ชีวิตที่พอเพียง 4621. การเมตตาตนเอง 


 

หนังสือแปล การเมตตาตนเอง : พลังแห่งความการุณย์ต่อตนเอง  แปลจาก Self-Compassion : The Proven Power of being Kind to Yourself  เขียนโดย Dr. Kristin Neff, PhD    ผมเขียนบทนำไว้ดังนี้ 

 บทนำ  หนังสือ การเมตตาตนเอง: พลังแห่งความการุณย์ต่อตนเอง

เมตตาแปลว่าอยากให้พ้นทุกข์   เมตตาตนเองจึงแปลว่าอยากให้ตนเองพ้นทุกข์     หนังสือ การเมตตาตนเอง จึงเป็นเรื่องของวิธีการช่วยให้ตนเองคลายความทุกข์จากเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องเผชิญในการดำรงชีวิต       

นี่คือหนังสือว่าด้วยทางสายกลางด้านอารมณ์ความรู้สึก   เพื่อดึงตนเองออกจากความสุดโต่งด้านตัวตน    อันเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์    มองในมุมหนึ่ง เป็นการตีความและประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านจิตวิญญาณตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพุทธศาสนา แก่คนในสังคมตะวันตก   เพื่อการรู้เท่าทันจิตใจและอารมณ์ของตนเอง    ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลงตัวเอง   และไม่หลงเป็นเหยื่อของการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง (self-criticism)    หรือไม่ตกเป็นเหยื่อของอัตตา     รวมทั้งยังใช้วิธีการเจริญสติ   และการฝึกสมาธิภาวนา เมตตาภาวนา เป็นเครื่องมืออีกด้วย        

การเมตตาตนเอง (self-compassion) เป็นวิธีผ่อนคลายความคาดหวังต่อตนเอง   ช่วยลดความทุกข์ที่ตนเองสร้างใส่ตัว    โดยมีเครื่องมือ ๓ ประการคือ ความกรุณาต่อตนเอง (self-kindness)    ความคิดว่าเราเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์    และความมีสติ        

ความภูมิใจในตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องมี   แต่สังคมปัจจุบันขับดันให้มนุษย์พัฒนาความภูมิใจในตนเองมากเกิน จนกลายเป็นหลงตัวเอง   หลงเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น   อันเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งและความทุกข์    การเมตตาตนเอง เป็นเครื่องมือสร้างสมดุล   โดยดึงให้รู้สึกผูกพันกับคุณค่าในตนเอง (ซึ่งขึ้นกับความรู้จักตนเอง)   มากกว่าความภูมิใจในตนเอง (ซึ่งขึ้นกับมุมมองของผู้อื่นเป็นหลัก)           

การเมตตาตนเองมีรากฐานจากความเข้าใจและยอมรับธรรมชาติความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์     ตามมาด้วยกระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset) ที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง และส่งเสริมให้ผู้อื่นได้พัฒนาตนเอง   

สำหรับผม จุดสุดยอดของการอ่านหนังสือ การเมตตาตนเอง เล่มนี้ อยู่ที่บทที่ ๑๒    ที่ชี้ว่า การเมตตาตนเองช่วยให้เราใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อตนเอง (และต่อผู้อื่น)    นำสู่เคล็ดลับของชีวิตที่ดี คือความสามารถเปลี่ยนลบเป็นบวก   เปลี่ยนความทุกข์ยาก อุปสรรค หรือความล้มเหลว เป็นพลัง     สู่การเรียนรู้จากความยากลำบากนั้นๆ    ที่จะเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ทรงพลัง ก่อคุณค่าต่อการดำรงชีวิตอย่างเหลือคณา

ตอนที่อ่านสนุกตื่นเต้นที่สุดในเล่มคือ ตอนที่ชื่อว่า เรื่องราวของฉัน : หนูน้อยนักขี่ม้า The Horseboy  ในบทที่ ๑๒ นี้    เล่าเรื่องการเปลี่ยนลบเป็นบวก จากการที่ลูกชายเป็น ออติสซึม   

ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง “สมรรถนะแห่งอนาคต” สำหรับคนในยุคปัจจุบัน ที่สังคมมีลักษณะ VUCA (V = volatile - เปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรง, U = uncertain - ไม่แน่นอน, C = complex - ซับซ้อน, A = ambiguous - ไม่ชัดเจน กำกวม)   หรือมีลักษณะ BANI (B = brittle - เปราะบาง, A = anxious - น่ากังวล, N = non-linear - คาดเดายาก, I = incomprehensible – เข้าใจยาก)    ที่หนังสือ Future Skills : The Future of Learning and Higher Education (nextskills.org/globalfutureskills)  เสนอว่า คนในสมัยนี้ต้องพัฒนา future skills หรือสมรรถนะแห่งอนาคต 17 ประการ ไว้ใช้ในอนาคตที่ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร    สมรรถนะอนาคต ๑๗ ตัวนี้ จัดกลุ่มได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ สมรรถนะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง   สมรรถนะต่อบุคคลหรือสิ่งของภายนอก  และสมรรถนะต่อระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น   (https://www.gotoknow.org/posts/698767)    การเมตตาตนเองจัดอยู่ในกลุ่มสมรรถนะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง (self-competence)    หนังสือ การเมตตาตนเอง เล่มนี้อธิบายสมรรถนะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองด้านการเมตตาตนเอง ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่ง   โดยอธิบายจากงานวิจัย   โดยที่การเมตตาตนเองยังเกี่ยวข้องกับสมรรถนะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองอีกหลายตัว เช่น สมรรถนะสะท้อนคิด (reflective competence)   ความมุ่งมั่นส่วนตน (self-determination)  เป็นต้น        

ผู้เขียน (Kristin Neff) ชี้ให้เห็นว่า การเมตตาตนเอง มีส่วนสำคัญต่อทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านการงาน  ด้านสังคม  ชีวิตคู่ การเป็นพ่อแม่ และชีวิตด้านเพศสัมพันธ์   วิธีเขียนแบบเล่าเรื่องประสบการณ์ตรงของตนเอง และของคู่สมรส ช่วยให้อ่านสนุก เข้าใจง่าย ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกย่างก้าวของชีวิต    การมีแบบฝึกหัดให้ทำ ช่วยให้แนวทางปฏิบัติหรือฝึกฝนที่เป็นรูปธรรม     

เป็นการนำเอาความรู้แนวพุทธไปตีความเชิงจิตวิทยาตะวันตก    เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่แก่ชนชาวตะวันตก    การที่สำนักพิมพ์ OMG Books มอบให้คุณวิภาดา ตันติโกวิท นักแปลชั้นครูแปลออกเผยแพร่แก่ชาวไทย จึงมีคุณูปการยิ่ง    ช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจธรรมะแนวพุทธจากการตีความในแง่มุมที่เราไม่คุ้นเคย    ช่วยให้เราได้เข้าใจพุทธธรรมจากวาทกรรมแนวจิตวิทยาตะวันตก   

ผมขอขอบคุณ นายแพทย์เนตร รามแก้ว ที่ให้เกียรติเขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้   ทำให้ผมได้เรียนรู้พุทธธรรมจากมุมการตีความด้วยจิตวิทยาตะวันตกดังกล่าวแล้ว     รวมทั้งได้โอกาสใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้ของตนเองว่า มนุษย์เราจะผ่อนคลายความทุกข์ได้ หากเราไม่คิดถึงตัวเองเท่านั้น แต่มีความคิดเชื่อมโยงตนเองกับผู้อื่นและสรรพสิ่ง    และคิดเชิงพลวัต คือไม่มองเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างหยุดนิ่ง แต่มองว่าเรื่องราวต่างๆ ย่อมเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา    เรื่องที่ก่อความทุกข์ก็มีธรรมชาติเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง      

ขอขอบคุณ นายแพทย์เนตร รามแก้ว  และคุณวิภาดา ตันติโกวิท แทนสังคมไทย   ที่ร่วมกันจัดแปลหนังสือเล่มนี้ออกสู่สังคมไทย    เพื่อเอื้ออำนวยให้คนไทยรู้จักให้ความเมตตาแก่ตนเอง    อันจะนำสู่ความคลายทุกข์  สู่การมีความสุขความสมดุลในชีวิต 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันคล้ายวันชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ          

 

 

หมายเลขบันทึก: 716851เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2023 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2023 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท