ชีวิตที่พอเพียง 4623. ทำร้ายลูกโดยกีดกันไม่ให้เด็กมีประสบการณ์ต่อความยากลำบาก


 

ยิ่งอายุมากขึ้น ผมก็ยิ่งตระหนักในคำสอนของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ว่า “ชีวิตที่ลำบาก เป็นชีวิตที่เจริญ”   จึงขอสะท้อนคิดลงบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังพิจารณา   

มนุษย์เรามีธรรมชาติเรียนรู้จากประสบการณ์    คนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ได้เก่ง จะปรับตัวเข้ากับบริบทหรือสถานการณ์ที่เผชิญได้ดี    ช่วยให้มีชีวิตที่ดี มีความสุขความเจริญ    ผมมีแม่เป็นตัวอย่าง

แม่ (นางง้อ พานิช) เป็นลูกจีน    พ่อแม่อพยพมาจากประเทศจีน จากซัวเถา    พี่หลายคนเกิดที่เมืองจีน แต่แม่ซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องเกิดที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี    เพราะพ่อแม่ยากจน แม้จะเรียนเก่ง แม่ก็ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานหากิน โดยเรียนจบแค่ ป. ๔   แต่แม่มีพรสวรรค์ที่เป็นคนเรียนรู้จากการอ่าน และจากการสังเกตและใคร่ครวญจากประสบการณ์ชีวิตโดยตรง   รวมทั้งมีความขยันขันแข็ง  ต่อสู้ ซื่อสัตย์ จริงใจ ทำให้สร้างตัวร่วมกับพ่อได้    และที่สำคัญ เลี้ยงลูก ๗ คน ได้ดี และเป็นคนดีหมดทุกคน   โดยที่ตอนผมที่เป็นลูกหัวปีเป็นเด็ก แม่เลี้ยงผมด้วยวิธีที่ผิด    แต่การเลี้ยงน้องๆ คนหลังๆ แม่ก็ผ่อนปรนความเข้มงวดลงไปมาก 

เพราะเราเป็นครอบครัวสร้างฐานะ   ทุกคนจึงต้องทำงาน ซึ่งหมายความว่าต้องเผชิญความไม่ชอบใจไม่พอใจ   ในสมัยเด็ก ผมไม่พอใจแม่มากที่สุด  ทั้งๆ ที่รู้ว่าแม่รักผมมาก   เพราะผมไม่สามารถออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ได้    ต้องถูกแม่บังคับให้ทำงาน   และต่อมาเมื่อมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ก็ต้องอยู่อย่างระมัดระวังให้เงินที่พ่อแม่ให้ใช้จ่ายเดือนละ ๓๐๐ บาท พอใช้ตลอดเดือน   รวมทั้งต้องเผชิญข้อจำกัดทางฐานะอีกหลายอย่าง ทั้งทางชีวิตความเป็นอยู่ทางกายภาพ และความบีบคั้นทางจิตใจ   ที่เรารู้สึกว่าเราด้อยกว่าคนอื่น

ความยากลำบากที่เดี๋ยวนี้ผมถือว่าจิ๊บจ้อย    แต่ตอนเป็นวัยรุ่นเป็นเรื่องใหญ่มาก    คิดใคร่ครวญว่า ความยากลำบากเหล่านั้นมีส่วนช่วยหล่อหลอมชีวิตของผมให้เจริญก้าวหน้ามาเป็นอยู่อย่างในปัจจุบันที่ผมพอใจมาก    และคิดกลับทางว่า หากชีวิตวัยเด็กของผมสุขสบาย อยากได้ไรก็ได้   ผมจะไม่ได้ดีถึงขนาดนี้   อาจถึงกับเสียคนก็ได้   เพราะชีวิตวัยรุ่นมีแรงชักจูงไปในทางเสื่อมได้ง่าย    หรือไม่เสื่อมแต่ก็อ่อนแอ เพราะไม่มีโอกาสเผชิญและเรียนรู้จากประสบการณ์ความยากลำบาก   

ที่จริงผมบอกลูกๆ ตั้งแต่ผมอายุ ๓๐ กว่า    ว่าลูกๆ โชคดีน้อยกว่าผม    ที่ผมกิดเป็นลูกคนจน หรือคนที่ต้องสร้างตัวจากไม่มีฐานะ  แต่เขาเป็นลูกหมอที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งแม่และพ่อ   ทำให้เขาขาดโอกาสได้เผชิญความยากลำบากอย่างที่ผมเคยได้รับ

แต่เขาก็ยังโชคดี  ที่ผมไม่ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน   ให้นั่งรถบัสบริการของมหาวิทยาลัย    ช่วยให้ประสบการณ์ยากลำบากเล็กๆ  และต้องปรับตัวเข้ากับเด็กอื่นๆ ที่มาจากครอบครัวหลากหลายฐานะ   ผมเรียกวิธีเลี้ยงลูกของครอบครัวผมว่า เลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ให้ช่วยตัวเอง   จำได้ว่าครั้งหนึ่งน้ำท่วมหาดใหญ่ ลูกชายที่เป็นลูกคนเล็กกำลังเรียนอยู่ชั้นประถม   ออกจากโรงเรียนไม่เห็นรถมหาวิทยาลัยที่เคยไปรับตามเวลา   และนก็เอ่อขึ้นเรื่อยๆ    จึงเดินร้องไห้กลับบ้าน    มีคนในมหาวิทยาลัยไปพบเข้า จึงให้ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซคล์ พามาส่งที่บ้านในมหาวิทยาลัย   

ถึงรุ่นหลาน ยิ่งโชคร้ายยิ่งขึ้น   เพราะฐานะของพ่อแม่ยิ่งดีขึ้นไปอีก  เผชิญสภาพ “ถูกพ่อแม่ทำร้ายด้วยความรักความห่วงใย”    และผมก็ได้เรียนรู้การเลี้ยงลูกของคนมีฐานะกลุ่มหนึ่งที่เลี้ยงลูกแบบทนุถนอมเกิน ที่ฝรั่งเรียกว่า over-protected   ซึ่งมองจากมุมของการเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการกีดกันไม่ให้ลูกได้มีประสบการณ์เผชิญความยากลำบากเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต    เช่นโดนเพื่อนรังแก หรือกลั่นแกล้ง    อยากได้ของบางอย่างแล้วไม่ได้   เป็นต้น   

“พ่อแม่รังแกลูกด้วยความรัก ทนุถนอม” จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนย้อนแย้ง    ที่คนฐานะดีสมัยนี้เผชิญ    ในขณะที่เด็กในครอบครัวยากจน ครอบครัวแหว่งกลาง จำนวนหนึ่ง ขาดแคลนการเลี้ยงดูเพื่อสร้าง executive functions ที่แข็งแรงให้แก่สมอง ขาดการมีตัวช่วยในการสร้างตัวตนและความมั่นคงในคุณธรรม ตาม Chickering’s Seven Vectors of Identity Development     

สังคมไทยปัจจุบันจึงอยู่ในยุคอ่อนแอในการพัฒนาพลเมืองคุณภาพสูง   เป็นที่น่าห่วงสำหรับความมั่นคงยั่งยืนของสังคมไทย ประเทศไทย 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ พ.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 716878เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2023 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2023 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท