดชะวาตะวันออก ของอินโดนีเซียเกิดขึ้นจากความร่วมมือกับ JICA   ความสำเร็จของ LSLC ในโรงเรียนมัธยมปลาย SMA Proton เกิดจากภาวะผู้นำของครูใหญ่และครูแกนนำ    ที่ได้สร้างรูปแบบที่ดีของการประยุกต์ใช้ LSLC อย่างได้ผล  เกิดพฤติกรรมความร่วมมือกันในชั้นเรียน ในระหว่างครูด้วยกัน และระหว่างโรงเรียนกับพ่อแม่และชุมชน  เกิดผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน   แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ยั่งยืน   เพราะไม่ได้สร้างโครงสร้างการจัดการ รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร ที่สามารถเอาชนะระบบบริหารการศึกษาแบบมีพิธีรีตอง และลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา ได้ 

 

บทนำ

ระบบการศึกษาของอินโดนีเซียเริ่มในปี 1921 เพื่อสร้างสังคมที่มีอิสรภาพ  เป็นประชาธิปไตย  และมีความยุติธรรม    เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมดัทช์    ระบบการศึกษาจึงอยู่บนความเชื่อ ๓ ประการ คือ  (๑) เกลียวเชือก ๓ เส้นของภาวะผู้นำในการเรียนรู้ ได้แก่ เชือกเส้นหน้า ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง   เชือกเส้นกลางสร้างการริเริ่ม  เชือกเส้นหลังให้การสนับสนุน  (๒) เกลียวเชือก ๓ เส้นของเป้าหมายการเรียนรู้ ได้แก่ ความสร้างสรรค์  สุนทรียะ  และอุปนิสัย (๓) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นคุณค่าของปฏิสัมพันธ์ ในลักษณะเสวนารับฟังกัน และตอบแทนซึ่งกันและกัน    

สองทศวรรษต่อมา เพื่อเตรียมตัวประกาศอิสรภาพ มีการประกาศหลักปัญจศีล ซึ่งหมายถึงความสามัคคีร่วมมือกันและรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย   โรงเรียนถูกใช้เป็นแหล่งหลอมรวมคนในชาติให้สามัคคีร่วมมือกัน  และให้ร่วมมือกับรัฐ   เท่ากับเป็นการเริ่มต้นของปัญหาการศึกษา   เพราะสภาพการเรียนรู้ในโรงเรียนคือทำตามหลักสูตรชาติ   ที่ในทุกวิชาที่เรียน มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว    นักเรียนเรียนโดยท่องจำตามตำรา   ส่งผลให้สมองส่วนสร้างสรรค์ของนักเรียนไม่ได้รับการพัฒนา 

ครูสอนแบบบอกความรู้   นักเรียนเป็นผู้เรียนแบบรับถ่ายทอด (passive learner)  ตามแบบที่กำหนดโดยหน่วยเหนือ    ครูดิ้นรนอยู่กับวัฒนธรรมการเรียนรู้เชิงวิชาชีพที่ผิด   

เมื่อเข้าสู่(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ มีนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยกระจายอำนาจ  ให้โรงเรียนจัดการตนเอง   สู่ประชาธิปไตยทางการศึกษา  ให้สังคมเข้าร่วมมีบทบาท   ตามมาด้วยการการกำหนดมาตรฐานการศึกษา    ให้มีหลักสูตรที่แต่ละโรงเรียนกำหนดเอง (school-based curriculum)     ประกาศให้ครูเป็นวิชาชีพ  และนักเรียนเป็นผู้เรียนที่สร้างการเรียนรู้ของตนเอง      

แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ง่าย  เนื่องจากเป็นเรื่องซับซ้อน   และในระบบงานของทางการอินโดนีเซียยังคงมีระบบการสั่งการเป็นชั้นๆ   มีการแข่งขัน และการประเมินผล ที่ทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกจำกัด   เป็นสภาพที่ มานาบุ ซาโตะ เรียกว่า ความล้มเหลวของโรงเรียนสมัยใหม่    จากการถูกกระทำโดยลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่เน้นการแข่งขัน นำสู่ช่องว่างด้านเศรษฐกิจและสังคม   และถูกกระทำโดยลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ (neo-conservatism) ที่นำสู่การไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย     เพื่อบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา โรงเรียนต้องเป็นชุมชนเรียนรู้ และมุ่งบรรลุทั้งคุณภาพและความเท่าเทียมไปพร้อมๆ กัน    โดยจัดการเรียนรู้แบบ เน้นการปฏิบัติ (project-based) เน้นความร่วมมือ และมุ่งให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม   

บทความนี้ เสนอเรื่องราวของ LSLC ในโรงเรียนมัธยมปลาย   และบทบาทของมหาวิทยาลัยมาลัง (State University of Malang) ในจังหวัดชะวาตะวันออก   โดยใช้แนวทางศึกษาระบบนิเวศของการศึกษา  

Lesson Study ในอินโดนีเซีย

เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000s อาจารย์แห่งคณะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลัง ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากไจก้า (JICA  – Japan International Cooperation Agency) ริเริ่มโครงการ Lesson Study ในจังหวัดชะวาตะวันออก  ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไจก้ากับรัฐบาลอินโดนีเซีย    โดยมีโครงการต่อเนื่องกัน ๔ โครงการคือ  (๑) โครงการผลิตครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (1998 – 2003)    (๒) โครงการผลิตครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่อเนื่อง (2003 – 2005)   (๓) โครงการพัฒนาครูประจำการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (2006 – 2008)  (๔) โครงการพัฒนาการศึกษาระดับมัธยมต้น (2009 – 2013)   

LS ในอินโดนีเซีย เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียน   ภายใต้ความเชื่อว่าจะพัฒนาคุณภาพการผลิตครูต้องทำโดยร่วมมือกับครูที่สอนวิชานั้นๆ   

มี LS เกิดขึ้นหลายแบบในอินโดนีเซีย    (๑)  LS ของโรงเรียน ที่ครูทุกคนในโรงเรียนเข้าร่วม  (๒) แบบที่ชมรมครูเฉพาะวิชาในพื้นที่ร่วมกันจัด (๓) แบบที่ครูหลายสาขาวิชา หลายโรงเรียน ร่วมกันจัดชมรม Lesson Study    

เริ่มด้วยกิจกรรมทดลอง (1998 – 2003) LS เพื่อพัฒนาการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แบบที่นักเรียนมีบทบาทเป็นผู้กระทำการ  และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกับครู     กิจกรรมทดลอง นี้ประกอบด้วย ๓ ช่วง  (๑) ช่วงก่อนลองดำเนินการ  เป็นการจัดประชุมปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัย เพื่อฝึกวิธีสอนแบบใหม่ และวิธีวัดผลของวิธีสอนแบบใหม่ แก่ครูที่เข้าร่วม   (๒) ช่วงทดลอง  ครูคนหนึ่งทำหน้าที่สอนแนวใหม่ และเปิดชั้นเรียนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสองสามคน และครูที่เข้าร่วมกิจกรรม เข้าสังเกตชั้นเรียนและบันทึกข้อสังเกต รวมทั้งมีการบันทึกวิดีทัศน์ไว้   หลังจากนั้นสองสามวัน มีการอภิปรายกลุ่มของผู้สอนและผู้เข้าสังเกต  โดยเปิดวิดีทัศน์ประกอบการอภิปราย  (๓) ช่วงหลังทดลอง โดยทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิผลของการสอน  โดยมีข้อมูลจากแบบสอบถามนักเรียน และผลการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างต่อผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย       

จุดอ่อนที่เกิดขึ้นคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีแนวโน้มจะทำตัวเป็นผู้รู้ และให้คำตำหนิจุดอ่อนของครู    ทำให้กระบวนการ LS ตอนเริ่มต้นได้ผลไม่ดีนัก    ในช่วงต่อมา (2003 – 2005) ฝ่ายญี่ปุ่นจึงนำหลักการชุมชนเรียนรู้ (learning community), การเรียนรู้ด้วยการร่วมมือ (collaborative learning),  การเป็นเพื่อนร่วมงานหรือร่วมวิชาชีพ (collegiality),  และการสะท้อนคิด (reflective practice) มาใช้    วงจร Plan – Do – See ของ LS ที่เน้นการจ้องมองพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน    ไม่ใช่เน้นจ้องมองพฤติกรรมการสอนของครู    ทำให้ LS เปลี่ยนจุดเน้น จากการประเมินครู  ไปเป็น “เรียนรู้จากการเรียนรู้ของนักเรียน”   

การดำเนินการในช่วงต่อมา (2006 – 2008) ซึ่งเป็นการดำเนินการทั่วทั้งจังหวัด   ครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เกือบทุกคนเข้าร่วม    ทุกโรงเรียนเข้าร่วม LS   และอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูเริ่มร่วมมือกันทำ action research และทำเอกสารคู่มือสำหรับนักศึกษาครู    ทำให้ LS ยิ่งได้รับความนิยมยิ่งขึ้น    มีคนจำนวนมากยืนยันว่า LS ช่วยทำให้เกิดชุมชนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาครู และเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ขึ้นในวงการศึกษา   

ดังนั้นในโครงการต่อๆ มาของรัฐบาล ที่ร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน และแหล่งสนับสนุนจากต่างประเทศ จะกำหนดให้มีกิจกรรม LS อยู่ในโครงการเสมอ 

 ตั้งแต่นั้นมาทั้งโรงเรียนระดับมัธยมและประถม รวมทั้งมหาวิทยาลัย ต่างก็ใช้ LS เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนรู้ของตน   

อย่างไรก็ตาม ในตอนปลายโครงการ (2008 – 2009) ยังไม่เห็นหลักฐานว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้น    ดังนั้น ในช่วงท้ายของโครงการจึงเน้นสร้างความต่อเนื่องยั่งยืนของ LS ด้วยบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ให้เข้ามาแสดงบทบาทหุ้นส่วนสนับสนุน ด้วยกลไกต่อไปนี้  (๑) จัดทำโมเดลวิธีปฏิบัติที่ดี ของการออกแบบ การปฏิบัติ และการสะท้อนคิด ใน LS  (๒) ส่งเสริมให้ผู้นำในพื้นที่ดำเนินการ LS หลังจากโครงการสิ้นสุด  (๓) บรรจุ LS ลงในการศึกษาและการพัฒนาครู (๔) จัดตั้งสมาคม LS แห่งอินโดนีเซีย  (๕) จัดเวที LS ที่ไม่เป็นทางการ ในระดับเครือข่ายครู และเครือข่ายโรงเรียน  

ภาวะผู้นำตามสถานการณ์

เมื่อโครงการความร่วมมือระหว่างไจก้ากับรัฐบาลอินโดนีเซียโครงการที่ ๔ ดังกล่าวข้างต้นจบในปี 2013   LS ในอินโดนีเซียก็โรยราลง    แต่ยังคงเข้มแข็งที่โรงเรียน SMA Proton ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนระดับมัธยมปลาย  ที่ผู้เขียนบทความนี้คนที่ ๓ และ ๔ (Ridwan Joharmawan และ Husnul Chotimah) เป็นครูผู้นำกิจกรรม LSLC ของโรงเรียน   โดยที่โรงเรียนนี้ไม่อยู่ในโครงการทดลอง    แต่ได้นำเอา LSLC มาใช้พัฒนาโรงเรียนเอง     

ผู้เขียนบทความคนที่สอง (Ibrohim) เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ประสานงานโครงการ    เป็นแหล่งข้อมูลเรื่อง LS  และมีเครือข่ายครูกว้างขวาง    ผู้เขียนบทความคนที่หนึ่ง (Tatang Suratno) เป็นผู้นำโครงการ LS ของชะวาตะวันออก    ส่วนผู้เขียนคนสุดท้าย (Naomi Takasawa) เป็นผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น รับผิดชอบส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียน    ผู้เขียนทั้ง ๕ คนได้รู้จักสนิทสนมกันและเห็นพ้องกันว่า ต้องเขียนประวัติของ LSLC อินโดนีเซียไว้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับสร้างความยั่งยืนต่อเนื่อง   

ผู้เขียนรายที่ ๑ – ๔ จึงได้ร่วมกันจัดการสนทนากลุ่ม (focused group) ขึ้นในช่วงปี 2012 – 2015 ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม LS ในมาลัง   เป็นข้อมูลนำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจบทบาทของกลุ่มตนในการทำให้ LSLS กลมกลืนกับบริบทของมาลัง    นำมาเสนอในแนวทำความเข้าใจระบบนิเวศ  เน้นเพื่อนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เน้นทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ           

LSLC ที่โรงเรียน SMA Proton

โรงเรียนมัธยมปลายเอกชน SMA Proton มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับมหาวิทยาลัยมาลัง    โดยครูใหญ่และครู ร่วมเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยด้วย    มีนักเรียน ๗๕๐ - ๘๐๐ คน ครู ๕๐ คน    ในอินโดนีเซีย นักเรียนในโรงเรียนเอกชนคือคนที่สอบแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐบาลไม่ได้   ต้องมาเข้าโรงเรียนเอกชนที่พ่อแม่จ่ายค่าเล่าเรียน   

นอกจากได้นักเรียนที่เรียนอ่อนแล้ว   ครูส่วนใหญ่ก็เป็นครูประสบการณ์น้อยและมีอัตราลาออกสูงมาก    ที่ลาออกก็เพราะไปบรรจุเป็นครูในโรงเรียนรัฐ มีฐานะเป็นข้าราชการ    ก่อนรู้จัก LSLC ครูรู้จัก “การนิเทศ” มายาวนาน   เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอโดยครูใหญ่และศึกษานิเทศก์ ดำเนินการติดตามประเมินผลครู  โดยที่ครูส่วนใหญ่ไม่ต้องการ เพราะทำให้ครูเกิดความทุกข์จากการถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง    บางคนถึงกับร้องไห้  และบางคนอยากลาออกจากอาชีพครู   

 โรงเรียน SMA Proton จึงแสวงหาวิธีทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ทำงานอย่างปลอดภัยและให้ผลลัพธ์สูง    การนำ LSLC มาประยุกต์ใช้ในบริบทของโรงเรียน ก็เพื่อสนองเป้าหมายนี้     ในปีการศึกษา 2004/2005 โรงเรียนได้จัดตั้งแผนกพัฒนาวิชาการและการประเมิน เพื่อช่วยครูใหญ่พัฒนา PLC    ผู้เขียนท่านที่สี่ (Husnul Chotimah) ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ผู้นำ   ในฐานะเป็นครูอาวุโส มีประสบการณ์สูง และได้เข้าร่วมขบวนการ LS  ตั้งแต่ต้น    ภายใต้ภาวะผู้นำของท่าน LSLC ของโรงเรียนมีพัฒนาการเป็น ๓ ช่วงดังนี้        

เริ่มต้น (2001 - 2003)

มีครู (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์) จำนวนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมทดลองที่จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลัง   และพร้อมที่จะเปิดชั้นเรียนให้ครูในวิชาเดียวกันและวิชาอื่นๆ ครูโรงเรียนอื่นๆ และอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้าสังเกตชั้นเรียน   ตามด้วยการเสวนาเพื่อหาทางพัฒนาชั้นเรียน    แต่เมื่อขอให้ครูวิชาอื่นเปิดชั้นเรียน ครูปฏิเสธ เพราะไม่คิดว่าจะเกิดผลดีต่อตนเอง   ในช่วงนี้ยังใช้คำว่า “นิเทศ” (supervision) ในการเปิดชั้นเรียน

จัดตั้งอย่างเป็นทางการ (2004/2005)

ครูใหญ่คนใหม่ (ผู้เขียนท่านที่สาม - Ridwan Joharmawan) เข้ารับหน้าที่    ท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมโครงการ LS โครงการแรกอย่างแข็งขัน   เมื่อมาทำหน้าที่ครูใหญ่ก็ส่งเสริมให้ดำเนินการ LS ในทุกวิชา    ต่อมาได้มีการพัฒนาโมเดล LSLC ของอินโดนีเซียขึ้น  มีการเน้นให้จ้องมองพฤติกรรมนักเรียน ไม่ใช่จ้องมองพฤติกรรมครู ในการเข้าสังเกตชั้นเรียน   ทีมงานของโรงเรียนจัดการให้ครูเข้าสังเกตชั้นเรียนซึ่งกันและกัน    มีทั้งที่ครูวิชาเดียวกันเข้าสังเกต (ยังใช้คำว่า “นิเทศ” – supervision ในการเข้าสังเกต)  และแบบที่ครูต่างวิชาเข้าสังเกต   อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการเสวนาหลังสังเกตชั้นเรียนไม่ยกระดับขึ้น

ในปี 2005 ครูใหญ่ได้รับเลือกให้ไปเข้ารับการอบรมที่ญี่ปุ่น    เมื่อกลับมาจึงนำเอาหลักการ LS ร่วมกับ Learning Community มาเผยแพร่ เป็น LSLC  ครูใหญ่จึงร่วมกับทีมพัฒนาวิชาการ ดำเนินการ LSLC ในลักษณะที่เปิดกว้างให้ครูทุกคนเข้าสังเกตชั้นเรียน   และนำข้อสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนมาเรียนรู้ร่วมกันผ่านการเสวนาหลังสังเกตชั้นเรียน    และมีการร่วมกันทำความเข้าใจ LSLC ในมิติที่ลึกขึ้น  

ในช่วงแรก ทีมพัฒนาวิชาการจัด LSLC ทุกๆ ๒ เดือน    เชิญครูต้นแบบ (ส่วนใหญ่เป็นครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์) เปิดชั้นเรียน   เชิญครูทุกคนเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน    มีครูอาวุโสจำนวนหนึ่งไม่ศรัทธา   คิดว่าเป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่ก็อปปี้มาจากต่างประเทศ    ไม่เข้าร่วม และเมื่อได้รับเชิญให้เป็นผู้เปิดชั้นเรียนก็ปฏิเสธ    ครูที่ด้อยอาวุโสก็ไม่มั่นใจตัวเองที่จะเปิดชั้นเรียน   

อย่างไรก็ตาม นักเรียนบอกว่าครูที่สอนตอนเปิดชั้นเรียน สอนดีกว่าชั้นเรียนตามปกติของตน   ทีมพัฒนาวิชาการจึงจัดการประชุมปฏิบัติการเพื่อร่วมกันสะท้อนคิดต่อท่าทีการตอบสนองเชิงบวกของนักเรียน   

ความท้าทายใหม่ (2005 – 2011 และหลังจากนั้น)  

LSLC ได้รับการยอมรับจากครูมากขึ้น    ทีมพัฒนาวิชาการจึงจัด LSLC ถี่ขึ้น   ในปีการศึกษา 2005/2006 จัดเดือนละครั้ง    และเชิญครูทุกวิชาเข้าร่วม    ครูยิ่งนิยมเข้าร่วม LSLC ยิ่งขึ้นเมื่อทีมพัฒนาวิชาการเปิดเผยผลการถามความเห็นนักเรียน    ที่นักเรียนบอกตรงๆ ว่าครูที่เข้า LSLC สอนดีกว่า   นักเรียนบอกว่าอยากให้ครูที่ไม่ร่วม LSLC สอนแบบครู LSLC   คือไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ เพราะไม่สนุก    

นักเรียนถึงกับปฏิเสธที่จะเรียนกับครูบางคน    บทบาทของนักเรียน และการเข้าร่วมของภาคีนอกโรงเรียนทำให้แรงต้านจากครูหมดไป    และทำให้ครูเข้าร่วม LSLC ด้วยความมั่นใจ    ในปีการศึกษา 2006/2007 ทีมพัฒนาวิชาการจัด สัปดาห์ละครั้ง และเชิญให้ครูสาขาที่ไม่ใช่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปิดชั้นเรียนบ่อยขึ้น   รวมทั้งดำเนินการบูรณาการ เข้ากับการวิจัยชั้นเรียน  เพื่อหนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพของครู    มีการสนับสนุนการวิจัยแก่ครู

ปีการศึกษา 2008/2009 เป็นจุดสูงสุดของ LSLC   พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียนและเสวนาหลังสังเกตชั้นเรียน    บางคนถึงกับเข้าร่วมสอนในชั้นเรียน     นำสู่การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อกิจการของโรงเรียน    พ่อแม่และคนในชุมชนสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการ LSLC   และมหาวิทยาลัยมาลังดำเนินการบรรจุ LSLC เข้าในหลักสูตรการผลิตครู    

ปีการศึกษา 2009/2010 เป็นปีแห่งความท้าทาย   เนื่องจากหัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการย้ายไปทำหน้าที่ครูใหญ่ที่โรงเรียนอื่น   แต่ LSLC ยังดำเนินการต่ออย่างราบรื่น รวมทั้งการเชื่อมโยงกับงานวิจัยชั้นเรียน และเป็นที่เรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา 

จัดตั้งบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง   

ในช่วงกิจกรรมทดลอง มหาวิทยาลัยมาลังชักชวนหลายโรงเรียนเข้าร่วม แต่โรงเรียนที่พัฒนาจากกิจกรรมทดลองสู่ LSLC มีโรงเรียนเดียวคือ SMA Proton   โดยมีปัจจัยสำคัญของความสำเร็จคือครูใหญ่กับครูแกนนำ    เราจะมาเรียนรู้บทบาทของผู้นำนี้  

ครูใหญ่

เนื่องจากครูใหญ่เป็นอาจารย์ในคณะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลัง   จึงมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลาย    การได้เข้าร่วมกิจกรรมทดลองช่วยให้ได้เข้าใจสภาพต่างๆ ในโรงเรียน    โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรง ที่นักเรียนทะเลาะและทำร้ายกัน    ครูไม่ตั้งใจสอน   มีครูถูกฟ้องร้องว่าทำร้ายเด็ก   นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน   มีนักเรียนขอลาออกไปเรียนที่อื่น    ครูใหญ่วางกลยุทธพัฒนาโรงเรียนโดยเริ่มที่ครู    ในปี 2004 ก่อตั้งหน่วยพัฒนาวิชาการเพื่อพัฒนาครูและพัฒนาการสอน   

ในปี 2005 ครูใหญ่ได้รับเชิญจากไจก้า ไปดูงานและเรียนรู้ LSLC ในญี่ปุ่น    ได้ไปเรียนรู้จากโรงเรียนญี่ปุ่นหลายโรงเรียน    และศึกษาเรื่อง collaborative leadership  ซึ่งท่านตีความว่า หมายถึงมีความรับผิดชอบร่วมกัน    สำหรับในโรงเรียนหมายถึงความร่วมมือระหว่างนักเรียนในชั้น  ระหว่างครูด้วยกัน  และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ผู้ปกครอง

เมื่อกลับมา ครูใหญ่ร่วมมือกับทีมพัฒนาวิชาการในการดำเนินการ LSLC เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมความร่วมมือ และภาวะผู้นำแบบที่มอบโอกาสให้ทุกคนเป็นผู้นำ (distributed leadership)    ทีมพัฒนาวิชาการร่วมกันผู้ประสานงานครูประจำวิชา มีการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้เชิงรุก  เรียนแบบร่วมมือกัน และเรียนจากการสะท้อนคิด    ซึ่งก็คือการประยุกต์ใช้ LSLC ในการพัฒนาสมรรถนะครู และคุณภาพโรงเรียน   

LSLC เป็นความท้าทายต่อครู ที่ครูใหญ่จะต้องเอาใจใส่ประเด็นต่อไปนี้ (๑) การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน (๒) การจัดการเวลา ให้ครูมีเวลาออกแบบการเรียนรู้  (๓) ความแตกต่างด้านคุณภาพของการสอนประจำวันตามปกติ กับการสอนใน LSLC  (๔) การดำเนินการหลักสูตรใหม่กินเวลามาก และต้องใช้วัสดุสิ้นเปลือง  (๕) ครูบางคนลังเลที่จะเข้าร่วมเวทีสะท้อนคิด (๖) ผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนครู      

ครูใหญ่เน้นให้ครูทำความเข้าใจการเรียนรู้ของนักเรียนในมิติที่ลึก    และให้การสนับสนุนครูที่ต้องการเข้าร่วม LSLC และการสัมมนาที่เกี่ยวข้อง อย่างเต็มที่  รวมทั้งจัดระบบแรงจูงใจ และขยายเครือข่าย    ในตอนท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่เชื่อมโยง LSLC เข้ากับการประเมินผลงานครู    โดยการนำความเห็นของนักเรียนมาประกอบ    ซึ่งช่วยให้ครูเข้าร่วม LSLC อย่างจริงจังยิ่งขึ้น    

หลังจากบริหารโรงเรียนมาเกือบสิบปี ครูใหญ่ระบุผลกระทบเชิงบวกของ LSLC ต่อครู ดังนี้  (๑) ครูเอาใจใส่การเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้น (๒) เปิดใจ  ริเริ่ม และสะท้อนคิด มากขึ้น  (๓) เชื่อมโยง LSLC เข้ากับการวิจัยชั้นเรียน  (๔) มั่นใจตนเองมากขึ้น ในการเปิดชั้นเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อน

ครูใหญ่ระบุผลด้านดีต่อโรงเรียนดังนี้  (๑) มีระบบจัดการ และการบันทึกการบริหารหลักสูตรที่ดี  (๒) ครู บุคลากร และนักเรียนมีวินัยเพิ่มขึ้น (๓) ชุมชนภายในโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  (๔) ชุมชนมีส่วนร่วมกับโรงเรียนดีขึ้น  (๕) ขยายเครือข่ายของโรงเรียนทั้งระดับชาติ และนานาชาติ   

ครูใหญ่มีอุดมการณ์ว่า ความรับผิดชอบที่แท้จริงของโรงเรียนคือ พัฒนาการของเด็ก และอนาคตของเขา   

หัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการ

หัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการเป็นครูวิชาชีววิทยาที่เข้ามาเป็นครูประจำการของรัฐ และถูกส่งมาประจำที่โรงเรียนนี้   เป็นคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นครูชีววิทยาที่ดีมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย   เมื่อมาเป็นครูก็เขียนเล่าเรื่องราวการเป็นครูของตนมากมาย    เคยเป็นครูต้นเรื่อง มีประสบการณ์เปิดชั้นเรียนมากมาย    ได้เรียนรู้ทั้งจากอาจารย์มหาวิทยาลัย และจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น    ในปี 2002 เธอเข้าเรียนต่อปริญญาโทด้วยทุนของตนเอง (เป็นพฤติกรรมที่ครูน้อยคนจะทำ) และจบในปี 2004 และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าครูชีววิทยาของมาลัง ที่ช่วยให้เธอมีเครือข่ายกว้างขวาง    และมีโอกาสเชื้อเชิญครูจากต่างโรงเรียนให้มาสังเกตชั้นเรียนของเธอ  และในวงเสวนาหลังสังเกตชั้นเรียนเธอมีโอกาสเล่าการเรียนรู้ของเธอจากวงเสวนา   เล่าวิธีให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น อย่างสุภาพและมีรายละเอียดที่ลุ่มลึก    และว่า การได้รับคำแนะนำป้อนกลับเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลหรือได้รับความเสียหาย     

  หัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการบอกว่า ตนคิดว่าคนที่มาสังเกตชั้นเรียนไม่ใช่คนที่ตนจะวิตกกังวล   ใจของตนมุ่งอยู่ที่นักเรียนและการเรียนรู้ของนักเรียน    เพราะตนต้องการเป็นครูที่นักเรียนจะจดจำไปตลอดชีวิต    ต้องการให้นักเรียนสนุกกับการเรียนและอยากได้ตนเป็นครู   

ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการ เธอมุ่งสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ    โดยหน้าที่ของทีมพัฒนาวิชาการคือ  (๑) กำหนดตารางจัดกิจกรรม LSLC (๒) พัฒนารูปแบบ (format)  (๓) เอื้ออำนวยและติดตามกิจกรรม  (๔) จัดทำเอกสารและรายงานกิจกรรม   

โดยที่กำหนดการ LSLC ต้องปรับให้สอดคล้องกับตารางสอนที่กำหนดโดยผู้ประสานงานหลักสูตร    การเปิดชั้นเรียนของครูต้นแบบจัดในตารางเรียนปกติ    และผู้สังเกตชั้นเรียนคือเพื่อครูที่ว่างจากภารกิจสอน    การเรียนของโรงเรียนมัธยมปลายมีวันละ ๘ คาบ  คาบละ ๔๕ นาที    มีช่วงพักเที่ยง ๓๐ นาที    ทีมพัฒนาวิชาการจัดให้เปิดชั้นเรียน ๒ แบบคือ  (๑) คาบที่ ๓ ต่อด้วยคาบที่ ๔   ตามด้วยการเสวนาตอนพักเที่ยง   หรือ (๒) คาบที่ ๗ ต่อด้วยคาบที่ ๘  แล้วเสวนาหลังสังเกตชั้นเรียนหลังนักเรียนเลิกเรียน   

หลักการคือ LSLC ต้องไม่รบกวนการเรียนการสอนตามปกติ   ไม่เพิ่มภาระของครู    ไม่เพิ่มเวลาทำงานของครู    แต่ช่วยให้ครูทำหน้าที่ครูได้ดีขึ้น    และนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูงขึ้น

เพื่อให้  LSLC ดำเนินไปอย่างราบรื่น   ทีมพัฒนาวิชาการได้พัฒนาเครื่องช่วย ๓ อย่างคือ  (๑) คู่มือ LSLC สำหรับครูต้นแบบ  ผู้สังเกตชั้นเรียน  และผู้ดำเนินรายการ  (๒) แบบฟอร์มบันทึกการสังเกตชั้นเรียน  (๓) แบบสอบถามนักเรียน    รวมทั้งมีการบันทึกรายชื่อผู้เข้าสังเกตชั้นเรียน และรายงานเป็นเอกสาร     

คู่มือสำหรับครูต้นแบบประกอบด้วย  (๑) การเตรียมแผนการสอน  (๒) การจัดชั้นเรียน  (๓) การสอน (๔) การแจกแบบสอบถาม  (๕) การแลกเปลี่ยนในช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (๖) การออกแบบแผนการสอนใหม่ 

คู่มือสำหรับผู้สังเกตชั้นเรียนประกอบด้วย  (๑) เข้าชั้นเรียนตรงเวลา  (๒) จ้องมองที่นักเรียน  (๓) อยู่ในชั้นตลอดช่วงเวลา  (๔) จดบันทึกระหว่างสังเกต  (๕) ไม่คุยกัน (๖) ไม่เข้าไปร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน (๗) เข้าร่วมในช่วงสะท้อนคิด 

คู่มือสำหรับผู้ดำเนินรายการประกอบด้วย  (๑) เป็นผู้นำตอนเริ่มต้นการสังเกตชั้นเรียน และตอนสะท้อนคิดร่วมกัน  (๒) ให้ครูต้นเรื่องได้สะท้อนคิดเป็นคนแรก  (๓) สรุปปัญหา และแนวทางแก้ไข  (๔) ระบุประเด็นเรียนรู้  (๕) รวบรวมบันทึกการสังเกตชั้นเรียน และการบันทึกวิดีทัศน์ 

แบบฟอร์มบันทึกการสังเกตชั้นเรียนประกอบด้วย  (๑) นักเรียนตั้งใจเรียนหรือไม่  (๒) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน นักเรียนกับครู และนักเรียนกับวัสดุประกอบการเรียน (๓) ครูต้นแบบจัดการสถานการณ์ในชั้นเรียนอย่างไรบ้าง  (๔) ข้อเรียนรู้ และข้อเสนอแนะ 

แจกแบบสอบถามให้นักเรียน ๙ - ๑๒ คนตอบเพื่อตรวจสอบมุมมองของนักเรียน โดยมีคำถามต่อไปนี้  (๑) บทเรียนน่าสนใจหรือไม่  (๒) นักเรียนได้เรียนรู้อะไร  (๓) มีข้อเสนอแนะอะไรบ้างเพื่อให้การเรียนครั้งนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น  (๔) สิ่งที่ไม่ควรทำในชั้นเรียนครั้งนี้ 

ในปี 2009 หัวหน้าทีมพัฒนาวิชาการ (หรือผู้ประสานงาน LSLC) ได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนที่มีชั้นประถมและมัธยมต้น    ซึ่งถือว่าเป็นการได้รับการเลื่อนตำแหน่งแบบไม่เหมือนแนวทางปกติ    คือปกติครูที่ผลงานเด่นจะได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในระดับเดียวกัน    เธอตั้งปณิธานไปเผยแพร่ LSLC ให้ขยายกว้างขึ้นไปอีก 

สรุป 

ในปี 2013 โครงการความร่วมมือ LSLC ระหว่างไจก้ากับรัฐบาลอินโดนีเซียจบลง   การประยุกต์ใช้ LS ในอินโดนีเซียก็ซบเซาลง   ยังคงมีบางโรงเรียนและครูบางกลุ่มที่ดำเนินการต่อ   แต่ที่โรงเรียน SMA Proton เป็นข้อยกเว้น   เพราะมีการปฏิรูปเชิงระบบเป็นที่ทำต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสิบปี    เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร   และมีการจัดโครงสร้างใหม่ เพื่อขจัดพิษภัยจากระบบบริหารแบบมีพิธีรีตอง (bureaucratization)  และลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ทางการศึกษา  เพื่อสร้างความยั่งยืนของการปฏิรูประบบการศึกษา     

ผู้เขียนเน้น การดำเนินการตามบริบท (context-for-action)  และผู้นำการเปลี่ยนแปลง (agent) ว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของ LSLC ในโรงเรียน SMA Proton 

ผู้เขียนสรุปข้อเรียนรู้ ๕ ข้อ ที่ผมตีความย่อๆ แบบไม่ตรงกับต้นฉบับนัก ดังต่อไปนี้  (๑) อุดมการณ์ของ LSLC และของการศึกษาอินโดนีเซียคือเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคม   แต่โครงสร้างใหญ่ที่ครอบงำระบบการศึกษาไม่เอื้อให้บรรลุ  (๒) LSLC เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่ซับซ้อนยิ่ง    จึงต้องมีวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง   เน้นที่ประสบการณ์การสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน   (๓) ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจ และรู้จักใช้ “บริบทเพื่อการปฏิบัติ” (context-for-action)   ดังกรณีครูใหญ่และครูแกนนำของโรงเรียน SMA Proton   (๔) ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ทำงานได้ผลต้องมีขีดความสามารถจำเพาะ จึงจะเอาชนะแรงต้านได้ ดังกรณีครูใหญ่ของโรงเรียน SMA Proton  (๕) การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงบรรลุได้ตาม “บริบทเพื่อการปฏิบัติ” (context-for-action) นั้นๆ    ซึ่งในกรณีโรงเรียน SMA Proton ครูใหญ่และครูแกนนำมีความเข้าใจธรรมชาติตามที่เป็นจริงในโรงเรียนอย่างดีมาก และนำมาใช้ในการขับเคลื่อน LSLC  โดยการสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ขึ้นในโรงเรียน    คือปฏิสัมพันธ์แนวราบ   สภาพดังกล่าวยั่งยืนได้จากการวางโครงสร้างไว้ให้มั่นคง         

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๖๖

ห้อง ๒๓๐๑  โรงแรม Mercure Living Putrajaya  มาเลเซีย 

 

หมายเลขบันทึก: 717006เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2024 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2024 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท