เรียนรู้ระบบสุขภาพของประเทศบรูไน วันที่ ๓ : บรรยาย HTA  และหารือความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข 


 

วันที่ ๓ (๑๔ ธันวาคม) เราออกจากโรงแรม ๘ น. ไปยังกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ    นั่งรถไปประมาณ ๒๕ นาที ในท่ามกลาง rush hour ที่เหมือนช่วงรถน้อยในบ้านเรา   

อาคารกระทรวงการคลังและเศรฐกิจใหญ่โตทันสมัย มีร้านกาแฟ (ดูรูป)    ห้องประชุมเป็น auditorium รูปโค้ง ที่นั่ง ๑๐ แถว    น่าจะจุราวๆ ๒๐๐ คน    เขาไม่ได้จัดให้คนเข้าฟังออนไลน์ และไม่ได้ record การบรรยาย    มีผู้ฟังร้อยกว่าคน   จำนวนหนึ่งเป็นคนที่เราได้พบแล้วในช่วงสองวันก่อน   จัดว่าผู้ใหญ่ของวงการสาธารณสุขบรูไนให้ความสนใจมาฟังเป็นอย่างคับคั่ง 

การบรรยายเรื่อง HTA ใช้เวลา ๑๐๕ นาที   ระหว่าง ๙.๐๐ - ๑๐.๔๕ น.   โดย ดร. สุกรีของบรูไนพูด ๒๐ นาที    Dr. Sauda กับ ดร. มิ้งนำเสนอ ๔๐ นาที   เวลาที่เหลือเป็นการถามตอบ    คุณหมอยศเข้าร่วมแจมบางช่วง โดยเฉพาะเรื่องเล่าการทำงาน HTA ในประเทศไทยและประเทศอื่น   

การนำเสนอของ ดร. มิ้งค์ (รศ. ดร. วรรณฤดี อิสรานุกูลชัย หัวหน้า HITAP) สนุกสนานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังผ่าน App Menti    ช่วยให้เขาเข้าใจภาพใหญ่ของ HTA เป็นอย่างดี    รวมทั้งเรียกศรัทธาต่อ HITAP ได้เป็นอย่างสูง    ช่วงถามตอบมีคำถามดีๆ เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการทำ HTA,  ข้อจำกัดของ HTA   ที่เมื่อทีม HITAP ตอบ ก็ยิ่งสร้างศรัทธาจากผู้ฟัง   

แล้วนั่งรถไปกระทรวงสาธารณสุข ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาที   ขึ้นไปที่ห้องประชุมของรัฐมนตรี   เสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบสุขภาพของบรูไน เวลา ๑๑.๓๐ - ๑๓.๐๐ น.    แล้วกินอาหารเที่ยงง่ายๆ ที่นั่น 

ข้อค้นพบสำคัญคือ บรูไนมีบุคลากรสุขภาพคุณภาพสูง และมีจิตสาธารณะ   แต่ระบบก็ยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพของการใช้เงิน    ทีม HITAP มีข้อเสนอแนะ ๖ ข้อคือ  (๑) ใช้ HTA ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบสุขภาพ  (๒) สร้างระบบทุนสนับสนุนการวิจัยด้านพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพ  (๓) ส่งเสริมให้โรงพยาบาลทำหน้าที่จัดการทรัพยากร โดยกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เอื้ออำนาจ (๔) เรียนรู้การดำเนินการและใช้ HTA ของประเทศอื่นในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อประเทศบรูไน เช่นเรื่องโรคไตเรื้อรัง  (๕) ใช้ประโยชน์ข้อมูลสุขภาพ ในการพัฒนาระบบสุขภาพ  (๖) ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกัน   

ท่านรัฐมนตรีบอกว่า ข้อเสนอช่างตรงใจที่คิดไว้ก่อนแล้ว    และขอให้มีความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของสองประเทศด้าน HTA  และการวิจัยระบบสาธารณสุข    โดยที่การพูดคุยลงรายละเอียดมาก   สะท้อนภาพว่าระบบสาธารณสุขของบรูไนไม่คุ้นกับการวิจัยนโยบายและวิจัยระบบ   เพราะเขาคุ้นกับการใช้เงินซื้อเป็นหลักใหญ่   

หลังกินอาหารเที่ยง กลับไปที่ห้องประชุมเดิม เพื่อ AAR กับทีม HTA ของบรูไนสองท่านคือ Siti Ajar  กับหมอ Syukri    เน้นการให้ข้อมูลกิจกรรม HTA ของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่เขาเลือกร่วมมือได้    รวมทั้งกิจกรรมระหว่างประเทศ เช่น HTASiaLink, Priotities 2024 Conference ที่กรุงเทพ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗  และการเดินทางมาเรียนรู้งานที่กรุงเทพของทีมบรูไน          

เวลา ๑๕ น. นั่งรถไปเยี่ยมชม Berakas Health Center ที่ใหญ่กว่าโรงพยาบาลชุมชนของเรา   แต่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยใน     มีห้องตรวจมากมาย     มีแผนก GP,  แผนกทันตกรรม,  แผนกแม่และเด็ก, แผนกเจาะเลือดและรับสิ่งส่งตรวจ (ส่งต่อไปยังแผนกตรวจที่ รพ. RIPAS),  แผนกเภสัชกรรม    แต่ละแผนกมีหมอจำนวนมาก เช่นหมอ จีพี ๑๗ คน    หมอฟัน ๑๐ คน    เป็นต้น   มีแพทย์ จีพี ฝึกหัดมาฝึกงานด้วย   ศูนย์สุขภาพนี้สร้างเสร็จปี 2015 เพื่อทำหน้าที่แทน ๒ ศูนย์เดิมที่ยุบไป   จะเห็นว่าบริการสุขภาพปฐมภูมิของเขาดีกว่าของไทยมาก    เน้นให้บริการใกล้บ้าน     อาคารสถานที่สะอาดสะดวกสบายมาก     ผู้ไปรับบริการต้องจ่ายค่าลงทะเบียน ๑ เหรียญบรูไน (ราคาเท่ากับเหรียญสิงคโปร์ ประมาณ ๓๐ บาท) เพื่อป้องกันการใช้บริการแบบพร่ำเพรื่อ    บางบริการคิด ๓ เหรียญ    ในการเยี่ยมชมนี้ หมอ จีพี ที่เป็น Director of Primary Health Care ทำหน้าที่ต้อนรับและให้คำอธิบาย และตอบคำถามอยู่ตลอด   รวมทั้งหมอผู้หญิงตัวอ้วนเตี้ยที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์    และหัวหน้าพยาบาลของศูนย์              

กลับมาโรงแรม แล้วนัดเวลา ๑๗ น. ออกไปด้วยรถรับจ้าง Grab สองคันพ่อลูก   เพื่อไปเที่ยวบริเวณ Waterfront  ที่นี่คนมีรถส่วนตัวกันทั้งนั้น จึงไม่มีรถแท็กซี่แบบบ้านเรา   นั่งไปเพียง ๑๕ นาทีก็ถึง     ที่บริเวณมีการออกร้านและสวนสนุก มีคนพาเด็กมาเที่ยวกันคับคั่ง   หมอยศซื้อน้ำทับทิมคั้นแจก  ผลทับทิมมาจากเปรู   

หลังนั่งเรือชมวิว (คนละ ๕ เหรียญ)   เราไปกินอาหารเย็นที่ร้านจีน Phongmun Restaurant อาหารอร่อยอีกเช่นเคย   

กลับมาที่โรงแรม ไปกินไอศครีมที่ร้านไอศครีมนมเปรี้ยวชื่อ Ilaoilao  อยู่ที่ชั้น ๓ ของโรงแรม พร้อมกับ AAR ผลงานและการเรียนรู้จากการไปทำงานเที่ยวนี้     โดยผมทำหน้าที่ตั้งโจทย์ ๕ ข้อ ให้ทุกคนพูดคนละ ๒ นาที   เริ่มจากผู้อาวุโสน้อยที่สุด  ช่วยให้เราได้รับรู้เบื้องหลังของการเตรียมงาน     และตัวละครของทางบรูไน    รวมทั้งเป้าหมายลึกๆ ของ scoping visit ครั้งนี้ ที่ทั้งเน้น stakeholders engagement ของทางบรูไน   และ training ของเจ้าหน้าที่ใหม่ ซึ่งกรณีนี้คือ Nanda จากเมียนมาร์   สมาชิกบอร์ดของ HITAP สามคน ได้มาเห็นระบบงานที่เป็นมืออาชีพสุดๆ ของทีมงาน HITAP   และได้สร้างความประทับใจให้แก่ทีมบรูไน   

ผมให้ข้อสังเกตว่าทีม HTA ของบรูไนดูเนือยๆ ไปหน่อย    กลยุทธอย่างหนึ่งของความร่วมมือคือ การเน้นสร้างความเอาจริงเอาจังในการทำงานให้แก่ทีมบรูไน     

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ธ.ค. ๖๖   ปรับปรุง ๑ ม.ค. ๖๗   

บนเครื่องบิน AK 273  กลับจาก Brunei  ไป KL

 

หมายเลขบันทึก: 716959เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2024 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2024 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท