เรียนรู้ระบบสุขภาพของประเทศบรูไน วันที่ ๑


 

ผมร่วมคณะของ HITAP ไปเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขบรูไน    เรื่องการพัฒนาระบบ HTA (Health Technology Assessment) ของประเทศบรูไน    เราเดินทางไปวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖   และเดินทางกลับวันที่ ๑๕   ดังนั้นวันทำงานจึงมีเพียง ๓ วัน    คือวันที่ ๑๒, ๑๓, และ ๑๔

แต่ค่ำวันที่ ๑๑ หลังอาหารเย็น เราก็ตั้งวงเตรียมโจทย์กันราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง   ช่วยให้คนแก่ล้าสมัยอย่างผมได้เรียนรู้มาก    โดยทีมงาน ๘ คนแชร์กันว่าสงสัยใคร่รู้อะไรเกี่ยวกับบรูไน ระบบสุขภาพของบรูไน ทำไมเขาต้องการมีระบบ HTA 

วันประชุมวันแรก (๑๒ ธันวาคม) มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหลักๆ ๓ คนคือ (1) Siti Ajar Hj Yusop, Acting Director, Director of General Health and Medical Services Office (2) Pg Dr Ahmed Syukri Bin Pg Hj Abdul Rahim, Senior Medical Officer, Sports and Exercise Medicine Centre   (3) Dr. Lubna Haji Abdul Razak, Acting Senior Health Officer, Department of Policy and Planning 

ใน ๓ คนนี้ คุณหมอ ลุบนา ดูจะเป็นเจ้าของงานใกล้ชิดที่สุด    รองลงมาคือ คุณหมอ สุกรี 

ตอนเช้าพูดคุยกับหน่วยกำกับบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ    และกลไกกำกับการใช้ยาและเวชภัณฑ์ ที่มีลักษณะเป็นคณะกรรมการที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ   ไม่มีสำนักงาน ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ   บ่ายผมอยู่กลุ่ม ๒ คุยกับผู้แทนจาก Department of Hospital,  Department of Healthcare Technology   กับ Department of Laboratory Services    แล้วทีม HITAP AAR กันต่อ

สิ่งที่เราพิศวง คือระบบ App BruHIMS  และ BruHealth ที่ช่วยให้คนบรูไนไปใช้บริการสุขภาพที่ไหนก็ได้   และช่วยให้คนบรูไนมีข้อมูลสุขภาพประจำตัวที่ดีมาก   แต่คนที่มาให้ข้อมูลไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เลย   คนที่เอ่ยในฐานะผู้ใช้เป็นกลุ่มหมอนักบริหารจาก Department of Hospital         

เราสรุปว่า ระบบสุขภาพบรูไนไม่มีกลไกส่งเสริมให้พัฒนาประสิทธิภาพงาน    และคุณหมอยศได้ข้อมูลภายในมาว่า เวลานี้โรงพยาบาล (รัฐ ๔  กึ่งเอกชน ๓) มีปัญหาการเงิน    ต้องยกยอดค่าใช้จ่ายราวๆ ๑๐ ล้านเหรียญไปใช้งบประมาณปีต่อไป   

จากการพูดคุยกันในทีมไทย ผมได้เรียนรู้ว่า ในเส้นทางของการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพสู่การใช้โดยทั่วไป (หรือโดยหลักการ) มี ๓ ประตู   โดย HTA เป็นประตูที่ ๓ มองความคุ้มค่า    ประตูแรกคือ RCT (Randomized Controlled Trial) เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีนั้นดีจริง หรือได้ผลจริง (clinical trial)   ประตูที่ ๒ คือ FDA (Food and Drug Administration) หมายถึงการจดทะเบียนอนุญาตให้ใช้ในประเทศนั้นๆ    ที่แปลกคือ ในบรูไน ไม่มีประตูที่สอง 

ตอนค่ำเราไปกินอาหารที่ร้านจีน ชื่อ Thiam Hock Restaurant เดินไปจากโรงแรมแค่ ๕ นาที    อาหารอร่อยมาก โดยเฉพาะปลา Red Grouper (ปลาเก๋า) (ดูรูป) ที่เขามีมาให้ทั้งเนื้อปลานึ่ง    และส่วนหนังติดกระดูกทอดพริกเกลือ   ราคาตัวละราวๆ ๓ พันบาท 

หลังอาหารเราคุยกันต่อเรื่องงาน    ทำความเข้าใจข้อมูลที่เราได้รับ    และเตรียมการเขียนรายงาน     ประเด็นเรียนรู้ของผมคือ โรงพยาบาลมีภารกิจมากกว่าการให้บริการ    เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ ที่จะต้องมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ   

ผมได้เรียนรู้ข้อดีข้อด้อยของการเป็นประเทศรายได้สูงโดยไม่ต้องตะเกียกตะกายพัฒนาตนเอง    คือรวยทันใดจากการค้นพบน้ำมัน    ทำให้ระบบของประเทศขาดราก 

ข้อเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ วัฒนธรรมการทำงานของ HITAP แบบเอาจริงเอาจัง แบบไม่สนใจความเหน็ดเหนื่อย    

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ธ.ค. ๖๖   ปรับปรุง ๑ ม.ค. ๖๗   

ห้อง ๕๑๗   โรงแรม Rizqun International, บรูไน  

  

1 ปลาเก๋า โปรดสังเกตขนาดของจานปลาเทียบกับจานอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 716929เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2024 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2024 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท