Developmental Evaluation : 76. DE ของ ระบบ ววน. : ปัจจัยความสำเร็จ


 

วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ผมไปร่วม Developmental Evaluation Forum (DE Forum) “การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.” ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส    ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้   

เพื่อเสนอเงื่อนไขสำคัญของการใช้ DE อย่างถูกต้อง    ให้ DE เป็นพลังสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สู่การร่วมกันพัฒนาระบบ ซึ่งในที่นี้คือระบบ ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)    เงื่อนไขเท่าที่ผมนึกออกมีดังนี้

  1. กระบวนทัศน์และท่าทีที่สะท้อนความสัมพันธ์แนวราบ (horizontal relationship)    ไม่เน้นความสัมพันธ์แนวดิ่งหรือแนวควบคุมและสั่งการ ที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ    กล่าวได้ว่าความรู้สึกว่ากำลังถูก สกสว. บังคับ และถูกบัญชา จะทำลายอารมณ์เรียนรู้และพัฒนา (generative emotion) ของคนใน PMU    มาเป็นอารมณ์ป้องกันภัย (protective emotion)   
  2. การเสาะหาและสรรหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ต่อกิจการของหน่วยงานนั้นๆ อย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม และได้ตัวแทนกลุ่มที่เหมาะสม ที่หนังสือ Design Journeys through Complex Systems : Practice Tools for Systemic Design เขียนโดยPeter Jones & Kristel Van Ael (2022)  หน้า ๒๔ - ๒๕ แนะนำวิธีเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมทีมออกแบบกิจกรรม 
  3. การมีระบบข้อมูลและสารสนเทศของกิจการนั้น    ที่เป็นระบบที่ปรับง่าย สนองความต้องการตามที่ระบุโดยการประชุมระดมความคิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
  4. การมี “ทีมประเมิน”  หรือทีม “คุณอำนวย” (facilitator) ที่รู้หลักการ และ “เป็นงาน” 
  5. กระบวนทัศน์ของคนในระบบ ววน. ว่าปัจจุบัน ระบบ ววน. ไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มพัฒนา   ยังต้องช่วยกันพัฒนาอีกมาก   โดยทุกหน่วยงานในระบบต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันเรียนรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาระบบภาพรวม   เพื่อประโยชน์ของประเทศอันเป็นส่วนรวม    ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมพูดย้ำว่า “เป็นพวกเดียวกัน”    และตระหนักว่า  DE เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระบบ ววน.   
  6. เป้าหมายร่วมกันของคนในระบบ ววน. ว่าต้องช่วยกันสร้างผลงาน (ที่มีหลายท่านย้ำว่า เป็น co-creation) พิสูจน์ต่อประชาชนไทย ว่าระบบ ววน. ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น  ช่วยหนุนการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง   ต้องหาทางสื่อสาร (ด้วยข้อมูลหลักฐาน) ให้คนไทยเห็นคุณค่าของระบบ ววน.   

สรุปผลของการประชุมได้ว่า ประสบความสำเร็จให้ผู้แทน PMU และ สอวช. เข้าใจว่า DE เป็นเครื่องมือช่วยให้หน่วยงานทำงานประสบความสำเร็จง่ายขึ้น    มองเป็นตัวช่วย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย    ก้าวข้ามความหวาดกลัวการประเมิน   

นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ หนึ่งในวิทยากรหลัก สรุป Do & Don’t ในการใช้ DE ดังนี้

Do : (๑) ทำตัวให้เหมือนนักสำรวจ  (๒) คำนึงถึงควำมซับซ้อน ความหลากหลำยของระบบและปัจจัยประกอบ (Complexity perspective)  (๓) หมั่นตั้งคำถามเชิงลึก (critical questions) กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายหรือถกเถียงกัน   (๔) เชื่อว่า DE จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (co-creation)  (๕) เปิดใจและยอมรับความท้าทาย  (๖) เปิดเผยและเชื่อในหลักคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Don’t : (๑) อย่าทำตัวเป็นผู้รู้  (๒) อย่าด่วนสรุปข้อค้นพบโดยง่ายหรือคิดอย่างแยกส่วน (thinking in silo)  (๓)  อย่าพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่เห็นหรือที่เป็น  (๔) อย่าเชื่อว่า DE จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ (magic bullet)  (๕) อย่ามั่นใจว่าตนเองในฐานะผู้ปฏิบัติรู้ดีกว่าคนอื่นๆ  (๖) อย่าปิดบัง ซ่อนเร้นเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ดี

นพ. ยศ เสนอว่า TOC (Theory of Change)  และ SNA (Social Network Analysis) เป็นเครื่องมือสำคัญของ DE   ที่ทีม HITAP เคยไปดำเนินการให้แก่ กสศ.  ผมจึงขอนำมาย้ำในที่นี้ว่า มีผู้เสนอขยาย TOC เป็น TOSCA (Theory of Social Change and Action) คือต้องคิดเชื่อมทฤษฎีกับการปฏิบัติเข้าด้วยกัน   

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ย. ๖๖

  

หมายเลขบันทึก: 716582เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2023 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2023 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท