ข้อเรียนรู้จากการเดินทางไปบรูไน ในภาพรวม


 

ดังเล่าแล้วว่า วันที่ ๑๑ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖๖ ผมร่วมกับคณะ HITAP เดินทางไปทำงานที่บรูไน   เพื่อให้คำแนะนำการใช้ HTA (Health Technology Assessment) เป็นเครื่องมือพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ    และวันทำงานจริงๆ มีเพียง ๓ วัน คือใน ๕ วัน เป็นวันเดินทางเสีย ๒ วัน  เพราะวันที่เราเดินทางไม่มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพบรูไน ต้องต่อเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์   

และเอาเข้าจริง ตามกำหนดการ วันที่ ๓ คือวันที่ ๑๔ เป็นการนำเสนอเรื่อง HTA ต่อผู้ทำงานในระบบสุขภาพของบรูไน    และให้ข้อเสนอแนะต่อ รมต. สาธารณสุขบรูไน ร่วมกับผู้บริหารระดับสูง    เวลาทำงานเก็บข้อมูลจริงๆ จึงมี ๒ วันเท่านั้น คือวันที่ ๑๒ และ ๑๓   

แต่ด้วยความชำนาญของทีม HITAP  งานเริ่มก่อนหน้าเป็นสัปดาห์ ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายบรูไน (ผ่านกระบวนการที่กำหนดโดยทีม HITAP)    ทำให้ทีม HITAP เสนอร่างข้อเสนอแนะก่อนวันเดินทาง   รอเพิ่มข้อมูลที่เก็บเพิ่มตอนเดินทางไปแล้วอีกไม่มากก็ได้รายงานฉบับสมบูรณ์   

คุณหมอยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิ HITAP   หัวหน้าทีม เล่าว่า HITAP มีประสบการณ์ทำงานแบบนี้ให้แก่ ๒๐ ประเทศ   จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานนี้ ทั้งที่เป็นบอร์ดของมูลนิธิ HITAP สามคน   และทีมงานของบรูไนจะตกใจมาก ที่การบรรยายเรื่อง HTA  และข้อเสนอแนะการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขบรูไนในภาพรวม (นำโดยหัวหน้า HITAP - รศ. ดร. วรรณฤดี อิสรานุกูลชัย) จะมีคุณภาพสูงมาก    เชื่อมโยงออกสู่ประเด็นอื่นๆ ของการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบด้าน และยืดหยุ่นตามบริบทของประเทศ

เป็นครั้งแรกที่ผมไปประเทศนี้   และเป็นครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่และระบบสุขภาพของประเทศเล็ก พลเมืองน้อยกว่าครึ่งล้านคน  และเป็นประเทศรายได้สูง   นั่งรถไปทางไหนเห็นแต่บ้านเรือนและอาคารสถานที่ที่สวยงามร่มรื่น  มีรถบ้านละอย่างน้อยหนึ่งคัน    ไม่มีสลัมเลย    ระบบบริการสุขภาพดีกว่าของไทยอย่างชัดเจน ในแง่บริการใกล้บ้าน ด้วยระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข (Health Centre) ที่ทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดที่เป็นบริการสาธารณสุขตติยภูมิ   

โดยที่เขามีระบบกำลังคนด้านวิชาชีพสุขภาพที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านบริการปฐมภูมิ    เช่นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP – General Practitioner) ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง    ที่หากมีตำแหน่งระดับ consultant ได้เงินเดือนเดือนละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญบรูไน เกือบสามแสนบาท    ในขณะที่แพทย์ทั่วไปเงินเดือน ๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ เหรียญ   และชาวบ้านยากจนอาจมีรายได้เพียงเดือนละ ๕๐๐ เหรียญ              

เขาบอกว่า ทั้งประเทศมีหมอราวๆ ๕๐๐ คน   และจากข้อมูลทั้งหมดที่ฟังมา   หมอที่ทำงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิน่าจะมีกว่าครึ่งของทั้งหมด   และระบบสุขภาพปฐมภูมิกับระบบตติยภูมิมีกลไกเชื่อมต่อที่ดี  ส่วนหนึ่งจากระบบข้อมูลบริการสุขภาพที่เรียกว่า BruHIMS (Brunei Health Information Management System) ที่กำลังยกระดับเป็น BruHIMS 2.0 ที่มีระบบจัดการคุณภาพข้อมูล  และมีระบบสังเคราะห์ความหมายนำไปใช้ประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาระบบและนโยบาย และต่อการพัฒนาคุณภาพของบริการ   

เรื่องระบบข้อมูลนี้ ฟังแล้วเห็นได้ชัดว่า มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้อีกมาก    เหมือนกับเรื่องอื่นๆ    ที่ใช้ evidences เป็นกลไก feedback loop สู่การเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจาก BruHIMS  เขายังมี BruHealth เป็นระบบข้อมูลประจำตัวพลเมืองแต่ละคน    ที่แต่ละคนมีในโทรศัพท์ของตน    เป็นข้อมูลที่ดึงมาจาก BruHIMS เอามาจัดระบบใหม่ให้เป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (personal health data system)   เป็นข้อเตือนใจให้แต่ละคนปรับปรุงพฤติกรรมสุขภาพของตน           

ที่จริงเมื่อเทียบกับระบบสาธารณสุขของไทยแล้ว ระบบของบรูไนมีคุณภาพสูงกว่ามาก   แต่เรื่องประสิทธิภาพในการใช้เงินยังเป็นความท้าทาย    ยิ่งความยั่งยืนของระบบ ที่ในระยะยาวประเทศก็จะไม่มีน้ำมัน   รายได้จากน้ำมันของประเทศหายไป   การเปลี่ยนขาด (transform) ระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวของประเทศจึงเป็นความท้าทาย   และเชื่อมโยงสู่การเปลี่ยนขาดระบบสาธารณสุขของประเทศ   ที่อาจต้องเปลี่ยนแหล่งทุนจากมาจากรายได้จากน้ำมันของรัฐบาล    มาเป็นจากภาษีของราษฎรเหมือนในประเทศไทย     

เราไม่เข้าใจว่า ระบบรัฐอุปถัมภ์ ของบรูไน ได้สร้างกระบวนทัศน์พึ่งพาแก่พลเมืองบรูไนแค่ไหน    ทางการของเขาได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ และหาทางปรับกระบวนทัศน์แก่พลเมืองอย่างไร   เราไม่เข้าใจเลย   คือเราไปเห็นและรู้จักบรูไนเพียงผิวเผินเท่านั้น 

คนชั้นกลางค่อนไปข้างสูงของเขา เช่นพวกหมอ  เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น หรือเป็นเรื่องปกติ    ในขณะที่คนไทยเรา เรื่องไปเที่ยวต่างประเทศเป็นโอกาสพิเศษ   ไปได้ไม่บ่อย 

เช้าวันที่ ๑๕ ธันวาคม  นสพ. Borneo Bulletin  ลงข่าว Brunei, Thailand discuss health tech assessment  รายงานการประชุมนำเสนอเรื่อง HTA เมื่อเช้าวันที่ ๑๔  

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ธ.ค. ๖๖

ห้องรับรอง Priority Pass   สนามบิน KL

  

หมายเลขบันทึก: 716968เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2024 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2024 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think this : นอกจาก BruHIMS เขายังมี BruHealth เป็นระบบข้อมูลประจำตัวพลเมืองแต่ละคน ที่แต่ละคนมีในโทรศัพท์ของตน เป็นข้อมูลที่ดึงมาจาก BruHIMS เอามาจัดระบบใหม่ให้เป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (personal health data system) เป็นข้อเตือนใจให้แต่ละคนปรับปรุงพฤติกรรมสุขภาพของตน is quite ‘pro-active’. The healthcare of 21C.

For Thailand, pricing of text messages will need to be revised (in most countries SMS texting is free or almost free). Emergency warnings are also issued via SMS.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท